พระนาม “วชิรุณหิศ” ที่พระราชทานเป็นชื่อถนน แกะรอยเส้นทางนี้ อยู่จุดไหนในปัจจุบัน?

“…ถนนสายนี้จะให้ชื่อว่า วชิรุณหิศ เพราะผ่านไปใน ที่ซึ่งตั้งใจจะให้เปนที่บ้านของเขา…” [1]

ข้อความข้างต้น มาจากพระราชหัตถเลขาของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้กับเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์[2] ผู้บัญชาการกรมศุขาภิบาล เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ร.ศ. 118 (พ.ศ. 2442) เรื่อง การตัดถนนในบริเวณสวนดุสิต โดยทรงขอให้ตัดถนนเพิ่มอีกเส้นหนึ่ง นอกบริเวณสวนดุสิต

ปีพุทธศักราช 2421 สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ทรงมีพระประสูติกาล สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ มีพระชันษา 3 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงซื้อที่นาและสวนทางทิศตะวันออกของพระนคร เพื่อพระราชทานแด่พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ โดยเริ่มสร้างวังเมื่อ พ.ศ. 2424 ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระราชโอรสพระองค์นี้ขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ในปี พ.ศ. 2429 แต่มิทันที่สยามมกุฎราชกุมารพระองค์นี้ จะเสด็จไปประทับ ณ วังใหม่ สวรรคตด้วยพระโรคไข้รากสาดน้อย ในวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2437 ขณะที่มีพระชันษาเพียง 17 ปี

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร

การก่อสร้างวังยังคงดำเนินต่อไปจนแล้วเสร็จ โดยชาวบ้านทั่วไปเรียกขานกันว่า วังใหม่ หรือวังกลางทุ่ง ตามทำเลที่ตั้ง เนื่องจากเป็นอาคารถาวรขนาดใหญ่ จึงตั้งมั่นคงเป็นที่รู้จัก กลายเป็นประจักษ์พยานสำคัญของการพัฒนาเมืองและสถาปัตยกรรมไทย

การสวรรคตของ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศฯ ได้พาความโทมนัสโศกาอาดูรมาสู่ สมเด็จพระบรมชนกนาถและพระชนนีอย่างใหญ่หลวง แม้เวลาจะผ่านเลยมากว่า 15 ปี ความอาดูรนั้น มิได้ห่างหายไปจากพระราชหฤทัยแม้แต่น้อย ดังเห็นได้จากแนวพระราชดำริในปี พ.ศ. 2442 ที่ให้ตัดถนนใหม่บริเวณปทุมวัน และพระราชทานนามถนนนี้ว่า ถนนวชิรุณหิศ ซึ่งแสดงถึงความอาลัยที่ทรงมีต่อพระราชโอรสพระองค์นี้

…อยากจะขอเติมขึ้นใหม่อีกสายหนึ่ง คือระยะตั้งแต่ถนนกรุงเกษม [3] ออกไปจนถึงถนนนิวแมน [4] ตามถนนประทุมวัน [5] ไม่มีถนนขวางเลยเกือบ 100 เส้น ถ้าผู้ซึ่งอยู่ถนนประทุมวันจะไป สเตชั่นรถไฟปากน้ำ [6] ก็ต้องอ้อมไปทางถนนนิวแมนฤามาทางไกลมาก ควรจะตัดถนนขวางอิกสายหนึ่ง จากถนนวัวลำพอง [7] ผ่านข้างวังกลางทุ่ง [8] แล้วผ่านถนนประทุมวันไปตกคลองบางกปิ [9] แล้วข้ามคลองบางกปิไปบรรจบถนนประแจจีน [10] ซึ่งจะยืนออกไปประทุมวัน ถ้าตัดได้เช่นนั้น ผู้ซึ่งอยู่ตามแถบข้างล่าง คือ ถนนสุรวงษ เปนต้น จะไปสวนดุสิตใกล้กว่าที่จะอ้อมเข้ามาทางในเมือง… [11] 

จากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการตัดถนนเส้นใหม่ เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ มีหนังสือกราบบังคมทูลตอบพระราชหัตถเลขา เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ร.ศ. 118 (พ.ศ. 2442) ว่า

…ถนนวชิรุณหิศซึ่งจะตัดใหม่ ข้าพระพุทธเจ้าได้สั่งให้ช่างในกรมศุขาภิบาล ตรวจทำแผนที่ตามแนวแผนที่เดิม ที่พระเจ้าน้องยาเธอกรม หมื่นสมมตอมรพันธ์ทรงขีดไว้ แลให้ตรวจข้ามคลองบางกะปิไป ประมาณสัก 20 เส้น พอที่จะบันจบถนนประแจจีน ตอนล่างก็ให้ตรวจเลยข้ามถนนวัวลำพองไปจนถึงถนนสุรวงษ ด้วยเห็นด้วยเกล้าฯ ว่าจะมีประโยชน์ที่ชักหนทางให้สั้นเข้าอีก ไม่ตรงไปถนนนิวแมนก่อน เมื่อตรวจทำแผนที่ตลอดแล้ว จะได้ทำงบประมาณยื่นให้ทันกำหนด พร้อมกันทั้ง 2 สาย แต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปนถนนขนาดกว้างเท่าใด ยังไม่ทราบเกล้าฯ ด้วยตามจดหมายพระสถิตย์นิมานการ ยื่นแก่ข้าพระพุทธเจ้า ได้ความว่าถนนประแจจีนเรียวแต่ 10 วา ประจบ 6 วา… [12]

นอกจาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชวินิจฉัยเกี่ยวกับความยาวและความกว้างของถนน โดยให้เปรียบเทียบขนาดกับถนนประแจจีน และเป็นไปตามงบประมาณที่มีอยู่ รวมทั้งพระราชทานแนวคิดในเรื่องอื่นๆ ได้แก่ รูปแบบถนน ท่อระบายน้ำ การซ้อนทับกับที่ของพระคลังข้างที่และที่เอกชน สภาพพื้นที่และการสำรวจพื้นที่ ประโยชน์ระยะยาวของการตัดถนน เป็นต้น โดยกำชับให้ผู้เกี่ยวข้องต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

…ถนนวชิรุณหิศตามที่ได้มีคำสั่งให้ลงมือตรวจ ข้ามคลองบางกปิไปประมาณสัก 20 เส้น แลข้ามคลองวัวลำพองไปประจวบถนนสุรวงษนั้น ต้องกับความคิดซึ่งได้คิดขึ้นได้ เมื่อไปยืนดูแผนที่หลังห้องประชุมเมื่อวันพฤหัสบดีนี้ แต่การที่จะตรวจนั้น ขอให้ตรวจตั้งแต่ถนนวัวลำพองมาข้ามคลองบางกปิบรรจบถนนประแจจีนเท่านั้นก่อน ส่วนที่จะข้ามคลองวัวลำพองไปถนนสุรวงษนั้นขอให้งดไว้ก่อน… [13]

…ส่วนถนนวชิรุณหิศ เดิมกรมสมมต [14] กะไว้ 4 วา ก็ควรจะแก้ให้เปนถนนขนาดเดียวกันกับประแจจีน แลทำด้วยวิธีอย่างเดียวกัน [15]

…กำหนดกว้างของถนนประแจจีนที่ได้กะไว้ให้พระสถิตยคิดราคาแต่ก่อน ตอนต้นต่อคอเสื้อ [16] 10 วา แล้วเรียวไปจนปลายที่ข้ามประทุมวันเพียง 6 วา การที่คิดเช่นนี้ด้วยจะเขม็ดแขม่เงิน เพราะหมายจะทำในปลายปีนี้ แต่บัดนี้ หักใจได้เสียว่า รอไว้ทำต่อปีน่าทีเดียว แลมีเงินเท่าใดก็ทำเท่านั้น ดังนี้ จึงเหนว่าไม่ควรที่จะทำเรียว ต่อไปภายน่าจะแก้ไขลำบาก… [17]

…ควรจะทำเต็มที่ตามขนาดถนนของกระทรวงโยธา แต่จะใช้เพียงชั้นที่ 2 คือ ขนาดถนนดินสอ ก็ควรเพราะเปนถนนออกไปกลางทุ่ง มีทางรถไฟคั่นเปนเขตรอยู่แต่อย่างใดๆ ก็ดี ไม่ควรจะคิดก่อท่อ ขอให้ใช้ขอบถนนสูงปลูกหญ้า จะเปิดน้ำให้เดินทางใดก็เซาะร่องเอาเช่นถนนดวงตวัน [18] เถิด หาไม่เปลืองเงินนัก... [19]

…ถ้าหากว่าจะมีประโยชน์เพราะตัดถนนนั้น คงจะเปนประโยชน์แก่พระคลังข้างที่มาก เพราะที่แผ่นดินตั้งแต่ถนนวัวลำพองไปจนถึงคลองบางกปิ เปนที่พระคลังข้างที่ทั้งนั้น ต่อเมื่อข้ามฟากขึ้นไปทางเหนือจนบรรจบถนนประแจจีน จึงเปนที่ของผู้อื่น ดูเหมือนจะอยู่ในราวสวนกรมหมื่นภูธเรศ แต่เวลาแรกๆ นี้ พระคลังข้างที่คงไม่ได้ประโยชน์อันใด เพราะจะทำโรงแถวฤาบ้านให้เช่าก็คงไม่มีคนอยู่ แต่ส่วนข้างสดวกแก่รัฐบาลนั้น ได้ที่ทำถนนเปล่าๆ ไม่ต้องติดขัดอย่างหนึ่งอย่างใด แลถ้ามีถนนรอบนี้ขึ้นได้ ก็เปนอันขยายพระนคร กว้างออกอีกชั้นหนึ่ง การไปมาสดวกขึ้นเหนว่าควรจะเอาเปนความคิดติดต่อกับถนนประแจจีน งานที่ทำนั้นคงต้องเปนงานแรมปีค่อยทำค่อยไป

1.แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ. 2439 แสดงบริเวณตำบลประทุมวัน เห็นวังใหม่และพื้นที่โดยรอบ  2. แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ. 2475 เปรียบเทียบพื้นที่บริเวณเดียวกัน

ถนนสายนี้ คงจะเปนระยะทางประมาณสัก 80 เส้น กรมหมื่นสมมตได้ขีดแผนที่ไว้แต่ปีกลายนี้ แต่ครั้งจะสั่งขึ้นงบประมาณ ก็เหนว่าเงินกรมโยธาฝืดเคืองอยู่ จึงได้งดไว้ก่อน ถนนสายนี้ ก็ขอให้เปนการของกรมศุขาภิบาลเหมือนอย่างถนนประแจจีนนั้นด้วย คือให้กรมศุขาภิบาลเซอเวแลกะงบประมาณทำการเหมือนถนนทั้งปวง

การที่คิดเหมือนเอาเปรียบเช่นนี้ เพราะว่าถ้าถนนนี้แล้วเสร็จ ก็ไม่ผิดกันกับถนนนิวแมน คงจะซึ้งๆ ชั่วแต่เปนทางคนเดิน จะทำด้วยพระคลังข้างที่ก็อยู่ข้างจะหนักหนา เพราะคงจะไม่มีราคาเหมือนถนนสุรวงษแลถนนสารทร 

ขอให้เจ้าพนักงานมาดูเส้นขีดในแผนที่ที่กรมหมื่นสมมตสำหรับจะได้เซอเว การเซอเวก็ง่ายเพราะเปนสวนจีนปลูกผักปลูกอ้อย ไม่มีต้นไม้กีดบังทางกล้อง จะจับตรวจแต่ในฝั่งคลองบางกปิฟากนี้ก่อนก็ได้…[20]

เรื่องราวของ ถนนวชิรุณหิศ ถนนสายหนึ่งในพระนครนั้น เมื่อพิจารณาจากแผนที่กรุงเทพฯ และเส้นทางของถนนที่เชื่อมบรรจบกับถนนสายต่างๆ สันนิษฐานได้ว่าน่าจะเป็น ถนนพญาไท ในปัจจุบัน แม้ขณะนี้ยังไม่พบหลักฐานว่าต่อมาได้มีการตัดถนนวชิรุณหิศจริงหรือไม่ ชื่อนี้เลือนหายไปเมื่อใด และถนนเส้นนี้คือถนนพญาไทใช่หรือไม่

นอกจากนี้ กลับพบหลักฐานปรากฏในเวลา 10 ปีต่อมา เป็นร่างหมายรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงเจ้าพระยายมราช เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2451) ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนขึ้นใหม่ชื่อ ถนนพญาไท มีความว่า

…ถนนพระคลังข้างที่ จะตัดต่อถนน 4 พระยา ถึงถนนประแจจีน เพื่อจะให้ชื่อประ…[ต้นฉบับเลือน]…ถนน 4 พระยา นี้เป็นพระยาเดียว ให้เรียกว่า “ถนนพญาไท” ไนยหนึ่งได้ความว่าถนนนั้นมาออกที่สวนตำบลพระยาไท อีกไนยหนึ่งได้ความว่าเป็นถนนที่พระราชาเป็นไทฤาพระราชาของไท ถ้าลงมือเมื่อไรให้ปักชื่อคงเรียกได้ง่าย [21]

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] หจช. เอกสารกระทรวงโยธาธิการ ม.ร.5 ยธ.9/39 พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระยาเทเวศรวงษ์วิวัฒน์ วันที่ 8 สิงหาคม 118 อ้างถึงใน รศ.ดร. บัณฑิต จุลาสัย และ พีรศรี โพวาทอง. รายงานผลการศึกษาข้อมูลเอกสารประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม พระราชวังดุสิต. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550, น. 65-66.

[2] เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว. หลาน กุญชร) เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ และอธิบดีกรมศุขาภิบาล

[3] ถนนกรุงเกษม เป็นถนนที่รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ตัดขึ้น ใน พ.ศ. 2435 แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2441 ความยามตลอดสาย 4.5 กิโลเมตร ตั้งต้นจากปากคลองผดุงกรุงเกษมทางด้านเหนือข้ามไปหัวลำโพง

[4] ถนนนิวแมน หรือ ถนนนิวแมนสไมล์ (Newman’s miles) เรียกชื่อตามนายนิวแมน ตำแหน่งรักษาการกงสุลอังกฤษประจำประเทศไทย หรือเรียกว่าถนนสนามม้า เนื่องจากผ่านหน้าสนามม้า มีความยาว 1 ไมล์ โดยเริ่มตั้งแต่ถนนพระรามที่ 1 ถึงถนนพระรามที่ 4 ปัจจุบันคือ ถนนอังรีดูนังต์

[5] ถนนประทุมวัน ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น ถนนพระรามที่ 1 (ดูเรื่องการเปลี่ยนชื่อถนนต่างๆ เพิ่มเติมใน ปริญญา ตรีน้อยใส และ รัชดา โชติพานิช, “ถนนนี้อยู่หนใด,” ใน ศิลปวัฒนธรรม, ปีที่ 30 ฉบับที่ 5 (มีนาคม 2552), น. 42-45.

[6] สเตชั่นรถไฟปากน้ำ คือ สถานีรถไฟปากน้ำ เริ่มจากคลองผดุงกรุงเกษมผ่านคลองเตยไปจนถึงปากน้ำ ปัจจุบันเลิกใช้แล้ว

[7] ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีการขุดคลองตรง เพื่อใช้เป็นทางลัดเข้าสู่เมือง เริ่มจากคลองเตยไปจนถึงคลองผดุงกรุงเกษม ดินที่ได้จากการขุดนำมาถมเป็นถนน เป็นที่นิยมของชาวต่างประเทศในการขี่ม้า เรียกขานกันว่า ถนนตก ตามแนวถนน หรือถนนวัวลำพองตามทุ่งวัวลำพองที่ถนนตัดผ่าน ต่อมากลายเป็นหัวลำโพง และเปลี่ยนชื่อเป็น ถนนพระรามที่ 4

[8] วังกลางทุ่ง หรือวังใหม่ที่ปทุมวัน ต่อมากลายเป็นที่ทำการของหลายหน่วยงาน อาทิ กรมรถไฟ โรงเรียนแผนที่ จนเป็น โรงเรียนกระทรวงเกษตราธิการ ที่รวมโรงเรียนแผนที่ โรงเรียนเพาะปลูก และโรงเรียนกรมคลองเข้าไว้ด้วยกัน ต่อมาเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนข้าราชการพลเรือนในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนที่จะเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในที่สุด อาจกล่าวได้ว่า วังกลางทุ่งนี้ เสมือนเป็นแหล่งริเริ่มของสรรพวิทยาการต่างๆ ของประเทศไทย ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสนามกีฬาแห่งชาติ (พีรศรี โพวาทอง. “วังใหม่ที่ปทุมวัน : ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม,” ใน ศิลปวัฒนธรรม, ปีที่ 26 ฉบับที่ 8 (มิถุนายน 2548), น. 126-134.)

[9] คลองบางกปิ หรือ คลองแสนแสบในปัจจุบัน

[10] ถนนประแจจีน เริ่มตั้งแต่ยมราชถึงประตูน้ำ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ถนนเพชรบุรี

[11ล รศ.ดร. บัณฑิต จุลาสัย และ พีรศรี โพวาทอง. อ้างแล้ว. น. 85.

[12] เรื่องเดียวกัน, น. 80.

[13] เรื่องเดียวกัน, น. 85.

[14] กรมหมื่นสมมต หมายถึง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมหมื่นสมมตอมรพันธ์ุ ต้นราชสกุล สวัสดิกุล ทรงดำรงตำแหน่งราชเลขานุการ และอธิบดีกรมพระคลังข้างที่

[15] รศ.ดร. บัณฑิต จุลาสัย และ พีรศรี โพวาทอง. อ้างแล้ว. น. 85.

[16] คอเสื้อ หรือถนนคอเสื้อ ปัจจุบันคือ ถนนพิษณุโลก

[17] รศ.ดร. บัณฑิต จุลาสัย และ พีรศรี โพวาทอง. อ้างแล้ว. น. 85.

[18] ถนนดวงตวัน ปัจจุบันคือ ถนนศรีอยุธยา

[19] รศ.ดร. บัณฑิต จุลาสัย และ พีรศรี โพวาทอง. อ้างแล้ว. น. 85.

[20] เรื่องเดียวกัน.

[21] หจช. เอกสารกระทรวงโยธาธิการ ม.ร.5 ยธ 9/111 ถนนพญาไท หนังสือกรมราชเลขานุการ เลขที่ 56/1672 ถึงเจ้าพระยายมราช ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 127

บรรณานุกรม :

บัณฑิต จุลาสัย, รศ.ดร. และ พีรศรี โพวาทอง. รายงานผลการศึกษาข้อมูลเอกสารประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม พระราชวังดุสิต. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550.

ปริญญา ตรีน้อยใส และ รัชดา โชติพานิช. “ถนนนี้อยู่หนใด,” ใน ศิลปวัฒนธรรม, ปีที่ 30 ฉบับที่ 5 (มีนาคม 2552).

พีรศรี โพวาทอง. “วังใหม่ที่ปทุมวัน : ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม”, ใน ศิลปวัฒนธรรม, ปีที่ 26 ฉบับที่ 8 (มิถุนายน 2548).

ห้องปฏิบัติการแผนที่ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เอื้อเฟื้อข้อมูลและแผนที่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 มีนาคม 2562