เจ้าดารารัศมี “เมียโปลีซี” ของรัชกาลที่ 5

เจ้าดารารัศมี เมียโปลีซี รัชกาลที่ 5

เจ้าดารารัศมี “เมียโปลีซี” รัชกาลที่ 5 เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?

การสร้างสายสัมพันธ์ทางเครือญาติระหว่างเจ้าเมืองด้วยกันด้วยการ “สมรส” เป็นวิธีการแบบจารีตที่รัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นิยมทำเพื่อสร้างพันธมิตรไมตรี และเป็น “กุศโลบาย” ที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้ในการสร้างฐานอำนาจในระยะแรกของการขึ้นครองราชย์ มีการสู่ขอธิดาขอขุนนางผู้มีอำนาจ หรือเจ้าเมืองต่างๆ มาเป็นเจ้าจอม หากการสร้างสัมพันธ์เครือญาติที่สำคัญที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเจ้าเมืองเชียงใหม่ คือ “เจ้าดารารัศมี”

เจ้าดารารัศมี ผู้เชื่อมสัมพันธ์ล้านนา-สยาม

เจ้าดารารัศมี (26 สิงหาคม พ.ศ. 2416-9 ธันวาคม พ.ศ. 2476) มีเชื้อสายวงศ์เจ้าเจ็ดตนทั้งทางพระบิดาและพระมารดา และถือว่ามีบรรดาศักดิ์สูงกว่าพระเชษฐาและพระภคินีที่ประสูติจากเจ้าแม่องค์อื่นๆ  พ.ศ. 2416 ที่เจ้าดารารัศมีประสูตินั้น เป็นปีที่มีเหตุการณ์สําคัญหลายประการเกิดขึ้นดังนี้

หนึ่ง อังกฤษได้เข้าทําการเจรจาขอให้สยามแก้ไขปัญหาการป่าไม้ในเชียงใหม่ จนนําไปสู่การลงนามในสัญญาเชียงใหม่ (Treaty of Chiengmai) ในวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2416 ที่เมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย

สอง คือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 เพราะ พ.ศ. 2416 เป็นปีที่รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระชนมายุครบ 20 พรรษา และถือว่าเป็นปีสุดท้ายของการดํารงตําแหน่งผู้สําเร็จราชการแผ่นดินสยามของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

เจ้าดารารัศมี พระราชชายา พระภรรยาเจ้าในรัชกาลที่ 5 (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

นอกจากนี้ พ.ศ. 2416 ยังเป็นปีที่ เจ้าอุปราชอินทนนท์ (พระเจ้าอินทวิชยานนท์) ซึ่งขณะนั้นรักษาการในตําแหน่งเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่สืบต่อจากพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ (พ.ศ. 2399-2413) ได้เดินทางเข้ามากรุงเทพฯ เพื่อรับตําแหน่งเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ลําดับที่ 7 (พ.ศ. 2413-2440) รวมทั้งได้มีการลงนามในหนังสือสัญญาว่าด้วยการที่เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่จะทําการรักษาบ้านเมืองให้เรียบร้อย (ร.ศ. 92) อันเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปการปกครอง

เช่นนี้แม้การถวายตัว เจ้าดารารัศมี จะเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2429 แต่เชื่อว่ามีการวางแผนการและเตรียมการต่างๆ ไว้นานแล้ว ทั้งฝ่ายเชียงใหม่และฝ่ายกรุงเทพฯ ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้ว

ดังปรากฏว่า เจ้าดารารัศมีได้ไว้จุกตามขนบธรรมเนียมของกรุงเทพฯ ซึ่งข้อความตอนหนึ่งในลายพระหัตถ์ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ทรงมีไปถวายสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2476 ว่า เจ้าดารารัศมีนั้นไว้จุกเหมือนเด็กในกรุงเทพฯ เมื่อมารดาถึงแก่กรรมแล้ว บิดาให้พาลงมาเฝ้าในกรุงเทพฯ ครั้งหนึ่ง ครั้นกลับขึ้นไปโกนจุกแล้ว พอเป็นสาวส่งลงมาถวายตัวทําราชการฝ่ายใน…”

นอกจากนี้ข้อความในท้องตราพระราชสีห์ที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบําราบปรปักษ์ อัญเชิญกระแสพระบรมราชโองการในรัชกาลที่ 5 ไปถึงพระยาราชสัมภารากร (เลื่อน สุรนันท์) ข้าหลวงสามหัวเมือง ตอนหนึ่งว่า

“เมื่อพระเจ้าอินทวิไชยานนท์เจ้านครเชียงใหม่ เจ้าเทพเกสร ลงมา ณ กรุงเทพฯ ได้พาเจ้าดารารัศมีผู้บุตรเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า กราบถวายบังคมลาขึ้นไปถึงบ้านเมืองแล้ว จะได้ทําการมงคลตัดจุกเจ้าดารารัศมี” ใน พ.ศ. 2426 เมื่อเจ้าดารารัศมีมีพระชนม์ได้ 11 ชันษา รัฐบาลสยามจึงได้มีคําสั่งให้พระยาเทพประชุน (พุ่ม ศรีไชยันต์) ข้าหลวงใหญ่เมืองนครเชียงใหม่ จัดงานพิธีโสกันต์ (โกนจุก) แก่เจ้าดารารัศมี

การพิธีโสกันต์นี้ รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระกุณฑลเป็นของขวัญ ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวลงวันศุกร์ เดือน 12 แรม 9 ค่ำ ปีมะแมเบญจศก จุลศักราช 1245 (23 พ.ย. 2426) พระราชทานไปยังพระยาราชสัมภารากร ให้อัญเชิญกระแสพระบรมราชโองการไปชี้แจงแก่พระเจ้าอินทวิชยานนท์และเจ้าทิพเกสร ดังข้อความว่า

“…เรื่องโกนจุกนั้น…เรารับไว้ว่าจะทําขวัญ จึงได้ส่งตุ้มหูระย้าเพชรคู่หนึ่งขึ้นมา ให้พระยาราชสัมภารากรนําไปทําขวัญแต่ต้องชี้แจงให้ทราบว่า ธรรมเนียมเจ้าแผ่นดิน ทําขวัญโกนจุกโดยทางราชการนั้นไม่มี เป็นแต่เมื่อบุตรข้าราชการ ถวายตัวทําราชการอยู่ในวังทูลลาโกนจุก ก็พระราชทานเงินพระคลังในที่ทําขวัญบ้าง แต่บุตรข้าราชการที่ไม่ได้ทําราชการนั้น ต่อทรงพระกรุณาบิดามากจึงได้พระราชทานบ้าง มีน้อยราย แต่ก็เป็นของพระคลังข้างที่ทั้งนั้น ไม่นับว่าเป็นราชการแผ่นดิน จึงไม่ได้มีศุภอักษรส่งของขึ้นมาตามมาราชการ…แต่การโกนจุกนี้เป็นน้ำท่วมทุ่ง บางคนก็ทํามาก บางคนก็ทําน้อยตามอัธยาไศรย ไม่สู้เป็นการสลักสําคัญอันใดนัก ถึงจะทําการก็คงไม่เหมือนกรุงเทพฯ ทีเดียว ซึ่งผ่อนผันไปไม่ให้เปนการขัดอกขัดใจกันในการไม่พอ เรื่องดังนี้เป็นการชอบแล้ว อย่าให้มีความ หวาดหวั่นอันใดเลย…”

ซึ่งเรื่องนี้ได้สร้างความเข้าใจโดยทั่วไปว่า “มิใช่เป็นแค่ของขวัญธรรมดา” แต่หมายความถึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ “หมั้นหมาย” อันเป็นเรื่องที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เพราะมิใช่แบบอย่างประเพณีของเจ้านายฝ่ายเหนือ มีแต่เจ้าดารารัศมีพระองค์เดียวที่เข้าพิธีนี้อย่างราชประเพณีของเจ้านายในพระราชวงศ์จักรี

“เมียโปลีซี” 

3 ปีต่อมาหลังพิธีโสกันต์ คือใน พ.ศ. 2429 ก็มีการถวายตัวเจ้าดารารัศมีอย่างเป็นทางการ

พ.ศ. 2429 เป็นปีที่สยามเริ่มมีความมั่นคงทางการเมืองมากขึ้น ด้วยสาเหตุที่กลุ่มอํานาจเดิมเสียชีวิต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ยุบเลิกตําแหน่งวังหน้า และสถาปนาตําแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารแทน เมื่อมีงานสมโภชในวโรกาสสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เจ้าดารารัศมี มีพระชนม์ได้ 13 ชันษา ทรงติดตาม พระเจ้าอินวิชยานนท์พระบิดามาร่วมพระราชพิธีสมโภช พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าดารารัศมีเข้ารับราชการฝ่ายใน นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

การเข้ารับราชการฝ่ายในของเจ้าดารารัศมีในครั้งนั้นมีความสําคัญต่อล้านนามาก เพราะถือว่าเป็นพระธิดาของเจ้าผู้ครองนครหรือเจ้าประเทศราชที่ราชสํานักสยามได้พยายามจูงใจ เพื่อให้ยอมรับแบบแผนใหม่ๆ โดยเฉพาะการปฏิบัติตามสนธิสัญญาเชียงใหม่ (Treaty of Chiengmai) ฉบับแรก พ.ศ. 2416 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2426 ที่สยามทํากับอังกฤษ

ดังนั้นในงานสมโภชสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ จึงได้รับเกียรติยศเป็นพิเศษ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าร่วมขบวนแห่ เป็น 1 ใน 12 ท่าน ที่โปรดเกล้าฯ ให้เข้าร่วมขบวน โดยดําเนินเคียงคู่กับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร, ให้พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ถวายทรงเจิมสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ร่วมกับพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน เสนาบดีผู้ใหญ่ จํานวน 29 ท่านและพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้า ซึ่งนับเป็นเจ้าประเทศราชพระองค์เดียวที่ได้รับพระราชทานในครั้งนั้น

มิสเตอร์อาเชอร์ กงสุลอังกฤษในขณะนั้น กล่าวถึงการถวายตัวของเจ้าดารารัศมีว่าเป็น “Important step” เนื่องจากพระราชโอรสหรือพระราชธิดาที่ประสูติจะขึ้นเป็น “Rightful ruler” ของเมืองเชียงใหม่ และได้รับความเคารพอย่างสูงสุด เนื่องจากเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ในราชวงศ์จักรีพระองค์หนึ่ง

การเข้ารับราชการฝ่ายในของเจ้าดารารัศมี เริ่มต้นด้วยการโปรดเกล้าฯ ให้อยู่ในพระราชอุปถัมภ์ของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ให้ประทับที่ “ห้องผักกาด” (พระที่นั่งดํารงสวัสดิ์ อนัญวงศ์) ในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ภายหลังเจ้าดารารัศมีทรงขอพระบรมราชานุญาตสร้างพระตำหนักของพระองค์เอง โดยใช้เงินของพระเจ้าอินทวิชยานนท์

พระตำหนักของพระองค์เป็นตำหนักขนาดใหญ่ก่ออิฐฉาบปูนสูง 4 ชั้น สร้างแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกภายในตกแต่งด้วยไม้สักที่ส่งมาจากเมืองเชียงใหม่ นอกจากนี้ยังโปรดให้นำวัฒนธรรมล้านนาไปใช้หลายประการ ด้วยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ต้องการให้พระธิดามีพระเกียรติสมฐานะเจ้านายเมืองเชียงใหม่ มิใช่ “อีลาว” ดังที่มีการซุบซิบนินทาในราชสำนักฝ่ายใน การนี้รัชกาลที่ 5 ทรงไม่ขัดข้องใดๆ มีเพียงข้อทักท้วงว่าเจ้าดารารัศมี “ใช้เงินเป็นเบี้ย” และทรงเรียกเจ้าดารารัศมีเป็นการส่วนพระองค์ว่า “เมียโปลีซี

พ.ศ. 2432 เจ้าดารารัศมีขณะมีพระชนม์ 16 ชันษา ประสูติพระราชธิดา รัชกาลที่ 5 พระราชทานนามว่า “พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสี” แปลว่าผู้ประเสริฐไม่มีมลทินของเมืองเชียงใหม่ ขณะเดียวกันก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนยศจากเจ้าจอม เป็น “เจ้าจอมมารดา”

แต่หากสังเกตพระยศของพระราชธิดาที่ได้คือ “พระองค์เจ้า” เป็นยศที่ไม่ถูกต้องตามประเพณี เนื่องจากเจ้าดารารัศมีเป็นพระราชธิดาของกษัตริย์ล้านนาซึ่งเป็นประเทศราชของสยาม พระยศของพระธิดาของพระองค์จึงควรเป็น “เจ้าฟ้า” (ดังเมื่อพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสีทรงป่วยและสิ้นพระชนม์ ด้วยพระชนม์เพียง 3 พรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลอจมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชปรารภกับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่า “ฉันผิดเอง ลูกเขาควรเป็นเจ้าฟ้าแต่ฉันลืมตั้งจึงตาย…”)

อย่างไรก็ตาม พระประสูติกาลนี้นอกจากจะยังความปลาบปลื้มแก่เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ที่มีพระนัดดา ยังแสดงให้สาธารณชนประจักษ์ในความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่กับพระมหากษัตริย์ที่กรุงเทพฯ เพราะในบริบทที่เชียงใหม่ตกอยู่ภายใต้พระราชอํานาจของพระมหากษัตริย์แห่งกรุงเทพฯ อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงนั้น การมีพระนัดดาเป็นพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี ย่อมจะช่วยเสริมสร้างบารมีและเกียรติยศแก่เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่

พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี กับเจ้าดารารัศมี พระราชชายา

พ.ศ. 2440 พระเจ้าอินทวิชยานนท์พิราลัย เจ้าดารารัศมี มิได้เสด็จกลับล้านนา อาจเป็นเพราะเวลานั้นรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรป ขณะเดียวกันกรุงเทพฯ ก็ยังไม่ได้เริ่มจัดมณฑลเทศาภิบาลในล้านนาและการวางโครงสร้างระบบราชการในหัวเมืองต่างเรียบร้อย ส่วนสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาพผ่องศรี ผู้สำเร็จราชการก็มิได้มีพระราชดำริเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างใด

พ.ศ. 2451 พระเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ เจ้าเมืองเชียงใหม่องค์ต่อมา ซึ่งเป็นพระเชษฐาต่างพระมารดาของเจ้าดารารัศมีเสด็จลงมาเฝ้ารัชกาลที่ 5 เจ้าดารารัศมีจึงได้กราบบังคมทูลลากลับไปเยี่ยมพระประยูรญาติเป็นครั้งแรกหลังจากจากมาเป็นเวลา 21 ปี การนี้รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระราชอิสริยยศขึ้นเป็น “พระราชชายา” ซึ่งเป็นตำแหน่งพิเศษที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

พระราชหัตถเลขาในรัชกาลที่ 5 พระราชทานพระอนุชิตชาญไชย ลงวันที่ 15 มกราคม ร.ศ. 127 ก็ได้ระบุถึงพระสถานะของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ว่าเสด็จไปเชียงใหม่ใน “ตำแหน่งบรรดาศักดิ์พระอรรคชายา” ที่จะต้องถวายพระเกียรติให้สมกับพระสถานะดังความว่า “…นางดาราจะลาขึ้นไปเชียงใหม่ชั่วคราว เห็นว่าควรจะมีข้าราชการผู้ใหญ่ขึ้นไปได้วย…การที่นางดาราขึ้นไปในตำแหน่งบรรดาศักดิ์พระอรรคชายา ไม่ใช่ไปอย่างเปนน้องเจ้าเชียงใหม่อย่างเดียว เพราะฉะนั้นให้รักษาน่าที่และบรรดาศักดิ ตามสมควรแก่ตำแหน่ง…”

จนกระทั่ง พ.ศ. 2457 เจ้าแก้วนวรัฐ พระเชษฐาต่างมารดา ซึ่งรักษาการเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 9 ได้เดินทางลงมากรุงเทพฯ เพื่อเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชชายาเจ้าดารารัศมีจึงได้ทรงกราบบังคมทูลลา ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเสด็จกลับไปประทับในนครเชียงใหม่พร้อมกับเจ้าแก้วนวรัฐ ดังปรากฏในหนังสือกราบบังคมทูล เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2457 ความตอนหนึ่งว่า

“ ตัวข้าพระพุทธเจ้าต้องนับว่าตัวคนเดียวแท้ ลูกก็ไม่มี พี่น้องที่พอจะอาศรัยได้ก็อยู่ห่างไกลกัน เวลากลุ้มขึ้นมาคิดไปไหนก็ไม่สําเร็จ ที่สวนที่บ้านซึ่งพอจะได้ยืดเส้นยืดสายแก้รําคาญก็ไม่มี ครั้นจะไปตากอากาศตามที่ต่างๆ ก็ไม่มีผู้รับรอง แลพาหนะ กําลังพอที่จะไปเองได้ นอกจากจะต้องอาศรัยของหลวง ทําให้เปลืองพระราชทรัพย์ แลทั้งส่วนตัวด้วย โดยไม่จําเป็น โดยความขัดข้องตามที่ได้กราบบังคมทูลมานี้ เวลานี้ก็เป็นโอกาสอันดีที่เจ้าแก้วนวรัฐลงมา ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานกราบถวายบังคมลา ขึ้นไปเชียงใหม่ พร้อมกับเจ้าแก้วนวรัฐ…”

จากคำกราบบังคมทูลจะเห็นว่า พระราชชายาเจ้าดารารัศมี มิได้ต้องการให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับรู้ว่า พระองค์จะเสด็จกลับมามีบทบาทอะไรที่เชียงใหม่ และคงไม่ใช่พระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่จะให้พระราชชายาเจ้าดารารัศมีเป็นตัวแทนของอํานาจและวัฒนธรรมจากส่วนกลาง เวลา 28 ปีที่พระราชชายาเจ้าดารารัศมีทรงพำนักในราชสำนักสยาม ทรงเรียนรู้วัฒนธรรม โลกทัศน์ และค่านิยมแบบสยาม  

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

จิรชาติ สันต๊ะยศ. ประวัติศาสตร์ฉบับ “รื้อสร้าง” ทั้งที่ “จริง” และ “สร้างใหม่” พระราชชายาเจ้าดารารัศมี, สำนักพิมพ์มติชน ธันวาคม 2551

ผศ.ดร. เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว. เปิดแผนยึดล้านนา, สำนักพิมพ์มติชน กุมภาพันธ์ 2560


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 กรกฎาคม 2562