“เจ้าดารารัศมี” เจ้าหญิงนครเชียงใหม่ ถวายตัวในรัชกาลที่ 5 กับชีวิตใน “ราชสำนักสยาม”

พระราชชายาเจ้าดารารัศมี กับ เจ้านายฝ่ายใน
พระราชชายาเจ้าดรารารัศมี ทรงซิ่นประทับฉายพระรูป พร้อมด้วยเจ้านายฝ่ายใน

พระราชชายาเจ้าดารารัศมี (26 สิงหาคม 2416 – 9 ธันวาคม 2476) เป็นเจ้าหญิงในราชวงศ์ทิพย์จักรจากนครเชียงใหม่ ผู้มีบทบาทสำคัญต่อการรวมล้านนาเข้ากับสยาม โดยการถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมล้านนา พระประวัติของพระองค์ที่ว่าด้วยความรักและความเอาพระทัยใส่ที่พระราชายาเจ้าดารารัศมีทรงได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, ความจงรักภักดีต่อราชสำนักสยาม ฯลฯ  มีให้เห็นอยู่โดยทั่วไป

ขณะเดียวกันก็มีประเด็นที่ร่ำลือถึงความขมขื่นของพระราชชายาฯ, การได้เปรียบเสียเปรียบของล้านนาและสยาม ฯลฯ ซึ่งจิรชาติ สันต๊ะยศ เขียนไว้โดยละเอียดใน “การสร้างความทรงจำเกี่ยวกับพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ในฐานะบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ ระหว่างทศวรรษ 2500 ถึง ทศวรรษ 2520” (ประวัติศาสตร์ฉบับ “รื้อสร้าง” ทั้งที่ “จริง” และ “สร้างขึ้นใหม่” พระราชชายาเจ้าดารารัศมี, สนพ. มติชน 2551)

จิรชาต สันต๊ะยศ ค้นคว้าเอกสารเกี่ยวกับพระราชชายาเจ้าดารารัศมีจำนวนมากที่ทำให้เกิดมุมมองทำให้มุมมองต่อประวัติศาสตร์ในช่วงดังกล่าว และพระประวัติพระราชาชายาฯ กว้างขวางยิ่งขึ้น ในที่นี้จึงขอคัดย่อมาเพียงบางส่วนดังนี้

ในงานเขียน ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง ที่ชื่อว่า “เพ็ชร์ล้านนา เล่ม 1” นำเสนอถึงชีวิตในฝ่ายในที่ข่มขืนว่า

“พระสนมกํานัลภายในวังพากันอิจฉาตาร้อน คิดเสียว่าพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ทรงมีพื้นเพอยู่ทางเหนือ การคบค้าสมาคมและการต้อนรับจากภาคกลางอย่างต่ำต้อยด้อยหน้า เมื่อพูดถึง ลาวแล้ว เจ้าจอมหม่อมห้ามคงเข้าใจว่า สมเด็จพระปิยมหาราชก็คงจะเห็นด้วยกับการกระทํากลั่นแกล้งหยามเหยียดต่างๆ…ซึ่งวิธีการเล่นสกปรกต่างๆ ทําให้พระราชชายาทรงรู้สึกกลัดกลุ้มรุ่ม ร้อนพระทัยเป็นยิ่งนัก”

หรือ“พระราชชายา บ่นกับผู้ใกล้ชิดว่า พระองค์ใคร่จะเสวยลําโพง (มะเขือบ้า) เป็นคนวิกลจริต แล้วทางกรุงเทพฯ จะได้ส่งกลับนครเชียงใหม่บ้านเกิดให้รู้แล้วรู้รอด จะได้พ้นจากความลําบากยากแค้นเสียที และผู้ใกล้ชิดพระองค์ได้ทัดทานไว้ว่า ขอให้อดใจรอจนกว่าเหตุร้ายจะกลายเป็นดีในวันหนึ่ง…”

หรือ “การกระทํากลั่นและหยามเหยียดต่างๆ ที่พวกเธอทั้งหลายมีต่อพระราชชายา ซึ่งวิธีการเล่นสกปรกต่างๆ ทําให้พระราชชายาทรงรู้สึกกลัดกลุ้มร้อนรุ่มพระทัยยิ่งนัก แม้แต่ในขันทองสรงน้ำของพระองค์ ก็มีกระดาษเขียนตัวเลขยันต์คล้ายคาถา…น้ำในห้องสรงของพระองค์ก็ถูกโรยด้วยหมามุ่ย… บางทีก็มีถุงเงินพระราชทานของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมาวางอยู่ ตามทวารห้องบรรทมเพื่อหาเรื่องให้พระราชชายาว่าขโมยมา…

ภายในสวนสวรรค์ข้างๆ พระตําหนัก ยังมีสิ่งปฏิกูลของมนุษย์ทิ้งเรี่ยราดอยู่…บางที่พระองค์ทรงได้ยินเสียงตะโกนลั่นผ่านหน้าห้องบรรทมว่า เหม็นปลาร้า พระราชชายาเจ้าดารารัศมีทรงมีขันติอดทนอย่างน่าชมเชย อย่างไรก็ดีความก็ล่วงรู้ถึงพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว…ทรงว่ากล่าวตักเตือนบรรดาเจ้าจอม หม่อมห้าม พระสนมกํานัล ให้ยุติการกลั่นแกล้ง…กระทบกระเทือนพระทัยพระราชชายาโดยเด็ดขาด”

เจ้าดารารัศมี พระราชชายา พระภรรยาเจ้าในรัชกาลที่ 5 (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ขณะที่ เจ้าประกายแก้ว ณ เชียงใหม่ เป็นบุตรีของ เจ้าแสงดาว ณ เชียงใหม่ (ธิดาบุญธรรมของพระราชายาเจ้าดารารัศมี) กับ เจ้าแก้วมงคล ณ เชียงใหม่ (ผู้ซึ่งพระราชายาฯ ทรงชุบเลี้ยงและให้การศึกษาเช่นเดียวกัน) เรื่อง “ดารารัศมีรําลึก 5 ธันวาคม 2521” ที่เน้นเรื่องการไม่ถูกต้องชอบธรรมที่ล้านนาต้องยอมรับสถานะที่เหนือกว่าของกรุงเทพฯ เช่น

การสูญเสียประโยชน์ “การที่พระราชชายาฯ ท่านมีพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ท่านมากมายสําหรับใช้จ่าย โดยเฉพาะส่วนที่ได้จากป่าไม้สักปีละหลายแสน (สมัยนั้น) และยังส่วนที่เป็นของเจ้านายญาติพี่น้องคนอื่นๆ ปีละมากมายเหลือที่จะคณานับ ดังนั้นเมื่อเรายอมเป็นเบี้ยล่างของเขาเสียแล้ว เขาจึงถือสิทธิ์ริบเอาเสียเลย แต่จะริบเอาให้หมดทันทีทันใด ก็ละอายแก่ผีสางเทวดาอยู่บ้าง

จึงเอาเป็นว่าริบตัวป่าไม้ทั้งหมดเป็นของหลวง ตัดไม้ได้เท่าใด ก็คิดให้แต่ค่าตอของมันให้เจ้าของเสียเพียง 2% อีก 98% นั้นต้องเป็นของหลวง และเมื่อเจ้าของที่มีชื่อในบัญชีนั้นตายลงก็เป็นอันว่า แม้แต่ 2% ของท่านผู้นั้นก็กลายเป็นของหลวงไป…ขณะนี้ พ.ศ. 2521 ป่าไม้ของเราหายไปไหนหมด เอาคืนมาให้เจ้าของเสียที่ได้แล้วหรือยัง? เพราะป่าไม้เหล่านี้ครึ่งหนึ่งมาจากสินสมรสของแม่เจ้าตาเวย…บางส่วนก็เป็นราชอาณาจักรลานนาไทยแต่โบราณ…”

หนังสือของเจ้าประกาย ณ เชียงใหม่ เล่มนี้ กล่าวถึงการโปรดเกล้าฯ ให้มีพิธีโสกันต์แก่เจ้าดารารัศมีนั้น ผู้เขียนใช้ข้อความว่า

จึงทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร เชิญพระกุณฑลและพระธำมรงค์ประดับเพชร มาพระราชทานเป็นของขวัญและขอหมั้น ด้วยโดยพระราชทานเค้ามั่นสัญญาว่า จะไม่เหยียบย่ำ จะยกย่องเสมอกัน ทางเชียงใหม่จึงไม่ขัดพระราชประสงค์…” และ “…ความจริงแล้ว พระองค์ท่านมิได้มีพระประสงค์จะละความเป็นหนึ่งในอาณาจักรของตนเอง ลงมาเป็นเบี้ยล่างของใคร

แต่ความผันผวนทางการเมืองที่พระบิดาและพระญาติผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดจริงๆ ลงความเห็นให้พระองค์ท่านตัดสินชีวิตของตนเอง ว่าจะไปเป็นราชบุตรีบุญธรรมของสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย หรือจะเป็นทองแผ่นเดียวกับราชวงศ์ทางใต้ เมื่อทรงพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การอยู่กลุ่มชนที่มีเชื้อชาติและศาสนาเดียวกัน แม้ต้องขมขื่นอย่างไรก็ยังคงพอพูดกันรู้เรื่อง…”

นอกจากนั้นงานเขียนของเจ้าประกายแก้ว ยังกล่าวถึงสาเหตุการสิ้นพระชนม์แปลกๆ ของพระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสีธี พระราชธิดาของพระราชชายาฯ

และนี่คืออีกมุมหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่รอให้มีการศึกษา เผยแพร่ในระดับที่ลึกและกว้างขึ้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 กรกฎาคม 2562