“ว่าน” ต้นไม้สายมู ที่ใช้ป้องกันภัย, รักษาโรค, ไล่ผี, ทำพระ ฯลฯ

ว่าน
ว่านเพชรสังฆาต ว่านที่นอกจากใช้เป็นยา ยังมัคุณทางเมตตามหานิยม (ภาพจาก www.technologychaoban.com)

ต้นไม้ส่วนใหญ่ มักปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับ หรือเป็นอาหาร (จาก ผล, ดอก, ใบ, เมล็ด ฯลฯ) แต่ไม่ใช่สำหรับ “ว่าน”

ว่าน มีสรรพคุณมากกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็น เมตตามหานิยม, คงกระพันชาตรี, อำนาจคุ้มครอง, โชคลาภ และเป็นยาสมุนไพร อิทธิฤทธิ์ของว่านที่หลากหลายเช่นนี้ เพราะเชื่อกันว่า ว่านมีชีวิต มีญาณ

ว่านประเภทใด มีสรรพคุณทางใด พอสรุปได้ดังนี้

ว่านทางเมตตามหานิยม มีคุณทำให้คนเมตตา เอื้อเฟื้อ ให้ความช่วยเหลือ ได้แก่ ว่านนางกวัก-ค้าขายดีมีคนเมตตา, ว่านเสน่ห์จันทน์เหลือง-มีคนจงรักภักดี อุดหนุนจุนเจือ, ว่านเพชรสังฆาต-ศัตรูเดินผ่านกลายเป็นมิตร, ว่านเพชรนารายณ์-เป็นประเภทนะจังงัง ใครจะมาตำหนิต่อว่าเดินผ่านว่านนี้จะพูดไม่ออก แต่กลับพูดในทางที่ดีแทน ฯลฯ

ว่านทางคงกระพันชาตรี มีอิทธิฤทธิ์ป้องกันการทำร้ายจากอาวุธ และการต่อสู้ ทำให้จิตใจฮึกเหิม ได้แก่ ว่านมหาปราบ-นักรบสมัยโบราณใช้หัวทาตัว/กิน ก่อนไปรบ ทำให้หนังเหนียวทนต่ออาวุธมีคม, ว่านพญาหอกหัก-ชื่อก็บอกอยู่ว่า แม้แต่หอกยังหัก ใช้พกติดตัวเป็นเครื่องราง, ว่านมหาอุด หรือ ว่านคางคก-นักเลง นักมวยนิยมพกติดตัว/กิน ให้อยู่ยงคงกระพัน แต่ถ้ากินมากไปหน้าจะตกกระเหมือนคางคก ฯลฯ

ว่านทางอำนาจ มีอิทธิฤทธิ์ช่วยคุ้มครองให้พ้นภัยพิบัติต่างๆ รวมถึง งูพิษ, เสนียดจัญไร รวมถึงภูตผี และคุณไสยต่างๆ ได้แก่ ว่านสี่ทิศ-คุ้มครองให้ร่มเย็นเป็นสุข มีโชคลาภ, ว่านดาบหลวง-มีอำนาจป้องกันโจรเข้าบ้าน ทำให้สิ่งประหลาดไม่กล้าเข้ามา, ว่านพญามือเหล็ก-ป้องกันภูตผีไม่ให้ทำลายคนในบ้าน, ว่านธรณีสาร-ใช้รักษาคนถูกผีเข้า, ถูกคุณไสย ฯลฯ

ว่านเป็นยาสมุนไพร ที่ใช้ใบ, หัว, ลำต้น ฯลฯ ในการรักษาโรค หรือเพื่ออายุวัฒนะ ได้แก่ ว่านหางจระเข้ หรือ ว่านไฟไหม้-รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก รักษาแผลฝี หนอง ลดการอักเสบ และเป็นยาถ่าย, ว่านพญาจงอาง-ใช้พอกถอนพิษงู ปลูกในบ้านงูพิษไม่กล้าเข้ามา, ว่านมหากาฬ-ตำกับเหล้า (ส่วนใหญ่ใช้เหล้าขาว) พอกฝีและแก้พิษสัตว์กัดต่อย หายเร็วทันใจ แต่ห้ามกิน, ว่านขมิ้นดำ-ใช้เป็นยาฆ่าพยาธิ หรือกินเป็นยาถ่าย ฯลฯ  

ว่านหลายชนิด ยังมีสรรพคุณหลายทาง เช่น ว่านงาช้าง-ใช้กินฟอกเลือด ช่วยขับโลหิต ยังปลูกเป็นไม้มงคลอีกด้วย, ว่านมะอะอุ-ใช้พอกรักษาฝีหนอง ยังมีคุณเรื่องเมตตามหานิยม เป็นต้น

นอกจากนี้ ว่านบางชนิด มีการนำไปใช้เป็นส่วนประกอบเข้าพิธีสร้างพระเครื่อง ที่เรียกว่า “พระเนื้อว่าน” เช่น ว่านสบู่เลือด-ที่มีคุณเรื่องคงกระพันชาตรี, ว่านเสน่ห์จันทน์แดง-ที่มีชื่อเรื่องเมตตามหานิยม ฯลฯ

แต่สรรพคุณของว่านที่กล่าวไปนั้น ใช่ว่าจะปลูกและนำมาใช้แบบพืชทั่วไปได้

การปลูกว่านแต่ละชนิดจะมีฤกษ์ปลูก เช่น เดือนอ้าย ให้ปลูกวันพุธ, เดือนยี่ และเดือน 7 ให้ปลูกวันพฤหัสบดี, เดือน 3 และเดือน 8 ให้ปลูกวันศุกร์, เดือน 4 เดือน 9 และเดือน 11 ให้ปลูกวันเสาร์, เดือน 5 และเดือน 10 ให้ปลูกวันอาทิตย์, เดือน 6 และเดือน 12 ให้ปลูกวันอังคาร

นอกจากนี้ ถ้าเป็นว่านที่มีคุณด้านเมตตามหานิยม ยังควรปลูกวันจันทร์ เวลา 9.00-10.30 น., ว่านทางอำนาจควรปลูกวันพฤหัสบดี เวลา 6.00-7.30 น., ว่านสบู่เลือด ควรปลูกวันอังคาร เดือน 6, ว่านนกคุ้ม ปลูกวันอังคาร ข้างขึ้น เดือน 6 เป็นต้น

พื้นที่ปลูกว่าน ส่วนใหญ่มักเป็นหน้าบ้าน ห้ามเอาขยะหรือของสกปรกใส่ต้นว่าน, อย่าให้คนเดิมข้าม, ไม่ปลูกหรือตั้งไว้ข้างราวตากผ้า ไม่ให้ผู้หญิงที่กำลังมีประจำเดือนรดน้ำ เป็นต้น เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้ว่านเสื่อมฤทธิ์ หรือบางทีต้นว่านอาจตายได้

การรดน้ำว่านหลายชนิดต้องเสกคาถำกับ โดยคาถา ได้แก่ คาถา “นะโมพุทธายะ” 3 จบ หรือ 108 จบ, คาถา “อุอากะสะ”,  คาถาพุทธคุณ 3 จบ หรือ 7 จบ, คาถา “นะโมพุทธายะ นะมะทะจะกะกะสะ” 1 จบ ฯลฯ

สุดท้ายเวลานำว่านมาใช้ นอกจากว่านบางชนิดต้องมีคาถากำกับ การใช้ก็มีหลายรูปแบบทั้งพกติดตัว, กิน, พอก, ทา, ให้ยางเขียนเป็นยันต์ ฯลฯ

ตัวอย่าง ว่านสบู่หลวง ที่นักมวยโบราณนิยมใช้กัน ด้วยได้ชื่อว่า “หนังเหนียว” ใช้โดยการกิน แต่จะกินปกติไม่ได้ เพราะจะเห่อตามผิวและคัน จึงต้องฝังว่านไว้ในกล้วย รีบเคี้ยว รีบกลืนทันที ว่านสบู่หลวงมีข้อห้ามว่า กินแล้วต้องไม่ไปปัสสาวะ จนกว่าจะชกมวยเสร็จ ถ้ากินแล้วเผลอไปปัสสาวะ ฤทธิ์ของว่านก็หมดสิ้นไป

“ว่าน” ไม่ใช่ผักสวนครัวริมรั้ว เมื่อมีสรรพคุณซะขนาดนี้ก็ต้องลงทุนกันบ้าง ส่วนจะคุ้มค่าหรือไม่ ก็ต้องระลึกไว้ว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง” 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ฝอยฝา พันธุ์ฟัก. “ว่าน” ใน, สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง เล่ม  13 จัดพิมพ์ เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542, มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.

เขตร ศรียาภัย. ปริทัศน์มวยไทย, สำนักพิมพ์มติชน กุมภาพันธ์ 2550.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มกราคม 2567