
ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2552 |
---|---|
ผู้เขียน | ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย |
เผยแพร่ |
“—เรื่องดอกไม้นั้น เป็นที่ปรากฏเสียแล้วว่าพ่อชอบมาก ไปถึงแห่งใดก็แต่งเต็มไปด้วยดอกไม้ทั้งห้อง งามชื่นตาชื่นใจ—”
เป็นข้อความในพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงมีถึงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล ขณะเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 พ.ศ. 2450 ครั้งนั้นเป็นการเสด็จประพาสส่วนพระองค์ มีวัตถุประสงค์สำคัญคือ การรักษาพระพลานามัยตามคำแนะนำของแพทย์ประจำพระองค์
การเสด็จครั้งนี้จึงทรงมีเวลาที่จะเสด็จฯ ไปตามสถานที่ต่างๆ ตามความพอพระทัย สถานที่ที่โปรดเสด็จประพาสมากที่สุดคือชนบท นอกจากมีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรภูมิประเทศแล้ว พระราชประสงค์สำคัญคือ ต้องการทอดพระเนตรชีวิตความเป็นอยู่และวิธีการทำมาหากินของสามัญชนชาวยุโรป โดยเฉพาะการเกษตรกรรม ซึ่งเป็นอาชีพสำคัญของคนไทย ทรงสนพระทัยในวิทยาการต่างๆ ที่ชาวบ้านนำมาช่วยในการเพาะปลูกพืชผักเพื่อที่จะได้นำมาปรับปรุงใช้ในการเกษตรของไทย
ผลพลอยได้จากการเสด็จประพาสชนบทของยุโรปทำให้ได้ทรงพบเห็น พืชผัก ผลไม้ ไม้ดอกชนิดต่างๆ ที่ไม่มีในเมืองไทย เช่น ลูกแพร์ แอปเปิ้ล เชอร์รี่ โดยเฉพาะดอกไม้นั้น ทรงพบว่ามีหลากสีหลายพันธุ์ และมีความงดงามกว่าดอกไม้ในเมืองไทย เมื่อทรงพบเห็นก็มักทรงเปรียบเทียบกับดอกไม้ไทยที่มีลักษณะใกล้เคียงและยังทรงวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้ดอกไม้เมืองหนาวสีสด ทนทานกว่าดอกไม้เมืองร้อน ดังปรากฏเกี่ยวกับเรื่องดอกไม้ที่ทอดพระเนตรเห็นระหว่างทางเสด็จประพาสในพระราชหัตถเลขาแต่ละฉบับดังนี้
ทรงบรรยายถึงความดารดาษมากมายของดอกกุหลาบที่เมืองซันเรโม ว่า “—ดอกไม้อะไรก็ไม่เท่ากุหลาบ ไม่ว่าข้างรั้วข้างกำแพงผนังเรือน จะงอยเขาเล็กๆ ที่เหลือเศษจากถนน ปลูกกุหลาบเลื้อยเซิงโตๆ ดอกเต็มต้น ทั่วไปทุกหนทุกแห่ง กุหลาบไม้เลื้อยดอกใหญ่ๆ ก็ปลูกเป็นกอๆ พูนร่องเตี้ยๆ ตามซอกห้วยซอกเขา ไม่ว่าขึ้นยากลงยากฤาขึ้นง่ายลงง่ายอย่างไร ข้างกระท่อมโซเซเกือบจะพังก็ปลูกกุหลาบทั้งนั้น—ตลอดยอดเขา เต็มไปด้วยต้นกุหลาบ เท่าๆ กันเหมือนกอข้าวในนา บ้างก็ผลิ บ้างก็ตูม บ้างแย้ม แดงครืดไป เป็นสีเหมือนกับเอาผ้าลายดอกกุหลาบตาก—เหลือที่จะร่ำพรรณา—”

ทรงบรรยายรูปพรรณสัณฐาน ขนาดและสีสันของกุหลาบที่เมืองเยนัวไว้ว่า “—ที่นี่มีดอกไม้หรูหลายอย่าง ที่วิเศษแท้นั้นคือกุหลาบ กุหลาบอย่างดีที่ดุ๊กเรียกว่ามอญ แต่ที่แท้ของไทยนั้นมันโตเท่ากุหลาบเย็บกันเล่น กุหลาบเย็บมันแบนเพราะกลีบสั้น นี่มันกุหลาบจริงๆ กลีบใหญ่ได้ส่วน ดอกโตเท่าขนาดใหญ่ของเราสามดอกรวมกัน กลิ่นก็หอมเป็นกุหลาบไทย—” และทรงเล่าถึงดอกไม้อื่นๆ ไว้ว่า
“—ที่เห็นมากในเวลานี้คือดอกกำมะหยี่ซ้อนสีชมภู ดอกเดียวมันโตเท่าดอกแก้วพวงทั้งช่อ อีกอย่างหนึ่งดอกคล้ายลั่นทมที่พึ่งแย้ม แต่มีอะไรแต้มข้างในงามหรูขึ้น อีกอย่างหนึ่งคล้ายดอกแต้ฮวย เบญมาศ มีมาก—” ทรงบรรยายถึงสีอันสดใสของดอกไม้เมืองหนาวไว้ว่า “—สีมันสดจริงๆ สดเหมือนกำมะหยี่ เหมือนแพร จนได้เห็นได้ถูกได้ดม รู้ว่าเป็นดอกไม้จริงๆ ยังอยากจะเชื่อว่าทำด้วยกำมะหยี่ฤาด้วยแพรร่ำไป งามจนหลับตาลงก็เห็นดอกไม้—”
ด้วยเหตุที่ทอดพระเนตรไปทางใดก็ทรงพบแต่ความงามของดอกไม้ ทำให้ทรงสบายพระทัยและมีความสุข ดังที่ทรงบรรยายไว้ว่า “–—ซึ่งพ่อคลั่งพูดถึงไม้ดอกร่ำไปนั้น เพราะมันแลไปข้างไหน ก็เป็นดอกไม้เต็มไปทั้งเมือง สวนก็เป็นดอกไม้เต็มไปทั้งนั้น ไร่ก็เป็นดอกไม้เต็มไปทั้งนั้น จะไม่เคยเห็นเมืองอื่นในประเทศยุโรปซึ่งจะมีดอกไม้มากอย่างแถบนี้—”

นอกจากความงามของดอกไม้ที่ติดอยู่กับต้นแล้ว ยังทรงพอพระราชหฤทัยดอกไม้ที่ชาวเมืองจัดมาถวายในลักษณะต่างๆ เช่น เมื่อครั้งเสด็จจากสวิตเซอร์แลนด์ทางรถไฟ เจ้าของโฮเต็ล เดซอัลปส์ เตอรโกต์ ที่ประทับได้จัดดอกไม้มาประดับถวายบนตู้รถไฟ ดังที่ทรงบรรยายว่า “—ของแกเข้าทีคือเอาหีบสานด้วยไม้อ้อที่สำหรับบรรจุดอกไม้มาจัด ดอกกุหลาบสีชมภู แลกุหลาบแดงกับดอกสีขาวที่เหมือนมะลิ เรียกว่า นือเค ทำให้เหมือนหนึ่งดอกไม้นั้นบรรจุหีบ แต่ล้นออกมาอยู่ข้างนอก—”
เมื่อโปรดดอกไม้จึงทำให้ทรงสนพระทัยศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับไม้ดอกต่างๆ ทรงเปรียบเทียบเรื่องสีและเรื่องความสวยสดงดงามของดอกไม้เมืองหนาวกับดอกไม้เมืองร้อนและปัจจัยที่ทำให้แตกต่างกัน ซึ่งทรงสรุปว่า เป็นผลเนื่องมาจากอากาศ ดอกไม้ในแถบเมืองหนาวจะมีสีสดสวยและอยู่ทนเพราะความเย็นของอากาศ ดังที่ทรงบรรยายไว้ว่า “—-เหตุมันสดใสงดงามเช่นนี้ เพราะอะไร เพราะแสงแดดที่นี่ไม่แรงสีไม่ตก—” และทรงบรรยายถึงวิธีการเก็บบรรจุดอกไม้ให้คงทนเพื่อส่งออกจำหน่ายว่า “—วิธีบรรจุนั้น เอาสำลีห่อดอกไม้ แลเอาสำลีวางรองพื้น เอาดอกไม้ที่ห่อสำลีไว้นั้นเรียงพอเต็ม และกรุสำลีอีกชั้นหนึ่ง ซ้อนกันขึ้นไปอย่างนี้จนเต็มหีบแล้วส่งไป เมื่อถึงที่แล้วเอาไปแช่น้ำก็สดบริบูรณ บริบูรณอยู่ได้หลายๆ วัน—” แต่ก็ทรงสรุปว่า “—ที่ทำได้ดังนี้ก็เพราะเรื่องหนาวเป็นสำคัญกว่าอย่างอื่นหมด อย่างเช่นเมืองเราจะทำก็คงจะไม่ทนได้เช่นเขา—”
แม้จะทรงบรรยายลักษณะขนาดและความงดงามของดอกไม้ในยุโรปอย่างละเอียดเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว ยังมีพระราชประสงค์ให้ผู้ที่อยู่ในเมืองไทยมีโอกาสได้เห็นของจริง จึงทรงพยายามหาวิธีส่งดอกไม้เหล่านั้นเข้ามาด้วยวิธีต่างๆ เช่น โปรดให้ซื้อ หน่อ เมล็ด หรือหัว แล้วแต่ชนิดของดอกไม้เหล่านั้น ส่งเข้ามา ดอกไม้บางชนิดที่ไม่มีหน่อ เมล็ด หรือหัว ที่จะส่งได้ ก็โปรดให้ซื้อโปสการ์ดรูปดอกไม้เหล่านั้นส่งมา ถ้าดอกไม้ใดไม่มีในโปสการ์ด ก็โปรดให้นายมุ่ยเขียนภาพดอกไม้นั้นส่งเข้ามาให้ดู ดังที่ทรงเล่าไว้ว่า
“—รูปดอกไม้ที่ให้นายมุ่ยเขียน ได้ลงสีจะหาสีให้เหมือนดอกไม้จริงไม่ได้ มันแห้งแลอ่อนไปหมด—” อีกวิธีหนึ่งที่ทรงทำเพื่อให้คนในเมืองไทยได้มีโอกาสเห็นดอกไม้เมืองนอก คือ การอัดแห้งดอกไม้ ซึ่งทรงมักลงมืออัดแห้งดอกไม้ด้วยพระองค์เองเสมอ ดังที่ทรงเล่าไว้ว่า “—ได้ให้การอัดดอกไม้มาแต่วานนี้ ให้นึกอยากอัดขึ้นมาอีก วานให้นายโฮเตลไปซื้อสมุดอัด ได้มาเล่มหนึ่งอัดมาตามทาง—-”

ด้วยความพอพระทัยและสนพระทัยเกี่ยวกับเรื่องราวของดอกไม้ในทุกๆ เรื่องจนคนรอบข้างสังเกตเห็น จึงพยายามที่จะทำให้พอพระราชหฤทัยด้วยการจัดดอกไม้นานาชนิดไว้รับเสด็จส่งเสด็จในทุกๆ ที่ประทับ ดังที่ทรงเล่าไว้ว่า “—เรื่องดอกไม้นั้น เป็นที่ปรากฏเสียแล้วว่าพ่อชอบมาก ไปถึงแห่งใดก็แต่งเต็มไปด้วยดอกไม้ทั้งห้อง งามชื่นตาชื่นใจ—”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ดอกไม้ทรงโปรดรัชกาลที่ 5” เขียนโดย ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2552
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 สิงหาคม 2561