พุดตาน ดอกไม้ที่สามารถเปลี่ยนได้ถึง 4 สี ภายในวันเดียว

พุดตาน ชื่อดอกไม้ ชื่อคน
ซ้าย-แม่นาย พุดตาน ใน “พรหมลิขิต” (ภาพจาก Broadcast Thai Television) ขวา-ดอก พุดตาน ช่วงบ่ายที่สีชมพูเข็ม

พุดตาน ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hibiscus mutabilis L. จัดเป็นพืชไม้พุ่มขนาดกลาง มีขนตามลำต้น กิ่ง และใบ ลักษณะของใบเป็นใบเดี่ยวคล้ายใบฝ้าย ดอกมีลักษณะคล้ายดอกชบาซ้อน หรือกุหลาบ

ความโดดเด่นของ พุดตาน คือ เป็นดอกไม้ที่สามารถเปลี่ยนได้ถึง 4 สี ภายในวันเดียว

ตอนเช้าดอกสีงาช้างหรือสีขาว ตอนสายดอกเปลี่ยนสีเป็นสีชมพูอ่อน ตอนเที่ยงดอกจะเปลี่ยนสีเป็นสีชมพู ตอนเย็นดอกจะเปลี่ยนสีเป็นสีชมพูแดง โดยการเปลี่ยนสีนั้นเกิดขึ้นจากโครงสร้างทางเคมีของพุดตาน ที่ทำให้ดอกพุดตานปรับเปลี่ยนสีไปตามอุณหภูมิแต่ละช่วงเวลาของวัน

ถิ่นกำเนิดของ พุดตาน คือประเทศจีน มีชื่อเรียกว่า 芙蓉花 (ฝูหรงฮวา) ด้วยชื่อของมันพ้องเสียงกับคำ ฝู (福) ที่แปลว่า โชคลาภ, ร่ำรวย ความหมายที่เป็นมงคลนี้ และความงามของมัน จึงมีผู้นิยม วาด, ปัก, แกะ ฯลฯ ดอกพุดตาน ลงในภาพวาด, เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม, เครื่องเคลือบ, งานศิลปะ ฯลฯ เพื่อมอบเป็นของขวัญแทนคำอวยพร

ส่วนพุดตานจะเข้ามาเมืองไทยเมื่อไหร่ยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจน หากนักวิชาการสันนิษฐานว่า พุดตานน่าจะเข้ามาในประเทศไทย สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ผ่านทางคนจีนที่เข้ามาอยู่อาศัยเพื่อทำการค้าขาย

นอกจาก พุดตาน ที่เป็นดอกไม้แล้ว คนไทยยังรู้จักในความหมายอื่นๆ 

ลายดอกพุดตาน หรือช่างไทยนิยมเรียกว่า “ลายดอกฝ้ายเทศ” เป็นลวดลายดอกไม้ชนิดหนึ่ง ที่ปรากฏในงานศิลปกรรมไทยลายดอกพุดตาน มีที่มาอยู่ 2 แนวคิด หนึ่งคือ ได้อิทธิพลมาจากดอกฝูหรงที่นำเข้ามาจากจีน หนึ่งคือ เป็นลายเดียวกันกับลายดอกโบตั๋นหรือพัฒนาขึ้นมาจากลายดอกโบตั๋นเดิม

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงสันนิษฐานว่า ลายดอกพุดตานอาจเกิดขึ้นจากการเลียนแบบเครื่องลายครามของจีน โดยลายดอกพุดตานที่พบในไทยมักเป็นลวดลายตกแต่งภาชนะ เช่น เครื่องลายครามที่พ่อค้าจีนนำติดตัวมาหรือนำมาขาย และเครื่องเบญจรงค์

ภายหลัง ลายดอกพุดตาน มีการประกอบรวมกับลายอื่นๆ เป็น ลายพุดตานก้านแย่ง, ลายเทศพุดตาน ฯลฯ

พระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ เป็นที่ประทับห้อยพระบาท ทำด้วยไม้แกะสลัก มีภาพสลักประดับสองชั้นหุ้มทองประดับรัตนชาติ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเสด็จประทับออกขุนนาง เพื่อทอดเหนือพระราชบัลลังก์ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร

โดยใช้เป็นพระราชอาสน์ที่พระมหากษัตริย์เสด็จออกประทับในงานพระราชพิธีใหญ่ ๆ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และรัฐพิธีเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร เป็นต้น และพระที่นั่งองค์นี้เช่นกันทำเป็นพระราชยานได้ จึงมีห่วงสำหรับสอดคานหาม และใช้เป็นพระราชยานในการเสด็จพระราชดำเนิน พยุหยาตราทางสถลมารค เช่น พระราชพิธีเลียบพระนคร หรือพระราชพิธีเสด็จถวายผ้าพระกฐิน เป็นต้น

เพลงดอกพุดตาน คำร้อง ชอุ่ม ปัญจพรรค์ ทำนอง สมพงษ์ ทิพยกลิ่น ขับร้องโดย พูลศรี เจริญพงษ์ บันทึกเสียงครั้งแรก พ.ศ. 2497 เนื้อร้องว่า

ดอกพุดตาน ยามเช้าบานไสว   มองแล้วเพลิน ดูขาวชวนเชิญชมชื่นใจ

ครั้นตะวัน พ้นขอบฟ้าพลันสีแปรไป   กลีบขาวกลาย เปลี่ยนเป็นชมพูรู้กลับกลาย

ชวนใจชม นิยมไม่ห่างไม่จางจืดใจ   พันธุ์ไม้อื่นใด จะหาใดไหนเทียมทันพุดตานสวรรค์

สายัณห์เย็น สีกลายกลับเป็นสีแดงพลัน   ดอกพุดตาน เจ้างามตระการแสนรื่นรมย์

“พุดตาน” สุดท้ายที่คนไทยรู้จักก็คือ “แม่นายพุดตาน” นางเอกใน ละครพีเรียด “พรหมลิขิต” ที่ออกอากาศอยู่ในขณะนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

พุดตานดอกไม้เทศแห่งกรุงรัตนโกสินทร์. เว็บไซต์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก สุโขทัย(https://finearts.go.th/sawakhavoranayokmuseum)

ดร.วนิดา  ธนประโยชน์ศักดิ์. ดอกพุดตานเปลี่ยนสี: การสร้างสรรค์จากธรรมชาติ เว็บไซต์สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (http://biology.ipst.ac.th)

พระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์. เว็บไซต์หน่วยราชการในพระองค์ (https://www.royaloffice.th/)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566