“ตีนเป็ด” มาจากไหน? ความย้อนแย้งของต้นไม้ที่ส่งกลิ่นหอม (ฉุน) ว้าวุ่นไปทั่วเมือง

ตีนเป็ด พญาสัตบรรณ ดอกตีนเป็ด
ช่อดอกของต้นตีนเป็ด (ภาพโดย Tris T7 ใน Wikimedia Commons สิทธิการใช้งาน CC BY-SA 4.0) - ปรับกราฟิกเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม)

เมื่อฤดูหนาวมาถึง นอกจากสายลมจะพัดพาอากาศเย็นมาแล้ว กลิ่นของดอก “ตีนเป็ด” ก็อบอวลไปทั่วเช่นกัน โดยเฉพาะช่วงพลบค่ำ จนบางคนบอกว่ากลิ่นตีนเป็ดนี่แหละคือกลิ่นของช่วงปลายฝนต้นหนาว

ตีนเป็ด มีชื่อทางการว่า พญาสัตบรรณ เป็นต้นไม้ที่พบทั่วไป ทั้งในพื้นที่สาธารณะ ส่วนราชการต่าง ๆ ก็นิยมปลูกไว้เป็นร่มเงา ออกดอกปีละหนช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน และคงเป็นกลิ่นเฉพาะตัวของดอกตีนเป็ดนี่เอง ที่ทำให้หลายคนจำต้นไม้นี้ได้แม่น จนถูกคนจำนวนไม่น้อยตามจงเกลียดจงชัง ถึงขั้นอยากตัดโค่นทิ้งเสียให้รู้แล้วรู้รอด เพราะกลิ่นเหม็นฉุนเกินจะทนไหว บางคนได้กลิ่นอ่อน ๆ ลอยมาตามสายลมก็เวียนหัวขึ้นมาทันที

ตีนเป็ดมาจากไหน? ทำไมกลายเป็นต้นไม้ที่สร้างเรื่องได้ขนาดนี้

ตีนเป็ดจัดเป็นไม้ยืนต้นสูงขนาดใหญ่ สูงได้ถึง 12-20 เมตร ใบเป็นช่อสีเขียวเข้ม ปลายใบมน โคนใบแหลม แตกใบรอบข้อเป็นวง เป็นที่มาของชื่อ เพราะดูไปคล้ายตีนเป็ด ลำต้นมีเปลือกหนาหุ้มแต่เปราะ ผิวขรุขระ มียาง ส่วนดอกตัวสร้างเรื่องเป็นช่อสีขาวปนเหลือง-เขียว

ว่ากันตรง ๆ ตีนเป็ดเป็นต้นไม้ประจำถิ่นนี่แหละ ไม่ใช่ไม้นำเข้าหรือพืชต่างถิ่นแต่อย่างใด พบได้ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ หรือในประเทศที่มีภูมิอากาศแบบร้อนชื้น ตั้งแต่อินเดีย บังกลาเทศ พม่า ฯลฯ และทั่วทุกภาคในประเทศไทย โดยเฉพาะป่าดิบแล้งและป่าดิบชื้น เพียงแต่ถูกขยายพันธุ์จากป่ามาปลูกในเมืองอย่างเป็นล่ำเป็นสัน จากสาเหตุหลักคือโตเร็ว ตายยาก เรียกว่าเป็น “ไม้เบิกร่อง” ปลูกไว้ไม่นานก็แผ่ร่มเงาไปทั่ว ลำต้นตรง ลักษณะดี แตกกิ่งก้านสาขาเป็นชั้น ๆ คล้ายฉัตร จึงถูกมองสื่อไปในทางมงคล

ชื่อ “พญาสัตบรรณ” ของต้นตีนเป็ด มีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤตว่า “Saptaparni” หรือ “Saptaparna” หมายถึง 7 ใบ (‘sapta’ สัปตะหรือสัตตะ แปลว่า เจ็ด – ‘parni’ ‘parna’ ปรฺณหรือบรรณ แปลว่า ใบไม้) จากจำนวนใบโดยเฉลี่ยในแต่ละช่อใบ

แต่ในอินเดียซึ่งเป็นต้นทางของภาษาสันสกฤต กลับเรียกต้นตีนเป็ดว่า “Shaitan ka Jhad” หมายถึง ต้นไม้ปีศาจ จากเรื่องเล่าโบราณที่เชื่อว่าต้นไม้นี้เป็นที่สิงสู่ของภูติผี จึงส่งกลิ่นเหม็นเน่าไปทั่วในเวลากลางคืน เป็นเหตุให้คนโบราณไม่อยากเข้าใกล้หรือหักร้างถางพง ตีนเป็ดจึงแพร่พันธุ์ไปทั่วแบบไร้อุปสรรค

อย่างไรก็ตาม คนอินเดียเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากต้นเป็ดเช่นกัน โดยเป็นส่วนหนึ่งในประเพณีของชาวฮินดูรัฐเกรละ ทางใต้ฝั่งตะวันตกของประเทศ ที่นั่นมี เทศกาลโอนัม (Onam) ที่ใช้ไม้ตีนเป็ดแกะสลักเป็นหน้ากากเทพเจ้าตามความเชื่อ นำมาสวมใส่แล้วร่ายรำประกอบการบวงสรวงทวยเทพ

ภาพลักษณ์ของตีนเป็ดในอินเดียสมัยหลังยังแปรเปลี่ยน จนถูกนิยามใหม่ว่าเป็นภาพแทนของ “การตื่นรู้” ภายใต้ความเชื่อว่ากลิ่นเหม็นฉุนของดอกตีนเป็ดทำให้ผู้คนมีสมาธิจดจ่อ ได้ตระหนักรู้ความคิดของตน ความเชื่อดังกล่าวจริงจังถึงขนาด รพินทรนาถ ฐากูร ปราชญ์อินเดียผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรมเมื่อ ค.ศ. 1913 ริเริ่มธรรมเนียมการมอบ “ใบตีนเป็ด” แก่บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาด้วย

ต้นตีนเป็ดยังปรากฏอยู่ในคัมภีร์พุทธศาสนา ชินกาลมาลีปกรณ์ ที่เล่าถึง “ต้นสัตตบรรณ” หรือ สัตตปัณณะ เป็นต้นไม้ที่ “พระตัณหังกรพุทธเจ้า” (พระพุทธเจ้าองค์แรก ก่อนพระโคดมพุทธเจ้าหรือพระสิทธัตถะ) ใช้ประทับตรัสรู้ เป็นอีกหลักฐานการเชื่อมโยงต้นตีนเป็ดกับปัญญาหรือการตื่นรู้ของพระพุทธเจ้าในอดีต

ปัจจุบัน ต้นตีนเป็ดถือเป็นต้นไม้ประจำเขตพญาไท รวมถึงไม้มงคลประจำจังหวัดสมุทรสาคร สืบเนื่องจากในอดีต วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2537 ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ได้รับพระราชทานต้นไม้นี้จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในวโรกาสที่เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานเปิดวันรณรงค์โครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ผู้ว่าฯ สมุทรสาครจึงนำพันธุ์ไม้พระราชทานนี้ มาปลูกที่บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราพบต้นตีนเป็ดได้ทั่วไป เพราะมันขยายพันธุ์ได้ง่ายมาก ทั้งจากการเพาะเมล็ดและปักชำ แต่หากมองข้ามเรื่องกลิ่นดอกที่รบกวนประสาทรับกลิ่นไป นี่คือต้นไม้ที่มีสรรพคุณทางยาเกือบทั้งต้น ตั้งแต่เปลือกต้นที่ช่วยแก้หวัด-ไข้ รักษาอาการไอ ใบช่วยเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ยางใช้อุดแก้อาการปวดฟัน รักษาแผลเปื่อย สารสกัดจากน้ำมันหอมระเหยของดอกตีนเป็ดยังสามารถใช่ไล่ยุงได้ด้วย และสรรพคุณอีกมากมาย

ตีนเป็ด พญาสัตบรรณ ดอกตีนเป็ด
ตีนเป็ด หรือ พญาสัตบรรณ ออกดอกสะพรั่งช่วงปลายฝนต้นหนาว (ภาพจาก มติชนออนไลน์, 9 พฤศจิกายน 2565)

ถึงอย่างนั้น ประโยชน์ของตีนเป็ดไม่อาจเปลี่ยนมุมมองที่หลายคนมีต่อต้นไม้นี้ไปได้ แน่ล่ะ…ก็กลิ่นสุดจะทนของมันยังลอยอบอวลไปทั่วเหมือนเดิม เพราะการอยู่ผิดที่ผิดทาง แทนที่จะอยู่ในป่าห่างไกลชุมชน

มีงานวิจัยว่า ดอกตีนเป็ดนั้นอุดมไปด้วยน้ำมันหอมระเหยที่มีฤทธิ์กระตุ้นประสาทรับกลิ่น ทำให้คนแพ้น้ำมันหอมระเหยได้กลิ่นเพียงนิดเดียวก็อาเจียนได้จริง ๆ แต่ “คุณ” ที่กล่าวไปข้างต้น ทำให้คนเลือกที่จะมองข้าม “โทษ” นั้นไป เราจึงได้เห็นตีนเป็ดยืนต้นสูงตระหง่านเรียงรายอยู่ทั่วทุกหัวระแหง

ความสัมพันธ์แบบ จะว่ารักก็รัก จะว่าชังก็ชัง ระหว่างคนกับ “ตีนเป็ด” จึงต้องดำเนินต่อไป ด้วยประการฉะนี้…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Archive.today. ต้นไม้ประจำเขต (พญาไท). 11 สิงหาคม 2554. จาก https://archive.li/cmutL

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. พญาสัตบรรณ (Alstonia scholaris (L.) R. Br.) สืบค้นเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2566. (ออนไลน์)

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. พญาสัตบรรณ (Alstonia scholaris). สืบค้นเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2566. (ออนไลน์)

มติชนออนไลน์. ป่าไม้วอน อย่าตัดต้นตีนเป็ด ชี้มีประโยชน์มากกว่าโทษ ใครไม่ต้องการให้แจ้ง จะส่งคนไปล้อมให้. 6 พฤศจิกายน 2564. (ออนไลน์)

The Navhind Times. The scholar’s tree. September 06, 2022. (Online)

We Grow Forest Foundation, Medium. WHITE CHEESEWOOD. February 11, 2022. (Online)

Wisdom Library. Saptaparṇa, Saptaparna, Saptan-parna, Saptaparṇā: 20 definitions. Retrieved November 20, 2023. (Online)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2566