นารีผล ต้นไม้สาวงามในวรรณกรรม สื่อความต้องการ “สตรี” ทั้งเทพและมนุษย์

จิตรกรรมฝาผนัง วัดหนองยาวสูง จังหวัดสระบุรี

ว่ากันว่า ป่าหิมพานต์ เป็นป่าในวรรณคดีและความเชื่อในเรื่องไตรภูมิตามคติศาสนาพุทธและฮินดู เชื่อว่าเป็นสถานที่มีสิ่งมหัศจรรย์มากมายมีสัตว์พิเศษต่างๆ อาศัยอยู่ เป็นป่าที่บุคคลธรรมดาไม่สามารถเข้าไปเที่ยวได้ ซึ่งผู้ที่จะเข้าไปได้เห็นจะเป็นนักสิทธ์ วิทยาธร เทวดาอารักษ์ต่างๆ เหาะไปเที่ยวเล่น

หากจะพูดถึงสาวงามในป่าหิมพานต์ที่คล้ายคนที่สุดเห็นจะเป็น มักกะลีผลหรือต้นนารีผล เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ที่ออกลูกออกผลเป็นหญิงสาวสวยงาม พวกนักสิทธ์ วิทยาธร (ผู้วิเศษจำพวกหนึ่งที่พำนักอยู่ในป่าหิมพานต์) มักจะเหาะกันมาอุ้มเด็ดเอาไปเชยชมได้ตามใจ มีกลอนนิราศของสุนทรภู่ ชื่อนิราศพระประทม กล่าวว่า

   แม้เป็นไม้ให้พี่นี้เป็นนก

ได้เกาะกกกิ่งไม้อยู่ไพรสัณฑ์

แม้เป็นนารีผลวิมลจันทร์

ขอให้ฉันเป็นพระยาวิชาธร

    แม้เป็นบัวตัวพี่เป็นแมงภู่

ได้ชื่นชูเชยชมสมเกษร

เป็นวารีพี่หวังเป็นมังกร

ได้เชยช้อนชมชะเลทุกเวลา

“นารีผล” จิตรกรรมฝาผนังวัดหนองยาวสูง

จิตรกรรมฝาผนังตามวัดวาอารามในไทยบางแห่งมีเขียนต้นนารีผลอยู่บ้าง ตัวอย่างที่ วัดหนองยาวสูง สระบุรี ผลนารีเขียนอย่างวิจิตรบรรจงมีรูปร่างสวยงาม และเขียนใบไม้ใบหญ้าปิดเนินงามส่วนล่างอย่างมิดชิด ส่วนหน้าอกเขียนอล่างฉ่างไม่ได้ปิดบัง ภาพเขียนมีเอวองค์อรชรอ้อนแอ้น แข้งขาเรียวงาม นารีผลตนไหนงามมีคนหมายตาไว้ตรงกันพอจะเข้าไปเด็ดมีคู่แข่งจึงมีการแย่งชิงเกิดขึ้น

เห็นได้ว่านารีผลที่สวยงามล้วนเป็นที่ต้องการของชาย หากจะเปรียบได้กับหญิงมนุษย์ทั่วไปไม่ว่ายุคสมัยไหนขึ้นชื่อว่าสตรีงามย่อมเป็นที่ต้องการของบุรุษ


อ้างอิง : “เชิงสังวาส ๒ กามรูปในภาพเขียนตามประเพณีที่มีเสียงวรรณคดีไทย”. โดย นิวัติ กองเพียร. มติชน. ๒๕๔๘


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 4 พฤศจิกายน พ.ศ.2560