“ซุปเปอร์ฮีโร่” เทพยุคใหม่ บทท้าทายศรัทธาเดิม พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของ อเวนเจอร์-โดเรมอน

ภาพประกอบเนื้อหา

บทความวิชาการนี้ พิจารณาจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ร่วมกับการตีความเชิงสัญลักษณ์ โดยอาศัยข้อมูลที่ได้จากภาพยนตร์ที่นำเสนอผ่านสื่อสาธารณะ สื่อออนไลน์ ร่วมกับเอกสารทางวิชาการต่างๆ เป็นกรอบแนวคิดในการตีความปรากฏการณ์ เพื่อชี้ให้เห็นการเกิดแนวคิดใหม่ เกี่ยวกับความท้าทายต่ออำนาจ ศรัทธา และความเชื่อเกี่ยวกับเทพเจ้าผ่านภาพยนตร์ ซึ่งนำไปสู่ปรากฏการณ์การสร้างรูปเหมือนของตัวละครในภาพยนตร์ ให้กลายเป็นสื่อแห่งศรัทธารูปแบบต่างๆ

อดีตมนุษย์พึ่งพิงธรรมชาติเพื่อความอยู่รอดเป็นสำคัญ เทพเจ้าที่ถูกสร้างขึ้นโดยมนุษย์ จึงเป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติ โดยผ่านกระบวนการสร้างความศักดิ์สิทธิ์ด้วยวิธีการต่างๆ ที่สำคัญคือ ตำนาน เรื่องเล่า ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างความชอบธรรมให้กับการมีตัวตนของเหล่าเทพเจ้าได้ง่ายที่สุด เพื่อสร้างให้เทพเจ้าเหล่านั้นมีความหมายตามเจตจำนงของผู้สร้าง มาถึงปัจจุบันเทพเจ้ามีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น บ้างสร้างขึ้นใหม่ตามแนวคิด ความเชื่อของคนรุ่นใหม่ โดยใส่จินตนาการเป็นแนวทางให้กับความเชื่อใหม่ สะกิดใจให้คนกล้าออกนอกกรอบความคิดความเชื่อแบบเดิม เกี่ยวกับความยิ่งใหญ่ของเทพเจ้าในตำนาน ที่มนุษย์เคารพนับถือมาโดยตลอด ให้เห็นว่าความล้ำหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มนุษย์สร้างขึ้นนั้น สามารถที่จะพัฒนาตนเองให้เหนือกว่าเทพเจ้าได้

ตัวการ์ตูนในจินตนาการ “โดเรม่อน” ถูกสร้างให้มีความศักดิ์สิทธิ์อันเกิดจากการปลุกเสกของพระสงฆ์ จึงกลายเป็นสิ่งเสริมสร้างสิริมงคลให้ได้เก็บรักษา ในรูปแบบวัตถุมงคลรูปโดเรม่อน (ภาพจาก http://news.goosiam.com/html/0000026.html)

ดังนั้น เทพเจ้าแบบเดิมๆ จึงหมดความสำคัญ ไม่มีความหมายอีกต่อไป เมื่อเป็นเช่นนี้ มนุษย์จึงสร้างเทพเจ้ายุคใหม่ขึ้นมา เป็นเทพเจ้าในจินตนาการที่มีความล้ำหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากกว่าเทพเจ้าในอดีต เพื่อมารับใช้มนุษย์ ให้เป็นที่พึ่งที่ขอต่อไป ปัจจุบันจึงพบว่ามีปรากฏการณ์การนำตัวละครที่มาจากหนังสือการ์ตูน ภาพยนตร์ซุปเปอร์ฮีโร่หลายเรื่อง มาสร้างเป็นส่วนหนึ่งบนพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ทั้งในศาสนสถานทางพุทธศาสนา และสร้างเป็นรูปเคารพรูปแบบต่างๆ ที่แสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์ กลายเป็นของขลังบูชากันขึ้นในสังคมไทย

เทพเจ้ามาจากไหน

กล่าวย้อนไปในอดีต พบว่ามีชนชาติอริยกะ หรือชาวอารยัน (Aryan) ที่ตั้งหลักแหล่งอยู่ในประเทศอินเดีย พวกเค้าได้สืบเชื้อสายต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งก็คือชาวฮินดูนั่นเอง คนกลุ่มนี้ได้สร้างเทวดาขึ้นมากราบไหว้นับถือกันมากมาย โดยให้เทวดามีหน้าที่ปกครอง ดูแลความเป็นไปของผู้คน สัตว์เลี้ยง และมีเทวดาอีกพวกหนึ่งอยู่บนสวรรค์ มีอำนาจมากกว่า เรียกชื่อในภาษาเดิมว่า เทวะ แปลว่า ผู้เปล่งแสง หรือผู้อยู่ในที่เล่นสบาย เทวะเหล่านี้มีลักษณะเป็นธรรมชาติต่างๆ เช่น ลมฟ้า อากาศ เป็นต้น

จากความเชื่อดั้งเดิมนี้เองได้พัฒนาเป็นลัทธิพราหมณ์-ฮินดู ต่อมาได้แตกแยกออกเป็นหลายนิกาย ซึ่งบูชาเทพเจ้าผู้เป็นใหญ่แตกต่างกันไป ลัทธิใดนับถือเทพเจ้าองค์ไหนเป็นใหญ่ ก็จะแต่งเรื่องขึ้นมายกย่องสรรเสริญบุญบารมีของเทพเจ้าองค์นั้นๆ ให้มีความชอบธรรมที่จะได้เป็นใหญ่กว่าเทพเจ้าทั้งปวง (พระยาสัจจาภิรมย์ฯ, ๒๕๔๙, น. ๒-๙.)

ศาสนาพราหมณ์ในยุคพระเวทยังไม่ปรากฏว่ามีวัดหรืออาคารอันเป็นที่สถิตของเทพเจ้า มีแต่กล่าวถึงไฟที่จุดในสภา แสดงว่ามีเพียงสภาที่ประดิษฐานกองไฟ เพื่อให้ประชาชนที่มาชุมนุมกันประกอบพิธีกรรมในบางโอกาส ส่วนรูปเคารพไม่มีหลักฐานว่ามีการทำในยุคต้นๆ จะนิยมใช้สัญลักษณ์แทนรูปเทพเจ้าและเทพีเท่านั้น ยังไม่นิยมสร้างเป็นรูปมนุษย์ นอกจากนี้ยังปรากฏว่ามีการใช้รูปสัตว์แทนรูปเทพเจ้าอีกด้วย ต่อมาศาสนาภควตาได้กลายเป็นลัทธิไวษณพนิกายของศาสนาพราหมณ์ ซึ่งเป็นศาสนาแรกที่ได้นำเอาคติการบูชารูปเคารพมาให้คนวรรณะสูงได้บูชา ลัทธินี้เชื่อว่าพระเจ้าจะปรากฏกายลงมาให้เห็นในแบบต่างๆ กัน ดังนั้นเพื่อให้เหล่าผู้ศรัทธาบนโลกมนุษย์สามารถแสดงความเคารพและบวงสรวงบูชาเทพเจ้าได้ จึงมีความจำเป็นต้องสร้างรูปแทน (Representative) ขึ้นมา ซึ่งมีทั้งที่เป็นรูปวาดและรูปสลัก (ผาสุข อินทราวุธ, ๒๕๒๔, น. ๒๒.)

เทวรูป คือ รูปแทนองค์ของเทพเจ้า ชาวฮินดูมีคำเรียกเทวรูปที่สร้างนี้ว่า มูรติ (Murti) แปลว่า รูปทรง คือรูปที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อแสดงหรือเป็นตัวแทนของเทพเจ้านั่นเอง เทวรูปมักอยู่ในรูปมนุษย์ทรงสัญลักษณ์ต่างๆ ที่สมมุติให้เป็นเครื่องหมายแทนพลานุภาพ ฤทธิ์เดช และคุณสมบัติของเทพเจ้าองค์นั้นๆ ซึ่งมีทั้งที่เป็นศาสตราวุธ เครื่องมือเครื่องใช้ พรรณพฤกษา (ผลไม้ ดอกไม้) และสัตว์ต่างๆ

เมื่อศาสนาฮินดูเข้ามาสู่ไทยพร้อมกับอารยธรรมอินเดีย คนไทยจึงได้รู้จักกับเทพเจ้า และมีไม่น้อยที่ยอมรับนับถือบูชา ซึ่งในหลาย ๆ กรณีเป็นการนับถือรวมกันไปกับศาสนาพุทธ เนื่องจากคนเอเชียโดยพื้นฐานแล้วไม่นิยมแบ่งแยกศาสนา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาใดก็ตาม ถ้าเป็นสิ่งที่ดีงามแล้วก็จะรับมานับถือทั้งหมด (กิตติ วัฒนะมหาตม์, ๒๕๔๙, น. คำนำ ๙.)

ความเชื่อในสังคมไทย

ลักษณะความเชื่อในพุทธศาสนาของคนไทยทั้งชาติตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มีลักษณะเป็นพุทธแบบไทย คือ มีพุทธศาสนาเป็นประธาน หรือเป็นฉากหน้า ส่วนเนื้อในมีการผสมผสานกันระหว่างศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ลัทธิถือผีสางเทวดา จนอาจเรียกได้ว่า คติของพราหมณ์ ลัทธิถือผีสางเทวดา และพุทธศาสนาอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน เป็นสิ่งที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน (สุเทพ สุนทรเภสัช, ๒๕๑๑, น. ๑๖๖-๑๙๐.)

ด้วยกรอบความคิด ความเชื่อ ที่เป็นรากฐานปลูกฝังคนไทยมาโดยตลอด ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ ในการถูกสอนสั่งให้เคารพนับถือธรรมชาติ ป่า เขา ต้นไม้ แม่น้ำ ลำธาร รวมทั้งบรรพบุรุษต้นกำเนิดมนุษย์ ที่เราก็ไม่เคยรู้จักพบหน้ากันมาก่อน จนถึงญาติผู้ใหญ่ใกล้ชิด ที่เสียชีวิตแล้วกลายเป็น ผีปู่ ผีย่า ผีตา ผียาย ผีบ้าน ผีเรือน ฯลฯ กล่าวได้ว่า ทุกๆ อย่างรอบตัวเราล้วนประกอบไปด้วยผีทั้งสิ้น จนถึงปัจจุบันก็ยังนับถือผีอยู่ (เสฐียรโกเศศ, ๒๔๘๐, น. ๑๕๓.) ซึ่งแสดงออกด้วยการเซ่นไหว้ บนบานด้วยสิ่งของต่างๆ นานา โดยหวังว่าผีเหล่านั้นจะพอใจและดูแลรักษาเรา หรือให้ในสิ่งที่เราปรารถนา (ฉลาดชาย รมิตานนท์, ๒๕๕๗, น. ๒๔๙.) จึงเป็นเรื่องปกติที่พบว่า สังคมไทยมีความเชื่อ เคารพบูชา เจ้าพ่อ เจ้าแม่ ผีสาง นางไม้ นางกวัก ต้นไม้ จอมปลวก รวมทั้งสิ่งแปลกประหลาดผิดธรรมชาติ ก็สามารถนำมาเป็นที่พึ่งที่ขอกันได้ทั้งสิ้น

คนรุ่นใหม่ยุควิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวหน้า อาจดูว่าเป็นเรื่องงมงาย ตลก โกหก เกินจริง หรือไร้สาระ แต่หารู้ไม่ว่า บรรพบุรุษสร้างฐานคิดนี้ไว้เป็นกุศโลบายอันบริสุทธิ์ เอาไว้สั่งสอนลูกหลานให้รู้จักรัก เคารพธรรมชาติ ญาติผู้ใหญ่ เพื่อจะได้อยู่ร่วมกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ดูแลรักษาให้ทรัพยากรธรรมชาติคงอยู่ชั่วลูกชั่วหลาน เจตนาอันดีของบรรพบุรุษนี้คงไม่สำคัญเท่ากับความคาดหวังในความศักดิ์สิทธิ์ที่จะช่วยดลบันดาลสิ่งต่างๆ ที่ตนปรารถนา จึงเกิดเป็นกิเลสครอบงำ นำมาซึ่งการบูชานับถือสิ่งต่างๆ มากมายอย่างงมงาย

ตำนาน : กระบวนการสร้างความศักดิ์สิทธิ์

การสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้กับพระเจ้า เทพเจ้า หรือบรรดาผีต่างๆ ในทุกๆ ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ ล้วนมีองค์ประกอบสำคัญ เพื่อสร้างความชอบธรรม ความสำคัญ และความหมายให้กับสิ่งเหล่านั้น นั่นคือ “ตำนาน” ตำนานเป็นข้อมูลทางคติชน เป็นสัญญะอย่างหนึ่งที่ส่งเสริมกระบวนการสร้างความหมายให้กับรูปเคารพ ตำนานส่วนใหญ่อธิบายเรื่องราวต่างๆ อันเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับรูปเคารพที่ประดิษฐานอยู่ในชุมชน เนื้อหาของตำนานมีทั้งที่ปรากฏอยู่ในวัฒนธรรมลายลักษณ์และวัฒนธรรมมุขปาฐะ (ปฐม หงษ์สุวรรณ, ๒๕๕๔, น. ฐ.) ช่วยสนับสนุน เชื่อมโยงการสร้างรูปเคารพ เพื่อเน้นย้ำความมีตัวตน ความศักดิ์สิทธิ์ของรูปเคารพแต่ละองค์

ตำนานของเหล่าพระเจ้า เทพเจ้า เทวดา ผีสาง ส่วนใหญ่มีพื้นฐานมาจากเรื่องจริงเพียงนิดเดียว แล้วนำมาขยายต่อเติมไปตามความเชื่อที่แตกแขนงแยกย่อยตลอดเวลาหลายร้อยพันปี ทำให้มีลักษณะอย่างเทพนิยาย (กิตติ วัฒนะมหาตม์, ๒๕๔๙, น. คำนำ ๑๑.) ตำนานยิ่งมีความแปลกพิสดารมาก ยิ่งทำให้เทพเจ้า หรือสิ่งที่กล่าวอ้างถึงมีความพิเศษ ศักดิ์สิทธิ์มากยิ่งขึ้น

รูปเคารพหลายองค์สร้างขึ้นมาจากตำนาน ทั้งที่เป็นเรื่องเล่าในชาดก นอกชาดก หรือเรื่องเล่าพื้นบ้าน แล้วนำเข้าสู่กระบวนการพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ โดยคนที่สังคมเชื่อและนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์ เช่น หมอผี พราหมณ์ พระสงฆ์ เป็นต้น ผนวกกับจุดเด่นที่เป็นความสามารถ หรือความพิเศษเฉพาะของตัวละครตามเนื้อเรื่องนั้นๆ นำมาเป็นจุดขาย เช่น พระพิฆเนศ ตามความนิยมแห่งไสยศาสตร์ เป็นเจ้าแห่งความรู้ (พระยาสัจจาภิรมย์ฯ, ๒๕๔๙, น. ๑๐๘.) นางกวัก ช่วยเรียกเงิน ทอง โชค ลาภ แม่นาคพระโขนง มีคุณสมบัติเฉพาะในการช่วยไม่ให้ผู้ชายถูกเกณฑ์ทหาร ชูชก ช่วยในเรื่องการขอในสิ่งต่างๆ แล้วได้สมความปรารถนา เป็นต้น

มาในยุคสมัยโลกาภิวัตน์ หรือโลกไร้พรมแดน ที่สื่อสารกันด้วยระบบเทคโนโลยีไร้สาย ผ่านช่องทางต่างๆ ทำให้ทุกส่วนของโลกสามารถรับรู้ แลกเปลี่ยน เชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารกันได้อย่างรวดเร็ว สื่อทางโทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต เป็นสื่อที่คนสามารถเข้าถึงได้เกือบทุกครัวเรือน ถ่ายทอดได้ทั้งภาพ เสียง ทำให้ผู้ชมได้รู้สึก สัมผัส เข้าถึง มีอารมณ์ร่วมกับสิ่งที่ได้รับชม สื่อช่องทางนี้จึงมีอิทธิพลต่อคน การนำเสนอภาพยนตร์ ละคร ซึ่งเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นเพื่อสุนทรียภาพ จึงส่งผลต่อจินตนาการ และความรู้สึกของผู้ชมอย่างมาก

โดเรม่อน : ส่วนแบ่งพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์

การ์ตูนดังจากประเทศญี่ปุ่นที่ถูกนำมาฉายทั้งทางโทรทัศน์และโรงภาพยนตร์ เป็นที่รู้จักกันดีเรื่องหนึ่ง คือ โดเรม่อน การนำเสนอตัวละครเด่น คือ หุ่นยนต์แห่งโลกอนาคตที่มีลักษณะเหมือนแมว ตัวสีฟ้า มีกระเป๋าที่บรรจุของวิเศษมากมาย เพื่อเอาไว้ช่วยเหลือเด็กน้อยที่อ่อนแอ ชื่อ โนบิตะ ให้พ้นจากการถูกเพื่อนเกเรรังแก

การ์ตูน เรื่องแต่งสนุกๆ สำหรับเด็กๆ เรื่องโดเรม่อน ในวันนี้ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบความเชื่อของคนไทยไปเรียบร้อยแล้ว โดย พระมหาอนันต์ กุสลาลงกาโร เจ้าอาวาสวัดสำปะซิว ตำบลสนามชัย อำเภอเมืองฯ จังหวัดสุพรรณบุรี ได้ให้ช่างวาดภาพจิตรกรรมฝาผนัง เล่าเรื่องราวพุทธประวัติ ที่มีภาพการ์ตูนชื่อดังหลายเรื่อง แฝงไปด้วยปริศนาธรรม หนึ่งในบรรดาการ์ตูนนั้นมีโดเรม่อนอยู่ด้วย จากการจัดสรรพื้นที่จิตรกรรมฝาผนังแนวประเพณีนิยม ให้มีเหล่าบรรดาการ์ตูนร่วมผสมผสาน แสดงความร่วมสมัยในปัจจุบัน เป็นกระแสที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากในสังคม ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ก็สามารถเรียกความสนใจให้คนเข้าไปเที่ยวดูและสร้างชื่อเสียงให้กับวัดได้เป็นอย่างดี

ต่อมาเจ้าอาวาสวัดสำปะซิวได้จัดทำล็อกเกตเข็มกลัดโดเรม่อนสวมชฎา (ภาพที่ ๑) มีข้อความว่า “โลโกปตฺถมฺภิกา เมตตา เมตตาเป็นเครื่องค้ำจุนโลก” โดยทางวัดได้นิมนต์พระเกจิชื่อดังในจังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน ๙ รูป มาประกอบพิธีปลุกเสก ซึ่งท่านเจ้าอาวาสวัดสำปะซิว กล่าวว่า ล็อกเกตนี้สร้างขึ้นเพื่อนำมาแจกให้กับนักท่องเที่ยวที่มาทำบุญกราบไหว้ขอพรพระ และเที่ยวชมศึกษาภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวทางพุทธประวัติทางศาสนาในโบสถ์ ได้นำไปเก็บเอาไว้เป็นสิริมงคล (http://news.sanook.com/1140024/)

จะเห็นได้ว่า ตัวการ์ตูนในจินตนาการ โดเรม่อน ถูกสร้างให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของวัดในพุทธศาสนา และยังมีความศักดิ์สิทธิ์อันเกิดจากการปลุกเสกของพระสงฆ์ จึงกลายเป็นสิ่งเสริมสร้างสิริมงคลให้ได้เก็บรักษากันไปแล้ว

ภาพที่ ๑ ล็อกเกตเข็มกลัดโดเรม่อนสวมชฎา (ภาพจาก http://news.sanook.com/1140024/)
ภาพที่ ๒ วัตถุมงคลรูปโดเรม่อน (ภาพจาก http://news.goosiam.com/html/0000026.html)

ลัทธิบูชาเทพเจ้าโดเรม่อนได้รับความนิยมมากขึ้นอีก โดยการนำมาผลิตซ้ำ เน้นย้ำความเชื่อ ด้วยการสร้างเป็นวัตถุมงคล เครื่องรางของขลัง ปลุกเสกโดยหมอไสยศาสตร์ชาวเขมร สิ่งที่น่าสนใจคือ ถ้าเทพเจ้าโดเรม่อนไม่เป็นที่ต้องการของคนในสังคม ก็คงไม่มีการผลิตซ้ำ แต่ถ้าเมื่อไรที่มีการผลิตซ้ำ นั่นแสดงว่าสังคมยอมรับ และให้พื้นที่กับเทพเจ้าโดเรม่อนแล้ว จาก (ภาพที่ ๒) มีการใส่มวลสารที่เชื่อว่าสามารถสร้างความศักดิ์สิทธิ์ไว้ด้านหลังรูปโดเรม่อนด้วย ดังนั้น โดเรม่อนจึงเป็นรูปสัญญะที่แสดงความหมายระดับวัฒนธรรมสื่อถึงความสามารถที่จะช่วยดลบันดาลสิ่งต่างๆ ให้ได้ดังปรารถนา โดยนำข้อมูลอ้างอิงจากเนื้อหาในบทการ์ตูน หรือภาพยนตร์ว่า โดเรม่อนมีของวิเศษมากมายในกระเป๋า และนำออกมาใช้ช่วยเหลือโนบิตะได้ทุกครั้ง ลักษณะการอ้างอิงเนื้อเรื่องบทบาทของตัวละครเช่นนี้ มีมาแล้วตั้งแต่ในอดีต ที่นำมาจากตำนาน นิทาน ชาดก จึงไม่แปลกที่จะนำตัวละครในภาพยนตร์ร่วมสมัยมาสร้างให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยนำมาสร้างความหมายให้เกิดเป็นความศักดิ์สิทธิ์เฉพาะด้านขึ้น

ดิ อเวนเจอร์ : แนวคิดใหม่ บทท้าทายศรัทธาเดิม

จากหนังสือการ์ตูนชื่อดังยอดนิยมเขียนโดย มาร์เวล คอมมิคส์ ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ๑๙๖๓ เรื่อง ดิ อเวนเจอร์ ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์โดย เควิน ฟีจ ประธานของ มาร์เวล สตูดิโอส์ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก จากการเริ่มต้นด้วยหนังซุปเปอร์ฮีโร่ เรื่อง ไอรอนแมน, ดิ อินเครดิเบิ้ล ฮัลค์, ไอรอนแมน ๒, ธอร์, กัปตันอเมริกา และอเวนเจอร์ ๑ ดิ อเวนเจอร์ เป็นการรวบรวมเหล่าซุปเปอร์ฮีโร่จากหนังสือการ์ตูนของมาร์เวลมากที่สุด โดยมีตัวละครชื่อ นิค ฟิวรี่ เป็นผู้อำนวยการหน่วยรักษาความสงบและสันติระหว่างประเทศ หรือที่รู้จักกันในชื่อ หน่วยชีลด์ จัดตั้งขึ้นมาเพื่อรับมือกับศัตรูจากนอกโลก (www.nungmovies-hd.com/avengers-ดิ-อเวนเจอร์ส/)

เหล่าซุปเปอร์ฮีโร่เป็นมนุษย์ธรรมดา แต่มีความสามารถพิเศษซึ่งเกิดขึ้นจากความล้ำหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พวกเขาเป็นตัวแทนของโลกยุคใหม่ ที่มีแนวความคิดใหม่ มีความสามารถพิเศษเหนือมนุษย์ธรรมดา และเทพเจ้า โดยมีตัวละครสำคัญ ได้แก่

กัปตันอเมริกา ทหารหนุ่มร่างเล็ก อ่อนแอ แต่กลายเป็นชายกล้ามโต แข็งแรง กล้าหาญ เกิดขึ้นด้วยความ
ล้ำหน้าทางวิทยาศาสตร์ มีอาวุธคู่กายเป็นโล่โลหะ สร้างจากวัตถุหายากที่มีความแข็งแกร่งที่สุดในจักรวาล

ฮัลค์ มนุษย์ซึ่งเกิดจากการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ทำให้เขาสามารถกลายร่างเป็นมนุษย์ตัวเขียว รูปร่างใหญ่โต มีความแข็งแกร่ง ไม่มีอาวุธใดๆ สามารถทำร้ายได้

ไอรอนแมน นักธุรกิจหนุ่มชื่อ โทนี่ สตาร์ค ผู้ผลิตอาวุธสงครามขาย เป็นอัจฉริยะ ประดิษฐ์ผลงานสุดยอดทางเทคโนโลยี คือ นวัตกรรมชุดเกราะที่ล้ำยุค มีความแข็งแรง สามารถเหาะได้สูงกว่าจรวดรบของกองทัพทหาร

เมื่อโลกต้องพบกับศัตรูที่ไม่คาดคิดมาก่อนจากนอกโลก คือ โลกิ เทพเจ้าแห่งแสงไฟ เป็นผู้มีปัญญาเป็นเลิศ แต่มักใช้ในการหลอกลวง มีความพึงพอใจกับความชั่วร้ายทุกชนิด จิตใจมีแต่ความริษยา ต้องการแก้แค้นและยึดครองโลก เหล่าซุปเปอร์ฮีโร่แต่ละคนไม่อาจต้านทานได้เพียงลำพัง ดังนั้น ซุปเปอร์ฮีโร่ทั้ง ๓ คนจึงต้องรวมพลังกันต่อสู้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของหน่วยชีลด์ และ ธอร์ (Thor) เทพเจ้าสายฟ้า ซึ่งเป็นบุตรของโอดิน ราชันแห่งเทพเจ้า เทพเจ้าธอร์มีร่างกายสูงใหญ่และแข็งแกร่งมาก มีค้อนมจอลเนอร์ (แปลว่า ผู้ทำลาย) เป็นอาวุธประจำกาย สร้างขึ้นจากอุกกาบาตที่ตกลงสู่พื้นพิภพในขณะที่เกิดพายุ (วีระ อรรถสิทธิ์, ๒๕๔๙, น. ๑๔๐.)

บทภาพยนตร์ เป็นสิ่งที่มนุษย์แต่งขึ้นมาโดยใส่ความหมาย หรือสร้างความหมาย การนำเสนอภาพโปสเตอร์ บทพูด และเนื้อหาบางตอนในภาพยนตร์ จึงอยู่ในฐานะเป็นสัญญะหรือเครื่อง
หมาย (Signifier) ที่ต้องอาศัยการอ่าน ตีความ หรือทำความเข้าใจสิ่งที่ผู้สร้างหรือผู้แต่ง ได้ซ่อนความหมายไว้อย่างซับซ้อนลุ่มลึก (พิชญา สุ่มจินดา, ๒๕๕๗, น. ๕.) เพื่อเป็นการสะท้อนความคิด ความเชื่อ ค่านิยม (Signified) ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปูทางแนวคิดใหม่ให้กับคนในสังคม

ดังนั้นจึงขอยกตัวอย่างบางส่วนของภาพยนตร์เรื่องนี้มาตีความหมาย โดยใช้ทฤษฎีสัญวิทยา ของ โรล็องด์ บาร์ทส์ (Barthes, 1967, p. 41.) เป็นแนวทางในการวิเคราะห์ปรากฏการณ์

ภาพที่ ๓ โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง ดิ 
อเวนเจอร์ (ภาพจาก http://marvel-movies.wikia.com/wiki/Avengers_(team))

จาก (ภาพที่ ๓) เป็นภาพโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์ องค์ประกอบในภาพสามารถแบ่งได้ ๓ กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นมนุษย์ที่มีความสามารถพิเศษ เกิดจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ กัปตันอเมริกา ไอรอนแมน และฮัลค์ กลุ่มที่ ๒ คือ เทพเจ้าธอร์ และกลุ่มที่ ๓ คือมนุษย์ธรรมดาที่มีความสามารถอันเกิดจากการฝึกฝนด้วยตนเอง

โปสเตอร์ยังได้แสดงการจัดลำดับความสำคัญของตัวละครในลักษณะการเดินมุ่งหน้าไปข้างหน้า เป็นรูปสามเหลี่ยม โดยมีกัปตันอเมริกาเดินนำหน้า ตามด้วยเทพเจ้าธอร์ ขนาบข้างคู่กับไอรอนแมน ลำดับถัดไปเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยชีลด์ทั้งด้านซ้ายและขวา และสุดท้ายคือ ฮัลค์

กัปตันอเมริกา ในชุดสีและลายธงชาติ เป็นตัวแทนของมหาอำนาจสหรัฐอเมริกา เดินนำหน้าตัวละครทุกคน บทบาทการเป็นผู้นำของกัปตันอเมริกาถูกเน้นย้ำด้วยเนื้อเรื่อง ตอนที่ศัตรูจากนอกโลกบุกมาทำร้ายผู้คน บ้านเมือง เกิดความโกลาหลขึ้น ในขณะที่ทุกคนยืนตะลึงกับเหตุการณ์ แต่กัปตันอเมริกากลับเป็นผู้ที่มีสติวางแผนและออกคำสั่ง ให้เหล่าซุปเปอร์ฮีโร่ยอดมนุษย์ เจ้าหน้าที่หน่วยชีลด์ รวมถึงเทพเจ้าธอร์ ทำหน้าที่ต่างๆ ในการปกป้องโลก อย่างไรก็ดี กัปตันอเมริกาไม่อาจต่อสู้ได้เพียงลำพัง หากต้องอาศัยความร่วมมือ ทำงานเป็นทีม จึงจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้

ความหมายที่ซ่อนในภาพยนตร์ฉากนี้ แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการเป็นผู้นำของมหาอำนาจสหรัฐอเมริกา (ใช้กัปตันอเมริกาเป็นตัวแทน) จากความล้ำหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงสติปัญญาในการบริหารจัดการ การปกครอง กัปตันอเมริกาจึงสมควรได้รับเกียรติให้เป็นผู้นำทีม นำชาวโลก และจักรวาล ให้พ้นจากภัยพิบัติทั้งปวง รวมถึงการนำพามวลมนุษย์ให้ก้าวข้ามกรอบความเชื่อเดิมๆ แสดงให้เห็นว่าความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มนุษย์สร้างขึ้นนั้น มีอานุภาพที่ยิ่งใหญ่ แม้แต่เทพเจ้าที่มนุษย์ศรัทธา (เทพเจ้าธอร์) ยังต้องเชื่อฟัง และกลายเป็นผู้ตามจึงจะสามารถผ่านพ้นอุปสรรคปัญหาต่างๆ ไปได้

ภาพที่ ๔ เทพเจ้าธอร์ต่อสู้กับกัปตันอเมริกาด้วยอาวุธประจำกาย (ภาพจาก http://www.majorcineplex.com/news/civilwar-Vibranium)

ส่วน (ภาพที่ ๔) เป็นเนื้อเรื่องตอนที่เทพเจ้าธอร์ต่อสู้กับกัปตันอเมริกา ซึ่งทั้งสองต่างก็มีอาวุธคู่กายที่ทรงอานุภาพ โดยธอร์ มีค้อนมจอลเนอร์ สร้างขึ้นจากอุกกาบาต มีความแข็งแกร่งมาก ส่วนกัปตันอเมริกา มีโล่ที่สร้างจากไวเบรเนียม (Vibranium) เป็นแร่ที่ถูกค้นพบที่ประเทศวากานด้า (ประเทศสมมุติ) ในแถบแอฟริกา พบได้ตามธรรมชาติ มีคุณสมบัติดูดซับและสลายแรงกระแทก ทำให้แร่มีความแข็งแกร่งขึ้นอย่างมาก โล่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒.๕ ฟุต น้ำหนัก ๑๒ ปอนด์ ความแข็งแกร่งของโล่สามารถรองรับแรงกระแทกจากค้อนมจอลเนอร์ของธอร์ได้ (http://www.majorcineplex.com/news/civilwar-Vibranium)

โล่ของกัปตันอเมริกาจึงถูกสร้างขึ้นมาให้สามารถสลายพลังอำนาจอาวุธของเทพเจ้าได้ แสดงให้เห็นว่าอาวุธเทพเจ้ากับอาวุธที่ถูกสร้างขึ้นด้วยความสามารถของมนุษย์ มีอานุภาพต้านทานกันได้ ฉะนั้นเทพเจ้าและอาวุธของเทพเจ้า จึงไม่ได้มีความพิเศษอีกต่อไป ในเมื่อมนุษย์ก็ทำได้เช่นเดียวกัน

เนื้อเรื่องสำคัญอีกตอนหนึ่ง ที่ทำให้สถาบันเทพเจ้าต้องสั่นสะเทือน ด้วยกำปั้นของเจ้าฮัลค์ ที่ต่อยหน้าเทพเจ้าธอร์ จนทำให้ธอร์กระเด็นไปไกล นอกจากนี้ เทพเจ้าโลกิยังถูกฮัลค์จับฟาดกับพื้น หมดสภาพความสง่างามของเทพเจ้าผู้สูงศักดิ์ (ภาพที่ ๕-๖)

ภาพที่ ๕ ฉากภาพยนตร์ตอนที่ฮัลค์ต่อยเทพเจ้าธอร์ (ภาพจาก https://www.beartai.com/news/63803)
ภาพที่ ๖ ฉากภาพยนตร์เทพเจ้าโลกิหลังจากถูกฮัลค์จับฟาดกับพื้น (ภาพจาก https://www.beartai.com/news/63803)

การนำเสนอภาพยนตร์ดิ อเวนเจอร์ ได้ก้าวข้ามล้ำพรมแดนแห่งความเชื่อ ความศรัทธาที่มีต่อสถาบันเทพเจ้าที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งมนุษย์เคารพศรัทธามาตลอด ให้เห็นว่า เทพเจ้าก็ไม่แตกต่างจากมนุษย์ มีทั้งเทพที่เป็นฝ่ายธรรมะและฝ่ายอธรรม มีกิเลส ตัณหาครอบครองใจ นอกจากนี้บางตอนของเรื่องยังแสดงให้เห็นว่าความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มนุษย์สร้างขึ้นนั้น มีความล้ำหน้ามากกว่าอำนาจพิเศษที่เทพเจ้ามีเสียอีก อย่างไรก็ดี มนุษย์และเทพเจ้าฝ่ายดี จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกันเพื่อความอยู่รอดของโลกใบนี้ต่อไป

หลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ และเป็นที่รู้จักกันทั่วไป ได้เกิดปรากฏการณ์การนับถือ
เหล่ายอดมนุษย์ในจินตนาการ ที่มีความสามารถพิเศษในด้านต่างๆ นำมาสร้างและบูชากันเป็นรูปเคารพเทพเจ้าที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ปรากฏขึ้นในสังคมไทย ภาพที่ปรากฏในสื่อออนไลน์ อาจเป็นเพียงการสร้างขึ้นมาเพื่อล้อเล่น หรือเป็นการบูชาจริงๆ ไม่อาจทราบได้ แต่เมื่อมีปรากฏขึ้นมาแล้วไม่ว่าจะด้วยเจตนาใด นั่นแสดงให้เห็นว่าคนเริ่มมีแนวคิด ยอมรับในบทบาท ความสามารถของเหล่าซุปเปอร์ฮีโร่ในจินตนาการ และต้องการให้รูปเคารพมีความสามารถพิเศษด้วย เมื่อปรากฏในสื่อก็มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากถึงความเหมาะสม แต่หากพิจารณาบ่อเกิดของเทพเจ้าในอดีต ต่างก็ถูกสร้างขึ้นมาจากตำนาน เทพนิยาย และเพิ่มเติมเสริมแต่งกันให้เหมาะกับกาลสมัย จนเกิดยึดมั่นถือมั่นกันสืบมากลายเป็นเทพเจ้าประจำลัทธิ ศาสนากันไปมากมาย

การสร้างและบูชาหุ่นจำลองของธอร์ (ภาพที่ ๗) ดูจะไม่ขัดเขินเท่าไร เพราะตามตำนานธอร์ก็เป็นเทพเจ้าอยู่แล้ว ถึงจะเป็นเทพเจ้าจากทางตะวันตก ก็ไม่มีปัญหาในการปรับให้เข้ากับบรรยากาศความเชื่อแบบไทยๆ โดยการตั้งโต๊ะบูชา จุดธูป จุดเทียน ถวายพวงมาลัย ต่อไปหากจะมีผู้สร้างและบูชายอดมนุษย์
คนอื่นๆ ที่เป็นตัวละครในหนังสือการ์ตูน ภาพยนตร์ ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป แต่มากไปกว่านั้นคือการสร้างและบูชาเหล่าซุปเปอร์ฮีโร่คนอื่นๆ ตามมาอีกทั้งเรื่อง (ภาพที่ ๘)

ภาพที่ ๗ รูปเคารพเทพเจ้าธอร์ (ภาพจาก คนบ้านนอก http://www.goosiam.com)
ภาพที่ ๘ สร้อยคอแขวนหุ่นซุปเปอร์ฮีโร่ “ชุดเบญจเวนเจอร์” (ภาพจาก http://petmaya.com/12-funny-motor-monk)

นอกจากนี้กระแสความนิยมซุปเปอร์ฮีโร่ยังเข้ามาแทนที่ความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำวัน ซึ่งแต่
เดิมชาวพุทธบูชาพระพุทธรูปปางต่างๆ ที่สร้างขึ้นเป็นตัวแทนของวันตามหลักโหราศาสตร์ไทย แต่ปัจจุบันพบว่ามีการใช้เหล่าซุปเปอร์ฮีโร่เป็นสัญลักษณ์แทนที่พระประจำวัน โดยนำเอาลักษณะ
นิสัยของซุปเปอร์ฮีโร่แต่ละคนมาผูกโยงกับลักษณะนิสัยของผู้ที่เกิดในแต่ละวัน เช่น วันจันทร์แทนด้วยสไปเดอร์แมน (Spiderman) วันอังคารแทนด้วยไอรอนแมน (Ironman) วันพุธแทนด้วยฮัลค์ (Hulk) วันพฤหัสแทนด้วยกัปตันอเมริกา (Captain America) วันศุกร์แทนด้วยวูบเวอรีน (Wolverine) เป็นต้น (ภาพที่ ๙)

 

ภาพที่ ๙ ซุปเปอร์ฮีโร่ประจำวันเกิด (ภาพจาก http://www.girlsfriendclub.com/superhero-horo/)

บทสรุป

เนื่องจากความเชื่อเป็นเรื่องส่วนบุคคล จึงไม่อาจกล่าวหาได้ว่าการกระทำใดถูกหรือผิด เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม บทความนี้เพียงแค่ต้องการชี้ให้เห็นประเด็น เป็นข้อคิดให้กับสังคมไทยที่ได้ชื่อว่ามีพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ให้ได้เห็นในอีกมุมหนึ่งของความเชื่อที่เกิดขึ้น ว่าแท้จริงแล้วสังคมไทยเป็นพุทธแบบไหนกันแน่

เทพเจ้าคือสิ่งที่ถูกมนุษย์สร้างขึ้นมา จึงเป็นภาพสะท้อนความคิดของมนุษย์นั่นเอง ในอดีตมนุษย์ผูกพันใกล้ชิดพึ่งพิงธรรมชาติ อยู่กับความไม่รู้ ความกลัว เทพเจ้าจึงมาจากธรรมชาติ ฟ้า ฝน ลม ความมืด ความสว่าง แม่น้ำ ป่า เขา ฯลฯ ผ่านกระบวนการคิด พิจารณา กลั่นกรองของมนุษย์ เพื่อเป็นที่พึ่งทางใจให้สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ เทพเจ้าจึงเป็นเทพเจ้าบริสุทธิ์ ที่เกิดจากจิตใจที่บริสุทธิ์เพียงเพื่อความอยู่รอด ต่อเมื่อสังคมเริ่มขยาย มีความเจริญมากขึ้น เทพเจ้าก็ถูกพัฒนาตามไปด้วย

ในยุคทุนนิยม ความปรารถนาของมนุษย์มีมากขึ้นจนกลายเป็นความต้องการส่วนเกิน ที่เกินความจำเป็นของชีวิต ยุคที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวหน้า เทพเจ้าจึงมาจากความล้ำหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเช่นกัน มนุษย์คิด พิจารณาสร้างเทพเจ้าขึ้นมาเพื่อตอบสนองความปรารถนา กิเลส ตัณหาของตนเอง เทพเจ้าที่เกิดขึ้น จึงกลายเป็นเทพเจ้าที่เคลือบแฝงไปด้วยผลประโยชน์นานัปการ


บรรณานุกรม

กิตติ วัฒนะมหาตม์. ๒๕๔๙. ตรีเทวปกรณ์ พระเณศ พระลักษมี พระสรัสวดี. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์.

ข่าวจริง สปริงนิวส์ (๓ กันยายน ๒๕๕๔) เข้าถึงได้จาก http://www.springnews.co.th/tag/%E0%B8% A7%E0%B8%B1%E0%B8%
94%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%9B%E0%B8%B0%E0%B8%8B%E0%B8%
B4%E0%B8%A7

ฉลาดชาย รมิตานนท์. ๒๕๕๗. “ความเชื่อเรื่องผีและศาสนา,” ใน เอกสารการสอนชุดวิชา แนวคิดไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๑๓. นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

ทายนิสัยตามวันเกิด คุณเหมือนซุปเปอร์ฮีโร่คนไหน. (๖ มิถุนายน ๒๕๕๙). เข้าถึงได้จาก http://www.girlsfriendclub.com/superhero-horo/

ปฐม หงษ์สุวรรณ. ๒๕๕๔. ตำนานพระพุทธรูปล้านนา : พลังปัญญาทางความเชื่อและความสัมพันธ์กับท้องถิ่น. เชียงใหม่ : แม็กซ์พริ้นติ้ง (สำนักมรดกล้านนา).

ผาสุข อินทราวุธ. ๒๕๒๔. รูปเคารพในศาสนาฮินดู. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศิลปากร.

พิชญา สุ่มจินดา. ถอดรหัสพระจอมเกล้า. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๗.

วีระ อรรถสิทธิ์. เปิดตำนานเทพเจ้า เรื่องราวจากกรีกถึงอียิปต์. กรุงเทพฯ : กู๊ดมอร์นิ่ง, ๒๕๔๙.

เว็บดูหนังออนไลน์, Sanook movie, Kapook movie, Mthai movie https://www.nungmovies-hd.com/avengers-%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%AA/)

สัจจาภิรมย์ฯ, พระยา (สรวง ศรีเพ็ญ). ๒๕๔๙. เทวกำเนิด. พิมพ์ครั้งที่ ๑๕. กรุงเทพฯ : อมรินทร์.

สุเทพ สุนทรเภสัช, บรรณาธิการ. ๒๕๑๑. พุทธศาสนาชาวบ้านในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สังคมวิทยาของหมู่บ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สมาคมสังคม
ศาสตร์.

เสฐียรโกเศศ (นามแฝง). ๒๔๘๐. การศึกษาเรื่องประเพณีไทย. พระนคร : อุดม.

Barthes, R. 1967. Elements of Semiology. Translated from the French by Annette Lavers and Colin Smith. New York : Hill and Wang.

The Avengers. (๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๘). เข้าถึงได้จาก http://xn--12cl3cf0azb9dvcm4rrd.com/the-avengers-%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%
99%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%AA/


บทความเดิมที่เผยแพร่ใช้ชื่อ “ซุปเปอร์ฮีโร่ : เทพเจ้ายุคใหม่ บทท้าทายศรัทธาเดิม”

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2560