“สุนทรภู่” เล่าประสบการณ์เห็น “ผี” เจอภูตผีปีศาจมาแล้วแทบทุกชนิด!

หุ่นขี้ผึ้ง สุนทรภู่
หุ่นขี้ผึ้งสุนทรภู่ ที่พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย จังหวัดนครปฐม ประกอบกับฉากหลัง เป็นภาพประกอบเนื้อหา

“สุนทรภู่” กวีผู้มีอายุอยู่ถึง 4 แผ่นดิน ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จวบจนรัชกาลที่ 4 ท่านพบเห็นอะไรมามากมายจากการเดินทางไปยังเมืองต่าง ๆ นำมาประพันธ์เป็นผลในรูปแบบนิราศ และเล่าเรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ ที่แต่งเป็นนิทานก็อีกหลายเรื่อง จึงย่อมไม่พลาดที่จะเล่าเรื่อง “ผี” แทรกไว้ในผลงานของท่าน

ผีในยุคของสุนทรภู่มีทั้งผีดี ผีร้าย และผีคุ้มดีคุ้มร้าย เช่น ภูต พรายน้ำ พรายไพร โขมด ผี สาง ปีศาจ นางตะเคียน ท้าวมด ปู่เจ้า เปรต กระสือ ผีโป่ง ปอบ ผีเสื้อสมุทร และย่องตอด

สุนทรภู่เล่าถึงประสบการณ์เจอผีใน “รำพันพิลาป” เมื่อคราวไปเขาม้าวิ่ง เป็นลักษณะกึ่งฝันกึ่งจริง ได้เจองูใหญ่สองตัวผัวเมีย ต่อมาแปลงเป็นหญิงผมหงอกขาว เข้าใจว่าเป็น “ผีโป่ง” มาเข้าสิง ดังนี้

วันไปอยู่ภูผาเขาม้าวิ่ง   เหนื่อยนอนพิงเพิงไศลหลับใจหาย

ครั้นดึกดูงูเหลือมเลื้อยเลื่อมลาย   ล้อมรอบกายเกี้ยวตัวกันผัวเมีย

หนีไม่พ้นจนใจได้สติ   สมาธิถอดชีวิตอุทิศเสีย

เสียงฟู่ฟู่ขู่ฟ่อเคล้าคลอเคลีย   แลบลิ้นเลียแล้วเลื้อยแลเฟื้อยยาว

ดูใหญ่เท่าเสากระโดงผีโป่งสิง   เป็นรูปหญิงยืนหลอกผมหงอกขาว

คิดจะตีหนีไปกลัวไม้ท้าว   โอ้เคราะห์คราวขึ้นไปเหนือเหมือนเหลือตาย

ใน “รำพันพิลาป” สุนทรภู่ยังเจอ “พรายน้ำ” ผีน้ำที่เชื่อว่าเป็นวิญญาณของคนที่เสียชีวิตจากการจมน้ำ, “ผีกระสือ” และ “ผีปอบ” อีกด้วย

ออกลึกซึ้งถึงที่ชื่อสะดือสมุทร   เห็นน้ำสุดสูงฟูมดั่งภูมผา

ดูพลุ่งพลุ่งวุ้งวงหว่างคงคา   สูดนาวาเวียนวนไม่พ้นไป

เรือลูกค้าพาณิชไม่ชิดเฉียด   แล่นก้าวเสียดหลีกลำตามน้ำไหล

แลชะเลเภตราบ้างมาไป   เห็นไรไรริ้วริ้วเท่านิ้วมือ

แม้นพรายน้ำทำฤทธิ์นิมิตรูป   สว่างวูบวงแดงดั่งแสงกระสือ

ต้องสุมไฟใส่ประโคมให้โหมฮือ พัดกระพือเผาหนังแก้รังควาน ฯ

……..

ครั้งไปด่านกาญจน์บุรีที่กะเหรี่ยง   ฟังแต่เสียงเสือสีห์ชะนีหนาว

นอนน้ำค้างพร่างพนมพรอยพรมพราว   เพราะเชื่อลาวลวงว่าแร่แปรเป็นทอง

ทั้งฝ่ายลูกถูกปอบมันลอบใช้   หากแก้ได้ให้ไปเข้ากินเจ้าของ

เข้าวัสสามาอยู่ที่สองพี่น้อง   ยามขัดข้องขาดมุ้งริ้นยุงชุม

เมื่อคราวสุนทรภู่ไปเมืองแกลง ใน “นิราศเมืองแกลง” ก็เจอกับ “ผีนางตะเคียน” ความว่า

ถึงหย่อมย่านบ้านระกาดต้องลงถ่อ   ค่อยลอยรอเรียงลำตามน้ำไหล

จนล่วงเข้าหัวป่าพนาไลย   ล้วนเงาไม้มืดคล้ำในลำคลอง

ระวังตัวกลัวตอตะเคียนขวาง   เปนเยี่ยงอย่างผู้เถ้าเล่าสนอง

ว่าผีสางสิงนางตะเคียนคนอง   ใครถูกต้องแตกตายลงหลายลำ

พอบอกกันยังมิทันจะขาดปาก   เห็นเรือจากแจวตรงหลงถลำ

กระทบผางตอนางตะเคียนตำ   ก็โคลงคว่ำล่มลงในคงคา

นอกจากนี้ใน “นิราศวัดเจ้าฟ้า” เมื่อยังเป็นพระภิกษุสุนทรภู่ เดินทางไปวัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์ ครั้นเมื่อถึงบ้านบางทะแยง เป็นป่าที่มีไม้พุ่มและมีต้นไทรครึ้ม ได้พักที่วัดมอญ ศาลาที่พักแรมไม่ไกลจากป่าช้า บรรดาผู้ติดตามเกิดขวัญเสียเห็นสิ่งใดก็คิดว่าเป็นผีหรือปีศาจกันเสียหมด ดังความว่า

ต้นไทรครึ้มงึ้มเงียบเซียบสงัด   พระพายพัดแผ้วผ่าวหนาวสยอง

เป็นป่าช้าอาวาสปีศาจคะนอง   ฉันพี่น้องมิได้คลาดบาทบิดา

ท่านนอนหลับตรับเสียงสำเนียงเงียบ   เย็นยะเยียบเยือกสยองพองเกศา

เสียงผีผิวหวิวโหวยโหยวิญญาณ์   ภาวนาหนาวนิ่งไม่ติงกาย

บรรดาศิษย์บิดรที่นอนนอก   ผีมันหลอกลากปล้ำพลิกคว่ำหงาย

ลุกขึ้นบอกกลอกกลัวทุกตัวนาย   มันสาดทรายกรวดโปรยเสียงโกรยกราว

ขึ้นสั่นไทรไหวยวบเสียงสวบสาบ   เป็นเงาวาบหัวหกเห็นอกขาว

หนูกลั่นกล้าคว้าได้รากไทรยาว   หมายว่าสาวผมผีร้องนี่แน

และใน “นิราศวัดเจ้าฟ้า” ยังปรากฏว่า พระภิกษุสุนทรภู่ได้ลองวิชาตำราอาคมปลุกผีที่ได้ไปเสาะหามาด้วย ได้ทดลองอ่านอาคมดำเนินพิธีตามตำรา ก็ปรากฏเหตุอัศจรรย์เหมือนบรรดาภูตผีพากันมาชุมนุมภายหลังจึงใช้ตำรานั้นปราบภูตผีไปจนสิ้น เมื่อรู้ถึงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เห็นจริงแล้วจึงถวายตำราให้แก่วัดที่มาพำนักไป

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของประสบการณ์เห็น “ผี” ของสุนทรภู่ แล้วทำไมสุนทรภู่ถึงเจอ “ผี” อยู่บ่อยครั้ง?

นั่นเพราะการเดินทางไกลในสมัยก่อน มักจะออกเดินทางในเวลากลางคืน ดังเช่นใน “นิราศพระประธม” ระบุว่าออกเดินทางในยามสอง หรือประมาณเที่ยงคืน ทั้งนี้เพราะหากเดินทางกลางวันที่มีแดดร้อนทำให้เหนื่อยง่าย หมดเรี่ยวแรงพายเรือ ขณะที่เวลากลางคืนอากาศไม่ร้อย เย็นสบายกว่าเวลากลางวัน จึงเหมาะแก่การออกเดินทางไกล

แต่ขณะเดียวกันการเดินทางในเวลากลางคืนก็อาจจะต้องเผชิญกับความลี้ลับจากความมืดด้วย เมื่อเกิดบางสิ่งบางอย่างที่ไม่สามารถหาเหตุอธิบายได้ ก็ก่อให้เกิดจินตนาการว่าเป็นผีชนิดต่างๆ นั่นเอง

หรือไม่ก็อาจเป็น “ผี” จริงๆ ก็ได้ ใครเล่าจะรู้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

อภิลักษณ์ เกษมผลกูล. (มิถุนายน, 2564). “บันทึกถึง ‘ผี’ ในวรรณคดีของสุนทรภู่ : ว่าด้วยความรับรู้นานาผีและการสร้างผีในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์” ใน, ศิลปวัฒนธรรม. 42 : 8. หน้า 118-124.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 สิงหาคม 2565