ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2557 |
---|---|
ผู้เขียน | ล้อม เพ็งแก้ว |
เผยแพร่ |
ผมได้นำเสนอเรื่องบรรพชน (ที่สุนทรภู่เองท่านเรียกว่า โคตรญาติย่ายาย) ของท่านสุนทรภู่ ว่าเป็นสกุลพราหมณ์เมืองเพชร เมื่อปี พ.ศ. 2529 อันเป็นโอกาสครบรอบอายุ 200 ปีของท่าน จนบัดนี้เข้าใจว่าได้รับการยอมรับกันในวงกว้างพอสมควร แต่ในการนำเสนอคราวนั้น ผมยังไม่ได้วิเคราะห์บริบทอื่น ๆ เช่นว่า บรรพชนของท่านเข้าไปอยู่ในวังหลังได้อย่างไร เหตุใดบิดาของท่านจึงบวชและไปอยู่เมืองแกลง ฯลฯ โอกาสนี้จึงใคร่ขอนำเสนอ ทั้งข้อคิดเห็นและหลักฐานตามที่ได้รวบรวมไว้ โดยขอแยกประเด็นเป็นข้อ ๆ เพื่อความสะดวกในการนำเสนอ
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เรื่องวังหน้า วังหลังนั้น มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีในรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชา ครั้งนั้นโปรดให้สร้างวังเป็นที่ประทับของพระราชโอรสพระองค์โต (คือสมเด็จพระนเรศวร) ทางด้านหน้าของพระราชวังหลวง และสร้างวังเป็นที่ประทับของพระราชโอรสพระองค์รอง (คือสมเด็จพระเอกาทศรถ) ทางด้านหลัง คนจึงเรียกเป็นวังหน้า วังหลังมาแต่ครั้งนั้น ก่อนหน้านั้นขึ้นไปมีธรรมเนียมอยู่ว่า องค์สมเด็จพระมหาอุปราช จะไปครองเมืองลูกหลวง เช่น สมัยราชวงศ์เชียงราย (อู่ทอง) มีลพบุรี เป็นเมืองลูกหลวง ส่วนราชวงศ์สุพรรณภูมิ เมืองลูกหลวงคือพิษณุโลก การมีวังหน้า วังหลังในพระมหานคร ว่าได้แบบอย่างจากพม่า ที่สมเด็จพระนเรศวรเคยไปประทับ
สำหรับวังหลังสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีการแต่งตั้งครั้งเดียวในปี พ.ศ. 2328 หลังจากสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ มีความชอบจากสงครามรบพม่า มีพระนามเรียกขานว่า กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข เมื่อสิ้นพระองค์ท่านแล้ว (พ.ศ. 2349) ก็ไม่มีการแต่งตั้งอีกเลย พระองค์ท่านจึงเป็นวังหลังสมัยรัตนโกสินทร์เพียงพระองค์เดียว
1. ทำไมบรรพชนสุนทรภู่จึงเข้าพึ่งวังหลัง
เรื่องสังคมไทยเป็นสังคมอุปถัมภ์หรือพึ่งพานั้น เป็นธรรมเนียมในระบบศักดินา ที่มีกฎหมายบังคับมาตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 1991-2031) จึงฝังรากลึกมาจนบัดนี้ ดังที่ท่านสุนทรภู่ได้สะท้อนการพึ่งพา (ในนิราศพระประธม) ไว้ว่า แม้หาเจ้านายพึ่งไม่ได้ก็ยังพึ่งผี ดังนี้
ที่ท้ายบ้านศาลเจ้าของชาวบ้าน บวงสรวงศาลเจ้าผีบายศรีตั้ง
เห็นคนทรงปลงจิตอนิจจัง ให้คนทั้งปวงหลงลงอบาย
ซึ่งคำปดมดท้าวว่าเจ้าช่วย ไม่เห็นด้วยที่จะได้ดังใจหมาย
อันเจ้าผีนี้ถึงรับก็กลับกลาย ถือเจ้านายที่ได้ฟังจึงจะดี
แต่บ้านนอกขอกนาอยู่ป่าเขา ไม่มีเจ้านายจึงต้องพึ่งผี
การพึ่งพิง หรือเรียกตามกฎหมายว่าการเข้าสังกัด ซึ่งมีเจ้านายและขุนนางเป็นเจ้าสังกัดนั้น คือการทำบัญชีจำนวนประชากรวิธีหนึ่ง ก่อนที่จะพัฒนาเป็นการกระทำสำมะโนประชากรดังเช่นทุกวันนี้
ปัญหาเรื่องเหตุใดบรรพชนสุนทรภู่จึงเข้าสังกัดวังหลัง อาจหาคำตอบได้ชัดแจ้งจากพระประวัติของกรมพระราชวังหลัง ที่นักวิชาการส่วนใหญ่ทราบกันเพียงว่า พระองค์เป็นพระเจ้าหลานเธอ (คือหลานน้าในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ) คือมีพระมารดา (คือกรมพระยาเทพสุดาวดี) เป็นพระเชษฐภคินี (พี่สาว) ของพระเจ้าอยู่หัว การให้ความสำคัญกับสายพระมารดาจนละเลยสายพระบิดานี่เองที่ทำให้มองไม่เห็นเหตุที่แท้จริงในการที่บรรพชนสุนทรภู่เข้าสังกัดวังหลัง
กรมพระราชวังหลังนั้นมีพระบิดาชื่อพระอินทรรักษา (เสม) เป็นข้าราชการสังกัดวังหน้าในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ (คือเจ้าฟ้ากุ้ง) และถึงแก่กรรมก่อนเสียกรุง (พ.ศ. 2310)
พระอินทรรักษาเป็นบุตรของพระยากลาโหมราชเสนา (สาย) ซึ่งเป็นกลาโหมวังหน้าในรัชกาลพระเจ้าเสือ ว่าจำเพาะวังหน้าในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หรือเจ้าฟ้ากุ้งนักกวีนั้นมีพระมารดาคือสมเด็จพระพันวัสสาใหญ่เป็นธิดาพราหมณ์เมืองเพชร จึงเชื่อได้ว่าบรรดาข้าคนส่วนใหญ่ในวังหน้าสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศนั้น มีเชื้อสายเป็นพราหมณ์เมืองเพชรอยู่ไม่น้อย เรียกว่าพราหมณ์เมืองเพชรใกล้ชิดกับราชสำนักอยุธยามาโดยตลอด ดีร้าย พระอินทรรักษาอาจเป็นหรือเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับพราหมณ์เมืองเพชรก็ได้
สุนทรภู่ได้รับทราบคำบอกเล่าของบรรพชนเรื่องกรุงศรีอยุธยา ดังที่ท่านบอกไว้ในนิราศพระบาทว่า
แต่ปู่ย่ายายเราท่านเล่ามา
เมื่อแรกศรีอยุธยายังเจริญ
กษัตริย์สืบสุริยวงศ์ดำรงโลก
ระงับโศกสุขสุดจะสรรเสริญ
เราเห็นยับยังแต่รอยก็พลอยเพลิน
เสียดายเกิดมาเมื่อเกินน่าน้อยใจ
กำแพงรอบขอบดูก็ดูลึก
ไม่น่าศึกอ้ายพม่าจะมาได้
ยังให้มันข้ามเข้าเอาเวียงชัย
โอ้อย่างไรเหมือนบุรีไม่มีชาย
เมื่อกรุงแตก บรรพชนจึงแยกย้ายพลัดพรายกัน ดังที่กล่าวไว้ในนิราศเมืองเพชร ดังนั้น เมื่อเชื้อสายคนเมืองเพชรมีบุญขึ้นเป็นวังหลัง พราหมณ์เมืองเพชรจึงย่อมไม่ลังเลที่จะเข้าอยู่ในสังกัด กล่าวกันอย่างชัด ๆ ว่าบรรพชนสุนทรภู่นั้นเคยเป็นข้าเก่าเต่าเลี้ยงกันมาก็ย่อมไม่ผิด
2. การบวชของบิดาสุนทรภู่
เรื่องการบวชของบิดาสุนทรภู่ คะเนได้จากที่ท่านสุนทรภู่กล่าวไว้ในนิราศเมืองแกลง ความว่า
เป็นฐานานุประเทศธิบดี
จอมกษัตริย์มัสการขนานนาม
เจ้าอารามอารัญธรรมรังสี
เจริญพรตยศยิ่งมิ่งโมลี
กำหนดยี่สิบวสาสถาวร
แสดงว่าได้บวชมาแล้ว 20 พรรษา เมื่อคำนึงถึงว่า สุนทรภู่เดินทางไปเมืองแกลงเมื่อปี พ.ศ. 2349 ก่อนกรมพระราชวังหลังทิวงคต ฉะนั้น บิดาสุนทรภู่ออกบวชประมาณปี พ.ศ. 2328-29 และปีดังกล่าวนี้เองที่พอจะมองเห็นสาเหตุของการออกบวช เพราะเป็นปีที่ไทยต้องทำสงครามใหญ่กับพม่า (ที่นิยมเรียกกันว่าสงครามเก้าทัพ)
ในการสงครามคราวนั้น สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ ได้รับมอบหมายให้ยกทัพไปตั้งรับทัพพม่าที่เมืองนครสวรรค์
หลังจากกองทัพวังหน้าได้เผด็จศึกพม่าที่เมืองกาญจนบุรีแล้ว กองทัพหลวงจึงยาตราขึ้นเหนือ และมีพระราชโองการดำรัสให้พระยาเทพสุดาวดี เจ้ากรมในสมเด็จพระพี่นาง เชิญสารตรารับสั่งขึ้นไปยังพระเจ้าหลานเธอ ว่าบัดนี้ราชการศึกทางเมืองกาญจนบุรี ราชบุรีได้รับชัยชนะเสร็จแล้ว ส่วนราชการทัพทางเหนือ หากกรมหลวงอนุรักษ์ฯ คิดการไม่สำเร็จ พระเศียรจะไม่ได้คงอยู่กับพระกายเป็นแท้ และบัดนี้ทัพหลวงก็ได้ยกขึ้นมาโดยเร็วอยู่แล้ว
กรมหลวงอนุรักษ์ฯ จึงเร่งให้กองทัพตีค่ายพม่า ที่ปากน้ำพิง ครั้งนั้นมีพระยาสระบุรีเป็นกองหน้า ขณะยกทัพเลียบริมฝั่งน้ำเวลาเช้าตรู่ เห็นฝูงนกกระทุงตะอุ่ม ๆ สำคัญว่าเป็นกองกำลังพม่าจึงสั่งให้ล่าถอย เมื่อกรมหลวงอนุรักษ์ฯ ทรงทราบ จึงสั่งให้ตัดศีรษะพระยาสระบุรีเสียบประจาน แล้วเร่งระดมตีค่ายพม่าแตกในวันเดียว พระราชพงศาวดารกล่าวว่า กองทัพไทยฆ่าฟันทหารพม่าล้มตายประมาณ 800 เศษ ศพลอยเต็มแม่น้ำ จนน้ำกินไม่ได้
การศึกครั้งนี้ เชื่อว่าบิดาสุนทรภู่ได้ไปราชการทัพด้วย และที่มีผู้บอกว่า บิดาสุนทรภู่มีนามว่าขุนศรีสังหาร หากพิจารณาจากชื่อตำแหน่ง น่าจะมีหน้าที่ในการสังหารผู้กระทำผิดตามกฎอัยการศึก ฉะนั้น อาจเป็นผู้ทำหน้าที่ตัดหัวพระยาสระบุรีก็ได้ และคงเป็นบาปในใจ เสร็จศึกแล้วจึงขอบวชล้างบาป เมื่อบวชแล้วก็เลื่อมใสในพระธรรม (ดังที่ท่านสุนทรภู่บอกว่า “เจริญพรตยศยิ่งมิ่งโมลี”) ไม่ยอมสึก ปล่อยให้ภรรยาได้เป็นพระนมในพระเจ้าลูกเธอและต้องเลี้ยงดูสุนทรภู่ตามลำพัง
3. บวชแล้วทำไมต้องไปอยู่เมืองแกลง
เป็นที่สังเกตว่าตอนประดิษฐานพระราชวงศ์ใหม่ มีการแต่งตั้งพระราชวงศ์ ขุนนาง และข้าราชการหัวเมืองเป็นจำนวนมาก แต่ไม่ปรากฏว่ามีการเปลี่ยนตัวเจ้าเมืองในหัวเมืองตะวันออก ในพระราชพงศาวดารกล่าวเพียงว่ายังคงขึ้นกรมท่าเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่หัวเมืองตะวันออกเป็นขุมกำลังของพระเจ้ากรุงธนบุรีมาก่อน จึงเป็นเรื่องน่าแปลก โดยเหตุดังนี้จึงคิดว่าหัวเมืองเหล่านั้นน่าจะต้องถูกจับตามองเป็นพิเศษ การจับตามองก็ไม่น่าจะมีอะไรดีไปกว่าส่งคนไปคอยติดตาม หรือสืบข่าวคราวอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้น ทหารวังหลังที่อยู่ในเพศบรรพชิต จึงน่าจะได้รับมอบหมายภารกิจอันนี้ จะเห็นว่าสุนทรภู่กล่าวถึงบิดาว่า “จอมกษัตริย์มัสการขนานนาม เจ้าอารามอารัญธรรมรังสี” ซึ่งแสดงถึงอยู่ในสายตาของศูนย์อำนาจตลอดเวลา
การที่กรมพระราชวังหลังส่งสุนทรภู่ไปสืบข่าวจากบิดา (กลอนว่า “แม้นเจ้านายไม่ใช้แล้วไม่มา”) รวมถึงตอนเดินทางก็มีกรมการเมืองรายทางให้การต้อนรับ น่าจะสะท้อนถึงภารกิจได้เป็นอย่างดี
ข้อเสนอทั้งหมดที่กล่าวมา ผมเห็นว่าจะช่วยให้ทราบถึงเรื่องราวของสุนทรภู่ชัดเจนขึ้น
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2565