ตามรอย “กาแฟเอี๊ยะแซ” ตำนานร้านอมตะในชุมชนจีน จุดป้อนอาชีพให้คนเพิ่งตั้งตัวสมัยก่อน

กาแฟเอี๊ยะแซ
บรรยากาศด้านหน้าร้านกาแฟเอี๊ยะแซ ในถนนพาดสาย เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2564 ถ่ายโดยกองบก.ศิลปวัฒนธรรม

ถ้าถามถึงบรรยากาศการลิ้มรสชิมกาแฟในสมัยนี้ หลายคนน่าจะนึกถึง “คาเฟ่” ตกแต่งเก๋ไก๋ แต่ถ้าถามคนอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป อาจได้คำบรรยายเป็นภาพอีกแบบกับบรรยากาศร้านกาแฟเก่าแก่ และแน่นอนว่าในเมืองกรุง ร้านที่โด่งดังตั้งแต่อดีตและยังคงอยู่มาจนปัจจุบันมีอยู่ไม่มาก หนึ่งในนั้นคือร้าน กาแฟเอี๊ยะแซ ร้านเก่าแก่อีกร้านหนึ่งในแถบชุมชนจีนอย่างเยาวราช

ร้านกาแฟเอี๊ยะแซ เปิดขายมายาวนานไม่ต่ำกว่า 70 ปี จากคำบอกเล่าของเจ้าของกิจการอาหารในละแวกใกล้เคียงเล่าว่า สมัยนั้นมีร้านกาแฟอยู่ไม่มาก ขณะที่ร้านกาแฟเอี๊ยะแซ ก็ไม่ใช่ร้านแรกในย่าน มีร้านอื่นเปิดมาก่อน แต่ถ้าถามว่าร้านที่เก่าแก่และยังคงสถานะสินค้าเป็นกาแฟอยู่ก็คงต้องบอกว่าเป็น “ร้านกาแฟ เอี๊ยะแซ”

สำหรับขาประจำจะคุ้นเคยสถานที่ตั้งกันดี ร้านแห่งนี้ติดริมถนนพาดสายที่จะเชื่อมไปถนนเยาวพานิช เป็นร้านขนาด 2 ห้อง ให้บริการกาแฟในสโลแกนว่า “คั่วสดๆ ชงใหม่ๆ วันต่อวัน” รสชาติกาแฟที่ทุกคนคุ้นเคยคือ “รสโบราณ” แท้ รวมทั้งฝีมือการปิ้งขนมปังทาเนยแบบโบราณ

บรรยากาศภายในร้านจะเป็นสภาพที่วัยกลางคนขึ้นไปคุ้นชิน ในร้านประดับด้วยภาพเขียนโบราณสมัยถนนเยาวราชยังมีรถเจ๊ก รถสามล้อและรถราง สำหรับโต๊ะนั่งในร้านจะเป็นลักษณะโต๊ะกลมและเก้าอี้แบบโบราณ (สภาพช่วงปลายปี 40) สำหรับคนรุ่นใหม่หรือคนรุ่นหลังอาจสัมผัสถึงบรรยากาศที่สมัยนี้มักนิยามกันด้วยคำว่า “คลาสสิก”

สำหรับความเป็นมาของร้านเอี๊ยะแซ จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์ บรรยายในบทความในหนังสือ “สำเพ็ง : ประวัติศาสตร์ชุมชนชาวจีนในกรุงเทพฯ” โดยระบุว่าเป็นร้านกาแฟที่มีชื่อเสียงที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 7 (คาดว่าร้านอื่นที่เปิดก่อนอาจเปลี่ยนกิจการไปบ้างแล้ว) แต่เดิมเป็นร้านกาแฟขนาดเล็ก และย้ายมาเปิดที่ถนนพาดสาย ซึ่งลูกค้าเดิมก็ยังตามมานั่งในร้านด้วย

[ข้อมูลอัปเดตเพิ่มเติม ณ วันที่ 15 ก.พ. 2564 : ร้านเก่าแก่อีกแห่งในละแวกใกล้เคียงกันมี “เอ็กเต็งผู่กี่” ด้วย และร้านเอ็กเต็งผู่กี่ ยังประกอบกิจการมาจนถึงปัจจุบัน]

เพิ่มเติมข้อมูล ณ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 : จากการสัมภาษณ์คนรุ่นหลังในตระกูลผู้ก่อตั้งร้าน (คุณพลอย) ผู้ให้สัมภาษณ์อธิบายเพิ่มเติมว่า “เอ็กเต็งผู่กี่” กับ “เอี๊ยะแซ” มาจากตระกูลเดียวกัน โดยต้นตระกูลทำธุรกิจกาแฟมา อาชีพเกี่ยวกับกาแฟหล่อเลี้ยงตระกูลมายาวนาน ทายาทจึงอยากดำเนินกิจการนี้ต่อ ทั้งสองร้านเป็นญาติกัน สินค้าและสูตรอาหารของแต่ละร้านต่างพัฒนาจากต้นตระกูล ขณะที่ในยุคปัจจุบัน สินค้าและสูตรอาหารถูกพัฒนาโดยแต่ละร้านและออกมามีลักษณะแตกต่างกัน ทั้งสองร้านยังดำเนินกิจการแบบต่างฝ่ายต่างบริหารร้านของตัวเอง

ทั้งนี้ คำแรกของชื่อร้านว่า “เอ็กเต็ง..” ถ้าอ่านแบบแต้จิ๋ว จะออกเสียงเป็น “เอี๊ยะแซ” และ “เอี๊ยะแซ” ถ้าอ่านแบบไหหลำ จะออกเสียงเป็น “เอ็กเต็ง” 

คลิกดูประวัติร้าน “เอ็กเต็งผู่กี่” จากคลิปด้านล่าง โดยนายธนโชติ สิงคิลวิทย์ ทายาทรุ่นที่ 4 ของร้านเอ็กเต็งผู่กี่ เล่าว่าประวัติแรกเริ่มเดิมทีของร้าน เริ่มจับใจความได้ตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2462 ซึ่งกงเต่าเดินทางมาจากเกาะไหหลำมาทำงานอยู่ที่ร้านกาแฟ ตั้งชื่อร้านว่า “เอ็กเต็งผู่กี่” ตามสำเนียงชาวไหหลำเรียกกัน

ด้วยความที่ทั้งสองร้านเป็นญาติกันและยังเป็นร้านกาแฟที่ขึ้นชื่อเหมือนกัน เมื่อมีคนถามขึ้นว่า “ร้านเอี๊ยะแซอยู่ไหน” ลูกค้ามักจะชี้ไปทั้งสองร้าน แล้วบอกว่ามีอยู่ทั้งสองร้าน ซึ่งผู้รู้บางท่านกล่าวว่า ชื่อ “เอ็กเต็งผู่กี่” นั้น เป็นชื่อเรียกที่มีความหมายเดียวกับ “เอี๊ยะแซ” เพียงแต่เรียกต่างกันเพราะเป็นเรื่องของภาษา แม้ว่าทั้งสองร้านจะมีเครื่องดื่มเหมือนกัน แต่รสชาติกาแฟรวมไปถึงลูกค้าขาประจำนั้นแตกต่างกันไป

ลูกค้าขาประจำ กาแฟเอี๊ยะแซ ส่วนใหญ่จะเป็นชาวจีนที่ทำงานหรืออยู่อาศัยในย่านเยาวราช และชาวจีนยังถือว่า “เอี๊ยะแซ” คือหนึ่งในจุดนัดพบของชาวจีนหลากหลายอาชีพ โดยเฉพาะเป็นจุดนัดหาพ่อครัว แม่ค้าที่ทำอาชีพจัดโต๊ะจีน รวมถึงเด็กเสิร์ฟที่อยู่ตามภัตตาคารต่างๆ ในละแวกนั้น เหตุเพราะย่านพาดสาย-เยาวราช ถือเป็นแหล่งจัดโต๊ะจีนหรือภัตตาคารที่มีชื่อเสียง นอกจากกลุ่มชาวจีนเดิมแล้ว ชาวจีนซึ่งเพิ่งมาเมืองไทยแล้วไม่รู้ลู่ทางก็มักมาที่นี่

จากการเป็นแหล่งนัดพบ “จัดหาคน จัดหางาน” ส่งผลให้ร้านกาแฟแห่งนี้เติบโตเป็นที่รู้จักของชาวจีน มีชื่อเสียงในแง่เป็น “สภาประชาคมชาวจีน” กล่าวได้ว่า “กาแฟเอี๊ยะแซ” มิใช่เป็นเพียงร้านกาแฟอย่างเดียวเท่านั้น อีกนัยหนึ่งก็เป็นเสมือนพื้นที่ถ่ายทอดวัฒนธรรม พิธีกรรม และประเพณี ของชาวจีน โดยถูกถ่ายทอด ส่งผ่านคำบอกเล่าระหว่างเพื่อนฝูง รุ่นพี่รุ่นน้องและรุ่นพ่อรุ่นลูก

นอกจากนี้ ร้านเอี๊ยะแซ ยังทำหน้าที่เป็นสภากาแฟของคนในชุมชนย่านนี้มาอย่างต่อเนื่อง ลูกค้าที่มาชุมนุมนั้นอาวุโสขึ้นตามวันเวลา เพราะเป็นลูกค้าหน้าเดิมเสียเป็นส่วนใหญ่ จุฬากรณ์ เปรียบร้านในตำนานนี้เสมือน “สภากาแฟร่วมสมัย” ที่มีกลิ่นอายของชาวจีนรุ่นเก่า

ในช่วงปลายยุค 40 (ประมาณ 2548) “เอี๊ยะแซ” ยังคงเป็นร้านกาแฟที่ได้รับนิยมและมีชื่อเสียงในย่านสำเพ็ง-พาดยาว พร้อมทั้งกลายเป็นตราสินค้าอันเป็นสัญลักษณ์กาแฟจีนโบราณโดยการขยายกาแฟเอี๊ยะแซไปสู่พื้นที่อื่นๆ ในรูปแบบ “แฟรนไชส์” ทำให้กาแฟเอี๊ยะแซเป็นที่รู้จักมากขึ้นในหลายพื้นที่

บทความพยายามสืบเสาะหาข้อมูลว่า กาแฟเอี๊ยะแซ จะเป็นอีกหนึ่งจุดพบปะนัดปรึกษางานในสมัยที่อิทธิพลอั้งยี่เติบโตจริงหรือไม่ แต่ข้อมูลที่รวบรวมจากการสัมภาษณ์ยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน แม้มีผู้สันนิษฐานว่า สมัยที่อั้งยี่เติบโต สถานที่อย่างศาลเจ้า หรือร้านกาแฟแหล่งสมาคมต่างๆ มักใช้เป็นจุดนัดพบ

ในเว็บไซต์ earsaecoffee.com อันเป็นช่องทางติดต่อสื่อสารของร้านซึ่งเริ่มต้นเมื่อปีก่อน ระบุข้อมูลว่า ปัจจุบันดำเนินกิจการมาถึงทายาทรุ่นที่ 4 รวมเป็นเวลา 89 ปี ขณะที่บทความของนิตยสารเส้นทางเศรษฐี ฉบับมกราคม พ.ศ. 2548 เล่าว่า ทายาทรุ่นที่ 4 คือ ปริญญา ทองวิริยะกุล ซึ่งหันมาขยายตลาดธุรกิจเป็นตลาดท้องถิ่น และขยายกลุ่มผู้บริโภคใหม่ โดยไม่กลัวเสียกลุ่มลูกค้าเดิม

อย่างไรก็ตาม การให้สัมภาษณ์ของเถ้าแก่เนี้ยเมื่อหลายปีก่อน ยังยอมรับว่า แม้บางวันขายกาแฟที่ร้านเดิมได้ไม่มาก แต่ก็ต้องให้ความสำคัญ และจะอยู่ดูแลร้านทุกวัน

หากพูดถึงกาแฟในยุคนี้ ต้องยอมรับว่ามุมมองยุคใหม่อาจมองเป็น “ธุรกิจ” แต่อีกแง่หนึ่ง ร้านกาแฟยังเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่สะท้อนวิถีชีวิตของชาวจีน เป็นสถานที่ซึ่งยังมีชีวิตชีวาผ่านการปฏิสังสรรค์โดยมีเครื่องดื่มและบรรยากาศที่คนในพื้นที่คุ้นเคยเป็นสื่อกลาง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์. “เปิดตำนานกาแฟเอี๊ยะแซ : สภากาแฟร่วมสมัย บนวิถีชาวจีนในไทย”. ใน สำเพ็ง ประวัติศาสตร์ชุมชนชาวจีนในกรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2562