“ลังกา” แผ่นดินแห่งพันธสัญญาในคัมภีร์พุทธศาสนา?

แผนที่ ตอนใต้ ของ อินเดีย และ ศรีลังกา / ลังกา
แผนที่ตอนใต้ของอินเดียและศรีลังกา ปี 1780, โดย Rigobert Bonne (ภาพจาก Wikimedia Commons)

คัมภีร์มหาวงศ์ ตำราพุทธศาสนาเก่าแก่ของ “ลังกา” หรือประเทศศรีลังกา บอกเล่าความเป็น “แผ่นดินแห่งพันธสัญญา” ของเกาะลังกา และการเป็นชนชาติที่พระ (พุทธ) เจ้าเลือกสรรของชาวสิงหลแห่งลังกา การผูกตำนานนี้เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือไม่?

ลังกามีหลักฐานการรับพุทธศาสนาในพุทธศตวรรษที่ 3 ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช หลังจากนั้น ดินแดนแห่งนี้มักจะมีเรื่องบาดหมางกับรัฐที่นับถือพรามหณ์-ฮินดู ในอินเดียใต้ ตลอดหน้าประวัติศาสตร์ของพวกเขา

Advertisement

ในทางภูมิรัฐศาสตร์ ลังกา เป็นเกาะที่มีขนาดเหมาะสม ไม่ใหญ่จนมีพื้นที่กระจัดกระจายหรือซับซ้อนเกินไป ไม่เล็กจนพึ่งพาตนเองไม่ได้ ทั้งมีปราการเป็นมหาสมุทรอินเดียล้อมรอบทุกทิศทาง และการอยู่ไม่ห่างจากปลายแหลมอนุทวีปอินเดีย พื้นที่เดียวที่สามารถรุกรานลังกาได้โดยตรง ทั้งหมดกลายเป็นพื้นฐานความรู้สึก “เรา” กับ “เขา” ในการรับรู้ของชาวลังกาต่ออินเดีย

พวกเขาจึงก่อตัวเป็นรัฐชาติ (Nation State) มาแต่โบราณ พร้อมกันนั้น ความเป็นศาสนาแห่งชาติ (National Religion) ของพุทธศาสนาในลังกาก็เบ่งบานควบคู่กันไปด้วย

ศรีลังกา ลังกา ภาพถ่าย ดาวเทียม
ภาพถ่ายของช่องแคบพัล์กระหว่างอินเดียและศรีลังกา (NASA)

พุทธศาสนาในลังกามีบทบาทเข้มข้นทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง หลักฐานสำคัญคือ คัมภีร์มหาวงศ์ ที่พระมหานามเถระ ภิกษุชาวลังกาประพันธ์เป็นภาษาบาลีมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 1 คัมภีร์มหาวงศ์นี้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงให้แปลเป็นภาษาไทยเมื่อ พ.ศ. 2339 โดยตอนหนึ่งในคัมภีร์เล่าว่า พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดลังกาถึง 3 ครั้ง ได้ปราบชาติยักษ์ ชาตินาค และประทับรอยพระบาทบนยอดเขาสุมนกูฏ ทำให้ลังกากลายเป็นถิ่น “มนุษยวิสัย” (ความเป็นมนุษย์)

ก่อนจะดับขันธปรินิพพานที่กุสินารา ในอินเดีย พระพุทธเจ้าทรงเรียกพระอินทร์กับพระพรหมเข้าเฝ้า ฝากให้เทพทั้งสองช่วยดูแลรักษาเกาะลังกา เพราะพุทธศาสนาจะไปเจริญงอกงามที่นั่น เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ เจ้าวิชัยกุมาร ปฐมกษัตริย์แห่งลังกา นำเรือพาบรรพบุรุษชาวสิงหลจากสิงหปุระในอินเดีย มาขึ้นฝั่งที่ลังกาพอดี

คัมภีร์มหาวงศ์ของพระมหานามเถระ จึงบอกเป็นกลาย ๆ ว่า ชาวสิงหล เป็นเผ่าพันธุ์ที่ถูกเลือกสรร (Chosen People) และเกาะลังกาคือ “แผ่นดินแห่งพันธสัญญา” (Promised Land)

จะด้วยความบังเอิญหรืออะไรก็ตาม “คอนเซ็ปต์” ดังกล่าวคล้ายกับในคัมภีร์ฮีบรูของวงศ์วานอิสราเอลโบราณ ที่ระบุว่าพวกเขาคือเผ่าพันธุ์ที่พระเจ้าทรงเลือก และดินแดนปาเลสไตน์หรือคานาอันเป็น “แผ่นดินแห่งพันธสัญญา” ที่พระเจ้าทรงประทานให้พวกเขา

อนึ่ง แม้คัมภีร์มหาวงศ์จะเป็นพงศาวดารและคัมภีร์ทางประวัติศาสตร์ แต่ยังเป็นวรรณคดีศาสนาที่แต่งเพื่อทำให้ผู้อ่านเกิดความเลื่อมใสและเข้าใจในพุทธศาสนามากขึ้น เล่าเรื่องพระพุทธเจ้า พระสาวก และพระราชาทั้งหลาย รวมถึงเผยแผ่พระศาสนาไปยังนานาประเทศ และเมื่อพระมหานามเถระเป็นชาวลังกา คัมภีร์จึงเน้นตำนานว่าด้วยการประดิษฐานพุทธศาสนาในลังกา

นับแต่นั้น พุทธศาสนากับพลังชาตินิยมลังกาก็แทบเป็นเนื้อเดียวกัน ตั้งแต่รัชกาลพระเจ้าทุฏฐคามินี (พ.ศ. 382-406) เป็นต้นมา ประวัติศาสตร์ลังกาจะอ้าง “ศาสนา” เคียงคู่ “ชาติ” ในสงครามขับไล่ศัตรูออกจากเกาะ ซึ่งล้วนเป็นพราหมณ์-ฮินดู จากอินเดียใต้ พุทธศาสนาในลังกาจึงมีความเข้มแข็งและมีบทบาทสำคัญมากต่ออุดมการณ์ของชนชั้นปกครอง

จะเห็นว่าเมื่อพระเจ้ากรุงลังกาจะก่อสงครามเมื่อไหร่ มักอ้างการปกป้องพระศาสนาเป็นหลัก และจะได้รับการสนับสนุนจากเหล่าภิกษุลังกาเสมอ

ระหว่าง พ.ศ. 1696-1729 ในรัชกาลพระเจ้าปรักกรมพาหุที่ 1 ลังกาขับไล่กองทัพโจฬราชออกจากเกาะ และปราบปรามผู้นับถือพราหมณ์-ฮินดู ในเกาะได้เบ็ดเสร็จ พระองค์แต่งตั้ง พระกัสสปะมหาเถระ พระครูส่วนพระองค์ ให้เป็นประธานสงฆ์โดยสมบูรณ์ มีอาญาสิทธิ์เสมอกษัตริย์ในการสอบไล่ภิกษุทุศีล รวมถึงการผนึกพุทธศาสนานิกายย่อยในลังกาให้เป็นหนึ่งเดียว อำนาจที่พระกัสสปะมหาเถระได้รับ กลายเป็นต้นเค้าของตำแหน่ง “สังฆราช” ในเวลาต่อมา

แม้นโยบายรวมศูนย์อำนาจจะนำลังกาไปสู่ความขัดแย้งและความแตกแยกอันยาวนานหลังจากนั้น แต่เป็นไปได้ว่าปราชญ์ในอุษาคเนย์ (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ช่วงพุทธศตวรรษที่ 18-19 เล็งเห็นแล้วว่า พุทธศาสนาลังกาวงศ์เป็นอุดมการณ์ที่เข้มแข็ง และสามารถใช้ตอบโต้อำนาจการปกครองชนชั้นพราหมณ์-ฮินดู ในดินแดนของพวกเขาได้ จึงหันมารับศาสนาพุทธนิกายนี้

เราจึงเห็นการเสื่อมอำนาจลงของรัฐเก่าแก่ที่นับถือพรามหณ์-ฮินดู และพุทธมหายานในอุษาคเนย์ ถูกแทนที่ด้วยรัฐเกิดใหม่อย่าง สุโขทัย อโยธยา (อยุธยา) ล้านนา ล้านช้าง ซึ่งล้วนนับถือพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ จาก “แผ่นดินแห่งพันธสัญญา” โดยสำนึกดังกล่าวยังแทรกอยู่อย่างเงียบ ๆ ในคัมภีร์มหาวงศ์ แม้จะเลือนลางเต็มทีในการรับรู้ของผู้คนในอุษาคเนย์

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ไมเคิล ไรท. “ยุคมืด” หรือช่องว่างในประวัติศาสตร์สยาม ใน ยุคมืดของประวัติศาสตร์ไทย หลังบายน พุทธเถรวาท การเข้ามาของคนไท. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 มีนาคม 2567