“สงครามศาสนา” ในแผ่นดินเขมร ส่วนหนึ่งของ “ยุคมืด” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Angkor Wat ภาพเขียน นครวัด โดย Lucille Sinclair Douglass
ภาพเขียนนครวัด โดย Lucille Sinclair Douglass (จาก Metropolitan Museum of Art)

เมื่อกล่าวถึง “สงครามศาสนา” สงครามครูเสดอาจเป็นภาพจำแรก ๆ ที่หลายคนนึกออก อย่างไรก็ตาม ภูมิภาค “อุษาคเนย์” หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองก็มีหลักฐานความขัดแย้งทางศาสนาอยู่เช่นกัน นั่นคือระหว่าง พราหมณ์-ฮินดู กับ พุทธศาสนา หากแต่ปรากฏข้อมูลค่อนข้างน้อย เพราะอยู่ในห้วงเวลาที่นักวิชาการนิยามว่าเป็น “ยุคมืด” ทางประวัติศาสตร์ของภูมิภาคนี้

ในความพร่าเลือนดังกล่าว ดินแดนเนื่องในวัฒนธรรมเขมรโบราณมีร่องรอยหลักฐานความขัดแย้งข้างต้นชัดเจนที่สุด โดย ไมเคิล ไรท เล่าถึงประเด็นนี้ไว้ตอนหนึ่งของบทความ “‘ยุคมืด’ หรือช่องว่างในประวัติศาสตร์สยาม ‘A Dark Age’, or Gap in Siamese History” ในหนังสือ ยุคมืดของประวัติศาสตร์ไทย หลังบายน พุทธเถรวาท การเข้ามาของคนไทย (สนพ. มติชน, พิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน 2559)

Advertisement

ไมเคิล ไรท วิเคราะห์ให้เห็นถึงสงครามศาสนาระหว่างพราหมณ์กับพุทธ จากศูนย์กลางบริเวณดินแดนลุ่มทะเลสาบ ซึ่งเขานิยามว่า “โลกเขมร” เพื่อสื่อถึงวัฒนธรรมหลักของกลุ่มชน แทนที่จะหมายถึงเขตแดนและเชื้อชาติ จากอิทธิพลแนวคิดสมัยใหม่ยุคจักรวรรดินิยมเมื่อ 150 ปีที่ผ่านมา

สงครามศาสนา เกิดขึ้นตั้งแต่หลังสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรพระนครเป็นต้นไป โดยสะท้อนผ่านความเชื่อ (ที่แตกต่าง) ของกษัตริย์เขมรแต่ละพระองค์ รวมถึงร่องรอยโบราณสถาน-โบราณวัตถุ และความเปลี่ยนแปลงของบรรดารูปเคารพในปราสาทหลังต่าง ๆ

ไมเคิล ไรท ชี้ให้เห็นว่า สงครามศาสนาในโลกเขมรเป็นส่วนหนึ่งใน “ยุคมืด” ทางประวัติศาสตร์ของภูมิภาคอุษาคเนย์ ห้วงเวลาที่วัฒนธรรมโบราณอย่างทวารวดี ศรีวิชัย ค่อย ๆ เลือนหายไป และนครเอกอย่างเมืองพระนครกับพุกามเสื่อมอำนาจลง ไล่เลี่ยกันนั้น รัฐของกลุ่มชนไทย-ลาว อย่าง อยุธยา สุโขทัย ล้านนา ล้านช้าง เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนับถือพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์เหมือนกัน ส่วนดินแดนหมู่เกาะ (ปลายคาบสมุทรมลายูและหมู่เกาะของอินโดนีเซีย) หันไปรับอิสลาม

ไทม์ไลน์ของสงครามศาสนาที่เกิดขึ้นใน “โลกเขมร” จากบทความของ ไมเคิล ไรท มีดังนี้ [เว้นวรรคคำ ปรับย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]


 

สงครามศาสนาในโลกเขมร

ในครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 12 (พ.ศ. 1656 / ค.ศ. 1113 – ราว พ.ศ. 1693 / ค.ศ. 1150) พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ทรงสร้างนครวัดในศาสนาฮินดู (ไวษณพนิกาย) สวรรคตแล้วทรงพระนามว่า “บรมวิษณุโลก” เท่าที่เรามีหลักฐาน “โลกเขมร” สมัยนั้นโดยมากเป็นฮินดูอย่างมั่นคง (แม้ในต่างจังหวัดบางแห่ง เช่น ที่พิมายและศรีจนาศะเป็นพุทธมหายานอยู่แล้ว) อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานว่ามีความขัดแย้งกันถึงขนาดเกิดศึกสงครามทางศาสนา

ต่อมา พระเจ้ายโศวรมันที่ 2 (พ.ศ. 1693-1708? / ค.ศ. 1150-1165?) ยังทรงบำรุงเทวสถานของพระบิดาจึงคงเป็นฮินดู

ต่อมา พระเจ้าตรีภูวนาทิตยวรมัน (พ.ศ. 1708-1720? / ค.ศ. 1165-1177?) มาแทรก เราไม่ทราบว่าพระองค์เป็นใครมาจากไหนหรือทำอะไร แต่เป็นที่น่าสนใจว่าพระนาม “ภูวนาทิตย์” ไม่เคยปรากฏในจารึกเขมรก่อนหน้านั้น แต่เป็นที่นิยมบ่อยในจารึกและตำนานในโลกมอญ – พม่า ในพุทธศตวรรษที่ 17 – 18 / คริสต์ศตวรรษที่ 12 – 13

ต่อมามีช่องว่างราว 4-5 ปี (พ.ศ. 1720-1724 / ค.ศ. 1177-1181) นักประวัติศาสตร์ตีความจารึกว่าเขมรคงรับศึกชาวจามจากทิศตะวันออกในเวียดนามปัจจุบัน แต่จารึกปราสาทบันทายฉมาร์ (ใกล้ชายแดนอรัญประเทศปัจจุบัน) ระบุว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และโอรสทรงเดินทัพออกไปรับศึกในทิศตะวันตก

ชะรอยชาวจามมีสัมพันธมิตรในทิศตะวันตก (โลกมอญ?) มาคอยจี้เขมรจากด้านหลัง?

พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เสด็จขึ้นครองราชย์ในพระนครปี พ.ศ. 1724 / ค.ศ. 1181 แล้วทรงแปลงเมืองพระนครเป็นเมืองพุทธมหายาน เราไม่ทราบว่าพระองค์เป็นใคร มาจากไหน แต่อาจจะเป็นทายาทสืบวงศ์จากราชวงศ์ “มหิธรปุระ” ที่เคยครองอยู่เมืองพิมาย

ในรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1724-1763? / ค.ศ. 1181-1220?) พระองค์ทรงแปลงพระนครเป็นเมืองพุทธมหายานโดยสร้างปราสาทบายน (พระนาคปรก/ไภษัชคุรุ/ชยพุทธมหานาถ) ปราสาทพระขรรค์ (อวโลกิเตศวร) และปราสาทตาพรหม (ปรัชญาปารมิตา)

เท่าที่เราทราบ ยังไม่เกิดความขัดแย้งทางพุทธศาสนา ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะแม้ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงนับถือพุทธเป็นหลัก แต่ยังคงรักษาผลประโยชน์ของชนชั้นพราหมณ์ไว้เหมือนเดิม

พระอวโลกิเตศวร สันนิษฐานว่า ใบหน้า ถ่ายแบบ มาจาก พระเจ้าชัยวรมันที่ 7
พระอวโลกิเตศวร สันนิษฐานว่า ใบหน้าถ่ายแบบมาจาก พระเจ้าชัยวรมันที่ 7

พระเจ้าอินทรวรมันที่ 2 ทรงครองราชย์ราว พ.ศ. 1763-1786 / ค.ศ. 1220-1243 เชื่อกันว่าเป็นโอรสของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และน่าจะนับถือพุทธศาสนาเช่นเดียวกับบิดา จารึกเท่าที่เหลือไม่อ้างถึงกิจการหรือนโยบายของพระองค์ แต่น่าสงสัยว่าท่านอาจจะเล่นงานถอดถอนอภิสิทธิ์ของชนชั้นพราหมณ์ ทั้งนี้น่าเชื่อ เพราะปฏิกิริยารุนแรงที่เกิดขึ้นในรัชกาลต่อไป

พระเจ้าชัยวรมันที่ 8 ทรงครองราชย์ราว พ.ศ. 1786-1838 / ค.ศ. 1243-1295 ทรงเป็นใครมาจากไหนไม่มีหลักฐาน แต่น่าจะเป็นพราหมณ์ที่นับถือฮินดูไศวนิกาย ในรัชกาลของพระองค์เกิดสงครามทางศาสนา (ฮินดูกับพุทธ) อย่างเห็นได้ชัด

พระพุทธรูปประธานในปราสาทบายนถูกทุบให้แตกเป็นเสี่ยง ๆ แล้วทิ้งลงบ่อ พระพุทธรูปสลักนูนต่ำตามฝาและหน้าบันวัดอื่น ๆ ถูกสกัดออกให้มีแต่ช่องว่างหรือถูกดัดแปลงเป็นศิวลึงค์หรือฤษี จารึกของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ถูกทุบแล้วฝังดินหรือถูกขีดเขียนจนเสียความอ่านปะติดปะต่อไม่ได้

ในสมัยหลังนี้ (40 ปีที่ผ่านมา) มีการขุดค้นพบไหขนาดใหญ่ภายในบรรจุพระพุทธรูปสำริดยุคบายนที่ถูกฝังมาแต่โบราณ เช่น ยุคสงครามศาสนาครั้งพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 จุดที่พบมีตั้งแต่สนามบินเมืองเสียมเรียบถึงอำเภอประโคนชัยในอีสานตอนใต้และสถาบันราชภัฏลพบุรี

แสดงว่าสงครามศาสนาไม่ได้เกิดเฉพาะเมืองพระนคร แต่คงแผ่ไปอีกถึงเขตโคราชและลพบุรีอย่างน้อย

เป็นที่น่าเชื่อถือว่าสงครามศาสนาระหว่างพุทธกับพราหมณ์ครั้งนี้มีความรุนแรงมาก และแผ่เกือบไปทั่วอุษาคเนย์แผ่นดินใหญ่ รวมทั้งโลกเขมร โลกมอญ และโลกลาว-ไทย

แต่นั้นมา พระเจ้าศรีนทรวรมัน เสด็จขึ้นครองราชย์ พ.ศ. 1838-1850 / ค.ศ. 1295-1307 ตามโดยโอรสชื่อ ศรีนทรชัยวรมัน (พ.ศ. 1850-1870 / ค.ศ. 1307-1327) ทูตจีน โจวต้ากวาน บันทึกในปี พ.ศ. 1840 / ค.ศ. 1297 ว่า “กษัตริย์องค์ใหม่เป็นลูกเขยองค์ก่อน พระธิดารักพระสวามีจึงลักพระขรรค์ชัยศรีมอบให้ แล้วพระสวามียึดอำนาจถอดถอนพระยุพราชองค์จริง”

หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี ได้เทียบหลักฐานของโจวต้ากวานกับหลักฐานในจารึกหลักที่ 2 (หน้า 1, บรรทัด 31-35) แล้วเสนอว่า พระเจ้าศรีนทรวรมัน กับ พระยาผาเมือง/ศรีอินทราทิตย์ น่าจะเป็นคนเดียวกัน

พระเจ้าศรีนทรวรมันจะเป็นใครก็ตาม พระองค์ทรงส่งเสริมรื้อฟื้นฟูพุทธศาสนา และอาจจะเป็นผู้สร้างวัดป่าเลไลย์ในนิกายเถรวาทติดกำแพงพระราชวัง ในรัชกาลของโอรส (พระเจ้าศรีนทรชัยวรมัน) ปรากฏจารึกภาษาบาลีครั้งแรกในเมืองพระนคร ระบุปี พ.ศ. 1852 / ค.ศ. 1309 แสดงว่าพุทธศาสนาฟื้นขึ้นมาได้แล้วและน่าจะเป็นนิกายเถรวาท-ลังกาวงศ์

พระเจ้ากรุงเขมรองค์สุดท้ายที่ปรากฎพระนามในจารึกคือ พระเจ้าชัยวรมันปรเมศวร จารึกไม่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพระราชกิจหรือนโยบายของพระองค์ แต่พระนามนั้นน่าสนใจเพราะ “ชัยวรมัน” ทำให้นึกถึงพุทธกษัตริย์ (อย่างพระเจ้าชัยวรมันที่ 7) ในขณะที่ “ปรเมศวร” สะท้อนความเป็นไศวะ

ชะรอยท่านหมายจะประสานแผลระหว่างพุทธกับพราหมณ์คล้ายกับพระสันตะปาปาจอห์น-ปอลที่ 1 และที่ 2 ที่ประสมชื่อ John ที่ 23 (ฝ่ายปฏิรูป) และ Paul ที่ 6 (ฝ่ายอนุรักษนิยม) เพื่อลดความขัดแย้งอย่างเดือดร้อนสุดขีดภายในศาสนจักรโรมันคาทอลิก

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 มีนาคม 2567