ยุคมืดในประวัติศาสตร์สยาม และอุษาคเนย์ในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อ

ปราสาทบายน
ภาพจากปราสาทบายน ถ่ายเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2007 (AFP PHOTO / VOISHMEL)

ในหนังสือ “ยุคมืดของประวัติศาสตร์ไทย หลังบายน พุทธเถรวาท การเข้ามาของคนไทย(สนพ. มติชน, พิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน 2559) ได้รวบรวมข้อเขียนของนักวิชาการประวัติศาสตร์และนักเขียนต่าง ๆ มาอธิบายถึงประวัติศาสตร์และโบราณคดีในห้วงเวลาที่เรียกกันว่า “ยุคมืด” หรือ “ช่องว่าง” ของประวัติศาสตร์ไทย และดินแดน อุษาคเนย์ ที่อาจเกี่ยวข้องกับ สงครามศาสนา

ไมเคิล ไรท เป็นหนึ่งในคณะที่เขียนบทความในหนังสือดังกล่าว ได้เขียนบทความชื่อ “‘ยุคมืด’ หรือช่องว่างในประวัติศาสตร์สยาม ‘A Dark Age’, or Gap in Siamese History” ซึ่งมีทั้งหมด 5 ภาคด้วยกัน ส่วนที่นำมานี้เป็นส่วนของ ภาคที่ 1 อุษาคเนย์ในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อ ซึ่งไมเคิล ไรท เรียบเรียงไว้ดังนี้  [เว้นวรรคคำ ย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]


 

บทนำ

ประวัติศาสตร์ทุกชาติทุกภาษาต่างมี “ยุคมืด” คือกลียุคที่วุ่นวายสับสน คนตายเป็นเบือ บ้านเมืองร้าง (แต่ละชาติอาจจะมีมากกว่า 1 ครั้ง) แต่ในขณะเดียวกัน “ยุคมืด” นั้นมักจะเป็นยุค “หัวเลี้ยวหัวต่อ” ที่ก่อกำเนิดสังคมและศิลปวัฒนธรรมใหม่

ในยุโรป “ยุคมืด” (Dark Age) เกิดระหว่างการล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน (ราวคริสต์ศตวรรษที่ 5) กับการรื้อฟื้นศิลปวิทยา (Renaissance ราวคริสต์ศตวรรษที่ 14) รวมราว 700-800 ปี แต่มันไม่ “มืด” ทีเดียว แม้บ้านเมืองต่าง ๆ จะหัวหกก้นขวิดและศิลปวิทยาจะเสื่อมเพียงใด ชาวยุโรปมีเอกสารเก่าพอที่จะประสานประวัติศาสตร์ “ยุคมืด” ค่อนข้างสมบูรณ์ คือรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นอย่างปะติดปะต่อตลอด 700-800 ปีนั้น

ใน อุษาคเนย์ (และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสยาม) “ยุคมืด” มีระยะเวลาสั้นกว่ากัน ผมกะว่าเพียง 150 ปี (ราว ค.ศ. 1200-1350) แต่มันเป็นยุคมืดเกือบสนิท ในระยะเวลาดังกล่าววัฒนธรรมโบราณ (เช่น “ทวารวดี” และ “ศรีวิชัย”) หายไปจากจอทีวีของเราและเมืองประธาน (เช่น “อังกอร์” และ “พุกาม”) ต่างเสื่อมอำนาจ แต่เราไม่ทราบว่าทำไม เพราะไม่มีเอกสารรองรับ

ต่อมาราว ค.ศ. 1350 ประวัติศาสตร์เริ่มต้นใหม่ด้วยการก่อตั้งรัฐใหม่ ๆ ที่ อยุธยา สุโขทัย ล้านนา ฯลฯ โดยมีเอกสารกำกับ แต่เอกสารเหล่านั้นไม่ระบุว่าก่อนหน้านั้นได้เกิดอะไรขึ้นบ้าง เราจึงพบกับระยะเวลาราว 150 ปี ที่มืดมาก ยากที่จะเข้าใจหรืออธิบายได้

ก่อนถึงยุคมืด

เพื่อความสะดวก ผมขอเรียกพันปีก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 12 ว่า “ยุคคลาสสิค” ของ อุษาคเนย์ แน่นอนทีเดียว เราไม่รู้จักประวัติศาสตร์ยุคคลาสสิกอย่างปะติดปะต่ออย่างยุคหลัง แต่จากหลักฐานศิลปะสถาปัตยกรรม จารึก และบันทึกของจีน เราทราบว่าเคยมีวัฒนธรรมใหญ่ ๆ เช่น “ทวารวดี” และ “ศรีวิชัย” ในกรณี “อังกอร์” และ “พุกาม” หลักฐานสมบูรณ์กว่ากัน เพราะโบราณสถานอยู่ในสภาพที่ดีกว่าและจารึกที่มีเนื้อหาทางประวัติศาสตร์มีจำนวนมาก

ภาพโดยทั่วไปที่ได้มาคือ ในยุคคลาสสิกแม้ศาสนาพุทธและฮินดูจะสนับสนุนเดินควบคู่กัน แต่ในที่สุดจะก่อความขัดแย้งกันทางสังคมและการปกครอง ทั้งนี้เป็นเพราะฮินดูนั้นมีลักษณะ “แข็งตัว” (Inflexible พรหมลิขิตเปลี่ยนไม่ได้) และ “แยกแยะ” (Exclusive วรรณะต่าง ๆ เปลี่ยนฐานะไม่ได้) ในขณะที่พุทธมีลักษณะ “ยืดหยุ่น” (Flexible ใคร ๆ เปลี่ยนฐานะทางสังคมได้) และ “โอบ” (Inclusive บางคนอาจจะทำบาปแต่ทุกคนมีสิทธิ์ทำบุญ)

ในการค้นคว้าครั้งนี้ ผมจะพยายามแสดงว่า ในปลายยุคคลาสสิกความขัดแย้งนี้บานปลายจนกลายเป็น สงครามศาสนา ล้างผลาญกันใหญ่ สร้างยุคมืดที่ไม่มีใครอยากจดจำไว้ (และแม้กระทั่งทุกวันนี้ไม่มีใครอยากศึกษา)

หลังยุคมืด

จู่ ๆ ค.ศ. 1250 เกิดตั้งกรุงศรีอยุธยาดังฟ้าประดิษฐ์ ไม่มีอะไรล่วงหน้า ไล่ ๆ กันเจ้าฟ้างุ้มตั้งล้านช้าง พญาลิไทยครองสุโขทัย และพญากือนาครองล้านนา ที่น่ามหัศจรรย์ใจคือ รัฐ “ใหม่” เหล่านี้ล้วนแต่นับถือพุทธศาสนาลังกาวงศ์อย่างสมบูรณ์แบบ (มีคณะคามวาสี คณะอรัญวาสี พระพุทธบาท พระธาตุ พระพุทธรูป ต้นศรีมหาโพธิ์ และคัมภีร์จากลังกาครบ)

ห้องสมุด

ปัญหามีอยู่ว่า เอกสารเท่าที่เรามีอยู่ไม่แจ้งว่าพระศาสนาลังกาวงศ์เข้ามาถึงรัฐใหม่เหล่านี้ครั้งแรกเมื่อไรและทำไม ขอยกตัวอย่าง : – หนังสือประวัติศาสตร์ภาษาบาลีประเภท “ปกรณ์” เช่น ชินกาลมาลี, มักขึ้นต้นด้วยประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในอินเดียและลังกา โดยเรียบเรียงจากพงศาวดารลังกา (มหาวงศ์) ที่จบลงในคริสต์ศตวรรษที่ 5 สุดท้ายผู้ประพันธ์เข้าเรื่องเหตุการณ์ “ปัจจุบัน” ของท่าน (เมืองเหนือ ในคริสต์ศตวรรษที่ 14-15) แต่สำหรับระยะเวลาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 6-13 ท่าน “อุด” ด้วยตำนานนิทานมหัศจรรย์ที่อาจจะมีมูลจริง แต่ยากที่จะใช้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างที่ใช้กันทุกวันนี้

ดังนั้นประวัติศาสตร์สยามก่อน ค.ศ. 1350 ยังเป็นยุคมืดอยู่ดี

ยุคมืด-ยุคสงครามศาสนา?

ในการศึกษาครั้งนี้ ผมจะพยายามเจาะเข้าไปในยุคมืด (ราว ค.ศ. 1200-1350) โดยอาศัย 1. หลักฐานทางวัตถุ (ความปรักหักพังของศิลปะสถาปัตยกรรม) 2. ประวัติศาสตร์เพื่อนบ้าน (เช่น จารึกเขมรและพงศาวดารลังการุ่นหลัง) 3. หลักฐานภาษาไทยในจารึกวัดศรีชุม (หลักที่ 2 และ 11 ของหลวงพ่อศรีศรัทธาฯ)

ผลเบื้องต้นที่ผมได้มาคือ ในยุคมืดดังกล่าวแผ่นดินอุษาคเนย์ทั้งหมดลุกเป็นไฟด้วยความขัดแย้งทางศาสนาและการเมืองระหว่างพุทธกับพราหมณ์ด้านหมู่เกาะ (อินโดนีเซียปัจจุบัน) โดยมากหาทางออกโดยหันไปนับถืออิสลาม แต่ในแผ่นดินใหญ่ (โดยเฉพาะในโลกเขมรและรอบ ๆ นั้น) ฝ่ายพุทธสามารถล้างทำลายอำนาจเก่าของพราหมณ์แล้วสร้างสังคมแบบใหม่

ว่าซ้ำยุคมืดนี้คือหัวเลี้ยวหัวต่อที่สร้างสรรค์ แต่ยังมีอุปสรรคต่อการศึกษาอีกไม่น้อยนอกเหนือความขาดแคลนและการอำพรางเอกสารหลักฐาน

อุปสรรคซ้ำเติม

เมื่อพูดถึงศาสนา นักประวัติศาสตร์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักประวัติศาสตร์ชาวพุทธ) มักหลีกเลี่ยงเรื่องความรุนแรง ทั้งนี้คงเป็นเพราะพุทธศาสนาถืออหิงสาเป็นหลักสำคัญยิ่ง ดังนั้นจึงชวนกันให้เข้าใจว่า ชาวพุทธจะรุกรานใครไม่ได้เพราะถือหลักเหตุผลและเมตตาธรรมเสมอ แต่ในสังสารวัฏนี้ไม่เป็นเช่นนั้น :- พม่า มอญ สยาม ล้านนา ล้านช้าง เขมร ต่างรบรากันอย่างแสนสาหัสทั้ง ๆ ที่เป็นชาวพุทธด้วยกันทั้งนั้น

คนเราสมัยปัจจุบันไม่อยากเชื่อว่าพุทธกับพราหมณ์ขัดแย้งกันได้ เพราะในประวัติศาสตร์รุ่นหลังพุทธกับพราหมณ์เดินควบคู่สนับสนุนกันตลอดมาและไม่มีข้อขัดแย้งทางพระธรรมคำสอน เรื่องนี้เป็นความจริง แต่เมื่อเกิดความขัดแย้งกันทางผลประโยชน์ระหว่างคนสองกลุ่ม หากสองกลุ่มต่างศาสนาก็ย่อมกลายเป็นสงครามศาสนาว่า “กูเป็นฝ่ายพระ มึงเป็นฝ่ายมาร” ดังนี้ “สงครามผลประโยชน์” (แท้) ได้ลักษณะเป็น“สงครามศาสนา” (ปลอม)

ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายที่สุดคือสงครามกลางเมืองในเกาะลังกาปัจจุบัน ชาวสิงหลกับชาวทมิฬในเกาะลังกาขัดแย้งกันอย่างรุนแรงในเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมือง เผอิญชาวสิงหลส่วนใหญ่นับถือพุทธ ทมิฬส่วนใหญ่นับถือฮินดู ความขัดแย้งจึงได้ชื่อว่า “สงครามศาสนา” หรือ Hindu-Buddhist Conflict ทั้ง ๆ ที่ชาวพุทธในลังกานับถือเทพฮินดูและชาวฮินดูก็มักทำบุญตักบาตรกับพระภิกษุในฐานะเป็นผู้สละโลกียวิสัยแสวงหาโมกข์

ดังนี้ผมไม่ชอบคำว่า “สงครามศาสนา” เพราะมันเป็นคำโกหก แต่ขออนุญาตใช้คำนี้ไปก่อนเพื่อความสะดวก

อนึ่ง ต่อไปนี้ผมขออนุญาตงดใช้คำว่า พม่า (Burma) ประเทศไทย (Thailand) กัมพูชา (Cambodia) เพราะประเทศชาติ (Nation States) เหล่านี้เพิ่งเกิดในสมัยจักรวรรดินิยมเมื่อราว 150 ปีที่แล้ว

ผมขอใช้คำว่า “โลกเขมร”, “โลกมอญ” “โลกไทย-ลาว” (Khmer World, Mon World, Thai-Lao World) ซึ่งไม่มีชายแดนจำกัดและไม่ได้หมายถึงเชื้อชาติ แต่เน้นถึงวัฒนธรรมที่นิยมในหมู่ชุมชนเหล่านั้น

สงครามศาสนาในลังกา

พุทธศาสนาในลังกามีลักษณะพิเศษ ไม่เหมือนที่อื่นใด เพราะเกาะลังกามีปัจจัยทางภูมิศาสตร์ สังคม และประวัติศาสตร์เฉพาะของมัน ว่าโดยสรุปสั้น ๆ พุทธศาสนาในลังกาเป็น ศาสนาประจำชาติ (National Religion) ตั้งแต่ต้นและต่อมา หลอมขึ้นมาเป็นอุดมการณ์ต่อสู้กับพราหมณ์-ฮินดูที่บุกรุกเข้ามาจากอินเดียใต้เป็นแต่เรื่องนี้มีรายละเอียดมากมายจึงขอเอาไว้พิจารณาให้ถ้วนถี่ในบทความภาคต่อไป

สงครามศาสนาในโลกเขมร

ในครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 12 (พ.ศ. 1656/ค.ศ. 1113-ราว พ.ศ. 1693/ค.ศ. 1150) พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ทรงสร้างนครวัดในศาสนาฮินดู (ไวษณพนิกาย) สวรรคตแล้วทรงพระนามว่า “บรมวิษณุโลก” เท่าที่เรามีหลักฐาน “โลกเขมร” สมัยนั้นโดยมากเป็นฮินดูอย่างมั่นคง (แม้ในต่างจังหวัดบางแห่ง เช่น ที่พิมายและศรีจนาศะเป็นพุทธมหายานอยู่แล้ว) อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานว่ามีความขัดแย้งกันถึงขนาดเกิดศึกสงครามทางศาสนา

ต่อมา พระเจ้ายโศวรมันที่ 2 (พ.ศ. 1693-1708?/ค.ศ. 1150-1165?) ยังทรงบำรุงเทวสถานของพระบิดาจึงคงเป็นฮินดู

ต่อมา พระเจ้าตรีภูวนาทิตยวรมัน (พ.ศ. 1708-1720?/ค.ศ. 1165-1177?) มาแทรก เราไม่ทราบว่าพระองค์เป็นใครมาจากไหนหรือทำอะไร แต่เป็นที่น่าสนใจว่าพระนาม “ภูวนาทิตย์” ไม่เคยปรากฏในจารึกเขมรก่อนหน้านั้น แต่เป็นที่นิยมบ่อยในจารึกและตำนานในโลกมอญ-พม่า ในพุทธศตวรรษที่ 17-18/คริสต์ศตวรรษที่ 12-13

ต่อมามีช่องว่างราว 4-5 ปี (พ.ศ. 1720-1724/ค.ศ. 1177-1181) นักประวัติศาสตร์ตีความจารึกว่าเขมรคงรับศึกชาวจามจากทิศตะวันออกในเวียดนามปัจจุบัน แต่จารึกปราสาทบันทายฉมาร์ (ใกล้ชายแดนอรัญประเทศปัจจุบัน) ระบุว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และโอรสทรงเดินทัพออกไปรับศึกในทิศตะวันตก

ชะรอยชาวจามมีสัมพันธมิตรในทิศตะวันตก (โลกมอญ?) มาคอยจี้เขมรจากด้านหลัง?

พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เสด็จขึ้นครองราชย์ในพระนครปี พ.ศ. 1724/ค.ศ. 1181 แล้วทรงแปลงเมืองพระนครเป็นเมืองพุทธมหายาน เราไม่ทราบว่าพระองค์เป็นใคร มาจากไหน แต่อาจจะเป็นทายาทสืบวงศ์จากราชวงศ์ “มหิธรปุระ” ที่เคยครองอยู่เมืองพิมาย

ในรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1724-1763?/ค.ศ. 1181-1220?) พระองค์ทรงแปลงพระนครเป็นเมืองพุทธมหายานโดยสร้างปราสาทบายน (พระนาค ปรก/ไภษัชคุรุ/ชยพุทธมหานาถ) ปราสาทพระขรรค์ (อวโลกิเตศวร) และปราสาทตาพรหม (ปรัชญาปารมิตา)

เท่าที่เราทราบยังไม่เกิดความขัดแย้งทางพุทธศาสนา ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะแม้พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงนับถือพุทธเป็นหลัก แต่ยังคงรักษาผลประโยชน์ของชนชั้นพราหมณ์ไว้เหมือนเดิม

พระเจ้าอินทรวรมันที่ 2 ทรงครองราชย์ราว พ.ศ. 1763-1786/ค.ศ. 1220-1243 เชื่อกันว่าเป็นโอรสของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และน่าจะนับถือพุทธศาสนาเช่นเดียวกับบิดา จารึกเท่าที่เหลือไม่อ้างถึงกิจการหรือนโยบายของพระองค์ แต่น่าสงสัยว่าท่านอาจจะเล่นงานถอดถอนอภิสิทธิ์ของชนชั้นพราหมณ์ ทั้งนี้น่าเชื่อ เพราะปฏิกิริยารุนแรงที่เกิดขึ้นในรัชกาลต่อไป

พระเจ้าชัยวรมันที่ 8 ทรงครองราชย์ราว พ.ศ. 1786-1838/ค.ศ. 1243-1295 ทรงเป็นใครมาจากไหนไม่มีหลักฐาน แต่น่าจะเป็นพราหมณ์ที่นับถือฮินดูไศวนิกาย ในรัชกาลของพระองค์เกิดสงครามทางศาสนา (ฮินดูกับพุทธ) อย่างเห็นได้ชัด พระพุทธรูปประธานในปราสาทบายนถูกทุบให้แตกเป็นเสี่ยง ๆ แล้วทิ้งลงบ่อ พระพุทธรูปสลักนูนต่ำตามฝาและหน้าบันวัดอื่น ๆ ถูกสกัดออกให้มีแต่ช่องว่างหรือถูกดัดแปลงเป็นศิวลึงค์หรือฤษี จารึกของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ถูกทุบแล้วฝังดินหรือถูกขีดเขียนจนเสียความอ่านปะติดปะต่อไม่ได้

ในสมัยหลังนี้ (40 ปีที่ผ่านมา) มีการขุดค้นพบไหขนาดใหญ่ภายในบรรจุพระพุทธรูปสำริดยุคบายนที่ถูกฝังมาแต่โบราณ เช่น ยุคสงครามศาสนาครั้งพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 จุดที่พบมีตั้งแต่สนามบินเมืองเสียมเรียบถึงอำเภอประโคนชัยในอีสานตอนใต้และสถาบันราชภัฏลพบุรี แสดงว่าสงครามศาสนาไม่ได้เกิดเฉพาะเมืองพระนคร แต่คงแผ่ไปอีกถึงเขตโคราชและลพบุรีอย่างน้อย

เป็นที่น่าเชื่อถือว่าสงครามศาสนาระหว่างพุทธกับพราหมณ์ครั้งนี้มีความรุนแรงมากและแผ่เกือบไปทั่วอุษาคเนย์แผ่นดินใหญ่ รวมทั้งโลกเขมร โลกมอญ และโลกลาว-ไทย

แต่นั้นมา พระเจ้าศรีนทรวรมัน เสด็จขึ้นครองราชย์ พ.ศ. 1838-1850/ค.ศ. 1295-1307 ตามโดยโอรสชื่อ ศรีนทรชัยวรมัน (พ.ศ. 1850-1870/ค.ศ. 1307-1327) ทูตจีนโจวต้ากวาน บันทึกในปี พ.ศ. 1840/ค.ศ. 1297 ว่า “กษัตริย์องค์ใหม่เป็นลูกเขยองค์ก่อน พระธิดารักพระสวามีจึงลักพระขรรค์ชัยศรีมอบให้ แล้วพระสวามียึดอำนาจถอดถอนพระยุพราชองค์จริง”

หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี ได้เทียบหลักฐานของโจวต้ากวานกับหลักฐานในจารึกหลักที่ 2 (หน้า 1, บรรทัด 31-35) แล้วเสนอว่า พระเจ้าศรีนทรวรมัน กับ พระยาผาเมือง/ศรีอินทราทิตย์ น่าจะเป็นคนเดียวกัน

พระเจ้าศรีนทรวรมันจะเป็นใครก็ตาม พระองค์ทรงส่งเสริมรื้อฟื้นฟูพุทธศาสนา และอาจจะเป็นผู้สร้างวัดป่าเลไลย์ในนิกายเถรวาทติดกำแพงพระราชวัง ในรัชกาลของโอรส (พระเจ้าศรีนทรชัยวรมัน) ปรากฏจารึกภาษาบาลีครั้งแรกในเมืองพระนคร ระบุปี พ.ศ. 1852/ค.ศ. 1309 แสดงว่าพุทธศาสนาฟื้นขึ้นมาได้แล้วและน่าจะเป็นนิกายเถรวาท-ลังกาวงศ์

พระเจ้ากรุงเขมรองค์สุดท้ายที่ปรากฎพระนามในจารึกคือ พระเจ้าชัยวรมันปรเมศวร จารึกไม่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพระราชกิจหรือนโยบายของพระองค์ แต่พระนามนั้นน่าสนใจเพราะ “ชัยวรมัน” ทำให้นึกถึงพุทธกษัตริย์ (อย่างพระเจ้าชัยวรมันที่ 7) ในขณะที่ “ปรเมศวร” สะท้อนความเป็นไศวะ

ชะรอยท่านหมายจะประสานแผลระหว่างพุทธกับพราหมณ์คล้ายกับพระสันตะปาปาจอห์น-ปอลที่ 1 และที่ 2 ที่ประสมชื่อ John ที่ 23 (ฝ่ายปฏิรูป) และ Paul ที่ 6 (ฝ่ายอนุรักษนิยม) เพื่อลดความขัดแย้งอย่างเดือดร้อนสุดขีดภายในศาสนจักรโรมันคาทอลิก

สงครามศาสนาในโลกมอญ

เราไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ามีสงครามศาสนาในโลกมอญในยุคพุทธศตวรรษที่ 17-19/คริสต์ศตวรรษที่ 12-14 เพราะเอกสารลายลักษณ์อักษรมีไม่สมบูรณ์และวัตถุ (เช่น สถาปัตยกรรมและปฏิมากรรม) ถูกทำลายหรือได้รับการศึกษาน้อยไป

อย่างไรก็ตาม เราทราบว่าโลกมอญได้รับพุทธศาสนาลังกาวงศ์ก่อนใครอื่นในอุษาคเนย์แผ่นดินใหญ่ (ราว พ.ศ. 1733/ค.ศ. 1190) ในรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กรุงเขมร การมาสู่ของอุดมการณ์ใหม่นี้ คงก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทั้งในทางบวก (สร้างสังคมแบบใหม่) และทางลบ (ก่อความวุ่นวายขัดแย้ง) แต่เราไม่รู้รายละเอียด

สงครามศาสนาในโลกไทย-ลาว

หลักฐานที่แน่ชัดในเรื่องนี้หาได้ยาก อาจเป็นเพราะคนรุ่นหลังพยายามลืมเรื่องความขัดแย้งรุนแรงแล้วรักษาข่าวดีข่าวงาม

อย่างไรก็ตาม วิชาโบราณคดีเป็นพยานว่าในพุทธศตวรรษที่ 17-19/คริสต์ศตวรรษที่ 12-14 เกิดกลียุค เทวสถานฮินดูและวัดพุทธยุคทวารวดี-ศรีวิชัย-อังกอร์ ล้วนถูกรื้อทำลายเหมือนตั้งใจ ไม่ใช่แบบถูกทอดทิ้งหรือชาวบ้านมือบอนมาขุดหาสมบัติ (ข้อยกเว้นคือนครวัดที่ถูกดัดแปลงเป็นเถรวาทแล้วรอดมาจนทุกวันนี้)

ส่วนเทวรูปและพระพุทธรูปหินยุคก่อนล้วนปรักหักพัง บางกรณีเห็นได้ชัดว่าตั้งใจทำ เช่น พระพักตร์พระนารายณ์ ตะกั่วป่า และพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เมืองพิมาย

ด้านหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรมีน้อยเต็มที พงศาวดารและตำนานต่าง ๆ โดยมากต่างระบุว่าแต่เดิมพราหมณ์เป็นชนชั้นปกครอง แต่ไม่แจ้งว่าใครที่ไหนลดอำนาจพราหมณ์เมื่อไร มีแต่จารึกหลักที่ 2 (วัดศรีชุม) เท่านั้นที่เล่าเรื่องการเมือง/การศาสนาในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อดังกล่าว โดยเชื่อมโยงโลกไทย-ลาวกับโลกเขมร โลกมอญ และโลกลังกา

อย่างไรก็ตาม หากเราไม่พิจารณารับรู้หลักฐานจากโลกมอญ เขมร ลังกา เราไม่อาจจะเข้าใจจารึกหลักที่ 2 ได้ ผมจึงขอเผยหลักฐานจากที่อื่นก่อนจะเข้าเรื่องตัวบทของจารึกหลักที่ 2

สรุปความเบื้องต้น

สงครามศาสนาใน อุษาคเนย์ ยุคพุทธศตวรรษที่ 17-19/คริสต์ศตวรรษที่ 12-14 มีจริง ลุกลามช้านานและแผ่ไปกว้างไกล

ความขัดแย้งครั้งนี้ แม้ได้รูปเป็น “สงครามศาสนา” ระหว่างพุทธกับพราหมณ์ ที่จริงเป็นสงครามชนชั้นระหว่างชนชั้นปกครองเดิม (พราหมณ์) กับชนชั้นอื่น (ไม่ใช่พราหมณ์)

พุทธศาสนานิกายเถรวาท (ลังกาวงศ์) ใช้งานเป็นอุดมการณ์ทางเลือก (Alternative Ideology) เพื่อโต้ตอบและท้าทายสิทธิอำนาจของชนชั้นปกครองเก่า

สงครามครั้งนี้รุนแรงและร้ายแรงขนาด “มหาประลัย” ลบล้างประวัติศาสตร์ก่อนหน้านั้นให้หายไป ศูนย์อำนาจเดิม เช่น สุธรรมนคร (สะเทิม) ตามพรลิงค์ ศรีวิชัย ทวารวดี พระนครฯ ต่างร้างและถูกลืมโดยมาก

ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 19 (กลางคริสต์ศตวรรษที่ 14) อุษาคเนย์ บริเวณที่เป็นแผ่นดินใหญ่ริเริ่มประวัติศาสตร์ใหม่ด้วยศูนย์อำนาจใหม่ เช่น ที่หงสาวดี สุโขทัย ล้านนา ล้านช้าง อยุธยา ละแวก ฯลฯ ซึ่งต่างนับถือพุทธศาสนาลังกาวงศ์เรียบร้อยแล้วและตัดขาดจากอำนาจปกครองพราหมณ์ที่มีมาก่อน แล้วตั้งใจลืมอดีตอันขมขื่น…

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 มิถุนายน 2564