พระสาโรชรัตนนิมมานก์ ผู้หนุนอาจารย์ศิลป์ ตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร

มหาวิทยาลัยศิลปากร
มหาวิทยาลัยศิลปากร

พระสาโรชรัตนนิมมานก์ หรือ สาโรช สุขยางค์ (12 สิงหาคม 2438-4 เมษายน 2493) นักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงสมัยรัชกาลที่ 6 ที่ไปศึกษาด้านสถาปัตยกรรม ในประเทศอังกฤษ สถาปนิกรุ่นบุกเบิกของไทย ที่มีผลงานการออกแบบสำคัญ เช่น สนามศุภชลาศัย, หอประชุม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฯลฯ ผู้เป็นหนึ่งในผู้ผลักดันสำคัญในการก่อตั้ง มหาวิทยาลัยศิลปากร

พระสาโรชรัตนนิมมานก์
พระสาโรชรัตนนิมมานก์ (สาโรช สุขยางค์)

เมื่อสำเร็จการศึกษาจากด้านสถาปัตยกรรมและการวางผังเมือง จากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ ในปี 2463 พระสาโรชรัตนนิมมานก์ กลับมารับราชการเป็นสถาปนิก ในกรมศิลปากร สังกัดกระทรวงธรรมการ มีผลงานการออกแบบอาคารหน่วยงานราชการจำนวนมากที่เป็นที่รู้จัก ได้แก่

กรีฑาสถานแห่งชาติ (สนามศุภชลาศัย ในปัจจุบัน), อาคารหลายหลังในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เช่น หอประชุม, อาคารจักรพงษ์, อาคารเคมี 1 หรือ อาคารศิลปวัฒนธรรม ในปัจจุบัน ฯลฯ ), อาคารหลายหลังในโรงพยาบาลศิริราช (เช่น อาคารพยาธิวิทยา, อาคารอำนวยการคณะแพทยศาสตร์, อาคารกายวิภาคและสรีรวิทยา, อาคารมหิดลวรานุสรณ์ ฯลฯ), อาคารวชิรมงกุฎ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย, อาคารที่ทำการกรมไปรษณีย์โทรเลข (ปัจจุบันคือ อาคารไปรษณีย์กลาง) หรืออาคารของเอกชนอย่าง โรงแรมรัตนโกสินทร์ ถนนราชดำเนิน เป็นต้น

นอกจากผลงานการออกแบบด้านสถาปัตยกรรมแล้ว พระสาโรชรัตนนิมมานก์ ยังมีส่วนสำคัญในการพัฒนาองค์กรวิชาชีพสถาปนิก ในปี 2477 ผู้จบการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมได้ร่วมกันก่อตั้ง “สมาคมสถาปนิกสยาม” ขึ้น โดยสมาชิกผู้ก่อตั้งทั้ง 7 คน ได้แก่ พระสาโรชรัตนนิมมานก์ สถาปนิกจากกรมศิลปากร, หลวงบุรกรรมโกวิท สถาปนิกรมโยธาเทศบาล, นารถ โพธิประสาท  ผู้ก่อตั้งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ, หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร, หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร, หม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ สถาปนิกกรมรถไฟ และศิววงษ์ กุญชร ณ อยุธยา อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ โดยมี พระสาโรชรัตนนิมมานก์ เป็นนายกสมาคมคนแรก

พระสาโรชรัตนนิมมานก์ยังเป็นผู้หนึ่งที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาศิลปะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนรู้ศิลปะในรูปแบบที่ทันสมัยและปรับประยุกต์ให้สอดคล้องกับความเป็นไปของสากลจนนำไปสู่การสนับสนุน คอร์ราโด เฟโรจี (ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี) ให้ก่อตั้งโรงเรียนประณีตศิลปกรรม ของกรมศิลปากร (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยศิลปากร)

ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ความคิดในการเปิดโรงเรียนเพื่ออบรมวิชาศิลปะและผลิตบุคลากรทางด้านศิลปะของศาสตราจารย์ศิลป์เคยมีการนำเสนอมาบ้างแล้ว แต่ยังไม่เกิดผลเป็นรูปธรรม ช่วงปี 2476 ศาสตราจารย์ศิลป์เป็นข้าราชการประจำแผนกจิตรกรรม ประติมากรรม และช่างรัก สังกัดกองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร พระสาโรชรัตนนิมมานก์ก็ย้ายมาเป็นหัวหน้ากอง ทำให้ทั้งสองท่านได้รู้จักทำงานใกล้ชิดกัน

จงกล กำจัดโรค มัณฑนากร หนึ่งในลูกศิษย์รุ่นแรกของโรงเรียนประณีตศิลปกรรมกล่าวว่า “…คุณพระสาโรชฯ ท่านเป็นหัวหน้ากองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ท่านย้ายมาจากระทรวงธรรมการ เป็นผู้บังคับบัญชาศาสตราจารย์ศิลป์ ศาสตราจารย์ศิลป์ขอเปิดโรงเรียนประณีตศิลปกรรม หลักสูตรของอิตาลี คุณพระสาโรชฯ ท่านสนับสนุนทันที พวกผมเลยได้เรียนจริงจังเป็นรุ่นแรก”

บางส่วนของศิษย์เก่าโรงเรียนประณีตศิลปกรรม ถ่ายภาพร่วมกับนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากรรุ่นที่ 1 และศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (แถวนั่ง ที่ 2 จากซ้าย) และผู้บริหารของมหาวิทยาลัย  (ภาพจาก หนังสือ “รากเหง้า” มหาวิทยาลัยศิลปากร)

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศไทยมีศิลปินของตนเองที่สามารถดำเนินงานศิลปกรรม ซึ่งแต่ก่อนนี้ได้มอบให้แก่ศิลปินชาวต่างชาติเป็นผู้ดำเนินการ โครงการเรื่องตั้งโรงเรียนศิลปะไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะได้เคยพูดเรื่องนี้แก่หม่อมเจ้าอิทธิเพทสรรค์และคนอื่นๆ มาแล้วบ่อยๆ แต่จะด้วยเหตุอะไรก็ตามที ความคิดอันนี้ไม่เผล็ดผลเป็นจริงขึ้นได้

จริงอยู่ นับแต่ข้าพเจ้าเข้ามาในประเทศไทย ก็ได้เริ่มสอนศิลปะแก่ชาวไทย แต่เรื่องที่จะตั้งการสอนการศึกษาให้เป็นล่ำเป็นสันจริงๆ ผู้ควบคุมราชการด้านสถาปัตยกรรมจะต้องเป็นผู้สนับสนุนด้วยจึงจะได้ คุณพระสาโรชมาบอกแก่ข้าพเจ้าอย่างตรงๆ ให้จัดตั้งโรงเรียนได้ทันทีไม่ต้องรีรอ นี่แหละเป็นจุดเริ่มศักราชใหม่สำหรับศิลปะในประเทศไทย”

ก่อนหน้า ศาสตราจารย์ศิลป์เคยนำเสนอแนวคิดเรื่องการจัดตั้งโรงเรียนศิลปะแก่หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร รวมถึงผู้ใหญ่ท่านอื่นๆ มาก่อน แต่ยังไม่เป็นผลสำเร็จ อาจเป็นไปได้ว่า หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์เห็นความสำคัญของการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาด้านวิจิตรศิลป์เป็นการเฉพาะ ส่วนที่แนวคิดการจัดตั้งโรงเรียนศิลปะแบบ “อคาเดมี” ของศาสตราจารย์ศิลป์ไม่ได้การสนับสนุนจากหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์อย่างเป็นรูปธรรมนั้น อาจวิเคราะห์ได้ว่า ในทัศนะของหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ ควรเริ่มจากการนำความรู้ด้านวิจิตรศิลป์ไปสอนควบคู่กับวิชาช่างพื้นเมืองที่ยังขาดแคลนก่อน

สำหรับโรงเรียนประณีตศิลปกรรม ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนศิลปากร แผนกช่าง และเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร ในฐานะสถาปนิกสมัยใหม่ พระสาโรชรัตนนิมมานก์ จึงเห็นความสำคัญของการพัฒนาการศึกษาศิลปะแบบหลักวิชาการอย่างจริงจัง 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

สิทธิธรรม โรหิตตะสุข. พระสาโรชรัตนนิมมานก์กับศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทย, วารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ปีที่ 42 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2563)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 กันยายน 2563