เด็กชาววังเล่นอะไรกัน? กับวีรกรรมเจ้านายเล็กๆ เล่นกันเสียงดังไม่กลัวร.5 ตื่นบรรทม

เด็กชาววัง เจ้านาย

เด็กชาววัง เล่นอะไรกัน? ดูวีรกรรมเจ้านายเล็ก ๆ เล่นกันเสียงดังไม่กลัว ร.5 ตื่นบรรทม

เรื่องเล่นและของเล่นเป็นสิ่งจําเป็นอย่างหนึ่งของชีวิตมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม โดยเฉพาะเด็ก ๆ ซึ่งยังไม่มีหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบมากมายนัก จึงมีเวลาว่างสําหรับการเล่นมาก

การเล่นและของเล่นของเด็กไม่ว่าชาติใด ภาษาใด ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมและภูมิประเทศ ภูมิอากาศ อย่างเด็กในประเทศหนาวเล่นสกี ปั้นหิมะเป็นรูปตุ๊กตา เด็กในประเทศร้อนก็ว่ายน้ำ ปั้นดินโคลนเป็นตุ๊กตาไว้เล่น เป็นต้น แต่การเล่นของเด็กที่เหมือน ๆ กันคือ การเล่นเลียนแบบผู้ใหญ่ เล่นเลี้ยงน้อง ขายของหม้อข้าวหม้อแกง โปลิศจับขโมย หรือเล่นเลียนแบบสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ เช่น เสือข้ามห้วย โพงพาง แมงมุมขยุ้มหลังคา เป็นต้น

เด็กที่อยู่ในพระราชสํานักฝ่ายใน มีทั้งเด็กหญิงและเด็กชายจํานวนมากที่อยู่ในวัยกําลังซุกซน ซึ่งก็เหมือนกับเด็กทั่วไปคือชอบเล่น แต่สิ่งแวดล้อมที่ได้พบเห็นตลอดจนของเล่นนั้นแตกต่างจากเด็กชาวบ้านโดยทั่วไป

ของเล่นยอดนิยมของเด็กชาววังทั้งหญิงและชายได้แก่ “ตุ๊กตา” ตุ๊กตาเป็นของเล่นที่ผู้ใหญ่มักสนับสนุนให้ เด็กเล่น เพราะรู้สึกถึงความปลอดภัยและความเรียบร้อยในการเล่นมากกว่าของเล่นอื่น ๆ เด็กชอบสมมติตุ๊กตาเป็นน้องหรือลูก และก็จะเล่นเลี้ยงน้องเลี้ยงลูกคนเดียวก็ได้

เด็กชาววัง เจ้านาย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอัพภันตรีปชา และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทิพยาลังการ ทรงอุ้มตุ๊กตา
(จากซ้าย) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอัพภันตรีปชา และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทิพยาลังการ ทรงอุ้มตุ๊กตา (ภาพจากหนังสือราชพสตราภรณ์)

เด็กชาววัง ทั้งหญิงและชายแต่ละพระองค์หรือแต่ละคนล้วนมีตุ๊กตาไว้เป็นสมบัติของตนเองมากน้อยตามฐานะ ดังเช่นตุ๊กตาของ สมเด็จเจ้าฟ้าชายมหาวชิรุณหิศ ปรากฏหลักฐานในจดหมายเหตุรายวันว่า มีทั้งผู้นํามาถวาย ซึ่งทรงบันทึกไว้ว่า “—พระยาโชฎีกให้ตุ๊กตาจิ๋วเรา—” และ “—ตื่นเช้าโมงหนึ่ง เล่นตุ๊กตาหมุนของทูลหม่อมอา—” มีทั้งที่ถวายให้เป็นรางวัล ทรงบันทึกว่า “—บ่ายป้าโสมให้เราอ่านนิทานเรื่องเจ้าองค์หนึ่งกับตุลาการ เราอ่านแล้วเราอุปมาความเปรียบได้ ป้าโสมรางวัลตุ๊กตาเราตัวหนึ่ง—” และ —เราตื่นนอนเช้า กินข้าวแล้วเล่นตุ๊กตา ป้าโสมซื้อมาให้เป็นค่าจ้างที่เราแต่งตัวไปตามเสด็จกฐินเรียบร้อยดี—” อีกทั้งยังมีที่ซื้อพระราชทาน ทรงบันทึกว่า “—ท่านว่าตุ๊กตาเราได้น้อย ท่านให้แม่วาศไปซื้อตุ๊กตาที่เรือนอรพินมาให้เราอีก—”

เล่ากันว่าตุ๊กตาชาววังเกิดจากการคิดประดิษฐ์ของ เจ้าจอมมารดา ม.ร.ว.ย้อย อิศรางกูร ใช้ดินเหนียวมาปั้น เพื่อถวายให้พระราชธิดาคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรพินท์เพ็ญภาค ไว้ทรงเล่นเป็นที่โปรดปราน ทําให้เด็ก ๆ ในวังพากันอยากเล่นบ้าง เจ้าจอมมารดา ม.ร.ว.ย้อยก็ปั้นถวายบ้าง แจกให้เล่นบ้าง พร้อมทั้งพัฒนาเป็นแบบต่าง ๆ จนเป็นที่นิยมกันมาก ในที่สุดก็ทําออกจําหน่ายที่ตําหนัก ทําให้เด็ก ๆ ในวังมีตุ๊กตาเล่นกันแพร่หลาย ในนวนิยายเรื่องสี่แผ่นดินบรรยายถึงของเล่นแม่ช้อยว่า

“—ช้อยไปหอบตุ๊กตาชาววังออกมามากมาย แล้วชวนพลอยให้เล่นด้วย ช้อยสะสมตุ๊กตาไว้นานจึงมีมาก ตลอดจนเครื่องใช้ต่าง ๆ สําหรับตุ๊กตา—”

เด็กชาววัง เจ้านาย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุจิตราภรณี
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุจิตราภรณี และตุ๊กตาแบบฝรั่ง (ภาพจากหนังสือราชพสตราภรณ์)

ต่อมาเมื่อเริ่มมีของเล่นที่ส่งมาจากเมืองนอก ตุ๊กตาก็เป็นของเล่นจากเมืองนอกด้วย มีรูปแบบผิดกับตุ๊กตาไทย แต่ก็ยังคงเป็นของเล่นยอดนิยมของ เด็กชาววัง

คุณหวน หงสกุล ข้าหลวงและพระพี่เลี้ยง สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช เล่าเรื่องการเล่นและการเป็นเพื่อนเล่นตุ๊กตาของสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นี้ เมื่อยังทรงพระเยาว์ว่า

“—แม่มีหน้าที่ในชั้นต้นก็คือเป็นคนเล่นตุ๊กตากับท่าน ทูลกระหม่อมทรงมีตุ๊กตาแหม่มอยู่ตัวหนึ่ง พอไขลานแล้วตุ๊กตาตัวนั้นก็เดินไปเองช้า ๆ แล้วร้องว่า “ป๋าคาๆๆๆ” แล้วพระองค์ท่านก็ทรงอุปโลกน์ขึ้นให้ตุ๊ก ตานั้นเป็นเจ้าเหมือนกับพระองค์ท่าน ต้องพูดเสวยข้าว สรงน้ำ เสด็จไปเที่ยว บรรทมเสีย มีสํารับเล็ก ๆ สําหรับตุ๊กตา ประเดี๋ยวทรงอุ้มตุ๊กตาไปเฝ้าใครต่อใคร แม่ก็เป็นคนถวายพระกลดตุ๊กตา ทําพูดโน่นพูดนี้กับตุ๊กตาเป็นเสียงน้อยเสียงใหญ่ต่าง ๆ นานา ที่นี่เลยทรงโปรดปรานแม่กว่าใครทั้งหมด—”

เด็กชาววัง เจ้านาย สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช และสมเด็จฯ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์
สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช และสมเด็จฯ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ (ภาพจากหนังสือราชพสตราภรณ์)

นอกจากจะเล่นของเล่นดังที่กล่าวมาแล้ว ยังมีการเล่นที่คิดขึ้นเองโดยเลียนแบบจากผู้ใหญ่ใกล้ชิด อย่างการเล่นของ สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ และ สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ สองสมเด็จเจ้าฟ้าพี่น้องทรงชอบเล่นเลียนแบบสมเด็จพระบรมราชชนกและพระชนนี เช่น เล่นหม่อมป๋ากับแม่เล็กเสด็จประพาสเกาะ เรื่องนี้ หม่อมศรีพรหมา กฤดากร เล่าไว้ว่า

“—ให้พระอนุชาน้อยเป็นนายหลวง พาพระมเหสีและเจ้าจอมไปประพาสทะเลและเกาะต่าง ๆ ด้วยเรือพระที่นั่งจักรี ช่วยกันจัดเรือพระที่นั่งโดยนําเอาเรือกลไฟลําใหญ่ของเล่นยาวประมาณ 16 เมตรกว่า ๆ มาตั้งกลางห้อง เอาหีบของเล่นต่าง ๆ มาล้อมเรือ ตีวงกว้าง จนทุกคนเข้าไปนั่งและยืนได้ ทรงมอบพระอนุชาให้จัดการภายใน คือหาตัวมเหสีและเจ้าจอม ส่วนพระเชษฐาเองจะเป็นกัปตัน

หม่อมเจ้าชายเหล่านั้นทําหน้าที่ต่าง ๆ ตามระเบียบในเรือเท่าที่จําได้ โดยเคยตามเสด็จพระราชดําเนิน ตอนนี้จะเห็นได้ว่า พระอนุชาแม้จะยังทรงพระเยาว์มาก ก็สามารถกระทําหน้าที่เลือกแม่เล็ก คือสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ซึ่งได้แก่หม่อมเจ้าหญิงทัศนี ซึ่งธรรมดาก็โปรดปรานอย่างยิ่งอยู่แล้ว จนขาดไม่ได้เลยถ้าไม่จําเป็น ถวายข้าวเสวยก็ต้องท่านหญิงใหญ่องค์เดียวเท่านั้น เจ้าจอมตัวโปรดในเวลานั้น คือ เจ้าจอมซุ่ม ที่พระยาบุรุษรัตนราชวัลลภ ผู้เขียนได้รับตําแหน่งนั้น และคนอื่น ๆ ก็รับ หน้าที่ต่าง ๆ กันไป

สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ ม้าลูกล้อ
สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ บนหลังม้าลูกล้อ

ฝ่ายในพระอนุชาทรงควบคุม ฝ่ายหน้าเป็นหน้าที่ของพระเชษฐา ถ้าถึงเกาะอะไรที่โปรดก็จะพาพระมเหสีและราชบริพารลง เช่น ถึงเกาะพงันก็จะเสด็จที่น้ำตก สรงน้ำ และเก็บรังนกนางแอ่น หอย ปู ของเหล่านี้จะใช้ขนมปังหีบ ลูกกวาด ช้อกโกแล็ต ผู้เขียนเป็นคนไปเบิกมาจากคุณชมพี่เลี้ยง ซึ่งเป็นต้นห้องเก็บ สัมภาระทั้งหมดของสมเด็จฯ เล่นแล้วก็รับประทานกันทันทีเลย—”

หรือการเล่นอีกอย่างหนึ่งที่เจ้านายเล็ก ๆ ชอบเล่นเลียนแบบผู้ใหญ่คือ เล่นเทศน์มหาชาติ ทรงเล่นเลียนแบบจากของจริงที่ทอดพระเนตรเห็น สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธจะทรงเกณฑ์หม่อมเจ้าชายบางพระองค์ให้สมมุติเป็นพระขึ้นเทศน์ องค์หรือคนอื่น ๆ ก็จะเป็นอุบาสกอุบาสิกา หม่อมศรีพรหมาเล่าเรื่องนี้ไว้ว่า

“—ต่างก็จะต้องจัดหาเครื่องกัณฑ์ แล้วแต่ปัญญาและความสามารถของแต่ละคนไป ใครแต่งดีกว่าเพื่อนก็จะได้รางวัล ฉะนั้นทุกคนจะไปค้นหาฝาหีบไม้ ฝากระป๋องขนมปังมาตกแต่ง ติดด้วยใบไม้ ก้านไม้ ด้วยขี้ผึ้งต่างว่าเป็นต้นไม้ แสดงภาพตอนชูชกพากัณหาชาลีไป ดังนี้เป็นต้น พระเวสสันดรประทานกุมาร กัณฑ์มัทรีไปป่า ลูกกวาดช้อกโกแล็ตถูกไปเบิกมาใช้

ขี้ผึ้งเป็นของหายากที่สุด เพราะผู้เก็บซึ่งเป็นคนแก่หวง เห็นว่าเบิกมาพอแล้ว จะไม่ให้อีก แต่ก็ขัดรับสั่งทูลกระหม่อมไม่ได้ แกเลยใส่กุญแจห้องเสีย โดยตัวแกอยู่ข้างใน ให้คนใช้ใส่กุญแจขังตัวเองไว้ ลวงว่าไม่อยู่แล้ว ผู้รับใช้คือหม่อมเจ้าชายไปเลาะดูที่ห้อง เพื่อจะย่องเบาเอาขี้ผึ้งมาบ้าง แต่หน้าต่างก็ติดลูกกรงเหล็กเข้าไม่ได้ ปีนป้ายหาทางก็มองเห็นผู้รักษาของคือพระนมยิ้ม เคยเป็นพระนม (แม่นม) เจ้าฟ้าตรีเพชรพระเชษฐาสิ้นพระชนม์ไปแล้ว นอนอ่านหนังสือธรรมอยู่ อ้อนวอนขอแกก็ไม่ให้

หม่อมเจ้าชายเหล่านั้นทรงบันดาลโทสะ ปรึกษาว่าจะเอาเทียนจุดไฟเสียบไม้ไปจี้ให้ลุกขึ้นหยิบแลก็ได้ทํากันทันที และรีบเรียกคนใช้ให้ไขกุญแจมิฉะนั้นอาจจะถูกไฟครอกตายในห้อง พวกผู้ชายได้ขี้ผึ้งมาติดแต่ง กัณฑ์เทศน์ ดีใจกันโห่ร้องเกรียวกราว โดยไม่ต้องเกรงว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินี ซึ่งบรรทมอยู่ชั้นบนใกล้ ๆ นั่นเอง—”

เด็กชาววัง
(แถวล่างจากซ้าย) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เยาวภาพงศ์สนิท, สมเด็จฯ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ฯ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ (แถวที่สองจากซ้าย) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทิพยาลังการ และสมเด็จฯ เจ้าฟ้านิภานภดลฯ (แถวที่สามและสี่จากซ้าย) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไลย, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอัพภันตรีปชา, สมเด็จฯ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณฯ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอดิสัยสุริยาภา (แถวบน) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเหมวดี, สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามาลินีนพดาราฯ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุจิตราภรณี (ภาพจากหนังสือราชพสตราภรณ์)

เด็ก ๆ ข้าราชบริพารทั้งหลาย เมื่อเวลาไม่ได้ขึ้นไปเล่นกับเจ้านายเล็ก ๆ ก็จะคิดหาวิธีเล่นของตัวเอง การเล่นก็ไม่พ้นเลียนแบบผู้ใหญ่และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เช่น เล่นติ๊ดต่างว่าเป็นพระเจ้าลูกเธอ การเล่นเช่นนี้ต้องรอให้มืดเสียก่อน เพราะตามธรรมเนียมวัง ถ้าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ หรือพระเจ้าลูกเธอ เจ้านาย พระมเหสี พระพี่นางน้องนางจะเสด็จลงจากพระตําหนักไปไหน จะต้องมีข้าหลวงเชิญโคมลานนําหน้าไปก่อน

เด็ก ๆ ที่จะเล่นซุกซน ก็จะชวนคนใช้ให้อุ้มอย่างรับเสด็จเจ้านาย ส่วนเด็กอื่น ๆ ที่ร่วมเล่นก็จะไปฉวยโคมที่เขาจุดไว้ใช้การมานํา บ้างก็จะทําเป็นข้าหลวงตามหลังไปตามถนน เพื่อหลอกโขลนที่เฝ้าเป็นระยะอยู่ทุกถนนในพระราชสํานักฝ่ายใน เมื่อขบวนผ่านโขลนที่เฝ้าจุดใด โขลนก็จะต้องลุกขึ้นยืนคํานับโค้งตัวอย่างผู้ชาย ถ้าผ่านโขลนที่ลุกขึ้นโค้งคํานับด้วยเข้าใจว่าเป็นกระบวนพระเจ้าลูกเธอ เด็กก็จะสนุกสนานพากันหัวเราะคิก ๆ คัก ๆ จะเลิกเล่นก็ต่อเมื่อไปพบโขลนที่รู้จักและจําได้ ก็เลิกเล่นเพราะหมดสนุก

การเล่นสนุกซุกซนของบรรดาหม่อมเจ้าที่อยู่ในพระอุปการะ สมเด็จพระศรีพัชรินทร์ฯ อีกอย่างหนึ่งคือ เล่นเขาวงกต เลียนแบบจากการเล่นเขาวงกตในงานวัดเบญจมบพิตร หม่อมศรีพรหมาเล่าเรื่องการเล่นนี้ไว้ว่า

“—คืนหนึ่งบรรยากาศให้กับการเล่นเขาวงกต เพราะไฟดับ เด็ก ๆ ก็เริ่มดําริเล่นเขาวงกต โดยเอาผ้าห่มนอนมาผูกต่อกันเป็นผืนยาว แล้วผูกวกไปวนมาตามแบบเขาวงกต แล้วเด็ก ๆ ก็ทะยอยเข้าไปในโปงผ้าที่สมมติเป็นเขาวงกต วิ่งวนหาทางออก พลางร้องกู่กันวู้วู้ดังลั่น พอเจอกันก็ร้องกรี๊ด ๆ หลายคู่ก็หลายกรี๊ด เสียงดังสนั่นไปทั่วพระที่นั่งด้วยความลืมตัว จนสมเด็จฯ สงสัย ใช้ให้ข้าหลวงลงมาดูว่าเด็ก ๆ เป็นอะไรกัน พอมีคนมา เด็ก ๆ ก็เงียบกริบอยู่ในโปงคนดูก็ไม่เห็นเด็ก พอคล้อยหลังเด็กก็เริ่มเล่นกันอีก คราวนี้คนที่ลงมาดูจับที่มาของเสียงได้ จึงตลบผ้าห่มหุ้มตัวเด็กไว้จับได้หลายคน การเล่นซุกซนครั้งนั้น สมเด็จฯ ทรง เพียงแต่ดุ และคาดโทษเอาไว้เท่านั้น—”

สมเด็จฯ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณพิมลรัตนวดี
สมเด็จฯ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณพิมลรัตนวดี

นอกจากการเล่นที่คิดขึ้นเองแล้ว การเล่นที่เด็ก ๆ โปรดปรานมากอีกอย่างหนึ่งคือ การเล่นน้ำ มีทั้งตามเสด็จไปเล่นน้ำที่สวนเต่า แต่การเล่นน้ำที่เด็ก ๆ ชอบและสนุกสนานมากที่สุดก็คือ การเล่นน้ำตอนตามเสด็จไปพระราชวังสวนดุสิต ขณะที่พวกผู้ใหญ่กําลังดูแลการตกแต่งตําหนักอยู่ เด็ก ๆ ก็ได้โอกาสเล่นน้ำอย่างอิสระ ไม่มีผู้ใหญ่คอยควบคุมดูแล

ความสนุกของเด็ก ๆ ที่ถวายตัวอยู่ตามตําหนักต่าง ๆ อีกอย่างหนึ่งก็คือ การเที่ยวไปตามที่ต่าง ๆ ในวัง เช่น ตามพระตําหนัก เป็นการพบปะสังสรรค์กันระหว่างข้าหลวงต่างตําหนัก แต่ที่เด็ก ๆ ชอบมากที่สุดคือแถวเต๊ง ในนวนิยายเรื่องสี่แผ่นดินบรรยายไว้ว่า “—ช้อยบ่นเสมอว่าเที่ยวตามตําหนักไม่สนุก เพราะต้องคอยระวังตัว สู้เที่ยวตามแถวเต๊งไม่ได้สบายใจกว่า เพราะแถวเต๊งนั้นทุกคนแสดงกิริยาเป็นกันเองได้มากกว่า และบางเวลาถ้าจะส่งเสียงดังไปบ้างก็ไม่มีใครคอยห้าม—”

แถวเต๊งเป็นที่อยู่ของพนักงานหน้าที่ต่าง ๆ จึงเกิดเป็นชุมชนกลุ่มใหญ่ ซึ่งเป็นที่ชุมนุมของเพื่อนเล่น ของเล่น และของกิน เป็นที่ถูกใจของเด็กๆ ชาววังยิ่งนัก

ปัจจุบันของเล่นเด็กได้พัฒนาไปเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเล่นแบบไหน ก็จะมีโรงงานผลิตเครื่องเล่นแบบนั้นออกจําหน่ายอํานวยความสะดวก จนผู้เล่นไม่จําเป็นที่จะต้องคิดทําขึ้นเอง มีเงินก็สามารถมีเครื่องเล่นได้ ทําให้การเล่นของเด็กสมัยนี้แตกต่างจากการเล่นของเด็กสมัยก่อน คือขาดความคิดสร้างสรรค์ ขาดจินตนาการ และขาดศิลปะในการเล่น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “การเล่นและของเล่นของเด็กชาววัง” เขียนโดย ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2544


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 มกราคม 2563