ที่มา สวนสุนันทา-สวนอย่างเจ้านายยุโรป ที่เผื่อไว้สำหรับฝ่ายใน? พระราชดำริ ร.5

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ (ภาพจาก “เจ้านายที่เคยประทับในวังสุนันทา”)

ในปี 2441 รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อที่สร้าง พระราชวังสวนดุสิต ด้วยเงินพระคลังข้างที่ ด้วยทรงมีพระราชดำริว่า ฤดูร้อนในพระบรมมหาราชวังร้อนจัด เพราะมีตึกบังทิศทางลมเดินสะดวก ในการสร้างพระราชวังดุสิตนั้น เชื่อว่ามีการสร้าง และตกแต่งบริเวณที่จะทรงกำหนดให้เป็น สวนสุนันทา ด้วย เพราะปรากฏพระราชกระแสสั่งความให้พระยาเวียงในนฤบาลและพระยาอภิรักษ์ปลูกต้นไม้ต่างๆ โดยทรงกำหนดบริเวณปลูกต้นไม้ ณ ที่ “ริมฝั่งสระสุนันทา”

ความตั้งพระทัยจะให้มีเขตบริเวณที่เรียกว่า สวนสุนันทา เป็นรูปร่างชัดเจน เกิดขึ้นเนื่องจากการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ปี 2449 ทรงเห็นว่า พระราชวังของเจ้านายราชวงศ์ในยุโรปมีสวนเที่ยวเล่น จึงทรงเกิดความคิดและมีพระราชกระแสสั่งความมายังเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ว่า ในเขตพระที่นั่งอัมพรสถานนั้น ขาดบางอย่างทำให้ไม่สมพระทัย ดังที่ทรงกล่าวว่า (จัดย่อหน้าใหม่โดยผู้เขียน)

Advertisement
เจ้านายที่เคยประทับ อยู่ในวังสุนันทา (ภาพจาก “เจ้านายที่เคยประทับในวังสุนันทา”)

“น่าที่จะต้องทำคือพระที่นั่งเดี๋ยวนี้ ไม่มีที่สงัดซึ่งจะเที่ยวเล่นแต่ลำพังได้ ลงกระไดลงมาก็เป็นข้างหน้า ออกจากกำแพงไปก็ฝรั่งมาถึง เราควรจะมีสวนข้างในซึ่งเที่ยวได้ตามลำพัง ยิ่งมาเห็นพวกเจ้าแผ่นดินฝรั่งถือลูกประแจสวนหลายคนเข้ายิ่งคิดถึงสวนที่นึกไว้ว่าจะทำมากขึ้น…

…ที่ซึ่งจะทำดังนี้ ก่อกำแพงด้านหลังขึ้นใหม่ยืนไปตามถนนใบพร [ถนนอู่ทองนอก] และถนนซางฮี้ [ถนนราชวิถี] จนถึงถนนตะพานทอง ขยายถนนตพานทองให้ใหญ่ขึ้นเท่าถนนซางฮี้และถนนใบพรเอาถนนดวงดาว [ถนนราชสีมา] เข้าไว้ในวัง… ที่ในบริเวณกำแพงชั้นนอกนี้คิดจะกันไว้เป็นสวนหลังพระที่นั่ง เสมอแนวถนนบ๋วยฟากข้างห้องเครื่อง… เพราะฉะนั้นจะได้สวนหลังพระที่นั่งเท่ากันกับด้านหน้า จะเป็นห้าเส้นสี่เหลี่ยมฤา ห้าเส้นเศษ…

ปลูกต้นไม้เป็นป่าบังข้างทิศตะวันตก เป็นสวนอย่างป่าๆ ให้รู้สึกเงียบสงัดในที่นั้น การเรื่องสวนนี้ บางที่ช่างเขาจะหรู แต่ไม่เป็นไรแก้ไขง่าย ให้วางเค้าลงเสียให้ได้ก่อนว่า ถนนจะไปอย่างไรให้แลเห็นซึ่งจากพระที่นั่ง ตัวเรือนในสวนนั้นต้องให้บังมิดชิด ลับจากถนน ลับจากพระที่นั่ง…”

ปี 2451 ภายหลังเสด็จกลับเมืองไทย ทรงจัดวางแบบการสร้างสวนสุนันทา ตามที่ทรงตั้งพระทัยจะให้เป็นส่วนป่าทันที ทรงให้ทำประตูจากถนนบ๋วยในพระราชวังสวนดุสิตไปสู่สวนสุนันทา เรียกว่า ประตูสี่แซ่ (สมัยรัชกาลที่ 6 พระราชทานนามว่า ประตูสุนันทาทวาร)

ประตูสี่แซ่ หรือประตูสุนันทาวาร (ภาพจาก “เจ้านายที่เคยประทับในวังสุนันทา”)

นอกจากทรงสร้างสวนสุนันทาเพื่อประทับพักผ่อนเป็นสำคัญแล้ว ยังมีเหตุผลเรื่องของ “ครอบครัว” ด้วย

รัชกาลที่ 5 ทรงตระหนักดีว่า พระองค์ทรงเป็นผู้มีครอบครัวมาก วันข้างหน้า ถ้าสิ้นพระองค์ บรรดาเจ้าจอมมารดาที่มีแต่พระราชธิดา, และเจ้าจอมทั้งหลายจะลำบาก ส่วนเจ้าจอมที่มีพระเจ้าลูกเธอพระองค์ชายคงไม่มีปัญหา เพราะสามารถออกไปอยู่วังกับพระราชโอรสได้ เรื่องนี้พระองค์ทรงมีพระราชหัตถเลขาพระราชทานสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเมื่อปี 2447 ว่า (จัดย่อหน้าใหม่โดยผู้เขียน)

“…ถ้าคิดจะไปตามราชประเพณีก็ไม่ควรจะเป็นห่วงอันใด ถ้าลาวงแผ่นดินไปแล้ว เขาก็ทำราชการต่อไป เป็นเจ้าจอมฤาพนักงาน… แต่การทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปชอบกลอยู่ จะบ่นอย่างพระพุทธเลิศหล้าห่วงท้าววรคณามาไลยว่ากลัวเขาจะไม่เลี้ยงเองต่อไป

…ข้อที่คิดว่าเป็นพนักงานต่อไปนั้นคนที่โตเคยเสียมากเช่นนี้ เห็นจะทนไปนั่งกับพนักงานไม่ได้ผลประโยชน์ที่เจ้าแผ่นดินจะสามารถให้แก่พนักงานก็คงไม่พอกิน

เมื่อทางที่จะอยู่ทำราชการไม่แลเห็นเช่นนั้น ก็ยังมีแต่จะอยู่กับหลานเฉยๆ ในวัง ทางนั้นก็แลไม่เห็น เพราะการในอนาคตคงจะต้องย้านเย่าเรือน ร่นเล็กลงแคบลงตามที่คิดใหม่ฤาความไม่พอใจที่พึ่งพิงกันเพราะว่าไม่ต้องอาไศรยกินอย่างใดอย่างหนึ่ง คงทำให้ไม่อยากอาไศรยเรือนเขาอยู่

ลงปลายคงต้องเป็นไปอยู่นอกวัง… เป็นอันว่าเราทำความลำบากให้เขาเมื่อแก่ เพราะไม่คิดหาทุนรอนที่อยู่ให้เขาเลย…”

30 สิงหาคม 2529 เจ้านายและข้าหลวงกลับมารำพึงความหลังในวังสุนันทา หน้าตึก 27 ซึ่งเคยเป็นตำหนักของพระวิมาดาเธอฯ (ภาพจาก “เจ้านายที่เคยประทับในวังสุนันทา”)

ส่วนที่ทรงใช้ชื่อสวนแห่งนี้ว่า สุนันทา นั้นด้วยรำลำถึงพระมเหสี สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ เจ้าจอม ม.ร.ว.สดับ ในรัชกาลที่ 5 เคยให้สัมภาษณ์ว่า

“…สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทา พระองค์นี้เป็นมเหสีใหญ่แล้วทรงพระกรุณาโปรดปรานมากพิเศษกว่าทุกพระองค์ ที่นี้เมื่อท่านไม่มีชีวิตแล้วพระองค์ก็อยากให้มีอะไรไว้เป็นที่ระลึก ท่านทรงตั้งชื่อโรงเรียนราชินีว่าโรงเรียนสุนันทาลัยไว้ สวนสุนันทานี่ก็เหมือนกัน… ใครๆ เข้าใจกันอย่างนั้น ท่านเรียกแม่ใหญ่ หญิงใหญ่ คิดถึงหญิงใหญ่บ้าง…”

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

คณะผู้จัดทำหนังสือสวนสุนันทาในอดีต. เจ้านายที่เคยประทับในวังสุนันทา, วิทยาลัยครูสวนสุนันทา, พฤศจิกายน 2529


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 สิงหาคม 2563