ภาษาและวิธีพูดของชาววัง ต่างจากชาวบ้านอย่างไร เมื่อ “ผัว” ก็เป็นคำหยาบ

ภาพลายเส้นข้าราชสำนักฝ่ายในสมัยรัชกาลที่ 4 ภาพจากหนังสือ Travels in Siam, Cambodia and Laos 1858-1860 เขียนโดย Henri Mouhot

ความแตกต่างระหว่างชาวบ้านกับชาววังนั้นเกิดจากการที่ชาววังได้มีโอกาสอยู่ใกล้ชิดกับต้นแบบหรือศูนย์กลางแห่งความเจริญ พบเห็นและได้รับการอบรมแต่สิ่งที่ปรุงแต่งแล้วจนเป็นที่ยอมรับกันว่าเหมาะสมดีงาม ชาววังทุกคนได้รับและซึมซับสิ่งเหล่านั้นไว้เป็นคุณสมบัติเฉพาะกลุ่ม

ความแตกต่างระหว่างชาวบ้านกับชาววังที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด ก็คือการแต่งกายและกิริยาท่าทาง การแต่งกายของชาววังนั้น นอกจากจะประณีตบรรจง งดงาม สะอาด และมีกลิ่นหอมแล้ว ยังมีระเบียบหรือรูปแบบ เช่นว่าวันไหนจะใส่สีอะไรคู่กับสีอะไร ส่วนกิริยาท่าทางนั้นก็ต้องนุ่มนวล อ่อนโยน และสง่างามผสานผสมกันพอเหมาะ จึงจะเป็นแบบเฉพาะของชาววัง

แบบเฉพาะของชาววังอีกอย่างหนึ่งได้แก่ วิธีพูดและคำพูด เป็นลักษณะที่ชาววังได้รับการถ่ายทอด ฝึกฝน และอบรมให้ประพฤติปฏิบัติตามกันอย่างเคร่งครัดจนเป็นลักษณะเฉพาะ คือจะต้องมีกระแสเสียงพูดที่ไพเราะนุ่มนวล เนิบนาบ ชัดถ้อยชัดคำ คำที่พูดจะต้องแสดงออกถึงความสุภาพและอ่อนโยน หลีกเลี่ยงคำที่มีความหมายหรือเลศนัยก่อให้เกิดจินตนาการหรือส่อให้คิดไปในทางหยาบคาย

คำพูดธรรมดาบางคำของชาวบ้านนั้นชาววังจะเห็นว่าไม่สุภาพพยายามเลี่ยงไปใช้คำที่ดูไม่น่าเกลียดและไพเราะกว่า เช่น ต้นนมแมว ชาววังจะเรียกต้นถันวิฬาร์ ปลาช่อน เรียกว่าปลาหาง ผักบุ้ง เรียกผักทอดยอด ความช่างคิดประดิดประดอยซับซ้อนยอกย้อนของชาววังนั้นมีมากและเป็นที่รู้กันดี จนมีผู้ล้อเลียนว่า “ชาววังช่างประดิษฐ์ ดอกสลิดเรียกดอกขจร ชาววังช่างยอกช่างย้อน ดอกขจรเรียกดอกสลิด”

และคำบางคำ สาวๆ ชาววังจะไม่ยอมให้หลุดออกจากปากเป็นอันขาด เช่นคำว่า “ผัว” ถือกันว่าเป็นคำหยาบคาย หากผู้อื่นได้ยินก็จะถูกประณามว่ามีจิตใจฝักใฝ่ด้านชู้สาว ซึ่งเป็นสิ่งที่สาวๆ ชาววังเห็นว่าเป็นเรื่องน่าอับอายอย่างที่สุด ถึงขั้นแทบจะไม่อยากอยู่สู้หน้าสังคม

ส่วนการพูดจาปกติของชาววังนั้น ถ้าเป็นเจ้านายทั้งหญิงชายจะได้รับการฝึกอบรมให้ตรัสแต่ถ้อยคำที่ไพเราะอ่อนหวาน จนทุกพระองค์ล้วนซึมซาบแต่กับถ้อยคำที่ละมุนหูทั้งน้ำเสียงและถ้อยคำ แม้แต่เจ้านายเล็กๆ ที่เป็นพระองค์ชายก็จะตรัสด้วยวาจาที่สุภาพเรียบร้อย มี คะ ขา จ๊ะ จ๋า ทุกคำไป จนถือเป็นลักษณะเฉพาะ

พระพี่เลี้ยงหวน หงสกุล เล่าถึงการพูดจาของสมเด็จเจ้าฟ้าชายมหิดลอดุลเดช เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ว่า “—ทรงเรียกกรมหลวงสมรฯ ว่า ป้าโสมคะ ป้าโสมขา เรียกพระองค์เองว่าแดง แดงยังงั้น แดงยังงี้ ไม่เคยรับสั่งว่าฉันเลย—“ ส่วนภาษาที่ตรัสนั้นก็สุภาพจนไม่ทรงรู้จักกับคำหยาบคาย พระพี่เลี้ยงหวนเล่าว่า ครั้งหนึ่งทรงได้ยินหม่อมเจ้าจัตุรัส ซึ่งเรียกกันว่าคุณตุ้ม พูดคำหยาบคาย ทรงไม่เข้าพระทัย กลับมาถามพระพี่เลี้ยงหวนว่า “—หวน ตาตุ้มแกพูดภาษาเจ๊กอะไรของแกไม่รู้—“

คำพูดไพเราะ วาจาสุภาพ จะติดอยู่ที่พระโอษฐ์ของเจ้านายทุกพระองค์ ไม่ว่าจะทรงอยู่ในสถานการณ์เช่นใด ในบันทึกความทรงจำของหม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล เล่าว่าเมื่อครั้งเสด็จประพาสชวา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธประชวรหนัก เวลาทรงไม่สบายมากก็จะทรงร้องหาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า “—ทูลหม่อมป๋าคะ เอียดเล็กทูลลา—“

ในส่วนเด็กหญิงชายอื่นๆ ต่างก็ซึมซับเอาวิธีพูดและคำพูดอันงดงามไพเราะเหล่านี้ไว้เป็นสมบัติส่วนตัว ซึ่งจะติดตัวจนเป็นสาวเป็นหนุ่ม อันจะกลายเป็นลักษณะเฉพาะ เมื่อไปอยู่ที่ใดผู้คนก็จะรู้ทันทีว่านั่นคือชาววัง

ภาษาที่ชาววังนิยมใช้พูดจากัน อาจกล่าวได้ว่าบางคำบางสำนวนเป็นภาษาที่รู้เรื่องและเข้าใจกันเฉพาะในหมู่ชาววัง เช่น การเอ่ยพระนามเจ้านายไม่ว่าจะเป็นพระมเหสีเทวี พระราชโอรสธิดา หรือเจ้านายพระองค์สำคัญ คนในวังจะไม่นิยมเอ่ยพระนาม ทั้งนี้เนื่องมาจากความเคารพยำเกรงและเทิดทูนพระบารมีพระมหากษัตริย์และพระบรมราชวงศ์ไว้ในที่อันสูงสุด ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ แม้การเอ่ยพระนามซึ่งจะต้องใช้เป็นประจำ ก็ถือว่าเป็นการเอ่ยพระนามพล่อยๆ มิเป็นการบังควร จึงไม่นิยมขานพระนามเจ้านาย ใช้วิธีเลี่ยงด้วยการขานพระนามซึ่งเป็นที่รู้กันในหมู่ชาววัง พระนามเจ้านายพระองค์สำคัญที่ชาววังถวายการเรียกขานมี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร ชาววังเรียกว่าทูลกระหม่อมแก้ว

สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงมีพระนามเรียกขานในหมู่ชาววังหลายพระนาม

สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงเป็นเจ้านายที่มีพระนามที่ใช้เรียกขานกันในหมู่ชาววังหลายพระนาม เช่น พระองค์หญิงกลาง เพราะทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์กลางในสมเด็จพระปิยมาวดี (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม )

สมเด็จพระตำหนัก เพราะประทับอยู่ ณ พระตำหนักใหญ่ด้านหลังพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท มีสะพานสูงเดินเชื่อมกันถึง

สมเด็จสวนหงษ์ ขานพระนามเมื่อประทับอยู่ที่พระตำหนักสวนหงษ์ ในพระราชวังสวนดุสิต

สมเด็จวังสระปทุม ขานพระนามนี้เมื่อประทับอยู่ ณ พระตำหนักวังสระปทุม ในบั้นปลายพระชนมชีพ

สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ มีพระนามที่ใช้เรียกขานกันในหมู่ชาววังว่าสมเด็จที่บน เพราะประทับอยู่บนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และสมเด็จรีเยนต์ ใช้เรียกเมื่อโปรดสถาปนาเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ครั้งเสด็จประพาสยุโรป พ.ศ. 2440

พระอัครชายาเธอ 3 พระองค์ คือ พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอรรควรราชกัลยา พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ และพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฎ ปิยมหาราชปดิวรัดา ชาววังเรียกขานพระนามว่าพระอัครชายาพระองค์ใหญ่ พระอัครชายาพระองค์กลาง และพระอัครชายาพระองค์เล็ก หรือท่านพระองค์เล็ก ตามลำดับ ชาววังเรียกขานพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฎกุลินีว่าเสด็จอธิบดี เพราะโปรดสถาปนาเป็นอธิบดี มีหน้าที่ดูแลในราชสำนักฝ่ายใน

ส่วนพระราชธิดา ก็ทรงมีพระนามตามเรียกขานต่างๆ ดังนี้ พระองค์ใหญ่ ใช้ขานแทนพระนามพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี เพราะเป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ ประสูติแต่เจ้าคุณจอมมารดาแพ สมเด็จหญิงพระองค์ใหญ่ ใช้ขานแทนพระนามสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์ เพราะเป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ที่ประสูติแต่พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ และทูลกระหม่อมหญิง ใช้ขานพระนามกรมหลวงศรีรัตนโกสินทร เป็นต้น

ว่ากันว่าการขานพระนามเช่นนี้ เจ้านายท่านก็ทรงทราบ แต่ก็ไม่ทรงว่ากล่าวกระไร นัยว่าทรงพอพระทัย จึงได้ใช้วิธีขานพระนามเจ้านายพระองค์สำคัญเช่นที่ว่านี้กันสืบมา

ไม่ใช่แต่ข้าราชบริพารเท่านั้นที่ขานพระนามเจ้านายตามแบบของตน เจ้านายก็มีวิธีเรียกข้าราชบริพารตามที่ทรงพอพระทัย อันอาจเนื่องมาจากเหตุการณ์เด่นของข้าราชบริพารผู้นั้น ทำให้ทรงตั้งสมญาขึ้นเพื่อใช้เรียกเฉพาะพระองค์ และคนทั่วไปก็พลอยเรียกตาม จึงเกิดเป็นภาษาเฉพาะของชาววังขึ้น

การที่เจ้านายตั้งสมญานามให้ข้าราชบริพารนั้นน่าจะมีมาทุกยุคทุกสมัย อย่างเช่น กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดตั้งสมญาให้ข้าหลวง 2 คน คนหนึ่งชื่อ “หม่อมเป็ด” เพราะมีกิริยาอาการเดินโยกย้ายส่ายสะโพกคล้ายเป็ด อีกคนชื่อ “คุณโม่ง” เพราะชอบใช้แพรเพลาะคลุมโปงเล่นสวาทกับเพื่อนหญิง

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็มีเจ้านายฝ่ายในโปรดตั้งสมญาข้าราชบริพารตามลักษณะที่เด่นของข้าราชบริพารท่านนั้น เช่น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีรัตนโกสินทรทรงเรียกคุณปาน บุนนาค ธิดาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ว่า “คุณยายสมโภช” เพราะเวลามีงานสมโภชครั้งใด คุณปานมักเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานสมโภชนั้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่งแทบจะทุกงาน

สมเด็จเจ้าฟ้าชายมหิดลอดุลเดช เมื่อยังทรงพระเยาว์ก็เป็นเจ้านายพระองค์หนึ่งที่ชอบตั้งสมญาข้าราชบริพาร ทรงเรียกพระพี่เลี้ยงท่านหนึ่งที่ชื่ออู่ว่า “พระโทสะ” เพราะเป็นคนขี้โมโห ทรงเรียกคนเชิญเครื่อง ซึ่งแก่และงุ่มง่ามว่า “หลวงดีดุ่ม” และเมื่อทรงเรียกผู้คนทั้งหลายก็จะเรียกตาม กลายเป็นชื่อที่รู้จักกันเฉพาะในหมู่ชาววัง

หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล เล่าไว้ในบันทึกความทรงจำของท่านว่า สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถก็ทรงเคยตั้งสมญาให้ท่านว่า “ยายใบตองแห้ง” โดยทรงเล่าว่า “—พระเนตรสมเด็จพระพันปีฯ นั้น นอกจากจะเขียวได้แล้ว ยังไวเสียด้วย วันหนึ่งขณะเสวยข้าวห่อบนพลับพลาที่ประทับพัก และข้าพเจ้านั่งอยู่บนยกพื้นไม้เตี้ยๆ วางอยู่บนดิน รับประทานข้าวห่อพร้อมกับคุณท้าว ๒-๓ คนที่ตามเสด็จในขบวน โดยที่ยืนมานานในรถพระที่นั่ง ครั้นลงจากรถแล้วยังต้องนั่งพับเพียบอีกพักใหญ่ พอได้ย้ายที่ไปรับประทานข้าวก็เลยนั่งชันเข่า สมเด็จพระพันปีฯ ทอดพระเนตรเห็น จึงตรัสกับทูลกระหม่อมกรมหลวงว่า “ดูยายใบตองแห้งนั่งชันเข่ากินข้าว”—“

คำพูดอีกลักษณะหนึ่งที่เป็นลักษณะเฉพาะของชาววังในตอนกลางรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือคำพูดไทยเจือคำภาษาฝรั่ง เกิดจากเหตุหลายประการ ประการแรกมีชาวตะวันตกชาติต่างๆ เดินทางเข้ามาทำสัมพันธไมตรี ค้าขาย และเผยแผ่ศาสนาเป็นจำนวนมากกว่ารัชกาลต้นๆ ประการที่สอง คือการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสประเทศต่างๆ ในยุโรปด้วยพระองค์เองถึง 2 ครั้ง ประการสุดท้าย คือการที่ทรงส่งพระราชโอรสออกไปศึกษายังประเทศต่างๆ ในยุโรป ทำให้วัฒนธรรมและวิทยาการจากตะวันตกหลั่งไหลเข้ามาในประเทศอย่างรวดเร็ว คนไทยรับทั้งวัฒนธรรมและวิชาการสมัยใหม่เข้ามาใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะเหตุว่ายังไม่มีการบัญญัติศัพท์ไทยขึ้นมารองรับภาษาต่างประเทศ คนไทยสมัยนั้นจึงต้องเรียกสิ่งใหม่ๆ ที่เข้ามาในช่วงนั้นเป็นภาษาฝรั่ง เช่น เรียกรถจักรว่า “โลโคโมดีฟ” เรียกจักรยานว่า “ไบไซเคิล” เรียกการเข้าสมาคมว่า “เข้าโซไซเอตี้” เรียกเลขานุการส่วนพระองค์ว่า “ไปรเวตสิเกรตารี่” เรียกเครื่องเรือนว่า “เครื่องเฟอนิเชอร์” บางครั้งชาววังก็ใช้ภาษาต่างประเทศเพื่อความโก้เก๋ เช่น ใช้คำว่า “แฟร่น” แทนคำว่าเพื่อน คำต่างประเทศบางคำเมื่อสาวชาววังชั้นข้าหลวงนำมาใช้ก็จะมีเสียงที่เพี้ยนไปจากเดิมมาก เช่น เรียกแค็ตตาล็อกว่าแคทสะด๊อก เรียกขนมปังครัวซองว่าคั่วสอง เป็นต้น

หมอสมิธเล่าเกี่ยวกับการพูดภาษาไทยผสมภาษาอังกฤษ ของสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ

“—ระหว่างการสนทนา แม้ว่าพระองค์จะมิได้ตรัสเป็นภาษาอังกฤษ แต่ก็คงรู้คำศัพท์มากมาย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นศัพท์ที่เกี่ยวกับการเมืองและการทูตที่ไม่มีคำในภาษาสยามอธิบายได้อย่างชัดแจ้ง ถ้อยคำเหล่านี้มักจะสอดแทรกอยู่ในพระราชดำรัสเสมอๆ ราวกับลูกเกดที่กระจัดกระจายอยู่ในก้อนขนมปัง—“

อย่างไรก็ตามคำพูดไทยเจือคำภาษาฝรั่งนั้น นิยมพูดกันด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่มีศัพท์บัญญัติในภาษาไทย และเพื่อความโก้เก๋จนกลายเป็นลักษณะเฉพาะของชาววังอยู่ระยะหนึ่ง จนกระทั่งการศึกษาภาษาอังกฤษแพร่หลายไปถึงคนธรรมดาสามัญ การพูดคำไทยเจือคำฝรั่งก็กลายเป็นคำพูดของคนทั่วไปในที่สุด

คำบางคำหรือประโยคบางประโยคของชาววังเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ทุกคนมีโอกาสได้รู้ได้เห็น และเกิดความประทับใจ อย่างชนิดที่เอ่ยออกมาแล้วทุกคนต้องเข้าใจ เช่นประโยคเปรียบเทียบเมื่อมีงานการอย่างใหญ่โตต้องตระเตรียมกันมาก มักพูดว่า “ราวกับรับชาเรวิช” หรือเห็นใครกำลังทำอะไรใหญ่โตชุลมุน ก็จะถามว่า “รับชาเรวิชหรือวันนี้” หรือเวลาที่ใครเปิดไฟสว่างไสวหลายดวง ก็จะพูดกันว่า “ราวกับไฟวันเฉลิม”

คำถามและคำเปรียบเปรยนี้ได้มาจากครั้งที่พระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2 ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นซาร์วิช (มกุฎราชกุมาร) ได้เสด็จประพาสประเทศทางตะวันออก รวมทั้งประเทศไทยด้วย เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นที่เลื่องลือเล่าขานกันถึงความยิ่งใหญ่ในการรับเสด็จฯ เล่ากันว่าเป็นงานใหญ่อย่างไม่เคยมีมาก่อน สิ่งใดที่ดีที่สวยงามของไทยนำมาถวายหมด แม้แต่ม่านห้องประทับก็ทำด้วยดอกไม้สดผลัดเปลี่ยนทุกวัน ชาววังทุกคนถูกเกณฑ์ให้ตระเตรียมงานทุกอย่างให้เรียบร้อยและยิ่งใหญ่ แม้เวลาจะผ่านไปแต่ความยิ่งใหญ่ของงานก็ยังคงอยู่ในความทรงจำของชาววังทุกคน จนกลายเป็นคำเปรียบเปรยและถามไถ่รู้เฉพาะในหมู่ชาววัง

การเปิดไฟสว่างไสวก็เช่นกัน จะเป็นคำเปรียบเปรยว่า “ราวกับไฟวันเฉลิม” เพราะโดยปกติจะเปิดไฟหรือจุดไฟเฉพาะที่จำเป็น แต่ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา จะมีการจุดประทีปโคมไฟทั่วทุกหนแห่งในพระบรมมหาราชวัง และเลยไปตามสถานที่สำคัญรวมทั้งถนนหนทางสว่างไสวตระการตาเป็นที่ประทับตาประทับใจ จนกลายเป็นคำพูดที่รู้กันเฉพาะชาววังเวลาที่เปิดไฟสว่างไสวว่า “ราวกับไฟวันเฉลิม”

ท่ามกลางความอ่อนโยนนุ่มนวลนั้น เวลามีอารมณ์โกรธ ชาววังก็มีคำพูดสำหรับระบายอารมณ์โกรธอย่างมีศิลป์ โดยไม่หยาบคาย แต่ก็เจ็บแสบ เช่น “ต่อหน้าคนทำตนสมถะ ต่อหน้าพระทำว่ากูไม่สูสี ลับหลังคนสัปดนเสียสิ้นดี ผัวไม่มีเพราะในวังขาดผู้ชาย” เป็นต้น

ภาษาพูดและวิธีการพูดของชาววังเป็นลักษณะเฉพาะที่มีความงดงามทั้งลีลาและรูปแบบของภาษา เพราะได้รับการกลั่นกรองปรับปรุงจนลงตัว เป็นแบบฉบับที่สตรีชาวบ้านมุ่งเลียนแบบ จนแพร่หลายกลายเป็นลักษณะประจำชาติของสตรีไทยไปในยุคหนึ่ง

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 ธันวาคม 2560