เผยแพร่ |
---|
“…หัวเมืองทางภาคเหนือซึ่งมีป่าไม้มากจะได้รับคำสั่งให้ส่งซุงต้นมหึมา สำหรับทำเสากลางพระเมรุ 4 ต้น มาจังหวัดละต้น ซุงเหล่านี้จะต้องตรง ยาวประมาณ 200 ฟุต และจะต้องกว้างให้ได้สัดส่วนกันด้วย มีผู้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่าในงานพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ นั้นใช้ซุงที่มีส่วนกว้างไม่ต่ำกว่า 12 ฟุต เอามาทำเสาพระเมรุ
นอกจากเสาใหญ่ 4 ต้น แล้วยังสั่งให้จังหวัดอื่นๆ ส่งเสาขนาดรองลงไปมาให้อีก 12 ต้น ของอื่นๆ ที่จำเป็นก็จัดส่งมาแบบนี้เช่นเดียวกัน และตามธรรมเนียมจะไม่นำเสาเก่าๆ ที่เคยใช้ในงานศพอื่นๆ มาใช้ซ้ำอีก โดยเฉพาะงานถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระเจ้าแผ่นดินจะต้องใช้เสาใหม่เสมอ
ซุงที่มีขนาดกว้างยาวได้ขนาดซุง 4 ต้นที่กล่าวมาแล้วนั้นย่อมจะหาได้ยาก นอกจากนี้ยังล่องลงมาได้เฉพาะในฤดูน้ำเท่านั้น งานถวายพระเพลิงจึงมักจะล่าช้าไปบ่อยๆ
เมื่อซุงมาถึงบริเวณที่จะสร้างพระเมรุเรียบร้อยแล้วก็ต้องตอกให้ลึกลงไปในดินราว 30 ฟุต ตามมุมทั้ง 4 ด้าน และจะต้องไม่ให้ห่างกันเกิน 40 ฟุต ทั้งสี่ต้นเอียงเข้าหากันเล็กน้อย เพื่อเป็นโครงของพระเมรุซึ่งสูงประมาณ 170 ฟุต บนยอดเสา 4 ต้นนี้ สร้างยอดพระเมรุที่สร้างอยู่สูงขึ้นไปอีกราว 50 หรือ 60 ฟุต ยอดพระเมรุนี้ปิดด้วยกระดาษเงินกระดาษทองจนดูเหมือนกับกรวยทองคำ เพราะในระยะที่สูงมากเช่นนั้น ย่อมจะสังเกตเห็นได้ยากกว่าปิดด้วยกระดาษ มีผู้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่างามน่าพิศวงมิใช่น้อย
ตามมุม 4 ด้านของพระเมรุ ยังสร้างพลับพลาอีก 4 พลับพลาโดยใช้เสาขนาดรองลงไป 12 ต้น ให้อยู่ห่างจากพระเมรุใหญ่ราว 40 ฟุต พลับพลาเหล่านี้สร้างแบบเดียวกับพระเมรุและปิดกระดาษทองเหมือนกันทุกอย่าง แต่ไม่สูงเกินกว่า 50 หรือ 60 ฟุต
และตรงกลางระหว่างพลับพลาเหล่านี้ ก็สร้างระเบียงที่ประดับประดาอย่างสวยงาม หันหน้าประจันกับทิศสำคัญ 4 ทิศ เมื่อสร้างพระเมรุเสร็จแล้วก็สร้างพระเบญจาสำหรับตั้งพระโกศไว้ข้างใน พระเบญจาก็ทำเป็นรูปคล้ายพีระมิดอีกเหมือนกัน แต่ปิดทอง และตามเนื้อไม้ที่แกะเป็นลวดลายต่างๆ ที่ประดับกระจกตัดเป็นรูปสามเหลี่ยมหรือรูปกลมจนหนาตัดกับสีทองดูคล้ายกับเพชรพลอยหัวแหวน การประดิษฐ์กระจกของไทยแบบโบราณนี้สวยงามมาก โดยเฉพาะในตอนค่ำ เมื่อบริเวณพระเมรุจุดไฟสว่างไสว (ในเรื่องเกี่ยวกับพระเมรุนี้ ผู้แต่งคงจะฟังผู้อื่นเล่าแล้วนำมาเขียน จึงไม่ใคร่ถูกต้องนัก –ผู้แปล)…”
(คัดจาก ท้องถิ่นสยามยุคพระพุทธเจ้าหลวง (Temples and Elephants ของ Carl Bock) เรียบเรียงโดย เสฐียร พันธรังษี และ อัมพร ทีขะระ)