ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ ที่แม้ตัวอาคาร 2 ชั้น จะเดินทางผ่านกาลเวลามาแล้วกว่าร้อยปี แต่ก็ยังมีเสน่ห์ดึงดูดสายตาผู้มาเยือนได้อย่างชะงัด ด้วยงานปูนปั้นลวดลายอ่อนช้อยและงานไม้ฉลุลาย เติมความงามให้โรงพิมพ์แห่งนี้มากขึ้น
โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ ตั้งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งในยุคนั้นเทคโนโลยีการพิมพ์ได้แพร่หลายในสยาม เกิดโรงพิมพ์คุณภาพขึ้นหลายแห่ง รวมถึงโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ ที่ก่อตั้งโดย หลวงดำรงธรรมสาร (มี ธรรมาชีวะ) ใน พ.ศ. 2438 ขณะรับราชการเป็นปลัดกรมอัยการ
โรงพิมพ์ของหลวงดำรงธรรมสารตั้งอยู่บนถนนบำรุงเมือง ช่วงระหว่างสี่กั๊กเสาชิงช้ากับวัดสุทัศน์เทพวราราม ตัวอาคารโรงพิมพ์อยู่ลึกเข้าไปจากถนนเล็กน้อย เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น ส่วนตึกสองแถวริมถนนด้านหน้าทางเข้าโรงพิมพ์เป็นร้านขายหนังสือ และสำนักงานไว้สำหรับติดต่อลูกค้า
โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจรับพิมพ์หนังสือหลายอย่าง เช่น หนังสือแบบเรียน หนังสืองานศพ หนังสือธรรมะ หนังสืออนุสรณ์ทั้งหลาย หนังสือของหลวงอย่างหนังสือราชกิจจานุเบกษา รวมทั้งยังพิมพ์หนังสือถวายโดยเสด็จพระราชกุศลในงานต่าง ๆ กระทั่งรัชกาลที่ 5 ทรงสรรเสริญไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระพุทธชินราช” ปรากฏในคำนำการพิมพ์ คราวที่ 2 ร.ศ. 120 (พ.ศ. 2444) ว่า
“พระราชปรารภเรื่องพระพุทธชินราช ซึ่งลงพิมพ์คราวแรก เพื่อจะให้ทันงานฉลองพระพุทธชินราช มีเวลาเรียงน้อยนัก ขาดบกพร่องไปหลายอย่าง เวลาเรียงพิมพ์ก็ยิ่งน้อยไปกว่านั้น นอกจากหลวงดำรงธรรมสาร ก็จะไม่มีผู้ใดทำได้ เมื่อตรวจก็เปนเวลากำลังเริ่มงานดูไม่ทั่วถึง ต่อมีเวลาอ่านอีกครั้งหนึ่งจึงเห็นว่ามีอักษรที่พลาดพลั้งหลายแห่ง ได้ขอให้หลวงดำรงตีเปนใบปลิวบอกแก้ทาบลงที่น่าหนังสือ หลวงดำรงไม่ยอม อยากจะขอพิมพ์ใหม่ทีเดียว ด้วยเหนว่าเปนหนังสือสำคัญ ไม่ควรที่จะให้มีผิดอยู่ จึงได้ยอมตามด้วยความขอบใจหลวงดำรงเปนอันมาก”
โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจมีเครื่องพิมพ์และเครื่องจักรที่ทันสมัย มีคนงาน 70-80 คน แบ่งการทำงานเป็นแผนก ทั้ง ช่างหล่อตัวพิมพ์ ช่างแท่น ช่างเรียง ช่างพับ และห้องสมุด
หลวงดำรงธรรมสารได้ชื่อว่าเอาใจใส่คนงานอย่างดี ดูแลเหมือนคนในครอบครัว จัดที่พักอาศัย ดูแลอาหารการกินทุกมื้อ มีเรื่องเล่าจากคนรุ่นเก่า ๆ ว่า หลวงดำรงธรรมสารมักลงมาตรวจตราดูแลสำรับอาหารและความเป็นอยู่ด้วยตนเองเสมอ หากเจอข้อบกพร่องก็จะให้ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบแก้ไขทันที
ด้านคุณภาพงานพิมพ์ก็ได้รับเสียงชื่นชมไม่แพ้กัน เพราะหลวงดำรงธรรมสารควบคุมดูแลการพิมพ์หนังสือต่าง ๆ ให้มีคุณภาพเรียบร้อย และเอาใจใส่ผู้ว่าจ้าง ทำให้โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจมีผู้ว่าจ้างต่อเนื่อง
หลวงดำรงธรรมสารเสียชีวิตในปี 2460 ขณะอายุ 63 ปี โดยมี พระยาศรีบัญชา (ทวน ธรรมาชีวะ) บุตรชายของหลวงดำรงธรรมสาร รับช่วงดูแลกิจการต่อเป็นรุ่นที่ 2 แต่ด้วยพระยาศรีบัญชารับราชการในกระทรวงการต่างประเทศ มีภารกิจมากมาย ไม่สามารถดูแลกิจการเองได้ตลอดเวลา จึงจ้างผู้จัดการโรงพิมพ์มาช่วยบริหาร โดยพระยาศรีบัญชาเข้ามาดูเป็นระยะ
ช่วงนั้นเอง เกิดอุบัติเหตุขึ้นที่ร้านทำหมวกข้าง ๆ โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ สะเก็ดไฟไปโดนพลาสติกที่พันรอบหมวกจนเกิดเพลิงไหม้ลามมาถึงโรงพิมพ์ ทำให้ตึกใหญ่อีกแห่ง (รูปร่างคล้ายกับตึกที่เห็นในปัจจุบัน) ซึ่งใช้เป็นที่ตั้งแท่นพิมพ์และกระดาษ รวมทั้งเป็นที่พักของพระยาศรีบัญชา มอดไหม้ในเปลวเพลิง พร้อม ๆ กับตัวพิมพ์ตะกั่วจำนวนมาก และแท่นพิมพ์ (แรงคนหมุน) ซึ่งเป็นแท่นรุ่นแรกของโรงพิมพ์
ปี 2497 พระยาศรีบัญชาถึงแก่กรรม ผู้ที่สืบทอดกิจการโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจจึงเป็น ทุน ธรรมาชีวะ ทายาทคนโตของพระยาศรีบัญชา และส่งต่อมายังผู้ดูแลโรงพิมพ์รุ่นที่ 4 คือ ธนู ธรรมาชีวะ หลานทวดของหลวงดำรงธรรมสาร
ในยุคนี้เองได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ธรรมสารการพิมพ์” เพื่อระลึกถึงผู้ก่อตั้ง โดยยังคงรับจ้างพิมพ์หนังสือต่าง ๆ เหมือนเดิม ขณะที่โรงพิมพ์ใหญ่ในรุ่นเดียวกัน เช่น โรงพิมพ์อักษรนิติ โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร ได้เลิกกิจการไปนานแล้ว
อ่านเพิ่มเติม :
- ตัวพิมพ์ไทยเกิดครั้งแรกในพม่า เชลยที่ถูกพม่าจับช่วงเสียกรุงครั้งที่ 2 เป็นตัวแปรสำคัญ
- 3 มิถุนายน 2379: เกิดสิ่งพิมพ์ภาษาไทยฉบับแรกที่พิมพ์ขึ้นในเมืองไทย
- สั่งริบหนังสือกฎหมาย โรงพิมพ์หมอบรัดเลย์
อ้างอิง :
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. พระราชปรารภ เรื่อง พระพุทธชินราช. พิมพ์ครั้งที่ 3. โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, 2560. เข้าถึงเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566 จาก http://www.resource.lib.su.ac.th/web/exhibition/BN/e-books/BN01/index.html
สยามพิมพการ: ประวัติศาสตร์การพิมพ์ในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: มติชน, 2565.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2566