สั่งริบหนังสือกฎหมาย โรงพิมพ์หมอบรัดเลย์

โรงพิมพ์หมอบรัดเลย์ ตั้งอยู่ที่ปากคลองบางหลวง หรือคลองบางกอกใหญ่

บุคคลทุกคนต้องรู้กฎหมาย “ความไม่รู้กฎหมาย จะอ้างเป็นข้อแก้ตัวไม่ได้” นี่คือความเข้าใจในปัจจุบัน แต่ไม่ใช่สำหรับในอดีต เช่น ในรัชกาลที่ 3 ทางการเคยสั่งให้ริบหนังสือกฎหมายที่เอกชนพิมพ์ออกมาจำหน่าย เหตุการณ์นี้เป็นอย่างไร, หนังสือเป็นของใคร, ทำไมจึงริบ, ผลกระทบที่เกิดขึ้น ฯลฯ

กำธร เลี้ยงสัจธรรม ค้นคว้าและวิเคราะห์หาต้นสายปลายเหตุไว้เป็นอย่างดีในบทความชื่อว่า “กรณีริบหนังสือกฎหมายในรัชกาลที่ 3” (ศิลปวัฒนธรรม ธันวาคม 2547 ) ซึ่งขอสรุปเนื้อหาบางส่วนมานำเสนอดังนี้

นายโหมด อมาตยกุล

หนังสือกฎหมายที่ถูกริบนั้นเป็นนายโหมด อมาตยกุล ว่าจ้างให้หมอบรัดเลย์ (นายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์) เป็นผู้จัดพิมพ์  สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าและสันนิษฐานว่าต้นฉบับนั้นเป็นฉบับเขียนในเล่มสมุดขาว (สมุดไทยขาว) เดิมเป็นของพระยามหาอำมาตย์ (ป้อม) บิดาของนายโหมด แต่นายโหมดเองระบุว่าจ้างพวกโรงอาลักษณ์เขียนขึ้นใหม่ทั้งฉบับเป็นเงิน 100 บาท หาใช่ฉบับเดิมของบิดาตนเองไม่

ร. แลงกาต์สันนิษฐานว่ากฎหมายฉบับเขียนที่นายโหมดนำไปพิมพ์นั้นคัดลอกมาจากฉบับรองทรง มิใช่ฉบับหลวงตราสามดวง  โดย ร. แลงกาต์ได้ใช้ฉบับพิมพ์ของนายโหมดสอบทานกับฉบับอื่นๆ ในการตรวจชำระเพื่อจัดพิมพ์ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1 (กฎหมายตราสามดวง)  ฉบับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองเมื่อ พ.ศ. 2481-82 จึงย่อมรู้ดีว่าฉบับเขียนของนายโหมดคัดลอกมาจากฉบับใด

นายโหมดเองเล่าว่า ได้จ้างหมอบรัดเลย์พิมพ์หนังสือกฎหมาย จำนวน 200 ฉบับ (น่าจะหมายถึง 200 ชุด ชุดหนึ่งมี 2 เล่ม เป็นจำนวน 400 เล่ม) เป็นเงิน 500 บาท เมื่อปีมะแม พ.ศ. 2390 ถึงปีจอ พ.ศ. 2393 จึงพิมพ์เสร็จเพียงเล่ม 1 ส่วน และได้ขายเล่ม 1 ไปบางส่วนก็เกิดเหตุกาณ์ริบหนังสือเสียก่อน

ปี พ.ศ. 2393 เป็นปีปลายรัชกาลที่ 3 ซึ่งในรัชกาลนี้คนไทยเริ่มตระหนักถึงภัยคุกคามของลัทธิล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกที่แผ่เข้ามา โดยเฉพาะเมื่ออังกฤษรบชนะพม่าใน พ.ศ.2369 และรบชนะจีนเมื่อ พ.ศ. 2385

ว่าแต่อะไรเล่าเป็นเหตุให้นายโหมดคิดพิมพ์หนังสือกฎหมาย

นายโหมด อมาตยกุลเล่าไว้ในบันทึกความทรงจำว่า “ครั้นเป็นความมรดกคุณน้าพระกลิ่น ข้าฯจ้างเขาเขียนกฎหมายที่โรงอาลักษณ์เป็นเงิน 100 บาท เอามาอ่านดูแล้วจึงคิดเห็นว่าคนที่เป็นความไม่รู้กฎหมายแล้วลำบากนัก ประการหนึ่งก็ทุนซื้อกฎหมายไว้ด้วย ถ้าตีพิมพ์ขายเห็นจะดี จะได้คืนทุนได้ด้วย”

การพิมพ์หนังสือครั้งนี้ถือเป็นการพิมพ์กฎหมายสำคัญทั้งฉบับออกเผยแพร่แก่คนทั่วไปเป็นครั้งแรกในเมืองไทย  นับเป็นการกระทำที่กล้าหาญและสุ่มเสี่ยงต่อกฎหมายว่าด้วยขี้ฉ้อหมอความ, ไม่อาลัยต่อทำเนียมการศึกษากฎหมายที่จำกัดอยู่ในหมู่เจ้านายและขุนนางจำนวนน้อย และขัดต่อพระราชนิยมของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ส่วนสาเหตุของการริบนั้น

มาจากเซอร์เยมส์ บรุก ทูตอังกฤษเข้ามาเจรจาตวามเมืองไทยเมื่อ พ.ศ. 2393  แล้วแสดงตนว่ามีความรู้เรื่องเมืองไทยมาก จนพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงระแวงว่าคนไทยนำเรื่องราวต่างๆ ของทางราชการไปบอกแก่เซอร์เยมส์ บรุก ทั้งมีรับสั่งให้สืบถามพวกลูกจ้างของหมอบรัดเลและคนอื่นๆ ว่าใครเป็นผู้นำเรื่องราวไปบอกเล่า และทรงสงสัยเจ้าฟ้ามงกุฎ (พระยศในขณะนั้นของพระบามสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)  จะมีส่วนเกี่ยวข้อง

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวงศาธิราชสนิท

จมื่นราชามาตย์ (ขำ บุนนาค) ปลัดกรมพระตำรวจในซ้ายกลัวว่าเรื่องนี้จะกระทบถึงเจ้าฟ้ามงกุฎ จึงนำหนังสือกฎหมายฉบับพิเศษที่ซื้อเชื่อไปจากนายโหมดเล่มหนึ่งกับหนังสือว่าด้วยราชการต่างๆ ของสังฆราชยอง (บาทหลวง ฌัง บัปติสต์ ปาลเลกัวซ์) เล่มหนึ่งไปถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีรับสั่งให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวงศาธิราชสนิท กับพระอินทรเทพ เจ้ากรมพระตำรวจใหญ่ซ้ายเอานายโหมดและพวกลูกจ้างของหมอบรัดเลไปซักถาม “พอเป็นเหตุ” แล้วโปรดให้ริบหนังสือกฎหมายของนายโหมดทั้งหมด และรับสั่งว่าเมื่อเจดีย์ที่วัดสระเกศสร้างเสร็จให้นำเอาหนังสือที่ริบบรรจุไว้ในเจดีย์ทั้งหมด

การเอาหนังสือกฎหมายไปพิมพ์จำหน่ายนั้น ไม่มีบทบัญญัติใดในกฎหมายตราสามดวงบัญญัติว่าเป็นความผิด

แต่มีบทบัญญัติว่าการกระทำเป็นคนขี้ฉ้อหมอความ ซึ่งหมายถึงบุคคลที่มิได้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เข้าว่าต่างๆ (ฟ้องคดีแทน) หรืแก้ต่าง (สู้คดีแทน) แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือช่วยแนะนำการเขียนคำฟ้องหรือคำให้การแก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เป็นความผิด ผลกระทบในครั้งนั้น พวกมิชชันนารีถูกเพ่งเล็ง และอยู่ในภาวะเลวร้าย  แต่หมอบัดเลย์ และนายโหมดไม่ได้ถูกลงโทษแต่อย่างใด

หมอบรัดเลย์

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงรับสั่งกับพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิทว่า หนังสือกฎหมายของนายโหมด “เป็นคุณต่อแผ่นดิน” ไม่ควรริบเอามาบรรจุพระเจดีย์  พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิทกราบทูลว่า หนังสือกฎหมายที่ริบมายังไม่ได้เอาไปบรรจุพระเจดีย์  จึงรับสั่งให้เอาไปคืนแก่นายโหมด เพื่อนำไปขายมิให้ขาดทุนและพระองค์ก็ทรงซื้อไว้บ้างเพื่อแจกแก่โรงศาลทุกแห่ง

ส่วนนายโหมดเมื่อไปรับหนังสือที่ริบมาแล้ว ก็นำมาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวบ้าง ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวบ้าง ส่วนที่เหลือก็ขายแก่คนทั่วไปเล่มละ 10 บาทจนหมด

แล้วหมอบรัดเลย์เจ้าของโรงพิมพ์ล่ะมีบทบาทอย่างไรกับเรื่องนี้

มีความเป็นไปได้ว่าหมอบรัดเลย์เป็นผู้แนะนำให้นายโหมดเอาหนังสือกฎหมายมาพิมพ์ เพราะทั้งสองมีความสนิมสนมกันอยู่ โดยหมอบรัดเลย์เป็นผู้สอนวิชาแยกธาตุให้แก่นายโหมด นอกจากนี้เมื่อเกิดกรณีริบหนังสือกฎหมายในรัชกาลที่ 3 แล้วไม่ปรากฏว่านายโหมดคิดจะพิมพ์หนังสือกฎหมายใดอีก แต่หมอบรัดเลย์ได้เอาใจใส่พิมพ์หนังสือกฎหมายขึ้นใหม่ด้วยทุนตัวเองอีกราว 10 ครั้ง ในรัชกาลที่ 4