เณรเล่นดอกไม้ไฟจนไหม้วัดมหาธาตุ วังหน้าทรงพระพิโรธ รับสั่งให้สึกแล้ว “ประหารชีวิต”

ไฟไหม้ พระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท
“ไฟไหม้พระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท พ.ศ. ๒๓๓๒” จิตรกรรมจากโคลงภาพพระราชพงศาวดาร วาดในสมัยรัชกาลที่ ๕

เณรเล่นดอกไม้ไฟจนไหม้ “วัดมหาธาตุ” กรมพระราชวังบวรสถานมงคล “วังหน้า” สมัยรัชกาลที่ 1 ทรงพระพิโรธ รับสั่งให้เณรสึกแล้วประหารชีวิต

โจรปล้นบ้านสิบครั้ง ไม่เท่าไฟไหม้บ้านครั้งเดียว เหตุจากอัคคีภัยถือเป็นภัยที่ร้ายแรงที่สุดอันดับต้นๆ ที่ไม่มีมนุษย์คนใดอยากจะเผชิญ ย้อนกลับไปช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมหาราช สืบค้นในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) จะพบว่าเหตุอัคคีภัยในรัชสมัยนี้มีอยู่อย่างน้อย 3 ครั้งที่เกิดขึ้นในพระนคร และเพลิงไหม้แต่ละครั้งก็เป็นที่มาของการเปลี่ยนแปลงของสถานที่ที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดีในปัจจุบัน

เหตุเพลิงไหม้แรกสุด คือ เพลิงไหม้ภายในพระบรมมหาราชวัง หลักจากแรกสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ไม่นาน เมื่อ พ.ศ. 2332 วันนั้นมีฝนตกเกิดฟ้าผ่าลงหน้ามุขเด็จพระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท พระที่นั่งองค์นี้เป็นพระที่นั่งไม้ที่สร้างถ่ายแบบพระที่นั่งสรรเพชญ์มหาปราสาทของกรุงศรีอยุธยา ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 1 เพลิงไหม้ครั้งนั้นสร้างความเสียหายให้แก่พระที่นั่งองค์นี้เป็นอย่างมากถึงแม้สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งทรงเป็น “วังหน้า” สมัยรัชกาลที่ 1 พระบรมวงศานุวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช พระผู้มีสมณศักดิ์ช่วยกันเกณฑ์คนมาดับไฟ แต่ก็ไม่ทันการณ์

ในความโชคร้ายยังมีความโชคดีอยู่บ้าง รัชกาลที่ 1 มีพระราชดำรัสให้ข้าราชการช่วยกันนำพระราชบัลลังก์ลงมาทัน เมื่อเพลิงดับสนิท พระองค์พระปริวิตกว่าเหตุร้ายที่เกิดขึ้นจะเป็นอวมงคลแก่บ้านเมืองหรือไม่ สมเด็จพระสังฆราช และพระราชาคณะ พร้อมกันถวายพระพร พร้อมทูลให้ขุนหลวงคลายพระปริวิตกว่า “อสนีบาตตกลงที่ใดย่อมถือว่าเป็นมงคลนิมิตรแม้จะเสื่อมเสียทรัพย์สมบัติ ก็เสียเท่าที่ต้องอสนีภัย”

เหล่าพระราชาคณะหาเหตุผลมาทำให้ทรงมีกำลังพระราชหฤทัยอีกว่า บางที่ฟ้าผ่าต้องกำแพงเมือง ต่อให้มีข้าศึกมาประชิดพระนครก็ต้องพ่ายแพ้ไป หรือบางทีฟ้าผ่าต้องช้าง แต่เมื่อทำศึกก็ได้บ้านได้เมืองก็มี จึงไม่ใช่เรื่องไม่ดีแต่เป็นเรื่องมงคลมากกว่าที่จะเกิดขึ้นในบ้านเมือง ส่วนข้าราชการก็เห็นพ้องต้องกันกับพระสงฆ์

เมื่อคลายพระราชปริวิตก พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมุหนายกเป็นแม่กองรื้อซากพระที่นั่งที่ถูกไฟไหม้ออกแล้วสร้างพระมหาปราสาทขึ้นใหม่ “พระมหาปราสาทองค์ใหม่นี้ยกออกมาตั้ง ณ ที่ข้างหน้าทั้งสิ้น มุขทั้ง 4 นั้นก็เสมอกันทั้ง 4 ทิศ ใหญ่สูงเท่าพระที่นั่งสุริยาศอมรินทร์กรุงเก่า….ครั้นการพระมหาปราสาทลงรักปิดทองเสร็จแล้ว จึงพระราชทานนามปราสาทองค์ใหม่ว่า พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระที่นั่งองค์ดังกล่าวมีความสำคัญใช้เป็นที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญมาหลายรัชกาล รวมทั้งพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9

ร่วมสิบปีจากเหตุเพลิงไหม้ในพระบรมมหาราชวัง พ.ศ. 2343 พระราชพงศาวดารได้บันทึกไว้เพียงสองบรรทัด แต่เมื่อดูสถานที่เกิดเหตุจะพบว่า เพลิงไหม้ครั้งนี้กินพื้นที่วัดสามปลื้มจนถึงตลาดน้อยวัดสำเพ็ง โดยไม่ได้บอกรายละเอียดการเกิดเพลิง ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับราษฎรนับว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่เราอาจจะทราบได้ว่าทางการมีวิธีการแก้ไขปัญหาบรรเทาความลำบากของราษฎรอย่างไรบ้าง

ถัดมาอีกหนึ่งปีเพลิงไหม้ก็เกิดขึ้นอีก แม้ว่าจะไม่ได้ร้ายแรงเท่าสองครั้งที่ผ่านมา แต่ด้วยสถานที่เกิดเหตุเป็นวัดที่ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงคุ้นเคยนั้นคือ วัดสลัก หรือ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ราชวรมหาวิหาร กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงขอพระราชทานนามพระอารามจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชว่า “นิพพานาราม” วัดแห่งนี้เป็นที่สังคายนาพระไตรปิฎกในปี พ.ศ.2331 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าเปลี่ยนนามวัดเป็น “วัดพระศรีสรรเพชญ์” ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็น “วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ราชวรมหาวิหาร” และเป็นวัดมหาธาตุ

และในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดให้เพิ่มสร้อยนามพระอาราม เพื่อเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชพระองค์แรกว่า “วัดมหาธาตุ ยุวราชรังสฤษฎิ์” เหตุมีอยู่ว่าเกิดเพลิงไหม้มณฑปวัดพระศรีสรรเพชญ์ด้วยพระสงฆ์สามเณรศิษย์วัดจุดดอกไม้ไฟเล่น เพลิงนั้นไหม้พระมณฑปเหลือแต่ผนัง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงเร่งมาช่วยกันดับเพลิงที่ลุกไหม้

ด้วยสมเด็จพระอนุชาธิราช หรือ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงเป็นคนอารมณ์ร้อน ทรงพระพิโรธเป็นอย่างมาก ให้ชำระเอาความผู้จุดดอกไม้ไฟมาให้ได้ จนได้สามเณรรูปหนึ่ง มีนามว่า “วัด” เป็นผู้จุดดอกไม้ไฟ รับสั่งให้สึกออกจากการเป็นสามเณร แล้วให้นำไปประหารชีวิตเสียในค่ำวันนั้น แต่นับเป็นโชคของสามเณรวัดที่ไม่ต้องเสียหัว สมเด็จพระสังฆราชทรงขอพระอนุชาธิราชให้ไว้ชีวิต

เมื่อพระราชวังบวรสถานมงคลคลายพระพิโรธแล้วจึงไว้ชีวิตสามเณร ภายหลังสามเณรผู้นี้เป็นพระครูอยู่ที่สมุทรปราการ ส่วนพระมณฑปนั้นโปรดให้ทำเป็นหลังคาจัตุรมุขแทน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

เจ้าพระยาทิพากรวงศ์. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1. (2526). กรุงเทพฯ : คุรุสภา.

ประวัติวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ (โดยย่อ). http://www.watmahathat.com/history-of-wat-mahathat/ สืบค้นเมื่อ 7 มีนาคม 2561.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 เมษายน 2561