มรสุมชีวิตการเมืองของ “เจ้ารณฤทธิ์” ผู้พ่ายแพ้ให้กับเกมการเมืองของ “ฮุน เซน”

เจ้ารณฤทธิ์ และนายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีร่วมของกัมพูชา ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2540 ไม่นานก่อนเกิดการรัฐประหาร (Photo by EMMANUEL DUNAND / AFP)

“ข้าพเจ้าไม่มีจุดประสงค์ในราชบัลลังก์ และจะไม่ลาออกจากเวทีการเมือง” สมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ เจ้ากัมพูชา ทรงให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ พ.ศ. 2547 ในช่วงที่พระราชบิดาจะสละราชย์สมบัติ แม้พระองค์มีศักดิ์และสิทธิ์ที่จะครองราชย์สืบต่อ แต่ทรงปฏิเสธ เพราะทรงมุ่งมั่นกับงานทางการเมืองมากกว่า

สมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ ทรงเป็นนักการเมืองกัมพูชาที่มีบทบาทโดดเด่นยาวนานนับสิบปี และเป็นอดีตคู่แข่งทางการเมืองคนสำคัญของนายฮุน เซน อยู่ช่วงเวลาหนึ่งด้วย “เจ้ารณฤทธิ์” เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ และทรงมีศักดิ์เป็นพระเชษฐา (ต่างพระมารดา) ในพระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี กษัตริย์กัมพูชาพระองค์ปัจจุบัน ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2487

Advertisement

ก่อนจะกล่าวถึงถนนการเมืองของเจ้ารณฤทธิ์ ต้องอธิบายถึงสภาพการณ์ของกัมพูชาในช่วงเวลานั้นเสียก่อน โดยหลังจากกัมพูชาถูกปกครองด้วยเขมรแดง การยึดครองของเวียดนาม และสมัยสาธารณรัฐ ตามลำดับ การเมืองกัมพูชาล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด กระทั่งมีการเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุข และมีปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ (UN) ระหว่าง พ.ศ. 2535-2536 และนำไปสู่การเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ. 2536

ในการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ. 2536 พรรคฟุนซินเปก ภายใต้การนำของเจ้ารณฤทธิ์ ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเหนือพรรคประชาชนกัมพูชา ภายใต้การนำของนายฮุน เซน ด้วยคะแนนเสียง 58 ต่อ 51 จากทั้งหมด 120 ที่นั่ง

ทั้งนี้ พรรคฟุนซินเปกได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนของประชาชนมาจากภาพลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ซึ่งทรงเป็นที่เคารพนับถือของชาวกัมพูชามาอย่างยาวนาน แม้จะทรงยุติบทบาททางการเมืองไปแล้วก็ตาม แต่พรรคฟุนซินเปกและเจ้ารณฤทธิ์ ได้ใช้ประโยชน์จากแนวนโยบายราชานิยมในการรณรงค์หาเสียงจนได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง

แม้จะได้รับชัยชนะ แต่ก็ไม่อาจตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ จึงตั้งรัฐบาลผสมบริหารประเทศ โดยเจ้ารณฤทธิ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 และนายฮุน เซน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 แต่ทั้งสองพรรคบริหารแก่งแย่งอำนาจกันเอง ไม่ได้ร่วมมือกันพัฒนาประเทศ ต่างคนต่างบริหารประเทศเพื่อหวังดึงคะแนนความนิยมจากประชาชน ในขณะเดียวกันต่างก็สะสมกำลังทหารและอาวุธเพื่อป้องกันตนเองอีกด้วย

ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534 ที่สนามบินปักกิ่ง พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ทรงต้อนรับนายฮุน เซน ด้านหลังคือเจ้ารณฤทธิ์ (Photo by MIKE FIALA / AFP FILES / AFP)

พรรคฟุนซินเปก

เพียง 1 ปี ให้หลังรัฐบาลเข้าบริหารประเทศก็มีการปรับคณะรัฐมนตรีใหม่ โดยพุ่งเป้าไปที่นายสม รังสี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จากพรรคฟุนซินเปก นายสม รังสี เป็นคนมีแนวคิดก้าวหน้า มักวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล และผลักดันนโยบายการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งเกิดขัดแย้งกับนโยบายของฮุน เซน การกระทำของนายสม รังสี เรียกได้ว่าเป็น “ฝ่ายค้านในรัฐบาล” นั่นทำให้เขาถูกขับออกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถูกปลดออกจากตำแหน่งสมาชิกสภา และสมาชิกพรรคฟุนซินเปก

ความตึงเครียดในการเมืองกัมพูชาเพิ่มสูงอีกเมื่อ พ.ศ. 2538 มีการจับกุมเจ้านโรดม สิริวุฒิ พระอนุชา (ต่างพระราชมารดา) ในพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ด้วยข้อหาว่าทรงมีส่วนเกี่ยวข้องกับแผนการลอบสังหารนายฮุน เซน แต่พระองค์ทรงปฏิเสธ ขณะที่นายฮุน เซน สั่งนำกำลังทหารบางส่วนเข้ามาตรึงกำลังที่บ้านพักของพระองค์ในกรุงพนมเปญไว้อีกด้วย

แม้ว่าเจ้าสิริวุฒิ จะเป็นเลขาธิการพรรคฟุนซินเปก แต่ปฏิกิริยาจากเจ้ารณฤทธิ์ กลับทรงวางตัวเงียบเฉยต่อชะตากรรมของพระญาติและเพื่อนร่วมพรรค แม้จะทรงปฏิเสธว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจับกุมครั้งนี้แต่ประการใด แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการใดได้ไปมากกว่าการสั่งการให้นายฮุน เซน ถอนทหารและรถถังบางส่วนออกจากกรุงพนมเปญเท่านั้น

เหตุที่เจ้ารณฤทธิ์ ทรงมีปฏิกิริยาเช่นนี้ เป็นไปได้ว่าเนื่องจากเจ้ารณฤทธิ์ ทรงหวั่นเกรงอิทธิพลของเจ้าสิริวุฒิ และทรงต้องการกำจัดปัญหาภายในพรรคและภายในรัฐบาล โดยเจ้าสิริวุฒิ ซึ่งก่อนหน้านี้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ทรงมักจะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และทรงมีแนวทางทางการเมืองเช่นเดียวกับนายสม รังสี ครั้นนายสม รังสี ออกมาตั้งพรรคการเมืองใหม่ จึงทำให้หวั่นเกรงกันว่าเจ้าสิริวุฒิ จะพาลูกพรรคบางส่วนย้ายไปสังกัดพรรคใหม่นี้ด้วย เจ้ารณฤทธิ์ จึงเดินเกม “เนื้อไหนร้าย ให้ตัดทิ้งเสีย” ซึ่งทั้งเจ้าสิริวุฒิ และนายสม รังสี อาจเป็นอุปสรรคต่อเส้นทางอำนาจทางการเมืองของพระองค์ในอนาคต

เจ้ารณฤทธิ์ อาจจะทรงมองว่าทั้งเจ้าสิริวุฒิ และนายสม รังสี เป็นศัตรูภายในพรรค ซึ่งมีแนวคิดที่ไม่สอดคล้องกันประการหนึ่ง และมีแนวนโยบายเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะกรณีเขมรแดงที่แตกต่างกันอีกประการหนึ่ง จึงต้องกำจัดอิทธิพลให้หมดไปเสียก่อน ก่อนที่จะทรงแข่งขันอำนาจกับนายฮุน เซน ได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม ผลประโยชน์จากเหตุการณ์เหล่านี้กลับตกอยู่ที่นายฮุน เซน เพราะทำให้พรรคฟุนซินเปกอ่อนแอลงมาก

ทางด้านพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ทรงพยายามช่วยเหลือพระอนุชาอย่างที่สุด โดยทรงร้องขอให้ลี้ภัยออกจากกัมพูชา ท้ายที่สุด เจ้าสิริวุฒิ จึงทรงยุติบทบาททางการเมือง และลี้ภัยไปพำนักที่ฝรั่งเศส

ยึดอำนาจ

การแข่งขันอำนาจระหว่างเจ้ารณฤทธิ์ และนายฮุน เซน เป็นไปอย่างดุเดือด ทั้งความพยายามในการดึงกลุ่มเขมรแดง ที่กำลังแตกแยก และเริ่มอ่อนแอ เข้ามาร่วมกับฝ่ายตน ทั้งความพยายามในการบริหารประเทศจากการดำเนินนโยบายเพื่อหวังดึงคะแนนนิยมจากประชาชน ฯลฯ กระทั่ง พ.ศ. 2540 ก็มาถึงจุดแตกหัก

นายฮุน เซน ชิงลงมือก่อน โดยกล่าวหาเจ้ารณฤทธิ์ว่าวางแผนยึดอำนาจโดยอาศัยความช่วยเหลือจากเขมรแดง ในวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 นายฮุน เซน สั่งการให้พลเอกแก กิม ยาน นำกำลังทหารเข้าสู่กรุงพนมเปญ เกิดการปะทะกับกำลังทหารของพลเอกญึก บุนชัย ซึ่งเป็นมือขวาของเจ้ารณฤทธิ์

กำลังทหารของฝ่ายเจ้ารณฤทธิ์ พ่ายแพ้อย่างรวดเร็ว พลเอกญึก บุนชัย นำกำลังทหารล่าถอยไปตั้งมั่นอยู่ที่โอร์เสม็ด อำเภอสำโรง จังหวัดอุดงมีชัย ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ มาตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง พ.ศ. 2536 และเป็นเขตอิทธิพลของพรรคฟุนซินเปก (ตรงข้ามจุดผ่อนปรนการค้าชายแดนด่านช่องจอม อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์) จนกระทั่งเกิดการต่อสู้ระหว่างสองฝ่าย อาจเรียกได้ว่าเป็นสงครามกลางเมืองอีกครั้งหนึ่งก็ว่าได้

แม้กำลังทหารของฝ่ายนายฮุน เซน จะมีมากกว่า และได้เปรียบเรื่องยุทธปัจจัยกว่า แต่กลับเสียเปรียบเรื่องจุดยุทธศาสตร์ เพราะทิศทางการยิงปืนใหญ่จากทิศใต้ไปทิศเหนือ ทำให้ลูกกระสุนปืนใหญ่ตกมาฝั่งไทยจนทำให้มีคนไทยเสียชีวิตและบาดเจ็บ นี่ทำให้การดำเนินการทางทหารของฝ่ายนายฮุน เซน ต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง อาจเกิดความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่งจะส่งผลเสียต่อรัฐบาลของฝ่ายนายฮุน เซน

ทหารฝ่ายนายฮุน เซน ในกรุงพนมเปญ ในเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2540 (Photo by DAVID VAN DER VEEN / AFP)

เกมการเมือง

เจ้ารณฤทธิ์ และนายฮุน เซน ต่างพยายามเคลื่อนไหวทางการเมือง และแสวงหาความชอบธรรมให้กับตนเอง เจ้ารณฤทธิ์ วิ่งเต้นอยู่นอกประเทศ เพื่อขอแรงสนับสนุนจากนานาชาติ ส่วนนายฮุน เซน วิ่งเต้นภายในประเทศทุกวิถีทาง เพื่อสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลใหม่ และพยายามกีดกันอิทธิพลของเจ้ารณฤทธิ์ ให้หมดสิ้นไปจากเวทีการเมือง

นายฮุน เซน เดินเกมด้วยการผลักดันให้นายอึง ฮวด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 แทนเจ้ารณฤทธิ์ ที่ประชุมรัฐสภามีมติเสียงข้างมากเห็นชอบ อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญระบุว่ากษัตริย์เป็นผู้พระราชทานอนุมัติการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ แต่พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ไม่พอพระราชหฤทัยนายฮุน เซน ที่ยึดอำนาจและตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากเจ้ารณฤทธิ์ ดังนั้น พระองค์จึงทรงบ่ายเบี่ยงที่จะทรงลงพระปรมาภิไทยแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยทรงผลักความรับผิดชอบไปยังนายเจีย ซิม ประธานรัฐสภาและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้เป็นผู้ลงนามรับรองการแต่งตั้งแทน

กระทั่งมีการแต่งตั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ คณะของนายฮุน เซน ที่มีนายอึง ฮวด และนายเจีย ซิม รวมทั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกัมพูชา เดินทางไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ที่กรุงปังกิ่ง ฝ่ายของนายฮุน เซน มองว่ากษัตริย์ทรงให้การรับรองรัฐบาลชุดใหม่แล้ว แต่ต่อมา พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ทรงมีพระราชสาส์นไปถึงสำนักข่าวต่าง ๆ ในกัมพูชาว่าพระองค์ทรงไม่ยอมรับนายอึง ฮวด เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 และทรงสำทับว่าเจ้ารณฤทธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 ถูกต้องตามกฎหมาย นี่เป็นอีกครั้งที่ทรงยื้อเกมการเมืองให้กับพระราชโอรส

ขณะที่นายฮุน เซน พยายามปรับคณะรัฐมนตรี เพื่อกำจัดอำนาจของนักการเมืองจากพรรคฟุนซินเปกออกไป แต่ปรากฏว่าการปรับคณะรัฐมนตรีไม่ได้รับการเห็นชอบจากรัฐสภา คือ ได้คะแนนเสียงไม่ถึง 2 ใน 3 แผนการของนายฮุน เซน จึงไม่ประสบความสำเร็จ

ด้านเจ้ารณฤทธิ์ ที่ลี้ภัยในต่างประเทศ เดินเกมเรียกร้องให้นานาชาติและองค์กรระหว่างประเทศอย่าง UN และอาเซียน ให้การสนับสนุนและรับรองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 ของพระองค์ ครั้นใกล้ถึงการประชุมสมัชชาใหญ่ของ UN ก็ทรงแถลงว่าจะเป็นตัวแทนของประเทศเข้าร่วมประชุม ขณะที่นายฮุน เซน อ้างว่าทรงไม่มีสิทธิ์นั้น เพราะมีการลงนามแต่งตั้งนายอึง ฮวด เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 คนใหม่แล้ว และตนจะเป็นตัวแทนไปเข้าร่วมประชุมกับ UN

ที่สุด UN ปล่อยให้ที่นั่งของประเทศกัมพูชาว่างลง และประวิงเวลาจนกว่าจะได้รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2541

“จะไม่ลาออกจากเวทีการเมือง”

หลังจากลี้ภัยนานกว่า 9 เดือน เจ้ารณฤทธิ์ กลับมากัมพูชาอีกครั้งเพื่อสู้ศึกเลือกตั้งใน พ.ศ. 2541 ทรงนำพรรคฟุนซินเปกลงชิงชัยในศึกเลือกตั้ง แต่พ่ายแพ้ให้กับพรรคประชาชนกัมพูชาของนายฮุน เซน แต่ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลผสม และพระองค์ได้ดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา ในการเลือกตั้งครั้งถัดมาเมื่อ พ.ศ. 2546 พรรคฟุนซินเปกก็พ่ายแพ้อีกเช่นกัน โดยพรรคฟุนซินเปกเริ่มอ่อนแอนลงเรื่อย ๆ และภาพลักษณ์ของเจ้ารณฤทธิ์ก็เหมือนอาทิตย์ยอแสง ขณะเดียวกันพรรคการเมืองของนายสม รังสี กลับมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น และกลายเป็นคู่แข่งคนสำคัญของนายฮุน เซน

เจ้ารณฤทธิ์ หาเสียงต่อหน้าฝูงชน ในการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ. 2541 (Photo by ROB ELLIOTT / AFP)

เดือนมีนาคม พ.ศ. 2549 เจ้ารณฤทธิ์ลาออกจากตำแหน่งประธานรัฐสภา แล้วเสด็จฯ ไปพำนักยังฝรั่งเศสเพื่อหลีกหนีความวุ่นวายทางการเมือง แต่ไม่นานจากนั้น ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน พระองค์เสด็จกลับกัมพูชา โดยทรงเตรียมการที่จะสู้ศึกเลือกตั้งท้องถิ่นในปีหน้า และเลือกตั้งใหญ่ใน พ.ศ. 2551 ทว่าพระองค์ประทับในประเทศไม่นานก็เสร็จไปต่างประเทศอีก ถึงเดือนตุลาคม พรรคฟุนซินเปกจึงมีมติขับเจ้ารณฤทธิ์ ออกจากตำแหน่งประธานพรรค เพราะเห็นว่าเจ้ารณฤทธิ์ ไม่สามารถทำหน้าที่พรรคที่ดีได้ เสด็จฯ ต่างประเทศบ่อยเกินไป และยังทรงทำลายความร่วมมือระหว่างพรรคฟุนซินเปกกับพรรคประชาชนกัมพูชาอีกด้วย

ขณะที่เจ้ารณฤทธิ์ ทรงไม่พอใจพรรคฟุนซินเปกอย่างมาก ทรงกล่าวว่าพรรคฟุนซินเปกไม่ใช่พรรคของราชวงศ์และเป็นพรรคที่เป็นอิสระอีกต่อไป ดังนั้น พระองค์ทรงพยายามตั้งพรรคใหม่ขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า พรรคนโรดม รณฤทธิ์ เพื่อหวังลงชิงชัยในการเลือกตั้งที่จะมาถึง อย่างไรก็ตาม พระองค์กำลังเดินเข้าสู่กับดักทางการเมืองของนายฮุน เซน ที่วางไว้อย่างแยบยล เพื่อขัดขวางศัตรูก่อนศึกเลือกตั้งจะมาถึง

ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการปลดเจ้ารณฤทธิ์ ออกจากตำแหน่งประธานพรรคฟุนซินเปกเป็นกลยุทธทางการเมืองของนายฮุน เซน หรือไม่ แต่ต่อมา ในเดือนธันวาคมปีนั้นเอง รัฐสภาได้ประกาศถอนสมาชิกภาพของเจ้ารณฤทธิ์ ทำให้เอกสิทธิ์ต่าง ๆ เป็นอันหมดไป และช่วงเวลาต่อมาตั้งแต่ปลาย พ.ศ. 2549 ถึงต้น พ.ศ. 2550 เจ้ารณฤทธิ์ถูกฟ้องร้อง 2 ข้อหาสำคัญ คือ 1. ความผิดฐานยักยอกทรัพย์โดยขายที่ดินและสำนักงานของพรรคฟุนซินเปกแล้วนำเอารายได้เข้าพระองค์เอง เป็นจำนวนกว่า 3.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จนศาลตัดสินจำคุกเจ้ารณฤทธิ์เป็นเวลา 18 เดือน ทำให้ทรงต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ

และ 2. ความผิดข้อหาผิดประเวณี โดยการทอดทิ้งภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อไปอยู่กินกับภรรยาและมีบุตรนอกสมรส โดยเจ้าหญิงมารี พระชายาในเจ้ารณฤทธิ์ เป็นผู้ฟ้องร้องพระสวามีที่ทรงมีความสัมพันธ์กับภรรยานอกสมรสที่มีชื่อว่า นางอ๊ก พัลลา อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีในสังคมกัมพูชาว่าเจ้ารณฤทธิ์ทรงรับนางอ๊ก พัลลา เป็นพระภรรยามานานแล้ว มักจะปรากฏตัวไปไหนมาไหนในที่สาธารณะบ่อยครั้ง และยังมีบุตรด้วยกันอีกด้วย จึงเป็นข้อสังเกตว่านี่เป็นเกมการเมืองเพื่อบั่นทอนเจ้ารณฤทธิ์

นักวิชาการมองว่าเบื้องหลังของกฎหมายฉบับนี้พุ่งเป้าโจมตีไปที่เจ้ารณฤทธิ์ โดยกฎหมายฉบับนี้เพิ่งผ่านการรับรองและบังคับใช้เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2549 โดยรัฐสภาที่มีพรรคประชาชนกัมพูชาของนายฮุน เซน ครองเสียงข้างมาก นั่นทำให้เจ้ารณฤทธิ์เป็นชาวกัมพูชาคนแรกที่ถูกดำเนินคดีภายใต้กฎหมายฉบับนี้ ในทางหนึ่งนายฮุน เซน จึงยืมมือเจ้าหญิงมารี ซึ่งคับแค้นในมานาน ให้ยื่นฟ้องต่อศาล อันเป็นการตัดอนาคตคู่แข่งทางการเมืองของนายฮุน เซน นั่นเอง ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลต่อเสียงสนับสนุนจากประชาชนที่มีต่อเจ้ารณฤทธิ์

ต่อมา โฆษกพรรคนโรดม รณฤทธิ์ ออกมาเปิดเผยว่าการดำเนินคดีเจ้ารณฤทธิ์ในข้อหาผิดประเวณีนั้นเป็นการกระทำที่มีแรงจูงใจทางการเมืองเป็นสำคัญของฝ่ายตรงข้าม ที่หวังสกัดไม่ให้เจ้ารณฤทธิ์ ซึ่งขณะพำนักอยู่ที่ฝรั่งเศส ได้กลับเข้ามามีบทบาททางการเมืองในกัมพูชาอีก

ด้านเจ้ารณฤทธิ์ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวต่างประเทศว่าวิบากกรรมทางการเมืองที่ทรงเผชิญอยู่นี้เป็นฝีมือของนายฮุน เซน คู่แข่งทางการเมืองที่เป็นปรปักษ์กันมานาน โดยนายฮุน เซน พยายามสร้างแรงกดดันให้พระองค์ และคอยหาทางสกัดทุกวิถีทางที่จะไม่ให้พระองค์กลับมาเคลื่อนไหวทางการเมืองได้อีก ส่วนกระบวนการยุติธรรมในประเทศก็ไม่สามารถพึ่งพาได้ เพราะไม่มีความเที่ยงธรรม และเต็มไปด้วยอคติ แต่พระองค์ก็ยืนยันว่าจะต่อสู้กับวิบากกรรมนี้ต่อไปเหมือนกับช่วง พ.ศ. 2541 ที่สามารถกลับมาโลดแล่นบนเวทีการเมืองได้อีกครั้ง

เจ้ารณฤทธิ์ และเจ้าหญิงมารี พระชายา ทรงทักทายต่อผู้สนับสนุนของพระองค์ เมื่อ พ.ศ. 2541 (Photo by DAVID VAN DER VEEN / AFP)

ประกาศวางมือ

เมื่อถึงการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2551 พรรคประชาชนกัมพูชาของนายฮุน เซน ได้รับชัยชนะอย่างงดงาม ขณะที่พรรคนโรดม รณฤทธิ์ ได้รับเลือกเพียง 2 ที่นั่งเท่านั้น ซึ่งเป็นไปได้ว่ามรสุมของเจ้ารณฤทธิ์ ในช่วงก่อนหน้านั้นมีผลต่อเสียงสนับสนุนจากประชาชน ขณะที่พรรคประชาชนกัมพูชาของนายฮุน เซน ได้ที่นั่งไปกว่า 90 ที่นั่ง กลายเป็นพรรคอันดับหนึ่ง ทิ้งห่างพรรคฝ่ายค้านของนายสม รังสี ที่เข้ามาเป็นอันดับ 2 ได้ไป 26 ที่นั่ง

อย่างไรก็ตาม ราวเดือนตุลาคมปีนั้นเอง เจ้ารณฤทธิ์ได้รับพระราชทานอภัยโทษ และเดินทางหวนกลับกัมพูชาอีกครั้ง โดยวิเคราะห์กันว่าการนิรโทษกรรมในครั้งนี้เป็นไปตามคำสั่งของนายฮุน เซน (รวมถึงข้อหาที่ว่าเจ้ารณฤทธิ์พยายามจะร่วมมือกับเขมรแดงยึดอำนาจเมื่อ พ.ศ. 2540 ก็ได้รับการนิรโทษกรรมไปแล้วด้วย)

เมื่อกลับคืนกัมพูชา เจ้ารณฤทธิ์ จึงทรงประกาศวางมือทางการเมือง แต่ก็เป็นเพียงระยะแค่ 2 ปีเท่านั้น โดยในปลาย พ.ศ. 2553 ทรงกลับลงสู่สนามการเมืองอีกครั้ง เพื่อสู้ศึกเลือกตั้งท้องถิ่นใน พ.ศ. 2555 และเลือกตั้งใหญ่ใน พ.ศ. 2556 แต่ท่าทีของพระองค์ในห้วงเวลานี้ คือ ทรงสนับสนุนให้พรรคนโรดม รณฤทธิ์ ทำงานร่วมกับพรรคประชาชนกัมพูชาของนายฮุน เซน

เมื่อถึงการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2556 พรรคนโรดม รณฤทธิ์ไม่ได้รับเลือกตั้งแม้แต่ที่นั่งเดียว นี่เป็นจุดที่สะท้อนให้เห็นว่าเจ้ารณฤทธิ์แทบจะหมดบทบาททางการเมืองไปจนสิ้น ขณะที่นายสม รังสี ได้ฉายแสงโดดเด่นเป็นผู้นำฝ่ายค้านที่ได้กลายมาเป็นคู่แข็งคนสำคัญของนายฮุน เซน แทนเจ้ารณฤทธิ์

ไม่นานจากนั้น เจ้ารณฤทธิ์ ทรงประกาศอำลาการเมืองเป็นครั้งที่ 2 แต่ทรงกลับมาเล่นการเมืองอีกครั้งในช่วง พ.ศ. 2558 เจ้ารณฤทธิ์หวนคืนงานการเมืองกับพรรคฟุนซินเปก โดยผู้มีนายฮุน เซน สนับสุนเบื้องหลัง เนื่องจากต้องการให้เจ้ารณฤทธิ์บ่อนทำลายคู่ต่อสู้ทางการเมือง คือ นายสม รังสี อีกมุมหนึ่งนายฮุน เซน ต้องการใช้ภาพลักษณ์ของเจ้ารณฤทธิ์ดึงคะแนนนิยมจากประชาชนที่นิยมเจ้าซึ่งหันไปสนับสนุนนายสม รังสี กลับมา

ซึ่งถึงเวลานี้พรรคฟุนซินเปกกลายเป็นพรรคการเมืองที่ไม่อาจต่อกรกับพรรคประชาชนกัมพูชาได้อีกต่อไป โดยหลังการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 ก็พ่ายแพ้การเลือกตั้งมาโดยตลอด ในการเลือกตั้งครั้งถัด ๆ ไปก็ได้ที่นั่งลดลงเรื่อย ๆ

ร่วมมือ ฮุน เซน

การกลับคืนสู่เวทีการเมืองในครั้งนี้เพื่อเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2561 เจ้ารณฤทธิ์ ทรงประกาศเป็นพันธมิตรกับพรรคประชาชนกัมพูชาของนายฮุน เซน โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าทั้งสองพรรคจะผนึกกำลังกันต่อสู้กับนายสม รังสี ผู้นำฝ่ายค้านที่ได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนมากขึ้นเรื่อย ๆ

เจ้ารณฤทธิ์ ทรงกล่าวถึงจุดประสงค์ในการหวนคืนการเมืองครั้งนี้ว่า “เป้าหมายของข้าพเจ้าไม่ใช่การทำลายพรรคการเมืองใดพรรคหนึ่ง แต่เป้าหมายเดียวของข้าพเจ้า คือ การรวบรวมเสียงสนับสนุนความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ และการเคารพเทิดทูนในอดีตกษัตริย์นโรดม สีหนุ ซึ่งนี่คือเสียงของข้าพเจ้า”

เจ้ารณฤทธิ์ทรงย้ำในนโยบายแนวราชานิยมว่า “ลำพังเพียงพระองค์ที่เคยทำงานร่วมกับพรรคประชาชนกัมพูชาของนายกรัฐมนตรีฮุน เซน มาสามารถบอกได้ว่ามีเพียงสองพรรคการเมืองในกัมพูชาที่จะช่วยปกป้องสถาบันกษัตริย์ของกัมพูชาที่กำลังถูกลดบทบาทลงได้ นั่นคือ พรรคประชาชนกัมพูชา และพรรคฟุนซินเปก โดยเฉพาะกำลังจะกลับมาอยู่ภายใต้การนำของพระองค์ และจะสร้างความมั่นคงให้กับการปกครองที่มีสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ”

นับแต่มรสุมในช่วง พ.ศ. 2549 ของเจ้ารณฤทธิ์ ที่ทำให้พระองค์หมดบทบาทในพรรคฟุนซินเปก และเสื่อมอิทธิพลบนเวทีการเมืองกัมพูชาลง เหตุผลสำคัญประการหนึ่งมาจากการกลยุทธเกมการเมืองของนายฮุน เซน อย่างไม่ต้องสงสัย ขณะเดียวกัน นายฮุน เซน ก็พยายามจำกัดอิทธิพลของพรรคฟุนซินเปกลงเรื่อย ๆ มาตั้งแต่หลังการรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2540 แล้ว

ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2544 เจ้ารณฤทธิ์ และนายฮุน เซน ในการประชุมประจำปีของพรรคฟุนซินเปก (Photo by Philippe LOPEZ / AFP)

ดังนั้นจะเห็นได้ว่านับตั้งแต่หลังความแตกแยกภายในพรรคฟุนซินเปก ช่วงก่อนรัฐประหาร พ.ศ. 2540 จากการขับเจ้าสิริวุฒิ และนายสม รังสี ออกจากพรรค นั่นทำให้พรรคฟุนซินเปกตกต่ำลง พลังและอิทธิพลที่คอยช่วยเหลือค้ำจุนอำนาจของเจ้ารณฤทธิ์ ขาดหายไป ทำให้พระองค์ไม่สามารถต่อกรกับนายฮุน เซน ได้อย่างสูสี

การกลับมาโลดแล่นบนถนนการเมืองกัมพูชาของเจ้ารณฤทธิ์ ในช่วงหลังการรัฐประหารเปรียบได้แค่เพียงทรงเป็นไม้ประดับริมทาง ที่สุดท้ายแล้ว นายฮุน เซน ค่อย ๆ รวบอำนาจจนเข้มแข็ง และก้าวขึ้นมาครองอำนาจการเมืองกัมพูชาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน

เกมการเมืองเกมนี้ เจ้ารณฤทธิ์ มีชัยชนะเหนือนายฮุน เซน เพียงครั้งเดียวเท่านั้น คือ การเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ. 2536 หลังจากนั้นมาก็ไม่อาจต่อกรกับ “สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน” ได้อย่างสูสีอีกเลย

เจ้ารณฤทธิ์ สิ้นพระชนม์ที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 พระชนมายุ 77 พรรษา

 


อ้างอิง :

กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย. “การเลือกตั้งในกัมพูชา”, ม.ป.ป.

วัชรินทร์ ยงศิริ. “กัมพูชา วันวารที่ผันเปลี่ยน”. กรุงเทพฯ : ศรีบูรณ์คอมพิวเตอร์การพิมพ์, 2548.

อาณัติ อนันตภาค. “ประวัติศาสตร์กัมพูชา”. กรุงเทพฯ : ยิปซี, 2558.

ข่าวสด. “เจ้ารณฤทธิ์กลับประเทศ”, 18 สิงหาคม 2549.

________. “เขมรปลดรณฤทธิ์-ตั้งเขยเจ้าสีหนุ”, 19 ตุลาคม 2549.

________. “เจ้ารณฤทธิ์ยัวะโดนปลด-ตั้งพรรคใหม่”, 20 ตุลาคม 2549.

________. “รณฤทธิ์กลับกัมพูชา”, 16 พฤศจิกายน 2549.

________. “‘นโรดม รณฤทธิ์’ หวนการเมือง”, 12 ธันวาคม 2553.

________. “รณฤทธิ์ผนึกรวมฮุนเซน”, 6 มกราคม 2558.

มติชน. “สภาเขมรอนุมัติรณฤทธิ์พ้นส.ส.”, 13 ธันวาคม 2549.

________. “การเมืองขาลงของรณฤทธิ์”, 5 เมษายน 2550.

________. “สมเด็จกรมพระรณฤทธิ์จะฟื้นฟูพรรคฟุนซินเปค : ได้จริงหรือ?”, 19 กุมภาพันธ์ 2558.

________. “‘พระนโรมดมรณฤทธิ์’ สิ้นพระชนม์”, 29 พฤศจิกายน 2564.

มติชนสุดสัปดาห์. “วิบากกรรม (การเมือง) ของ ‘รณฤทธิ์'”, 23 มีนาคม 2550.

________. “เจ้านโรดม รณฤทธิ์ วางมือทางการเมือง”, 10 ตุลาคม 2551.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2564