ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
พ.ศ. 2000 ผู้อำนวยการกองจัดการฉางข้าวกรมนา กราบบังคมทูลราชสำนักเกี่ยวกับ “ทูตสยาม” ซื้อบุตรหลานของชาวนาที่ยากจนนำกลับไปเป็นข้ารับใช้เป็นเรื่องเสื่อมเสียหน้า จึงกราบบังคมทูลขอให้นำเงินหลวงไปไถ่ตัว เนื้อหาที่บันทึกเอาไว้มีใจความว่า
“เมื่อวันที่ ๑ เดือน ๖ ปีที่ ๑ แห่งรัชศกเทียนซุ่น [๒๒ มิถุนายน ค.ศ. ๑๔๕๗/พ.ศ. ๒๐๐๐] เฉินเจิ้น ตำแหน่งกงบู้ อุ่ยกวนจูซื่อ [ผู้อำนวยการกองจัดการฉางข้าวกรมนา] กราบบังคมทูลว่า
‘หม่าหวงเป้า ราชทูตจากประเทศสยาม ได้ซื้อบุตรหลานของชาวนาที่ยากจนเนื่องจากนาล่ม ที่มณฑลซานตง เพื่อนำกลับไปเป็นข้ารับใช้ นี่ใช่ว่าต่ำช้าแลไม่รู้กฎเกณฑ์เท่านั้น ยังจักทำให้พวกอาณาจักรนั้นหัวเราะเยาะแลดูหมิ่นจีนด้วย จึงขอให้จัดส่งเจ้าพนักงานติดตามไปโดยด่วน เมื่อพบตัวแล้วที่หน่วยราชการที่พบเห็นให้นำเงินหลวงไถ่ตัวเด็กคืน หลังจากนั้นให้ส่งตัวกลับภูมิลำเนาไปอยู่กับครอบครัวเดิม’
ทรงเห็นชอบ”
ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร หัวหน้าคณะค้นคว้าเรื่องหมิงสือลู่-ชิงสือลู่ฯ ได้ให้ความเห็นไว้ว่า
“ในการค้าระบบรัฐบรรณาการกับจีน ราชทูตจากประเทศสยามได้ซื้อสิ่งของต่างๆ รวมทั้งข้าทาสจากเมืองจีนด้วย พวกนี้ส่วนหนึ่งอาจเป็นที่มาของขันทีในราชสำนักไทย อย่างไรก็ตาม ราชสำนักจีนเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องน่าอับอายและเสียเกียรติสำหรับจีน”
อ่านเพิ่มเติม :
- ล่ามทูตสยามครวญทัพกรุงศรีฯ ขาดอาวุธที่มีประสิทธิภาพ จึงไม่อาจช่วยจีนรบญี่ปุ่นได้
- “จีนสั่งให้ไปก้องเมื่อไรก็ไป..ไม่มีอายขายหน้า โง่งมงายตลอด” พระบรมราชวินิจฉัยในร.4
ที่มา :
หมิงสือลู่-ชิงสือลู่ บันทึกเรื่องจริงแห่งราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง ตอนว่าด้วยสยาม. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, 2559. น. 175
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 ตุลาคม 2561