ย้อนดูบ้านเมือง “ตราด” ในอดีต มี “อ.เกาะช้าง” ที่ไม่ได้อยู่เกาะช้าง ฯลฯ

งาน ทำบุญ ขึ้น ปีใหม่ ที่ หน้า ศาลากลาง จังหวัด หลังเก่า ตราด
งานทำบุญขึ้นปีใหม่ ที่หน้าศาลากลางจังหวัดหลังเก่า เมื่อ พ.ศ. 2475 นายเกียรติชัย โภคิบูลย์ เจ้าของภาพ (ภาพจากสมุดภาพเมืองตราด 2559)

พูดถึงบ้านเมือง “จังหวัดตราด” วันนี้เราท่านต่างทราบกันดี หรือเสาะหาข้อมูลได้ไม่ยากว่า จังหวัดตราดมี 7 อำเภอ คือ 1. อำเภอเมืองตราด 2. อำเภอแหลมงอบ 3. อำเภอเขาสมิง 4. อำเภอบ่อไร่ 5. อำเภอคลองใหญ่ 6. อำเภอเกาะช้าง 7. อำเภอเกาะกูด

แต่ในบทความนี้อยากชวนท่านไปดูชื่อบ้านนามเมืองของตราด

ชื่อบ้านนามเมืองใน “จังหวัดตราด” มาจากไหน?

เริ่มตั้งแต่ จังหวัดตราด ในบันทึกของสังฆราชปาลเลอกัวซ์ ที่เดินทางเข้ามาสยามในช่วงรัชกาลที่ 3 บันทึกของท่านเรียก “ตราด” ว่า “เมืองทุ่งใหญ่” ดังนี้

“เมืองทุ่งใหญ่ อันอยู่ทางทิศตะวันออกของจันทบุรีนั้นอุดมสมบูรณ์ไปด้วยกระวาน ไม้จันทน์แดง รงเขมร พริกไทย งาช้าง และผลิตผลอันมีค่าอื่นๆ อีกมาก เมืองทุ่งใหญ่มีพลเมืองอยู่ราว 4,000 คน เป็นคนไทยและคนจีน ซึ่งเป็นพ่อค้าแม่ค้ากันแทบทั้งนั้น พลเมืองส่วนน้อยทําการประมงทั้งๆ ที่ชายฝั่งทะเลมีกุ้งปลาชุกชุม ในบริเวณใกล้เคียงกันมีเกาะอันอุดมไปด้วยพันธุ์ไม้ เช่น เกาะช้าง ซึ่งกล่าวกันว่ามีเสือชุมนัก มีภูเขาตั้งเด่นอยู่บนเกาะ เป็นสถานที่พักจอดของเรือทั้งหลายบรรดาที่แวะเข้ามาในย่านนี้” (เล่าเรื่องกรุงสยาม, 2397)

ที่นี้ก็มาถึงชื่ออำเภอต่างๆ ต่อไปนี้ล่ะ อำเภอสีบัวทอง, อำเภอทุ่งใหญ่, อำเภอบางพระ ฯลฯ ท่านคุ้นกันบ้างไหม หรือพอจะเดาได้ไหมว่า นั่นคืออำเภออะไรในปัจจุบัน หรืออำเภอเกาะช้างเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้วนั้น ที่ทำการอำเภอไม่ได้อยู่เกาะช้าง แล้วอยู่ที่ไหน?

เริ่มที่ อำเภอสีบัวทอง ที่ตั้งขึ้น พ.ศ. 2442 ที่บ้านสีบัวทอง ตำบลวังตะเคียน ต่อมา พ.ศ. 2447 ย้ายมาตั้งบ้านตรอกตะแคงที่วัดภูลาย ตำบลเขาสมิง จึงเปลี่ยนชื่อเรียกใหม่ว่า “อำเภอทุ่งใหญ่”

เมื่อฝรั่งเศสยอมออกจากจันทบุรี มายึดครองจังหวัดตราดและเกาะกงแทน อำเภอทุ่งใหญ่ไม่อยู่ในสัญญา แต่มีการจัดเขตปกครองใหม่ รัชกาลที่ 5 ทรงรับสั่งให้รวมอำเภอขลุง (ของจันทบุรี) กับอำเภอทุ่งใหญ่ (ของตราด) ยกเป็นเมืองจัตวาเรียกว่า “เมืองขลุง” ภายหลังเมื่อเมืองตราดกลับคืนมาเป็นของไทย อำเภอทุ่งใหญ่จึงกลับมาขึ้นกับเมืองตราดอีกครั้ง แต่ย้ายมาบ้านตรอกตะแคง ตำบลแสนตุ้ง มาอยู่ที่บ้านกระท้อน ตำบลเขาสมิง และเปลี่ยนชื่อเรียกเป็น “อำเภอเขาสมิง” จนถึงปัจจุบัน

อำเภอเมืองตราด เดิมเป็นแขวงขึ้นกับเมืองตราด จนถึง พ.ศ. 2451 เปลี่ยนฐานะเป็นอำเภอ เรียกชื่อว่า “อำเภอเมืองตราด” ต่อมา พ.ศ. 2460 เปลี่ยนชื่อเป็น “อำเภอบางพระ” เพื่อสอดคล้องกับที่ตั้งที่ว่าการอำเภอที่อยู่ที่บ้านบางพระ จนเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2481 จึงเปลี่ยนมาใช้ชื่อ “อำเภอเมืองตราด” ตามเดิมจนปัจจุบัน

ที่มา “อำเภอเกาะช้าง”

อำเภอแหลมงอบ เดิมนั้นชื่อ “อำเภอเกาะช้าง” ที่ทำการตั้งอยู่ที่บ้านด่านเก่า ตำบลเกาะช้าง เพราะทางการยกฐานะของตำบลเกาะช้างขึ้นเป็นอำเภอเมื่อ พ.ศ. 2440 มาถึง พ.ศ. 2450 จึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอขึ้นบกมาตั้งอยู่ที่ฝั่งบ้านแหลมงอบ แต่ยังคงเรียกว่า “อำเภอเกาะช้าง” เช่นเดิม

เมื่อ นายกิมทะ นิรันต์พานิช ผู้แทนราษฎรจังหวัดตราดคนแรก แสดงปาฐกถาเรื่องสภาพจังหวัดตราดทางวิทยุกระจายเสียง (3 มกราคม พ.ศ. 2477) ก็เรียก “อำเภอแหลมงอบ” ว่า “อำเภอเกาะช้าง” ดังความตอนหนึ่งกล่าวว่า

…จังหวัดตราด มีเนื้อที่ประมาณ 2,188,000 ไร่ การปกครองแบ่งออกเป็น 3 อำเภอ คือ อำเภอบางพระ อำเภอเกาะช้าง อำเภอเขาสมิง มีตำบล 31 ตำบล มีพลเมืองประมาณ 34,500 คน เป็นชายไทย 17,500 คน หญิงไทย 16,000 คน เป็นคนจีนประมาณ 1,000 คน คนจีนโดยมากอาศัยอยู่ในตำบลบางพระ, แหลมงอบ, น้ำเชี่ยว, คลองใหญ่, เกาะช้าง ส่วนในตำบลอื่นไม่ใคร่มีไปอาศัยนัก…”

เหตุที่เรียกว่า “อำเภอเกาะช้าง” คงเป็นเพราะการเสด็จประพาสเกาะช้างหลายครั้งของรัชกาลที่ 5 ทำเกาะช้างที่อยู่ห่างไกลความเจริญกว่าบ้านแหลมงอบ กลับมีชื่อเสียงกว่าชื่อ “อำเภอแหลมงอบ” เพิ่งใช้เมื่อเดือน เมษายน พ.ศ. 2481 และใช้ชื่อนี้เรื่อยมา

ส่วน “อำเภอเกาะช้าง” ในปัจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามและชื่อเสียง ส่งผลให้เศรษฐกิจและประชากรของเกาะเติบโตขึ้นมาก ใน พ.ศ. 2537 จึงมีประกาศกระทรวงมหาดไทย ให้แบ่งเขตพื้นที่อำเภอแหลมงอบ เป็น “กิ่งอำเภอเกาะช้าง” และ “อำเภอเกาะช้าง” ใน พ.ศ. 2550

ส่วน “อำเภอเกาะกูด” มีประกาศกระทรวงมหาดไทยให้แบ่งเขตพื้นที่อำเภอแหลมงอบ เป็น “กิ่งอำเภอเกาะกูด” เมื่อ พ.ศ. 2533 เพราะนอกจากจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแล้ว ยังมีประเด็นเรื่องความมั่นคง เพราะเป็นพื้นที่ชายแดนทางชายทะเลที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน และจัดตั้งเป็น “อำเภอเกาะกูด” ใน พ.ศ. 2550

สุดท้ายคือ อำเภอบ่อไร่ เดิมเป็นเพียงเขตปกครองหนึ่งในอำเภอเขาสมิง ภายหลังมีประชาชนถิ่นอื่นอพยพมาอยู่เป็นจำนวนมาก จึงให้แบ่งเขตท้องอำเภอเขาสมิง 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลบ่อพลอย, ตำบลช่างทูน และตำบลด่านชุมพล และเป็นอำเภอบ่อไร่ตั้งเป็น “กิ่งอำเภอบ่อไร่” (1 สิงหาคม พ.ศ. 2513) และเป็นจัดตั้งเป็นอำเภอบ่อไร่ใน พ.ศ. 2524

สรุปได้ว่าหลัง พ.ศ. 2550 จังหวัดตราด มี 7 อำเภอเช่นในปัจุบัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

สำนักงานจังหวัดตราด, ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดตราด, พ.ศ. 2527

กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์, อักรานุกรมภูมิศาสตร์ 5 จังหวัด คือ จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ตราด นครนายก ระยอง, โรงพิมพ์พิรรฒธนากร 2482

สัยต์ ท. โกมลบุตร, เล่าเรื่องกรุงสยาม, แพร่พิทยา 2393


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 มิถุนายน 2562