“หมื่นสิทธิสงคราม” วีรบุรุษนักรบผู้กล้าแห่งเมืองตราดที่หายจากหน้าประวัติศาสตร์

กระบวนทัพ ทหาร กองทัพ กระบวนพยุหยาตราทัพ ใน สมุดไทย
ริ้วขบวนกองทัพพยุหยาตรา จากสมุดไทย ชุดกระบวนพยุหยาตราทัพ

เรื่องราวของ หมื่นสิทธิสงคราม เป็นเรื่องราวของวีรบุรุษผู้กล้าท่านหนึ่งที่มีนิวาสสถานอยู่ ณ เมืองตราด และได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้มีความสามารถในการรบ ทั้งยังมีความเชี่ยวชาญในตำราพิชัยสงครามคนหนึ่งในกองทัพแห่งราชอาณาจักรสยามที่นำโดยเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ในคราวการพระราชสงครามระหว่างไทยกับญวน สมัยรัชกาลที่ 3

“หมื่นสิทธิสงคราม” ในประวัติศาสตร์ศึกไทยรบญวนสมัยรัชกาลที่ 3

ชื่อ “หมื่นสิทธิสงคราม” ปรากฏในเอกสารประวัติศาสตร์ครั้งแรกในหนังสือที่เชื่อกันว่าเป็นบันทึกการรบของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) แม่ทัพคู่บัลลังก์ในรัชกาลที่ 3 เรียกกันว่า “อานามสยามยุทธ” หนังสือนี้ได้กล่าวถึงวีรกรรมของหมื่นสิทธิสงครามไว้อย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นนี้ จะได้กล่าวถึงมูลเหตุของการศึกและเหตุที่หมื่นสิทธิสงครามในฐานะขุนนางเมืองตราดต้องร่วมรบในศึกครั้งนี้

ในปี พ.ศ. 2376 รัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดการจลาจลในเมืองญวน หัวเมืองต่างๆ รวมถึงเมืองตราดจึงส่งคนออกไปสืบข่าวแล้วแจ้งเข้ามาทางพระนคร บอกความเป็นไปของเมืองเขมรและเมืองญวน ดังนี้ [1]

“…ในปีมะเส็ง เบญจศก จุลศักราช 1195 ครั้งนั้นกรมการเมืองพระตะบอง เมืองนครเสียมราฐ เมืองจันทบุรี เมืองตราด ต่างพากันแต่งขุนหมื่นกับไพร่ไปสืบราชการที่เมืองเขมรและเมืองญวนต่างๆ นั้น สืบได้ข้อราชการบ้านเมืองญวนมาทั้งสี่เมืองๆ จึงมีใบบอกกิจการบ้านเมืองญวนเข้ามากรุงเทพฯ ข้อความในใบบอกทั้งสี่หัวเมืองนี้ต้องกัน ครั้งนั้นมีพวกจีนลูกค้าที่อยู่ ณ เมืองไซ่ง่อนและเมืองล่องโห้ ซึ่งเป็นหัวเมืองขึ้นฝ่ายญวน พวกจีนในเมืองทั้งสองตำบลหนีข้าศึกที่เกิดจลาจลขึ้นในเมืองไซ่ง่อนหนีเข้ามาอาศัยอยู่ที่เมืองตราดบ้างเมืองจันทบุรีบ้าง…”

เมื่อความทราบแล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) [2] เป็นแม่ทัพเรือ กับเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพบกและแม่ทัพใหญ่ยกกองทัพไปรบญวน ในครั้งนั้นได้เกณฑ์ไพร่พลเมืองตราดไปในงานพระราชสงครามนั้นด้วย

“…โปรดให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ซึ่งว่าที่สมุหพระกลาโหมนั้นถืออาญาสิทธิ์เป็นแม่ทัพเรือ คุมไพร่พลหมื่นห้าพัน บรรทุกเรือรบมีชื่อในกรุงออกไปเกณฑ์เลกไทยเมืองตราด เมืองจันทบุรี และเลกหัวเมืองเขมรที่เมืองกำปอดแลเมืองเขมรป่ายางรวมกันอีกห้าพันรวมเป็นสองหมื่น ในทัพเรือนั้นให้ยกไปตีเมืองบันทายมาศฝ่ายญวนให้แตกจงได้…” [3]

ทั้งนี้ เจ้าพระยาพระคลัง ในฐานะแม่ทัพเรือได้บัญชาจัดการหน้าที่ในกองทัพให้เจ้าพระยาพลเทพเป็นแม่ทัพหน้า ให้พระยาราชวังสันเป็นทัพนำหน้าเจ้าพระยาพลเทพ ส่วนพระยาตราด [4] นั้นเป็นปีกซ้ายปีกขวาของกองทัพ [5]

กระนั้นก็ดี เมื่อยกทัพเรือเข้าตีปรากฏว่าในระหว่างทำศึกในลำน้ำนั้น บรรดาแม่ทัพนายกองเหล่านั้นพากันทอดสมอเรือเสียเพราะเห็นเรือญวนขวางกั้นอยู่เต็มลำคลอง ทำให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาต้องทำการรบทางบกแต่ฝ่ายเดียว เป็นการเสียหายแก่ราชการทัพอย่างยิ่ง จึงมีการพิจารณาโทษแม่ทัพนายกองเหล่านั้นซึ่งปรากฏชื่อพระยาตราดในครั้งนั้นด้วย ต้องโทษประหารชีวิตแต่ภายหลังเจ้าพระยาพระคลังขอให้ลดโทษเหลือเพียงภาคทัณฑ์เท่านั้น [6]

กล่าวกันว่าในครั้งนั้นกองทัพเรือของเจ้าพระยาพระคลังไปช่วยกองทัพบกไม่ทัน เนื่องจากไม่มีลม จึงตั้งทัพอยู่เพียงเมืองตราดที่ตำบลแหลมหิน และตั้งค่ายอยู่ที่ตำบลแหลมเค็ด [7] เจ้าพระยาบดินทรเดชาเห็นว่าในการสงครามครั้งนี้ กองทัพเรือไม่ยกมาตามนัด จะเอาผิดก็ไม่ได้เพราะไม่มีลม จึงเขียนใบบอกกราบบังคมทูลให้ความเห็นว่าควรจะให้เจ้าพระยาพระคลังคุมกองทัพเรือขัดตาทัพอยู่ที่เมืองตราดก่อน เพื่อจะได้เป็นที่เกรงขามของพวกญวน ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นไปตามนั้น

กองทัพเรือไทยจึงเข้าจอดที่ตำบลทุ่งใหญ่ คือตำบลแหลมหินในปัจจุบัน และตั้งค่ายอยู่ที่ตำบลแหลมเค็ด ระหว่างพักกองทัพอยู่นั้น กองทัพเรือไทยได้พร้อมใจกันสร้างวัดขึ้นมาวัดหนึ่ง ให้ชื่อว่า “วัดโยธานิมิต” [8] ทั้งนี้เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงว่าครั้งหนึ่งกองทัพได้เคยนำทหารมาตั้งฐานทัพอยู่ที่นี้ [9]

อย่างไรก็ดีคำกล่าวนี้ไม่ปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดาร ปรากฏแต่หลักฐานการสร้างวัดโยธานิมิตหรือวัดโบสถ์ที่จังหวัดจันทบุรี ซึ่งมีชื่อพ้องกันกับวัดนี้ทุกประการ

อย่างไรก็ตามบริเวณวัดโยธานิมิตนี้ค่อนข้างเป็นที่ลุ่ม ไม่เหมาะกับการเป็นชัยภูมิที่ตั้งทัพ ทั้งยังห่างจากท่าเรือสำเภา จึงสันนิษฐานว่าอาจมีค่ายอีกส่วนหนึ่งที่ตั้งอยู่ที่วัดลำดวน ที่สร้างในปี พ.ศ. 2370 ก่อนยกทัพมา 6 ปี เพราะมีชัยภูมิที่ดีคืออยู่บนเนินสูงมองเห็นข้าศึกได้ในระยะไกล อีกทั้งยังใกล้กับท่าเรือโบราณคือบริเวณท่าตะเภา รวมทั้งพบเจดีย์ใหญ่โบราณพร้อมเจดีย์บริวารแบบย่อมุมไม้สิบสองอีก 4 องค์ อายุราวสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เคยพบอาวุธโบราณและพระยอดธงจำนวนมากบริเวณนี้ รวมทั้งพบร่องรอยการขุดสนามเพลาะด้วย

นายด่านเมืองตราด วีรบุรุษกลางสมรภูมิ

เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาถึงเมืองโจดก กรุงกัมพูชาแล้ว จึงแต่งหนังสือฉบับหนึ่งมอบให้หมื่นพิทักษ์นทีลงเรือเร็วมาส่งให้เจ้าพระยาพระคลังที่เมืองบันทายมาศ ใจความตอนหนึ่งว่า [10]

“…ขอให้ท่านแม่ทัพเรือใช้ให้พระยาตราดคุมพลเมืองตราดทั้งสิ้นไปตั้งสิวซ่อมแซมเรือรบเก่าของเขมรที่นักองจันทร์สร้างขึ้นไว้ตกค้างอยู่ที่เมืองกำปอดและเมืองกะพงโสมนั้น มีอยู่หลายสิบลำ ถ้าจะเลือกแต่ที่พอใช้ได้คงจะได้เรือรบเกือบร้อยลำ ถ้าพระยาตราดทำการซ่อมแซมเรือรบเก่าของเขมรเสร็จแล้วได้มากน้อยเท่าใดให้คุมมาส่งไว้ในเมืองบันทายมาศ…”

ฝ่ายเมืองเขมรคิดตั้งตนเป็นกบฏ พาสมัครพรรคพวกโจรเข้ามาลอบยิงไพร่พลที่คุมเรือลำเลียงเสบียงอาหารล้มตายไปเป็นอันมาก เจ้าพระยาพระคลังจึงมีบัญชาสั่งข้าราชการเมืองตราดและให้หมื่นสิทธิสงคราม ตำแหน่งนายด่านเมืองตราด คุมไพร่พลทางบก ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ปรากฏชื่อหมื่นสิทธิสงคราม ดังนี้ [11]

“…ให้พระปลัดเมืองตราดบุตรผู้ใหญ่พระยาจันทบุรีและเป็นพี่ชายต่างมารดากับหลวงยกกระบัตร คุมไพร่พลสามร้อยกองหนึ่ง แล้วให้เป็นนายทัพบกไปติดตามเรือลำเลียงเสบียงอาหารที่เขมรตีไว้นั้นคืนมาให้จงได้ ถ้าไม่ได้เสบียงคืนมาก็ให้ตามไปจับพวกเขมรเหล่าร้ายที่เมืองกำปอดให้ได้มาบ้าง ให้พระปลัดรีบยกไปทางบกก่อนโดยเร็ว แล้วสั่งให้หมื่นสิทธิสงคราม นายด่านเมืองตราดคุมไพร่พลสองร้อยคนเป็นนายทัพบกยกเพิ่มเติม ไปติดตามเรือลำเลียงอีกกองหนึ่งแต่ให้ไปทางตะวันตก ให้ยกไปรวมกันกับพระปลัดที่เมืองกำปอดข้างเหนือ จะได้ช่วยกันค้นหาพวกเขมรผู้ร้ายให้ได้มาให้จงได้…”

ครั้นพระปลัดเมืองตราดยกไปถึงลำน้ำแห่งหนึ่งชื่อ “กำแพงดำริฉลอง” (ท่าช้างข้าม) เป็นเวลาพลบค่ำจึงหยุดพักผ่อน พวกเขมรในแขวงเมืองกำปอดจึงเข้าลอบโจมตี รุ่งขึ้นพระปลัดเมืองตราดจึงรวบรวมไพร่พลที่เหลือเดินทางต่อไปก็ถูกพวกเขมรลอบโจมตีอีก ทำให้ไพร่พลล้มตายลงเป็นอันมาก แต่กองทัพของหมื่นสิทธิสงครามมาพบเข้าจึงช่วยไว้ได้

“…ในวันนั้นเวลาบ่ายประมาณสามโมงเศษ พอกองทัพไทยอีกกองหนึ่ง ซึ่งหมื่นสิทธิสงครามนายด่านเมืองตราด คุมพลทหารมาสองร้อยคน ยกทัพบกตามมาภายหลัง ก็พอถึงฝั่งลำธารชื่อว่า ลำห้วยละหาร ซึ่งเขมรเรียกว่า “จันเลาะ” แปลเป็นภาษาไทยว่าลำห้วย เป็นเวลาบ่ายแล้ว หมื่นสิทธิสงครามไล่ต้อนพลทหารขึ้นบนฝั่งลำห้วยจะข้ามลำธารน้ำไปขึ้นฝากข้างเหนือตามทางตรงในป่าตะเคียน ขณะจะข้ามนั้นแลเห็นพวกเขมรเหล่าร้ายประมาณเจ็ดสิบแปดสิบคน ลงเก็บเครื่องอาวุธอยู่ในลำห้วยเป็นอันมาก ก็เข้าใจว่าทัพพระปลัดเมืองตราดเสียรี้พลกับเขมรหมดแล้ว หมื่นสิทธิสงครามนายทัพ ก็สั่งให้พลทหารสองร้อยคนแยกออกเป็นปีกกา แล้วให้โห่ร้องกระหน่ำสำทับเป็นเสียงไทยพวกหนึ่ง ให้โห่ร้องเป็นเสียงญวนพวกหนึ่ง เพื่อจะให้เขมรตกใจกลัวว่าทั้งไทยทั้งญวนยกมาพร้อมกัน

จำให้เขมรสิ้นความอาลัยห่วงใยที่จะไปพึ่งญวนนั้น จะได้สิ้นความหวังใจของเขมรๆ จะได้อ่อนน้อมยอมแพ้แก่ไทยโดยง่าย แล้วสั่งให้พวกพลทหารยิงปืนคาบศิลายิงระดมลงไปแต่บนตลิ่งลำห้วย กระสุนปืนไทยตกลงไปถูกเขมรล้มตายเป็นอันมาก ฝ่ายเขมรไม่ทันรู้จึงมิได้ยิงปืนโต้ตอบขึ้นมาบ้างเป็นแต่วิ่งหนีไปในลำห้วย ขณะนั้นพวกไทยเป็นสามสิบสี่คนเป็นสามสิบห้าทั้งพระปลัดด้วย ที่เหลือตายแอบซ่อนอยู่ตามซอกห้วยกลีบเขา ได้ยินเสียงโห่ร้องเป็นเสียงไทยบ้างเสียงญวนบ้าง แล้วก็ออกมาดูเห็นเป็นพวกเดียวกัน แลเห็นพวกเขมรศัตรูเก่านั้น ถูกกระสุนปืนไทยล้มตายเป็นอันมาก เขมรที่เหลือตายก็วิ่งหนีไปแอบซุ่มอยู่ในลำห้วย พวกไทยสามสิบห้าคนเห็นการณ์เป็นดังนั้นแล้ว แลมีอาวุธพร้อมมือกันทั้งสามสิบห้าคนก็ออกจากที่ซุ่มซ่อน ช่วยกันไล่ฟันยิงแทงพวกเขมรเหล่าร้ายตายสิ้นไม่เหลือเลยแต่สักคนหนึ่ง เขมรตายในลำห้วยครั้งนั้นนับศพได้เจ็ดสิบเจ็ดคน…” [12]

ในคราวนั้น หมื่นสิทธิสงครามได้รับพระปลัดเมืองตราดและไพร่พลที่รอดตายรวม 35 คนเข้าไว้ ยกทัพเดินทางต่อไป ได้ปะทะกับกำลังเขมรและจับพวกเขมรได้ 14 คน ในระหว่างที่เดินทางไปถึงป่าตำบลหนึ่ง เขมรเรียกว่า “ไพรยุกฉมำ” แปลเป็นไทยว่าป่าพุงดอ ความสำเร็จในการจับเชลยเขมรนั้นเกิดจากความมีปัญญาและความชำนาญในการรบของหมื่นสิทธิสงคราม ดังนี้

“…หมื่นสิทธิสงครามพิจารณาดูตามภูมิลำเนาป่านั้น เห็นหญ้าตามพื้นแผ่นดินเป็นรอยคนเดินทางหญ้าราบช้ำเป็นแถวไป หมื่นสิทธิสงครามเป็นผู้ที่มีวิริยะปัญญาฉลาด ในการพิชัยสงครามเมื่อเห็นหญ้าราบเป็นรอยเท้าคนเดินเป็นทางไปในป่าดงนั้นแล้ว ก็อาจสามารถเข้าใจว่าพวกเขมรเหล่าร้ายมาซุ่มด้อมมองคอยทำร้ายกองทัพไทยอยู่ที่นี้อีกเป็นมั่นคง ชะรอยพวกเขมรเหล่าร้ายเห็นกองทัพไทยเดินทางมาทางนี้โดยมาก มันจึงพากันหนีไปซุ่มซ่อนตนอยู่ในป่าละเมาะดงพุงดอ ฝ่ายพวกเขมรเหล่าร้ายที่แอบซุ่มอยู่ในดงพุงดอนั้น ครั้นเห็นกองทัพใหญ่ของไทยเดินไปเป็นลำดับ พวกเขมรเหล่าร้ายสี่สิบคนที่ซุ่มอยู่ในป่ารกก็ออกมาสกัดทาง นำปืนยิงตัดท้ายกองทัพไทยตายลงสองคน เพราะพวกนั้นเดินล่าช้าอยู่สุดท้ายจึงตาย

หมื่นสิทธิสงครามทราบดังนั้นแล้ว จึงสั่งขุนศรีสังหารไปสั่งพลทหารไทย ให้กลับหน้าลงไปทางใต้ แล้วให้แยกทัพออกเป็นปีกกาตีระดมลงไปไม่รอรั้ง ฝ่ายหมื่นอินทราวุธกับหมื่นนรินทรโยธา ที่คุมทหารห้าสิบคนไปซุ่มอยู่ในป่านั้น ครั้นได้ยินเสียงกองทัพโห่ร้องยิงปืนกระหน่ำสำทับ ตีหนุนหลังเป็นทัพกระหนาบสกัดทางไว้ แล้วตีรุกขึ้นมาทุกทีจนใกล้ทัพใหญ่ พวกเขมรเหล่าร้ายยี่สิบคน อยู่ในระหว่างกลางศึกกระหนาบต้องต่อสู้ทั้งข้างหน้าแลหลัง เขมรพวกนั้นต่อสู้อยู่จนตายในกลางที่รบบ้างยี่สิบหกคน เขมรเหลือตายสิบสี่คนหนีไปไม่พ้น ก็วางอาวุธลงกราบไหว้ไม่ต่อสู้กองทัพไทย ก็จับเป็นมาได้ 14 คน หมื่นสิทธิสงครามนายทัพใหญ่สั่งให้ทหารตัดไม้ทำเป็นคาจำคอพวกเขมรสิบสี่คน แล้วปักหลักผูก เท้าเอวติดไม้ขยับเฆี่ยนหลังสิบห้าทีถามทั้งสิบสี่คนๆ ทนเจ็บไม่ได้ต้องให้บอกคนละเล็กละน้อย แต่หากระจ่างแจ่มแจ้งไม่ จึงสั่งให้เฆี่ยนอีกคนละสองยกเป็นหกสิบที ก็ยกไม่ได้ความตามจริงมี หมื่นสิทธิสงครามมีความโกรธนัก จึงสั่งพันจงใจหาญลาวเก่า ให้มัดมือพวกเขมรสิบสี่คนโยงไว้คนราวไม้ไผ่เป็นแถวห่างๆ กันแล้วให้ทำคบจุดเพลิงเข้าลนตามตัวพวกเขมรทุกคน จนผมแลขนไหม้หนังเกรียมเป็นแผลพองๆ ขึ้นทุกคน เขมรทนร้อนไม่ได้จึงต้องให้การต้องคำกัน…” [13]

ครั้งนั้นพวกเขมรให้การได้ความว่า พระคเชนทรพิทักษ์ ขุนนางเขมรอยู่ที่เมืองกำปอซ เป็นนายกองช้างของนักองจัน เป็นผู้นำชาวบ้านเขมรป่าดงมาตีเสบียงของกองทัพไทย โดยมีขุนกำแหงคชไกร บุตรชายเป็นผู้ช่วย เมื่อหมื่นสิทธิสงครามได้รับทราบคำให้การดังนั้นแล้ว จึงสั่งให้พันจงใจหาญลาวเก่า ตัดไม้ทำตะโหงกจำคอพวกเขมร 14 คนพาไปในกองทัพด้วย เพื่อจะให้นำกองทัพไทยไปยังเรือนของพระคเชนทรพิทักษ์ ที่บ้านหนองบัว ในป่าแขวงเมืองกำปอซ เมื่อไปถึงแล้วก็เข้าจับตัวพระคเชนทรพิทักษ์ได้โดยง่าย

“…เมื่อกองทัพไทยไปถึงบ้านพระคเชนทรพิทักษ์นั้นเป็นเวลาสามยาม หมื่นสิทธิสงครามสั่งให้หมื่นอินทราวุธกับหมื่นนรินทรโยธาคุมพลร้อยหนึ่ง ยกเข้าล้อมบ้านพระคเชนทรพิทักษ์เขมรด้านเหนือ ให้พันจงใจหาญคุมนักโทษเขมร 14 คน อยู่รักษาที่ชุมนุม มีคนอยู่ด้วย 26 คน หมื่นสิทธิสงครามคุมพลร้อยหนึ่งยกเข้าล้อมบ้านพระคเชนทรพิทักษ์ด้านใต้ พอได้เวลาสัญญาแก่กันแล้วจึงโห่ร้องเป็นเสียงไทยกองหนึ่ง โห่ร้องเป็นเสียงเขมรกองหนึ่ง ต้อนไพร่พลเข้าบ้านพระคเชนทรพิทักษ์ แล้วนำปืนคาบศิลายิงระดมกระหน่ำสำทับเข้าไปทั้งสองด้าน ด้านเหนือต้องลุยเลนในหนองบัว เข้าไปจนถึงหมู่บ้านเขมรพวกพระคเชนทรพิทักษ์ ไทยจึงได้ยกเข้าปล้นในบ้านเขมรด้านใต้เข้าทางถนนท้ายหนองบัว ตรงเข้าไปถึงเรือนพระคเชนทรพิทักษ์ก่อนทุกกอง หมื่นสิทธิสงครามจับได้ตัวพระคเชนทรพิทักษ์ ทั้งบุตรชายหญิง แลภรรยาครอบครัวเขมรจับเป็นมาได้ 46 คน กองหมื่นอินทราวุธ หมื่นนรินทรโยธาจับเขมรเป็นมาได้ยี่สิบคน รวมได้เขมรเชลยมาหกสิบคนทั้งชายทั้งหญิง แต่เขมรที่สู้รบต้องปืนตายห้าสิบสี่คน ที่แตกหนีเข้าป่าดงไปก็มาก เขมรที่จับเป็นมาได้นั้นจำตะโหงกคอไว้ ทั้ง 66 คน ใช้ให้หามคอนแลเลี้ยงช้างเลี้ยงม้า

แล้วหมื่นสิทธิสงครามให้พันจงใจหาญคุมไพร่ไทย 100 คน กับให้เขมร 14 คน เป็นผู้นำทางไปในป่าให้เที่ยวจับช้างของพระคเชนทรพิทักษ์ ซึ่งไปเลี้ยงไว้ในป่าให้ต้อนไล่มาให้สิ้นเชิง ครั้งนั้นพันจงใจหาญจับช้างพลายพังที่ในป่ามาได้ พลาย 12 เชือก พัง 8 เชือก รวมเป็น 20 เชือกที่พวกเขมรทำหนีสูญไปในป่าก็มีมากกว่า 20 เชือก แต่หมื่นสิทธิสงครามจับช้างได้ในบ้านพระคเชนทรพิทักษ์ พลาย 6 เชือก พัง 12 เชือก รวมเป็น 18  เชือก รวมช้างทั้งสองรายรวม 38 เชือก รวบรวมช้างม้าไว้ในกองทัพไทยทั้งสิ้น แล้วเก็บได้ทรัพย์สิ่งของทองเงินต่างๆ ของพระคเชนทรพิทักษ์ แลพวกครอบครัวเขมรที่บ้านหนองบัวนั้นเป็นอันมาก แล้วให้พวกเขมรเชลยขนข้าวปลาอาหารที่เขมรตีพาของไทยไปไว้นั้นขนลงบรรทุกเรือของไทย 18  ลำ เรือสูญเสียห้าลำเพราะเขมรกระทุ้งท้องเรือจมเสียห้าลำแล้ว ขณะนั้นให้เผาบ้านพระคเชนทรพิทักษ์ แล้วเผาบ้านเขมรที่บ้านหมู่นั้นเสียสิ้นบ้านหมู่นั้น เขมรเรียกชื่อว่า สะรกตระพังชุด แปลเป็นภาษาไทยว่าบ้านหนองบัว…” [14]

ภายหลังจากที่หมื่นสิทธิสงครามจับกุมและเผาเรือนของพระคเชนทรพิทักษ์แล้ว ได้มอบหมายให้หมื่นอินทราวุธ และหมื่นนรินทรโยธาคุมไพร่พลไป 60 คน นำเรือลำเลียงบรรทุกเสบียงอาหาร 18 ลำ ส่งไปยังเมืองบันทายมาศ ส่วนหมื่นสิทธิสงครามคุมพลทหารไทย 120 คน กับครอบครัวเขมรพระคเชนทรพิทักษ์จำตะโหงกมาในกองทัพ แล้วให้พันจงใจหาญคุมช้างที่ตีปล้นมาได้ 38 เชือกนั้นด้วย ในคราวนั้นกองทัพบกได้เดินทางถึงเมืองบันทายมาศก่อนกองเรือลำเลียง 6 วัน เมื่อหมื่นสิทธิสงครามและไพร่พลถึงเมืองบันทายมาศ และได้รายงานต่อเจ้าพระยาพระคลังแล้ว เจ้าพระยาพระคลังจึงมีบัญชาให้ขุนทรงพาณิชย์จีนที่เมืองบันทายมาศรีบไปแจ้งราชการต่อเจ้าพระยาบดินทรเดชา ที่อยู่ ณ เมืองโจดก มีใจความว่า

“หลวงยกกระบัตรเมืองจันทบุรีคุมเรือลำเลียงมาถึงกลางทางลำน้ำนั้น เขมรเหล่าร้ายยกมาตีเรือเสบียงอาหารไปได้ หลวงยกกระบัตรกลัว ไม่สู้เขมรแล้วลงเรือเล็กหนีมาเสียก่อน ปล่อยให้แต่ไพร่พลอยู่สู้รบเขมรๆ ก็ตีปล้นพาเรือลำเลียงเสบียงอาหารไปได้ทั้งหมด 23 ลำ แลคนที่คุมเรือนั้นก็ตายเกือบหมด แล้วให้พระปลัดเมืองตราดพี่ชายหลวงยกกระบัตรคุมคนสามร้อยยกไปติดตามเรือเสบียงอาหาร 23 ลำ ยังหาทันจะถึงเรือเสบียงใหม่ ไปเสียทีเขมรที่ในลำธาร ซึ่งพวกเขมรเรียกว่า “จันเลาะ” แปลเป็นไทยว่าลำห้วยละหาน ในป่าแขวงเมืองกำปอซ

เขมรฆ่าไพร่พลไทยในกองพระปลัดตายครั้งนั้นถึง 266 คน ที่เหลือตายกลับมาได้ 34 คน แล้วจึงแต่งให้หมื่นสิทธิสงคราม นายด่านเมืองตราด คุมไพร่พลเมืองตราด 200 คน ยกไปติดตามตีคืนเรือลำเลียงเสบียงอาหารกลับคืนมาได้หมด แล้วกลับได้ช้างที่เขมรตีปล้นพาไปเมือชักลากเรือรบในคลองขุดใหม่กลับคืนมาได้หมด ทั้ง 20 เชือก แลได้ช้างเชลยเขมรมาอีก 18 เชือก เป็นช้างใหญ่ได้ขนาดดีทุกช้าง พอใช้ราชการศึกได้ด้วยเป็นช้างอ้วนพีล่ำสันโตน่าใช้สอย แล้วได้ครอบครัวพระคเชนทรพิทักษ์นายกองช้าง ที่เป็นต้นคิดนายโจรมาตีปล้นช้างไทยไปครั้งหนึ่ง ตีเรือเสบียงไปครั้งหนึ่ง แลได้จับเขมรครอบครัวมามาก ได้จำไว้ในเมืองบันทายมาศทุกคนแล้ว ใต้เท้าพระกรุณาเจ้าจะโปรดประการใด จะได้ปฏิบัติตามบัญชา” [15]

ผู้เขียนสันนิษฐานว่า ช้างที่หมื่นสิทธิสงครามรวบรวมได้จากบ้านพระคเชนทรพิทักษ์ในคราวนี้ และส่งมอบให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาที่เมืองบันทายมาศนี้ หนึ่งในช้างเหล่านั้นน่าจะมี “ช้างพังหงสาสวรรค” ที่เป็นช้างสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 3 อยู่ด้วย ซึ่งภายหลังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงพระนิพนธ์ฉันท์สังเวยดุษฎีสังเวยกล่อมช้างพังหงสาสวรรค ขึ้น

รูปปั้น เจ้าพระยาบดินทร์
รูปเจ้าพระยาบดินทร์ที่ถ่ายไว้แต่ครั้งกระโน้น คัดลอกจากหนังสืองานศพ เสวกเอก พระยานครราชเสนี(สหัด สิงหเสนี) หลานเหลนคนหนึ่งของเจ้าพระยา (ซีดี1065-005) ใต้ขาของท่าน เคยมีตัวหนังสือ จารึกว่า “เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิง) จอมพลเอก แม่ทัพใหญ่ฝ่ายสยาม”

จาก “หมื่นสิทธิสงคราม” สู่ “พระปลัดเมืองตราด” : บำเหน็จความชอบจากการพระราชสงคราม

ครั้นเมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้รับใบบอกจากเจ้าพระยาพระคลังแล้ว จึงได้ตอบไปว่าให้เจ้าพระยาพระคลังเป็นผู้ตัดสินโทษ ภายหลังเจ้าพระยาพระคลังได้ส่งตัวพระปลัดเมืองตราดและหลวงยกกระบัตรเมืองจันทบุรี ให้มารับโทษจากเจ้าพระยาบดินทรเดชาตัดสินโทษ โดยต่อมามีบัญชาให้ประหารหลวงยกกระบัตรเมืองจันทบุรี และให้ตัดหัวเสียบประจานไว้ที่หน้าเมืองโจดก เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป

ส่วนหมื่นสิทธิสงครามนั้น เจ้าพระยาบดินทรเดชามีหนังสือตอบเจ้าพระยาพระคลังให้ปูนบำเหน็จเป็นพระปลัดเมืองตราด แทนตำแหน่งที่ว่างลง ใจความว่า [16]

“…ให้เจ้าคุณพระคลังตั้งหมื่นสิทธิสงครามนายด่านเมืองตราด ผู้มีความชอบในราชการ ให้เลื่อนขึ้นเป็นพระปลัดเมืองตราด ให้มอบถาดหมากคนโทน้ำทองให้แก่เขาเป็นเครื่องยศ แล้วให้มีใบบอกไปกรุงเทพฯ ด้วย…

ต่อมาเจ้าพระยาพระคลังจึงแต่งตั้งให้หมื่นสิทธิสงครามเป็น “พระปลัดเมืองตราด” เมื่อเดือน 4 แรม 1 ค่ำ พ.ศ. 2376 การแต่งตั้งขุนนางครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งพิเศษกว่าทั่วไป เนื่องจากหมื่นสิทธิสงครามได้เลื่อนบรรดาศักดิ์จาก “หมื่น” ข้ามบรรดาศักดิ์ “หลวง” ขึ้นเป็นบรรดาศักดิ์ “พระ” ซึ่งถือว่าเป็นกรณีพิเศษเหมาะสมกับความชอบในราชการและเป็นเกียรติยศสูงสุด

ส่วนพระปลัดเมืองตราดคนเก่านั้น เจ้าพระยาบดินทรเดชามีบัญชาให้เฆี่ยนหลัง 60 ทีที่หน้าค่ายในเมืองโจดก แล้วให้ลดฐานานุศักดิ์ลงเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองจันทบุรี ให้ไปอยู่กับพระยาจันทบุรีผู้เป็นบิดา เพื่อจะได้รับราชการแก้ตัวต่อไป ภายหลังหลวงชาติสุริยงกับหลวงสุนทรโกษาคุมตัวพระปลัดคนเก่าลงเรือกลับไปเมืองบันทายมาศทั้งเครื่องจำ พอเรือถึงกลางทางในลำคลองใหญ่ พระปลัดคนเก่าบอกผู้คุมว่าจะขอส่งทุกข์ที่กราบเรือ ผู้คุมก็ยอมให้พระปลัดคนเก่าออกจากประทุนเรือไปนั่งข้างท้ายเรือนั่งส่งทุกข์อยู่ครู่หนึ่งพระปลัดก็โดดลงไปในน้ำทั้งเครื่องจองจำก็จมน้ำตายในที่นั้น [17]

หมื่นสิทธิสงคราม เมื่อได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “พระปลัดเมืองตราด” คนใหม่แล้ว เจ้าพระยาพระคลังจึงสั่งให้คุมไพร่พลไปรับเรือรบที่พระยาตราดไปตั้งซ่อมแซมอยู่ พร้อมด้วยเชือกเสาเพราใบจังกูดแจว ให้คุมเรือรบส่งมายังเมืองบันทายมาศ

อวสานวีรบุรุษ : มูลเหตุจากการแตกความสามัคคี

ภายหลังจากที่หมื่นสิทธิสงครามได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระปลัดเมืองตราดคนใหม่แล้ว ในบันทึกของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ก็มิได้ปรากฏบทบาทของพระปลัดเมืองตราดคนใหม่นี้อีกเลย จนกระทั่งในคราวศึกที่บาพนม ครั้งนั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชามีบัญชาให้เจ้าพระยานครราชสีมาเป็นแม่ทัพ โดยมีพระยาราชนิกูลเป็นข้าหลวงกำกับทัพ

ซึ่งในคราวนี้พระปลัดเมืองตราดได้ติดตามมาร่วมในกองทัพใหญ่ในสังกัดของพระยานครสวรรค์ ต่อมาเมื่อเจ้าพระยานครราชสีมาและพระยาราชนิกูลคุมทัพไทยและเชลยเขมรมาถึงริมฝั่งแม่น้ำโขงพบว่ากองทัพญวนได้กวาดต้อนเอาเรือ 50 ลำ และคนเฝ้าเรืออีก 120 คน ที่ฝั่งแม่น้ำโขงนั้นไป

เจ้าพระยานครราชสีมาจึงได้ปรึกษากับพระยาราชนิกูลถึงวิธีการข้ามแม่น้ำโขงไปฝั่งเมืองบาพนมที่ไม่อาจเดินข้ามไปได้เพราะน้ำลึกมาก ครั้งนั้นพระยาพิชัยสงคราม นายทัพปีกใหญ่ในกองทัพใหญ่เสนอความเห็นให้ตัดไม้ไผ่ทำแพข้ามแม่น้ำโขงไป ซึ่งเจ้าพระยานครราชสีมาเห็นพ้องด้วย และมอบหมายให้พระยาพิชัยสงคราม ครั้งนั้นพระยานครสวรรค์ซึ่งติดตามมาในกองทัพใหญ่เห็นต่างออกไป โดยเกรงว่าแพจะเสร็จไม่ทันและทัพญวนจะตามมาทัน จึงไม่ยอมช่วยทำแพ และขอแยกตัวจากกองทัพใหญ่เลียบฝั่งแม่น้ำโขงไปข้ามที่ท่าหน้าเมืองลาว ซึ่งต่อมาแพของพระยาพิชัยสงครามได้ทำเสร็จภายใน 2 วันและข้ามไปฝั่งบาพนมได้สำเร็จ ขณะที่ทัพของพระยานครสวรรค์ยังไม่ทันได้ข้ามแม่น้ำโขง แม่ทัพนายกองทั้งหลายก็ล้วนแต่พบจุดจบของชีวิตซึ่งรวมถึงพระปลัดเมืองตราดด้วย

“…เดินเลียบฝั่งแม่น้ำโขงไป หมายใจว่าจะข้ามไปที่ท่าหน้าเมืองลาว แต่ยังหาทันจะถึงท่าข้ามไม่ พบกองทัพญวนข้างทางตะวันออกยกตามมาทันทัพพระยานครสวรรค์ พระยานครสวรรค์ได้สู้รบกับญวนที่หาดทรายริมฝั่งแม่น้ำโขง แต่กองทัพญวนตั้งอยู่บนฝั่งตลิ่งสูง ญวนนำปืนใหญ่น้อยยิงลงไปถูกไพร่พลไทยตายลงเป็นอันมาก เพราะหาดทรายไม่มีที่จะหลบหลีกบังกระสุนปืนญวนได้ ฝ่ายไทยก็ยิงปืนขึ้นไปบ้างแต่หาถูกไพร่พลญวนไม่ เพราะบนตลิ่งมีต้นไม้บังได้มาก ญวนจึงแบ่งกองทัพออกเป็นสองพวก พวกหนึ่งตั้งอยู่บนตลิ่งแอบต้นไม้ยิงปรำพวกไทยสองพักสามพัก กองทัพไทยจะตั้งรับอยู่ริมตลิ่งไม่ได้ ก็วิ่งล่าถอยลงมาริมชายหาดทั้งสิ้น ญวนอีกพวกหนึ่งก็ยกลงไปตั้งที่หลังหาดทรายทั้งสิ้น จัดปืนคาบศิลายิงระดมลงไปดังห่าฝน กองทัพไทยทานไม่ได้ก็แตกหนีลงไปในลำน้ำแม่โขงทั้งสิ้น ญวนถือหอกคอยไล่แทงฟันไทยตายลงเป็นอันมาก

ญวนบางพวกพาช้างไล่เหยียบย่ำด้วยเท้าช้าง ช้างบางเชือกยกงวงฟาดงาแทงไทยเป็นอลหม่าน ทหารญวนฆ่ากองทัพไทยไพร่พลตายลงพันคน ไม่มีเหลือกลับเลยแม้แต่คนเดียว กับพระยา พระ หลวง ขุน หมื่น ตายลงในครั้งนั้น 60 คน ฝ่ายญวนเก็บเครื่องศัตราวุธ ปืนใหญ่น้อย สรรพาวุธสั้นต่างๆ ของไทยไปได้สิ้น ช้าง ม้า โคต่างกระบือเกวียนของไทยนั้น ญวนเก็บไปได้ทั้งหมด ทั้งเสื้อกางเกงไพร่พลซึ่งเป็นเครื่องตัวไพร่พลในกองทัพซึ่งเป็นของหลวง ญวนก็แก้ออกจากศพไปหมด ธงตะขาบ ธงมังกร และธงเลขยันต์สำหรับทัพนั้น ญวนก็เก็บรวบรวมไปได้ทั้งสิ้น…” [18]

คราวนั้นศพของทหารไทยได้ลอยมาถึงเมืองบาพนม อันเป็นที่ตั้งทัพของเจ้าพระยานครราชสีมา เมื่อได้เห็นศพก็จำได้ว่าเป็นแม่ทัพนายกองของไทย และเข้าใจได้ว่าเป็นกองทัพของพระยานครสวรรค์ที่แยกตัวออกจากทัพใหญ่ไป จึงสั่งให้หลวงรามณรงค์กับหลวงพิทักษ์คาม นายด่านเมืองจันทึก คุมไพร่พล 200 คน ม้า 50 ตัว ออกไปสืบข่าวทัพพระยานครสวรรค์ให้แจ้งชัด ในระหว่างทางนั้นเองจึงได้พบศพลอยน้ำมา 19 ศพ ในจำนวนนี้มีศพของพระปลัดเมืองตราดรวมอยู่ด้วย

“…กองสืบทั้งสองพบศพลอยน้ำอยู่ 19 ศพ คือ พระยานครสวรรค์หนึ่ง พระยาพิจิตรหนึ่ง พระปลัดเมืองอุทัยธานีหนึ่ง พระปลัดเมืองตราดหนึ่ง พระสิงห์บุรีหนึ่ง พระสรรคบุรีหนึ่ง พระบัวชุมไชยบาดาลหนึ่ง พระปลัดยกกระบัตรเมืองนครสวรรค์หนึ่ง หลวงผู้ช่วยเมืองนครสวรรค์หนึ่ง หลวงมหาดไทยเมืองนครสวรรค์หนึ่ง หลวงศุภมาตราเมืองนครสวรรค์หนึ่ง พระพิมายหนึ่ง พระนางรองหนึ่ง พระยาเพชรปาณีหนึ่ง พระเทพผลูหนึ่ง หลวงวิเศษธานีหนึ่ง หลวงงำเมืองหนึ่ง หลวงพัศดีกลางหนึ่ง รวม 19 ศพ  (จากรายชื่อที่อ้างทั้งหมดมีเพียง 18 ศพ แต่ในต้นฉบับระบุ 19 ศพ-ผู้เขียน) แต่ศพไทยไพร่นายครั้งนั้นลอยน้ำอยู่แต่กายเปล่าหาเสื้อผ้ามิได้ เพราะพวกญวนแก้ผ้าถอดเสื้อออกและเก็บไปทั้งอาวุธด้วย ครั้งนั้นกองสืบจึงตัดศีรษะนำศพนายทัพไทยทั้ง 19 ศพ มาให้เจ้าพระยานครราชสีมาดู จึงรู้ได้ว่าแม่ทัพนายกองตายหมดแล้ว กับไพร่พลพันหนึ่งก็ตายสิ้น เพราะถูกพวกญวนฆ่าเสีย…”

ศึกไทยรบญวนที่ริมน้ำโขงใกล้เมืองบาพนมนี้ จึงนับเป็นการปิดฉากชีวิตวีรบุรุษนาม “พระปลัดเมืองตราด” หรือ “หมื่นสิทธิสงคราม” ลงอย่างน่าเสียดาย อันเป็นความผิดพลาดที่สืบเนื่องมาจากการตัดสินใจของผู้เป็นแม่ทัพ

“หมื่นสิทธิสงคราม” ในประวัติศาสตร์บอกเล่า

เรื่องหมื่นสิทธิสงครามนี้ มีความน่าสนใจประการหนึ่ง คือ ชาวบ้านท่ากุ่ม อำเภอเมือง จังหวัดตราด เชื่อกันว่าเป็นคนเดียวกับหมื่นคงชาวตำบลท่ากุ่ม ต้นตระกูล “กุมภะ” [19] หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “ปู่คง” บ้าง “ขรัวคง” บ้าง ซึ่งชาวตระกูลกุมภะเล่ากันสืบมา และมีบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์บอกเล่าโดยผนวกเรื่องหมื่นสิทธิสงครามกับหมื่นคงไว้ด้วยกันว่า หมื่นสิทธิสงคราม หรือหมื่นคงนี้ในคราวแรกได้ถูกเกณฑ์ไปช่วยรบญวน วันหนึ่งนายใช้ให้ไปตัดฟืน คนทั้งหลายต่างก็ตัดทอนเป็นท่อนๆ ผูกมัดให้ขนมาได้สะดวก แต่นายคงลากเอามาทั้งกิ่งทั้งใบ เมื่อถูกนายดุ นายคงก็งัดเอาขวานขึ้นมาเอากิ่งไม้วางไว้บนหน้าแข้ง ใช้ขวานทอนฟืนนั้น

คนทั้งหลายได้เห็นเป็นอัศจรรย์ จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นคนดีมีวิชา เล่ากันว่าที่บ้านนายคง เมื่อเด็กจับกระต่ายกันในตอนกลางคืน นายคงเอาผ้าคลุมตัวแล้วกระพือผ้าออกมาเป็นกระต่ายให้เด็กไล่จับได้ หรือเมื่อชาวบ้านอยากดูเสือ นายคงก็เอาผ้าคลุมแล้วแปลงกายเป็นเสือให้ชาวบ้านดูได้เหมือนกัน นายคงผู้นี้ต่อมาได้เป็นหมื่นคง ได้รับเกียรติให้เป็นผู้ถือธงไชย ซึ่งมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่บนยอดธงนั้น เรียกว่า ธงนำทัพ นับเป็นตำแหน่งสำคัญ [20]

ในประวัติศาสตร์บอกเล่ายังได้กล่าวอีกว่า การไปราชการทัพของหมื่นสิทธิสงครามครั้งนั้นมิได้เสียชีวิตกลางสมรภูมิ หากแต่ได้รอดชีวิตกลับมาและใช้ชีวิตอย่างสงบในบั้นปลายเนื่องจากเบื่อหน่ายจากการรบราฆ่าฟัน โดยได้บวชเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดทุ่งไก่ดัก ในตำบลบ้านเกิดนั้นเอง จนภายหลังได้เป็นถึงเจ้าอาวาสวัด เรียกกันว่า “ขรัวคง” มีฤทธิ์ และเป็นที่ศรัทธาของชาวบ้านตำบลท่ากุ่มตราบจนปัจจุบัน เมื่อจะมีงานพิธีสำคัญของชุมชนชาวบ้านทุ่งไก่ดักเกิดขึ้นครั้งใด จะต้องมีการบอกกล่าวแก่ศาลขรัวคงทุกครั้งไป [21]

ประจักษ์พยานสำคัญของหมื่นคง หรือหมื่นสิทธิสงคราม ที่สำคัญอย่างหนึ่งที่เป็นมรดกความทรงจำของลูกหลานตระกูลกุมภะ คือ “ดาบหมื่นคง” ซึ่งเป็นดาบที่ตกทอดมายังลูกหลานตระกูลกุมภะจากรุ่นสู่รุ่น ยาวประมาณ 1 วาเศษ มีทั้งสิ้น 2 เล่ม เล่ากันว่าเป็นดาบที่ “ขรัวคง” ได้เก็บรักษาไว้เป็นอนุสรณ์แห่งราชการสงคราม และกลายเป็นสมบัติของเจ้าอาวาสวัดทุ่งไก่ดักแต่ละรุ่นสืบกันมา จนกระทั่งเมื่อวัดทุ่งไก่ดักเป็นวัดร้าง ดาบเล่ม 1 ได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ส่วนอีกเล่ม 1 เก็บรักษาไว้ที่วัดเนินสูง ตำบลตะกาง อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด

นอกจากนี้ในหนังสือ 137 ปี ตระกูล “กุมภะ” ตำบลท่ากุ่ม จังหวัดตราด ยังได้ระบุว่าหมื่นสิทธิสงคราม (คง) มีบุตร 2 คน ชื่อ แท่น (ญ) ช่วย (ช) และได้แต่งงานมีลูก 5 คน ชื่อ สาว ทอง ติ๋น ใช่ และเต๋ง ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะเป็นลูกหลานก่อนที่จะบวชเป็นภิกษุ หลานทั้งห้าของหมื่นสิทธิสงครามได้สืบทอดลูกหลานต่อมาจนถึงรุ่นปัจจุบัน ซึ่งจากการสืบค้นข้อมูลทายาทตระกูลกุมภะของหนังสือดังกล่าวทำให้ได้ข้อสรุปว่า “ทายาทลูกหลานส่วนใหญ่ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณลำคลองท่ากุ่ม แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และอีกส่วนอยู่ที่บ้านทุ่งไก่ดัก” [22]

ทั้งนี้ตระกูล “กุมภะ” จะมีการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่หมื่นสิทธิสงคราม (คง กุมภะ) และบรรพบุรุษตระกูลกุมภะ ที่ล่วงลับ ณ วัดท่ากุ่ม อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด ในราวเดือนกันยายน เป็นประจำทุกปี

ความส่งท้าย

เรื่องราวของหมื่นสิทธิสงคราม หรือหมื่นคงนั้น ได้รับการยกย่องในฐานะนักรบผู้กล้าหาญมาจากรุ่นสู่รุ่น ดังปรากฏในทำเนียบบุคคลสำคัญของเมืองตราด ในหนังสืองานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ของจังหวัดตราด เมื่อปี พ.ศ.  2500 อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายว่าหลังจากนั้นเป็นต้นมา นามของ “หมื่นสิทธิสงคราม” ก็หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ของจังหวัดตราด จนแม้ปัจจุบันนี้ก็มิได้มีการกล่าวถึงอีกเลย ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะช่วยปลุกชีวิต “วีรบุรุษลือนาม” ท่านนี้ให้กลับคืนมาอีกครั้ง เพื่อเป็นตัวอย่างให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และตระหนักถึงความสำคัญในการเสียสละเพื่อชาติบ้านเมืองดังที่ เสฐียรโกเศศกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า

…ชีวประวัติบุคคลสอนให้เราดูได้หลายสถาน ดูเพื่อค้นหาคุณความดีของผู้นั้นว่า ได้มีความพยายามมานะบากบั่นเป็นผลสำเร็จมาแล้วอย่างไร เพื่อเราจะได้ดูเป็นแบบอย่างแห่งความประพฤติของเรา สิ่งใดที่มีกล่าวไว้ในประวัติถ้าตรงไหนเห็นว่าเป็นคุณประโยชน์ ก็จะได้ถือเป็นทางปฏิบัติ สิ่งไหนถือว่าเป็นความผิดพลาดก็จะได้ถือเป็นครู เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดนั้นได้ เพราะฉะนั้นการอ่านชีวประวัติของบุคคลจึงอยู่ที่รู้จักดูทั้งสองแง่ เพื่อจะได้ตีราคา หรือคาดค่าให้แก่ผู้นั้นได้ว่ามีดีแก่ส่วนรวมแค่ไหน… [23]

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี). อานามสยามยุทธ ว่าด้วยการสงครามระหว่างไทยกับลาว เขมรและญวน. (กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา, 2515), น. 471-475.

[2] ภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค)

[3] เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี). อานามสยามยุทธ ว่าด้วยการสงครามระหว่างไทยกับลาว เขมรและญวน. น. 486.

[4] ไม่ปรากฏราชทินนามว่าเป็นเจ้าเมืองคนใด เข้าใจว่าอาจเป็นเจ้าเมืองตราดที่ชื่อ พระพิพิธวัตร

[5] เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี). อานามสยามยุทธ ว่าด้วยการสงครามระหว่างไทยกับลาว เขมรและญวน. น. 525.

[6] เรื่องเดียวกัน, น. 532.

[7] บริเวณตลาดสดเทศบาล จังหวัดตราด ปัจจุบัน

[8] ภายหลังเมื่อเจ้าพระยาพระคลังได้รับพระบรมราชโองการให้กองทัพเรือกลับ เจ้าพระยาพระคลังก็ได้พาไพร่พลเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลเรื่องการสร้างวัด จึงทรงปูนบำเหน็จรางวัลแก่ไพร่พล และพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นนิตยภัตปีละ 180 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ได้ถูกตัดเสียเมื่อปี พ.ศ. 2448 ตั้งแต่เมืองตราดตกเป็นของฝรั่งเศส และเมื่อเมืองตราดได้รับอิสรภาพกลับคืนมาดังเดิมในปี พ.ศ. 2450 วัดนี้ก็มิได้รับพระราชทานนิตยภัตอีกต่อไป

[9] กรมการศาสนา. พระพุทธศาสนา มรดกล้ำค่าของไทย. (พิมพ์เป็นที่ระลึกในการถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน วัดโยธานิมิต อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด 1 พฤศจิกายน 2550), น. 17-18.

[10] เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี). อานามสยามยุทธ ว่าด้วยการสงครามระหว่างไทยกับลาว เขมรและญวน. น. 546-548.

[11] เรื่องเดียวกัน, น. 551.

[12] สุนทรธิเบศร์. ยุทธพิชัยไทยรบญวนในสมรภูมิเขมร. (กรุงเทพฯ : โครงการห้องสมุดการ์ตูนและหนังสือเก่า, 2535), น. 53-54.

[13] เรื่องเดียวกัน, น. 53-54.

[14] เรื่องเดียวกัน, น. 58.

[15] เรื่องเดียวกัน, น. 58.

[16] เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี). อานามสยามยุทธ ว่าด้วยการสงครามระหว่างไทยกับลาว เขมรและญวน. น. 571.

[17] เรื่องเดียวกัน, น. 572.

[18] สุนทรธิเบศร์. ยุทธพิชัยไทยรบญวนในสมรภูมิเขมร. น. 132.

[19] จังหวัดตราด. งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ. (ม.ป.ท., 2500), น. 15.

[20] เรื่องเดียวกัน, น. 14-15.

[21] ออน สุขขัง (กุมภะ). อายุ 74 ปี ทายาทตระกูลกุมภะ บ้านทุ่งไก่ดัก ตำบลท่ากุ่ม อำเภอเมือง จังหวัดตราด สัมภาษณ์ 19 พฤศจิกายน 2554

[22] สิน กุมภะ และ บำรุง กุมภะ. 137 ปี ตระกูล “กุมภะ” ตำบลท่ากุ่ม จังหวัดตราด. (ม.ป.ท., 2553), น. “คำนำ”.

[23] เสฐียรโกเศศ. มหาตมะคานธี. 2481. น. “คำนำ”. อ้างใน อภิลักษณ์ เกษมผลกูล (บรรณาธิการ). ประวัติสุนทรภู่ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์). พิมพ์ครั้งที่ 2. (นครปฐม : สาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2554), น. 1.

บรรณานุกรม :

กรมการศาสนา. พระพุทธศาสนา มรดกล้ำค่าของไทย. พิมพ์เป็นที่ระลึกในการถวายผ้าพระกฐิน

พระราชทาน วัดโยธานิมิต อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด 1 พฤศจิกายน 2540.

จังหวัดตราด. งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ. ม.ป.ท., 2500.

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2546.

ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี, เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2547.

บดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี), เจ้าพระยา. อานามสยามยุทธ ว่าด้วยการสงครามระหว่างไทยกับลาว เขมรและญวน. กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา, 2514.

บริหารเทพธานี, พระ. “ประวัติจังหวัดตราด,” ใน วารสารสมาคมชาวตราด. กันยายน 2525.

สิน กุมภะ และ บำรุง กุมภะ. 137  ปี ตระกูล “กุมภะ” ตำบลท่ากุ่ม จังหวัดตราด. ม.ป.ท., 2553. (เอกสารอัดสำเนา)

สุนทรธิเบศร์. ยุทธพิชัยไทยรบญวนในสมรภูมิเขมร. กรุงเทพฯ : โครงการห้องสมุดการ์ตูนและหนังสือเก่า, อภิลักษณ์ เกษมผลกูล. โครงการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “ตามรอยเสด็จฯ เกาะช้าง จังหวัดตราด”. พิมพ์ครั้งที่ 2. (ฉบับปรับปรุง). กรุงเทพฯ : 2535

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตราด ร่วมกับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน, 2453.

______ (บรรณาธิการ). ประวัติสุนทรภู่ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์). พิมพ์ครั้งที่ 2.

นครปฐม : สาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2554.

ออน สุขขัง (กุมภะ). อายุ 74 ปี ทายาทตระกูลกุมภะ บ้านทุ่งไก่ดัก ตำบลท่ากุ่ม อำเภอเมือง จังหวัดตราด สัมภาษณ์ 19 พฤศจิกายน 2554.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “หมื่นสิทธิสงคราม” นักรบชาวตราด : วีรบุรุษที่ถูกลืม” เขียนโดย อภิลักษณ์ เกษมผลกูล ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2555


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 มกราคม 2562 จัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำใหม่โดยกองบรรณาธิการ