เผยเบื้องหลังเสี่ยงตาย!! แผนพา “จอมพล ป.” หนีออกนอก ที่เมืองตราด

สะพานปอเฮงที่จอมพล ป. ลงเรือเพื่อลี้ภัยไปเมืองเกาะกง กัมพูชา ถ่ายจากประภาคาร แหลมงอบ (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

เดือนกันยายน 2500 จอมพล ป. พิบูลสงคราม หนีออกนอกประเทศ ที่จังหวัดตราด ด้วยช่องทางธรรมชาติ เป็นเรื่องราวที่ทราบกันโดยทั่วไป แต่ใครเป็นผู้พา จอมพล ป.หลบหนี? เส้นทางที่ใช้และวิธีหลบหนีเป็นอย่างไร? เสี่ยงภัยอันตรายแค่ไหน?

คำตอบเหล่านี้ อยู่ในภาคผนวกของหนังสือ “ประวัติศาสตร์จังหวัดตราด” (นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ, เจ้าของลิขสิทธิ์และผู้อำนวยการจัดทำ, 2565) ที่ผู้เขียนเรียบเรียงขึ้นจากประสบการณ์ที่ชาวตราดหลายท่านบอกเล่าให้ฟัง

ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “กำนันประเสริฐ” ผู้พา จอมพล ป. พิบูลสงคราม หลบออกนอกประเทศ

กำนันประเสริฐ ศิริ อดีตกำนันบ้านหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด

“กำนันประเสริฐ” หรือ นายประเสริฐ ศิริ (พ.ศ. 2479-?) อดีตกำนันบ้านหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด เป็นลูกหลานคน “ปัจจันตคีรีเขต” เมื่อครั้งยังเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย โดยทั้งปู่กับพ่อของกำนันเกิดที่จังหวัดปัจจันตคีรีเขต (เกาะกง) ส่วนตัวกำนันเอง เกิดที่อำเภอคลองใหญ่

กำนันประเสริฐยังเล่าต่ออีกว่า

“เมื่อเขาคืนตราดแต่ไม่คืนเกาะกง เราก็เลยกลับมาอยู่ที่คลองใหญ่ คลองใหญ่ยังไม่ค่อยมีใครอยู่ ยังทำมาหากินไม่สะดวก (หาดเล็กไม่มีคนเลย) ก็กลับไป [เกาะกง] ใหม่ คนเกาะกงก็คิดเสมอว่าวันหนึ่ง เราจะได้กลับบ้าน จนแน่ใจว่าไม่ได้คืนแล้ว ปู่บอกพ่อว่ามาอยู่เมืองไทยเถอะ…

เกาะกงในยุคที่เป็นของเขมรใหม่ๆ มีฝรั่งเศสเข้ามาเปิดบริษัทให้เงินทุนสำหรับคนไปทำโป๊ะปลาทู ปลาทะเลมาก็ดองเค็มตากแห้งส่งขายสิงคโปร์ เขามีเรือเมล์มารับซื้อ เขารับเป็นร้อยราย พ่อก็กลับไปอีก เพราะพ่อมีเชื้อสายอยู่ที่นั่น มีบ้านอยู่ที่นั่น ผมก็เรียนหนังสือที่นั่น”

นี่จึงเป็นเหตุว่าทำไมคณะของจอมพล ป. จึงเลือกกำนันประเสริฐและครอบครัว ให้เป็นผู้นำทางในครั้งนั้น และต่อไปนี้คือเรื่องราวการหลบหนีของ จอมพล ป. ในครั้งนั้น แบบคำต่อคำ

แล้วที่ช่วย จอมพล ป. ลี้ภัย รู้ไหมคะว่าคนที่ช่วยเป็นนายกฯ

แต่ก่อนหน้านั้นเป็นยังไงผมไม่รู้ จนหลังจากนั้นอีก 6 ปี เมื่อเขาส่งอัฐิ จอมพล ป. กลับจากญี่ปุ่นมาบรรจุที่วัดพระศรีมหาธาตุ ผมจะไปร่วมงาน ผมแวะไปหาผู้การชุมพล [พันตำรวจเอก ชุมพล โลหะชาละ] ตามที่ท่านเคยสั่งไว้ ท่านก็เล่าให้ฟังเรื่องราวตอนนั้นตั้งแต่ต้นให้ฟังอย่างละเอียดเลยว่า

วันปฏิวัติ [16 กันยายน พ.ศ. 2500] ท่านจอมพล ป. แวะไปบ้านท่านก่อน วันนั้นไม่มีใครอยู่ ท่านผู้หญิงไปต่างประเทศ ท่านหยิบเงินใส่กระเป๋าแล้วออกเดินทาง ท่านเป็นคนขับรถ “วิหคสายฟ้า” จากกรุงเทพฯ เอง โดยนั่งคู่กับ ลุงฉาย วิโรจน์ศิริ ที่ด้านหน้า ด้านหลังมี พลตรี บุลศักดิ์ วรรณมาศ นั่งคู่กับผู้การชุมพล รวมทั้งหมด 4 คน

ตอนนั้นถนนสายบายพาสยังไม่มี ถนนสุขุมวิทต้องวิ่งเข้าสัตหีบ ใครๆ ก็คิดว่าท่านคงจะแวะสัตหีบ เพราะลูกชายท่าน พลจัตวา ประสงค์ พิบูลสงคราม เป็นผู้บังคับบัญชาการนาวิกโยธินอยู่ที่นั่น แต่ท่านไม่แวะ ท่านเลี้ยวออกตรงอู่ตะเภามาระยองเลย

ในรถ จอมพล ป. ถามผู้การชุมพลว่าเป็นตำรวจอยู่ระยองนาน มีทางไหนที่จะออกเขมรใกล้ที่สุด ผู้การชุมพลก็ตอบว่า ถ้าไปทางจันทบุรีเข้าเมืองไพลินลำบากมาก ต้องใช้ช้างอย่างเดียว เพราะตอนนั้นยังไม่มีถนน ไปไม่ได้แน่ต้องเลือกมาตราด

ตราดก็มีทางเรือทางเดียว เพราะถนนตราด-คลองใหญ่ยังไม่มี ถ้าจะเข้าเขมรทางอำเภอบ่อไร่ก็ต้องใช้เรือวิ่งกลางคลอง กว่าจะถึงหลายวัน ก็มาที่ท่าเรือจ้างริมแม่น้ำตราดที่อำเภอเมืองฯ แล้ววิ่งเลยไปแหลมงอบ มาถึงเริ่มสว่าง ผู้การชุมพล กับ พลตรี บุลศักดิ์ไปถามจ่าเหลิม [จ.ส.ต. เฉลิม ชัยเชียงเอม] ลูกน้องที่เป็นตำรวจน้ำอยู่ เพื่อหาเรือไปเขมร

ช่วงนั้นเป็นหน้ามรสุมไม่มีเรือใหญ่ก็ได้เรือเล็ก ตอนนั้นสัก 8 โมง ไม่ไปก็ไม่ได้เพราะสว่างแล้ว วิทยุก็เริ่มประกาศข่าว คิดว่าไปตายเอาดาบหน้า ก็ว่าต้องให้จ่าเหลิมไปด้วยเพราะเป็นตำรวจน้ำ ในเรือก็จะมีผู้การชุมพล, ลุงฉาย, จ่าเหลิม และ จอมพล ป. ส่วน พลตรี บุลศักดิ์ให้เอารถกับเอาปืนกล 3 ขาไปคืนราชการ

ผมว่าคงเป็นฟ้าดินดลบันดาลให้ท่านหนีสำเร็จ เพราะไปได้เรือใหญ่ของลุงเล้ง ชื่อเรือ “ประสิทธิ์มงคล” เป็นเรือฉลอมขนาด 7 วากว่า เครื่องยนต์เผาหัวรอบช้าใช้น้ำมันขี้โล้ (น้ำมันเตา) เป็นเชื้อเพลิง เรือแข็งแรง แต่วิ่งช้ามาก วิ่งชั่วโมงหนึ่งวิ่งได้ 5-6 กิโลเมตร เขาวิ่งเลาะเกาะกรูดเข้าหาดเล็ก ไปถึงผมก็ 11 โมง [1] กว่า (5 ทุ่ม) เรือไปถึงหาดเล็ก

ถึงบ้านกำนันตอน 5 ทุ่มแล้วทำอย่างไรกันคะ

แม่กำลังสานเสื่อรำแพนไว้ตากเคยทำกะปิ พ่อยังไม่หลับก็เห็นมีคนส่องไฟฉายเรียกเป็นสัญญาณ แม่ก็เรียกผมว่ามีคนส่องไฟเรียก ผมกำลังจะนอนงัวเงียอยู่ก็ว่า “โอ๊ยอยากขึ้นก็ว่ายน้ำมา” พ่อผมบอกเลย “ไม่ได้” พ่อบังคับเลยให้ไปดู เขาต้องเดือดร้อน ทางโน้นเราก็เอาตะเกียงรั้วส่งสัญญาณตอบเขา

พอรับมาเสร็จแล้ว เพื่อนๆ ผมก็ถามว่าไปรับใคร ผมเองก็อยากรู้ แต่พ่อผมเป็นคนระเบียบ  ถ้าผู้ใหญ่คุยกันไม่ได้เรียกอย่าเสนอหน้าเข้ามาให้อยู่ห่างๆ ผมก็วางแผนว่าไปตักน้ำเลี้ยงแขก แล้วเข้าทางจ่าเหลิมที่นั่งถัดออกมา แล้วก็กระซิบถามจ่าเหลิมว่า “ลุงคนนั้น คนที่ผมสีเทาๆ ที่พ่อผมพินอบพิเทา โตเท่าปลัดกิ่งได้ไหม” เพราะว่าความเคยชินพ่อผมให้เกียรติสูงสุดคือปลัดกิ่งอำเภอโตที่สุดแล้ว ตำรวจโรงพักปลัดกิ่งมาต้องเข้าแถวตรง

จ่าเหลิมก็เอามือเขกหัวผมบอกว่า “เฮ้ย! โตกว่าตั้ง 10 เท่า” แต่ก็ไม่บอกว่าเป็นใคร

แล้วใครเลือกกำนันเป็นคนไปส่ง จอมพล ป.

เขาหวังให้พ่อผมไปส่ง แต่พ่อผมว่าท่านเองนะสู้ผมไม่ได้ ผมชำนาญกว่าทั้งจับปลา ทั้งร่องน้ำลึก หรือตรงไหนมีโขดหินผมรู้หมด ถึงจะเป็นเด็กแต่ก็เก่ง แล้วในหมู่บ้านเนี่ย ผมก็พูดได้ทั้งภาษาเขมร ภาษาไทย พ่อว่าอย่างนี้ ทุกคนเลยยอม ผมเลยได้เป็นกัปตัน แต่ตอนนั้นเขาเรียกไต้ก๋ง

พ่อก็ไปดูท้องฟ้าแบบคนโบราณ แกก็บอกว่าอีกประมาณชั่วโมงหนึ่งพายุจะถึง แล้วจะมีพายุสักชั่วโมงกว่า ต่อจากนั้นเราจะเห็นวิวตั้งลำได้แล้วค่อยหาที่เข้าไปหลบคลื่นไว้ก่อนให้สู้ไว้ก่อนเบาๆ

ผมก็เดินเรือตามที่พ่อสั่ง ประมาณเที่ยงคืนครึ่ง (24.30 น.) พายุก็มาถึง ตรงนี้ผมไปคุยกับผู้การชุมพลที่บ้านท่านยังตื่นเต้นไม่หาย ท่านว่า “ตอนนั้นฉันมีปืนพกสั้น ถ้าเรือจมจะยิงตัวตายก่อน ไม่ยอมจมน้ำตาย เพราะว่ากลัวฉลาม” แถวนั้นฉลามชุมมาก ผมไปจับปลาต้องปลดฉลามทิ้งเป็นประจำ

ทีหลังคลื่นซัดน้ำเข้าเรือท่วมดาดฟ้าเรือ เรือก็รั่ว ต้องใช้สูบชักน้ำออก ชักๆ ไปยางลิ้นลูกขาด ใช้ไม่ได้แล้ว น้ำเลยท่วมเครื่องโม่เล่ สักพักเครื่องยนต์ก็ดับ เรือไม่มีความหมาย มันก็ไปตามคลื่นตามลม ไม่รู้ห่างฝั่งเท่าไร ไม่มีอะไรวัดเลย ผมเลยสั่งให้ค่อยๆ ลงสมอ ก็เอาหม้อข้าว เอากระป๋อง เอาโพรงมาตักน้ำออก ผู้การชุมพลก็ต้องมาเป็นคนลำเลียงน้ำ

กำนันเป็นคนสั่งการในตอนนั้น

ไม่ต้องสั่งแล้ว ตอนนั้นก็ต้องช่วยกัน น้ำไม่เพิ่มเราก็ต้องติดเครื่อง แต่ไม่มีไฟจุด ไม้ขีดโดนความชื้นหัวมันเปื่อยเลย ลูกเรืออินเดียก็เอาแปรงสีฟันเก่ามาถูฟันลูกโม่ไฟแช็ก แช็กอีกทีก็ไม่ติด เขาก็เอามาเป่าแล้วใส่รักแร้หนีบดูดความชื้นเสร็จเขาก็เป่าทีหนึ่ง ผมก็เย้าๆ มันบอก “ต้องตั้งนโม เดี๋ยวจำไว้นะว่าท่องคาถาอะไร” แต่จริงมันเป่าไล่ความชื้น มันแช็กเปรี้ยงเดียวติด เราก็สูบลมจนหัวกะโหลกแดง เราก็ปิดเตาฟู มันก็ค่อยหมุน ได้รอบมันก็ปล่อยปุ๊บเครื่องมันก็ติด

ตอนที่เครื่องติดมันมืดมองไม่เห็น จ่าเหลิมบอกผมว่าเราวิ่งชนฝั่งก็แล้วกัน อย่างน้อยก็เอาชีวิตรอด ผมว่าไม่ได้ ผมน่ะไม่ตายแน่ แต่หลายคนเนี่ยจะเหลือรอดสักครึ่งหรือเปล่า จ่าเหลิมก็เถียงกับผม แต่ผมไม่ยอม ผมรับผิดชอบตรงนี้ ผมปรึกษาลุงเล้ง แกเป็นชาวประมงก็เห็นด้วยกับผม เรือวิ่งมาสักพักฝนก็ซา อาศัยว่าผมคุ้นกับพื้นที่ก็สังเกตวิวมันมีป่าสนแล้วต้นไม้สูงถัดไปก็คือร่องน้ำ ใกล้จะถึงหมู่บ้านปากคลองหางควาย [2]

แต่แรกตั้งใจไปส่ง จอมพล ป. ที่ไหน

พ่อผมบอกว่าให้วิ่งไปส่งค่ายเกาะกะปิ เพราะยังมีคนไทยตกค้างอยู่มาก แล้วยังมีญาติมีพวก ถึงนั่นก็สบายและอบอุ่น แม้เกาะกะปิจะมีหินโสโครกอยู่กลางคลอง แต่ผมรู้จักร่องน้ำแถวนั้นดี แต่เรือเจอพายุ ถังน้ำจืดอยู่ท้ายเรือถูกคลื่นตีแตก เลยไปอยู่ปากคลองหางควาย มีค่ายทหารย่อยหัวหน้าชื่อ ร้อยตรี เชพเชือน ผมรู้จักดี

เรือไม่มีเรดาร์ ไม่มีโซนาร์ ไม่มี GPS แล้วรู้ได้อย่างไรว่าตรงไหนร่องน้ำ

อาศัยการสังเกตเอา เราวิ่งอยู่ประจำ ก็รู้ว่าตรงไหนเป็นอะไร อย่างตอนจะเข้าคลองหางควาย ผมต้องสำรวจร่องน้ำ ถ้าเราไม่คุ้นเคยว่าข้างไหนโขด ข้างไหนร่องน้ำ ไปติดหินติดตื้นคลื่นตีก็แตกเหมือนกัน

ตอนเข้าค่ายทหารที่ปากคลองหางควาย ผมใช้ไม้ถ่อประจำเรือยาว 6 เมตร ไปยืนหัวเรือเอาไม้ตำพื้นและสังเกตแรงสะท้อนที่กลับมา ถ้าเจอทรายจะสะท้อนขึ้นมาถึงมือเราดังแชะๆ ก็หนีไปหน่อย ถ้าไปเจอร่องน้ำจะเป็นดินเป็นเลนมันนิ่มๆ ก็ตรงไปได้ ผมก็ให้สัญญาณจนวิ่งผ่านโขดผีสิงเข้าไปได้ เทียบประมาณตี 4 กว่า ทหารก็เอาสปอตไลท์ฉาย ผมก็ต้องยกมือแล้วเอาเสื้อผูกตะขอไม้ให้เห็นว่าเรามาดี ผมเป็นล่ามคอยแปลให้ว่าผู้ใหญ่มาขอลี้ภัย เขาก็จะพาไปที่ค่ายทหารใหญ่ของเขมรที่แหลมด่าน [จังหวัดเกาะกง] จากคลองหางควายไปประมาณ 4-5 ชั่วโมง

ถึงค่ายทหารพอดีตอนเที่ยง ไม่ต้อนรับอะไร มีแค่ต้มข้าวเปียก (ไม่ใช่ข้าวต้ม) กับปลากดแห้งเค็มปี๋ กินเสร็จก็นั่งรอตรงโต๊ะยาว นั่งหลับกันมั่ง เพราะอดนอนมาทั้งคืน เขมรเขากินข้าวแล้วก็นอนพักกลางวัน บ่ายสองถึงจะทำงานอีกที

พอบ่ายสองเสียงแตรสนามเรียกรวมพล ทหารแต่งเครื่องแบบมาเต็มยศ หลังจากรายงานเข้าพนมเปญ สีหนุ [สมเด็จพระนโรดมสีหนุ นายกรัฐมนตรี] สั่งให้ต้อนรับให้ดีที่สุด เลยได้ย้ายขึ้นไปอยู่บนเรือนพักรับรองของค่ายทหาร ผมก็ไปเป็นล่าม ว่างก็นวดให้ท่าน

ผมก็เรียก จอมพล ป. ว่า “ลุง” ยังถามท่านเลยว่า “ตามที่วิทยุเขาประกาศลุงก็คุมหมดทั้งทหารตำรวจหมด แล้วลุงจะหนีเขามาทำไม” ท่านก็ตอบว่าไม่ใช่กลัวเขา แต่ถ้าอยู่คนไทยจะฆ่ากันมากมาย ผมจำได้แค่นั้นเอง ที่เหลือนอกนั้นเขาคุยกันละเอียดอีกเยอะ แต่ผมไม่ค่อยได้สนใจ

แล้วรู้ว่าคนที่รับเป็น จอมพล ป. ตอนไหนคะ

ผมมารู้ว่า จอมพล ป. เป็นใครตอนที่เข้าค่ายทหาร ในเรือคืนนั้นไม่มีเวลาถามเรื่องอะไร ต้องแก้ไขปัญหาตรงหน้าที่เกิดทุกช็อตไปเลย

เรื่องราวต่อจากนั้นก็เป็นอย่างที่เราท่านรู้กัน จอมพล ป. พิบูลสงคราม เลือกญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ 3 ยื่นเรื่องขอลี้ภัยการเมืองและพำนักอยู่ที่นั่น จนถึงแก่อสัญกรรม

คลิกอ่าน “ประวัติศาสตร์เมืองตราด : จากหัวเมืองตะวันออก สู่สุดเขตแดนไทยบูรพา” ฟรี! ได้ที่ลิงค์นี้ http://bit.ly/3mvXkhA

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] ภาษาตราด เรียก 1 ทุ่ม ว่า 7 โมง, 2 ทุ่ม ว่า 8 โมง

[2] กำนันประเสริฐ ศิริ เรียก “คลองหางควาย” เพราะน้ำในแม่น้ำครางครืน กับแม่น้ำกะปอช่วงฤดูฝนน้ำแรงมาก เมื่อไหลมารวมกันจะพุ่งออกทะเล มาปะทะกับน้ำทะเล และลมพายุก็จะสะบัดได้เหมือนหางควาย เกิดเป็นน้ำวนที่อันตราย หากคนเรียกเพี้ยนไป “คลองสนามควาย”


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2566