ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
เจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ (คุสตาฟ โรลิน-ยัคมินส์) “ที่ปรึกษาราชการทั่วไป” ของสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นเจ้าพระยาเพียงคนเดียว ที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ครั้งเดียวถึงขั้น “เจ้าพระยา”
ประวัติ คุสตาฟ โรลิน-ยัคมินส์
เจ้าพระยาอภัยราชาฯ เป็นนักกฎหมายชาวเบลเยียม มีประสบการณ์สำคัญหลากหลาย เช่น ผู้ริเริ่มตั้งสภากฎหมายระหว่างประเทศและดำรงตำแหน่งเลขานุการของสภา, เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงโยธิการ, อาจารย์กิตติมศักดิ์วิชากฎหมายมหาวิทยาลัยเอดินเบอร์กและออกซ์ฟอร์ด, สมาชิกสภาพกฎหมายกรุงปารีสและแคนาดา, ผู้พิพากษาในศาลอนุญาโตตุลาการกรุงเฮก ฯลฯ
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงได้พบกับพระยาอภัยราชาฯ ขณะอายุเกือบ 60 ปี และทรงชักชวนให้มารับตำแหน่งที่ปรึกษากฎหมายนานาชาติในสยามซึ่งว่างอยู่ เมื่อทรงแจ้งข่าวแก่สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ก็ทรงตอบว่า “ถ้าเงินไม่สูงกว่า 3,000 ปอนด์ต่อ 1 ปี แล้วเธอว่าจ้างได้ เพื่อที่จะได้มาลองใช้ดูสัก 2 ปีก่อน”
เจ้าพระยาอภัยราชาฯ มีเงื่อนไขและคำปฏิญาณตนในการรับราชการในสยาม 5 ข้อ คือ 1. เงินค่าจ้าง 3,000 ปอนด์/ปี แบ่งจ่ายทุก 3 เดือน กำหนดสัญญา 1 ปี 2. บ้านพักพร้อมเฟอร์นิเจอร์ในกรุงเทพฯ 1 หลัง และเรือนตากอากาศนอกเมือง 1 หลัง 3. การทำสัญญาจ้างแลพินัยกรรม หากเสียชีวิตก่อนสิ้นกำหนดสัญญา ให้รัฐบาลไทยส่งมอบเงินบำเหน็จต่างๆ ให้ภรรยาและบุตร 4. รัฐบาลไทยรับผิดชอบค่าเดินทางจากเบลเยียมมาสยามจำนวน 400 ปอนด์ 5. คำปฏิญาณว่าระหว่างรับราชการไทยจะอุทิศตนเต็มความสามารถ และซื่อตรงต่อสยาม
เจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ กับราชการในสยาม
เมื่อตกลงในเงื่อนไขกันได้ เดือนกันยายน พ.ศ. 2435 เจ้าพระยาอภัยราชาฯ ก็เดินทางถึงสยาม นอกจากงานในตำแหน่ง “ที่ปรึกษาราชการทั่วไป” แล้ว ก็ยังมีปฏิบัติงานสำคัญอื่นๆ เช่น
เจรจากับรัฐบาลฝรั่งเศส ใน ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) ที่เกิดกรณีพิพาทระหว่างไทย-ฝรั่งเศส เจ้าพระยาอภัยราชาฯ ในฐานะอัครราชทูตไทย ผู้มีอำนาจเต็มประจำกระทรวงต่างประเทศ เป็นหนึ่งในคณะที่เดินทางไปเจรจากับรัฐบาลฝรั่งเศส
ถวายโครงการศึกษาแด่พระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 ด้วยเป็น “ฝรั่ง” เพียงคนเดียวที่รัชกาลที่ 5 ทรงไว้วางพระราชหฤทัย เมื่อพระองค์มีพระราชดำริจะให้พระราชโอรสไปศึกษายุโรป เจ้าพระยาอภัยราชาฯ ก็เป็นผู้วางโครงการศึกษาถวายว่าควรทรงศึกษาวิชาการใด, ประเทศใดในยุโรป โดยโปรดเกล้าฯ ให้เป็นหัวหน้าคณะนำเสด็จคณะพระราชโอรสไปทรงศึกษาในประเทศแถบยุโรป เมื่อ พ.ศ. 2438
ริเริ่มการศึกษาด้านกฎหมาย เจ้าพระยาอภัยราชาฯ เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งโรงเรียนกฎหมายเพื่อผลิตเนติบัณฑิตไทยขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ 2439 และเป็น 1 ใน 5 กรรมการสอบไล่ของนักเรียนกฎหมายครั้งแรกที่สนามสอบศาลาการเปรียญวัดมหาธาตุฯ
จัดกิจการบ้านเมือง ช่วยสร้างความเจริญและปรับปรุงกิจการต่างๆ เช่น เป็นผู้ถวายโครงการเสด็จประพาสยุโรปแก่รัชกาลที่ 5 ในครั้งแรก พ.ศ. 2440 ซึ่งระหว่างการเสด็จเยือนยุโรปนั้น เจ้าพระยาอภัยราชาฯ ได้รับการไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็น “ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน” ของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งเจ้าพระยาอภัยราชาฯ เป็นคนเดียวในคณะที่ปรึกษา ส่วนที่เหลืออีก 4 นั้นเป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ทั้งสิ้น
ฯลฯ
การปฏิบัติงานหลายด้านซึ่งก้าวหน้าไปด้วยดีนี้เอง รัชกาลที่ 5 จึงพระราชทานสัญญาบัตรเป็น “เจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ” (พ.ศ. 2439) ซึ่งเป็นเจ้าพระยาคนเดียวที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ครั้งเดียวถึงขั้นเจ้าพระยา และเป็นชาวต่างชาติคนที่ 2 ที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ชั้นเจ้าพระยา ต่อจาก “เจ้าพระยาวิชาเยนทร์” สมัยกรุงศรีอยุธยา
ทว่า อากาศที่ร้อนมากของสยาม ประกอบกับความชราภาพ แพทย์ประจำตัวจึงลงความเห็นให้เจ้าพระยาอภัยราชาฯ เดินทางกลับไปพักผ่อนในยุโรป จึงทูลลาออกจากราชการในเดือนเมษายน พ.ศ. 2442 หลังกลับไปยุโรปได้ราว 2 ปี เจ้าพระยาอภัยราชาฯ ก็ถึงแก่อสัญกรรม
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
กัลยา จุลนวล เรียบเรียง. เจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ (คุสตาฟ โรลิน ยัคมินส์), กรมศิลปากร พ.ศ. 2515.
ณิชชา จริยเศรษฐการ, บุศยารัตน์ คู่เทียม บรรณาธิการ. อาไคฟ ขอให้เก็บให้จงดี. กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม. พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2567.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 กรกฎาคม 2567