เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เคยปฏิเสธรัชกาลที่ 5 ไม่ยอมเป็น “สมเด็จเจ้าพระยา” เพราะเหตุใด?

เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ช่วง บุนนาค ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ต้น รัชกาลที่ 5 งานแซยิดสมเด็จช่วง
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเป็น “เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์” เคยปฏิเสธรัชกาลที่ 5 ไม่ขอรับการสถาปนาขึ้นเป็น “สมเด็จเจ้าพระยา” เรื่องนี้เป็นเพราะเหตุใด?

ขุนนางใหญ่สายสกุลบุนนาค

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เป็นบุตรคนใหญ่ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) และท่านผู้หญิงจัน เกิดเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2351 ในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

ท่านถวายตัวรับราชการเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ 2 เจริญเติบโตก้าวหน้าตามลำดับ กระทั่งเป็น “เจ้าพระยา” ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

แต่พอถึงสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อพระองค์มีพระราชประสงค์จะสถาปนาขึ้นเป็น “สมเด็จเจ้าพระยา” ท่านกลับปฏิเสธ

เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ กราบทูลปฏิเสธรัชกาลที่ 5 

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เล่าเหตุการณ์นี้ไว้ในพระนิพนธ์ “พระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ 5” ว่า

เมื่อครั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ปีมะโรง (พ.ศ. 2411) เดิมรัชกาลที่ 5 มีพระราชดำริจะเลื่อนกรมเจ้านายและเลื่อนยศข้าราชการผู้ใหญ่ อนุโลมตามอย่างครั้งรัชกาลที่ 4 บรมราชาภิเษก

กล่าวคือ จะทรงเลื่อนกรมหลวงวงศาธิราชสนิท เป็นกรมสมเด็จฯ พระองค์หนึ่ง เลื่อนกรมหลวงเทเวศรวัชรินทร กับสมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา กรมขุนบำราบปรปักษ์ เป็นกรมพระอีก 2 พระองค์

ส่วนขุนนางนั้น รัชกาลที่ 5 จะทรงสถาปนาเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ กับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ เป็นสมเด็จเจ้าพระยา

ทั้งจะโปรดฯ ให้เลื่อนพระยาสุรวงศวัยวัฒน์ จางวางมหาดเล็ก (วร บุนนาค) เป็นเจ้าพระยา ที่สมุหพระกลาโหม เลื่อนพระยาเทพประชุน ปลัดทูลฉลองกรมพระกลาโหม (ท้วม บุนนาค) เป็นเจ้าพระยาพระคลัง ว่าการต่างประเทศ

“แต่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์กราบบังคมทูล ขออย่าให้ทรงสถาปนาตัวท่านขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยา โดยอ้างว่าบิดาของท่านเป็นเจ้าพระยา รับราชการมาได้ช้านาน ครั้นทรงสถาปนาเป็นสมเด็จเจ้าพระยา อยู่ได้ไม่เท่าใดก็ถึงพิราลัย จึงเกรงว่าตัวท่านเป็นสมเด็จเจ้าพระยา อายุจะสั้น”

กรมดำรง ทรงนิพนธ์อีกว่า เหตุที่คราวนั้นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ไม่รับเป็นสมเด็จเจ้าพระยา การที่จะเลื่อนกรมเจ้านายผู้ใหญ่จึงเป็นอันระงับไปด้วย

หากพิจารณาตามที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์กราบบังคมทูล บิดาของท่าน คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ ได้รับพระราชทาน “สมเด็จเจ้าพระยา” จากรัชกาลที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2394 จากนั้นอีกราว 4 ปีต่อมาก็ถึงแก่พิราลัยเมื่อ พ.ศ. 2398 เหตุนี้จึงทำให้ท่านเห็นว่าอาจอายุสั้นเช่นบิดาก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม กรมดำรงทรงสันนิษฐานไว้ในพระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ 5 ด้วยว่า “เล่ากันมาอย่างนี้ แต่น่าจะมีเหตุผลอย่างอื่นในทางรัฏฐาภิบาลโนบาย ซึ่งท่านยังรู้สึกขัดข้อง จึงไม่ยอมรับยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยาในคราวนั้น และมายอมเป็นเมื่อปีระกา พ.ศ. 2416”

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ถึงแก่พิราลัยเมื่อ พ.ศ. 2426 หรือ 10 ปีถัดมา หลังจากขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. พระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ 5. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : มติชน, 2555


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 กรกฎาคม 2567