ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นบุตรคนใหญ่ของสมเด็จพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) และท่านผู้หญิงจัน เกิดในตอนปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2351 มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม 9 คน
บรรพบุรุษของตระกูลบุนนาคเป็นเสนาบดีคนสำคัญ มาตั้งแต่สมัยอยุธยา และได้รับราชการแผ่นดินสืบทอดต่อกันมา สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้รับการศึกษาและฝึกฝนวิชาการต่างๆ เป็นอย่างดี เนื่องจากบิดาของท่านเป็นเจ้าพระยาพระคลัง เสนาบดีที่ว่าการต่างประเทศและว่าการปกครองหัวเมืองชายฝั่งทะเลมาก่อน
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์มีความสนใจในภาษาอังกฤษ สามารถพูด และอ่านตำราภาษาอังกฤษในสมัยนั้นได้อย่างคล่องแคล่ว ท่านได้คบหากับชาวตะวันตก ที่เข้ามาในประเทศไทยในสมัยนั้น โดยเฉพาะหมอบรัดเลย์ ท่านยังเป็นบุคคลสำคัญในการเจรจาและทำสัญญากับชาติตะวันตก ที่เข้ามาติดต่อกับไทยในสมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 โดยตลอด นอกจากนี้ยังมีความสามารถในการต่อเรือแบบฝรั่ง จนสามารถต่อเรือกำปั่นขนาดใหญ่เป็นจำนวนหลายลำ ท่านยังมีความสนใจในความรู้อื่นๆ เช่น วรรณคดี การค้าการปกครอง เป็นต้น
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมัยรัชกาลที่ 2 และรับราชการมาโดยตลอดจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 มีตำแหน่งราชกาลในระดับสูงคือ อัครมหาเสนาบดีที่สมุหกลาโหม ในสมัยรัชกาลที่ 4 และดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 ยังทรงพระเยาว์ ภายหลังจากที่ลาออกจากราชกาลในบั้นปลายชีวิต ท่านยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินจนถึงแก่พิราลัย นับเป็นมหาบุรุษคนสำคัญของประเทศชาติที่ประกอบคุณงามความดีจนเป็นที่ประจักษ์แก่คนทั้งปวง
ดังบันทึกของ เซอร์จอห์น เบาวริ่ง ทูตอังกฤษที่เข้ามาติดต่อกับไทยในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งกล่าวไว้ว่า “เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์คนนี้ ถ้าไม่เป็นคนเจ้ามารยา หรือคนรักบ้านเมืองของตนก็ตาม ต้องยอมรับว่าฉลาดล่วงรู้การล้ำคนทั้งหลายที่เราได้พบในที่นี้ ทั้งมีกริยาอัชฌาสัย อย่างผู้ดี และรู้จักพูดจาเหมาะแก่การ”
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักพระทัย และยกย่องเกียรติคุณของท่านว่า “ครั้นถึงราชกาลปัจจุบัน ได้รับตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ฉลองพระเดชพระคุณโดยอัธยาศัย เที่ยงธรรม ซื่อตรงมิได้แลเกรงผู้ใด จะว่ากล่าวตัดสินการสิ่งใดจะเป็นคุณประโยชน์โดยทั่วกัน และเป็นแบบอย่างต่อไปภายหน้า สิ้นกาลนาน”
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์สมรสกับท่านผู้หญิงกลิ่น มีบุตรและธิดารวมกัน 4 คน ในบั้นปลายชีวิต ของท่านมักจะพักอยู่ที่เมืองราชบุรี และถึงแก่พิราลัยด้วยโรคลมบนเรือที่ปากคลองกระทุ่มแบน สมุทรสาคร รวมอายุ 74 ปี เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2425
ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม ผู้เขียนหนังสือ “สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ มหาบุรุษ” ได้กล่าวถึงสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ว่า
“เราเคย ได้ยินคนทั้งปวงยกย่องพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง พระปิยมหาราช รัชกาลที่ 5 กันอยู่เสมอว่า พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถฉลาดเฉลียวหลักแหลมยิ่งนักในกระบวนราชการแผ่นดิน แต่เมื่อท่านได้อ่านประวัติสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ในหนังสือเล่มนี้จบแล้วท่านจะเห็นได้ว่า ที่พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถเช่นนั้น ส่วนหนึ่งที่เนื่องจากพระองค์ได้ทรงศึกษาความรู้ต่างๆ จากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นครูเป็นแบบอย่าง ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาในหนังสือเล่มนี้เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ จึงควรจะยกย่องเทอดทูนเกียรติคุณงามความดีของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ที่ได้บำเพ็ญไว้ในแผ่นดินไทยตลอดชนมายุขัยของท่านนั้นไว้ตลอดกาลพระอาทิตย์ส่องแสงและแม่น้ำเจ้าพระยาหลั่งไหลลงสู่ทะเลด้วยประการฉะนี้”
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ยังเป็นบุคคลสำคัญมีคุณูปการต่อสถานศึกษาที่มีนามว่า “มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา” เนื่องจากท่านเป็นเจ้าของบ้านหรือจวนที่ใช้เป็นที่สถานที่จัดตั้งโรงเรียนราชวิทยาลัย โรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และโรงเรียนศึกษานารีในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าต่อมาในปี พ.ศ. 2474 โรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จเจ้าพระยาจะย้ายแลกเปลี่ยนพื้นที่กับโรงเรียนศึกษานารีแล้ว แต่นามสถาบันก็ยังคงเป็น “บ้านสมเด็จเจ้าพระยา” และดำเนินการจัดการเรียนการสอนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) จึงเป็นศูนย์รวมจิตใจของครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนบุคคลที่อยู่ในชุมชนใกล้เคียง ทุกคนต่างให้ความเคารพรักและเทิดทูนท่าน โดยขนานนามว่า “เจ้าพ่อ” และเรียกตนเองว่า “ลูกสุริยะ” เนื่องจากท่านได้รับพระราชทานตรามหาสุริยมณฑลจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นตราประจำตัวและยึดถือเป็นสัญลักษณ์แทนตัวท่านมาโดยตลอด
อ่านเพิ่มเติม :
- สมเด็จช่วง ขุนนางผู้ “ทรงอิทธิพล” แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
- “ความแผ่นดินตาก” สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ คิดก่อกบฏ?
อ้างอิง :
ประวัติสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ข้อมูลจากเว็บไซต์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 มกราคม 2561