ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2543 |
---|---|
ผู้เขียน | เอนก นาวิกมูล |
เผยแพร่ |
วังบูรพา เป็นวังแบบฝรั่งของจอมพล สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช (พระอนุชาในรัชกาลที่ 5) ต้นสกุลภาณุพันธุ์
วังนี้ตั้งอยู่ทางด้านบูรพาหรือด้านตะวันออกของพระนคร ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาเลียนที่ชื่อ ยุกิง แกรซี
สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงกล่าวในสาส์นสมเด็จ ฉบับวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2483 ว่า เป็นวังแรกหรืออาคารแห่งแรกของไทยที่มีการ “วางศิลาฤกษ์” แบบฝรั่ง คือวางศิลาแท่งใหญ่บนอิฐที่ก่อขึ้นมา ในศิลาบรรจุจดหมายเหตุกับตัวอย่างของต่าง ๆ เช่น เงินตรา เป็นต้น
หากวางอย่าง ไทยเรียกว่า “ก่อฤกษ์” ต่างกันเล็กน้อยคือ ไทยวางอิฐปิดทอง ปิดเงิน ปิดนาก ไม่ใช่ศิลา
วังบูรพาเริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2419 สมเด็จฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เริ่มมาประทับเมื่อ พ.ศ. 2424 และประทับอยู่ที่นี่จนกระทั่งทิวงคตเมื่อ พ.ศ. 2471 ระหว่างนั้นวังบูรพาถือเป็นสถานที่อันโอ่อ่า มี การชุมนุมเต้นรําและจัดงานใหญ่ ๆ หลายต่อหลายหน งานเหล่านี้มีอะไรบ้างผู้เขียนได้เคยเขียนไปแล้ว ขอให้ดูในหนังสือ วังบ้านฐานถิ่น (สํานักพิมพ์แสงดาวจัดพิมพ์ พ.ศ. 2542)
ราว พ.ศ. 2478 ส่วนหนึ่งของวังบูรพากลายเป็นโรงเรียนการช่างสตรีชื่อ ภาณุทัต ดําเนินการโดย อ.เยื้อน ภาณุทัต โรงเรียนภาณุทัตเจริญก้าวหน้าเรื่อยมาจนราว ๆ พ.ศ. 2484 ก็ต้องหยุดกิจการ แล้วตัววังก็ถูกใช้เป็นโรงเรียนพณิชยการของกระทรวงศึกษาธิการ แต่โรงเรียนพณิชยการดังกล่าวชื่ออะไร ดําเนินการถึงปีไหน ยังค้นรายละเอียดไม่ได้
ปลาย พ.ศ. 2495 มีการขายวังบูรพาเพื่อจัดสรรมรดก หลังจากนั้นคือราว พ.ศ. 2497 ก็มีการรื้อวังบูรพาทิ้ง และสร้างศูนย์การค้าแห่งแรกของเมืองไทยขึ้น
สมเด็จฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2402 ทิวงคตเมื่อ พ.ศ. 2471 พระชันษา 69 ปี ทรงมีพระโอรสธิดาหลายองค์ ได้แก่ พระองค์เจ้าชายศิริวงศ์วัฒนเดช พระองค์เจ้าหญิงเฉลิมเขตรมงคล พระองค์เจ้าหญิงรําไพประภา พระองค์เจ้าอาภัสรวงศ์ พระองค์เจ้าพีระพงศ์ภาณุเดช (นักแข่งรถ) พระองค์เจ้านรเศรษฐ์สุริยลักษณ์ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต
ปัญหาและที่มาของเรื่องที่จะเขียนคราวนี้คือ ราวปี พ.ศ. 2531 คุณหญิงมณี สิริวรสาร ซึ่งเคยสมรสกับ พระองค์เจ้าอาภัสรวงศ์ และพระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต ได้จัดพิมพ์หนังสือ “ชีวิตเหมือนฝัน” เล่ม 1 (ภาคที่ 1-2) ขึ้น (ไม่ระบุปีพิมพ์ที่แน่ชัด) หนังสือดังกล่าวเล่าถึงการซื้อขายวังบูรพาอย่างละเอียดในบทที่ 35, 37 และ 42 สรุปว่านักธุรกิจหนุ่มคนหนึ่งคือ นายโอสถ โกศิน เป็นผู้จัดการซื้อขายครั้งนี้
ครั้นหนังสือแพร่หลายออกไปแล้ว นายโอสถจึงได้เห็นว่าข้อความหลายตอนคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ทําให้ท่านได้รับความเสียหาย ทางชื่อเสียงอย่างรุนแรง
ผู้เขียนเป็นผู้หนึ่งที่เคยเขียนเรื่องวังบูรพา และเคยอ้างข้อเขียนของคุณหญิงมณีในหนังสือชื่อ วังบ้านฐานถิ่น เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2543 นี้ ผู้เขียนได้รับจดหมายปรับทุกข์จากคุณโอสถ ซึ่งปัจจุบัน (พ.ศ. 2543) อายุ 87 ปีแล้ว บอกว่าท่านไม่มีสื่อใดที่จะช่วยชี้แจงหรือทําความกระจ่างเรื่องนี้ให้แก่ท่านเลย แม้จะเคยทําจดหมายทบทวนข้อเท็จจริงกับคุณหญิงมณีโดยทางส่วนตัวหลังจากหนังสือออกไปแล้ว คนทั่วไปหรือคนนอกก็ยังไม่รู้เรื่องอยู่ดี เพราะคุณหญิงมณีไม่มีจังหวะนําข้อมูลมาแสดงต่อสาธารณชนอีก ที่สําคัญคือ ณ บัดนี้ คุณหญิงมณีเองก็ได้ถึงแก่กรรมไปเสียแล้ว เพราะฉะนั้นท่านจึงอยากจะฝากหลักฐานเบื้องหลังการซื้อขายวังบูรพาให้ช่วยเผยแพร่ด้วย
ผู้เขียนเห็นว่าประวัติศาสตร์มีหลายด้านหรือหลายมุมจริง ๆ ยิ่งมีข้อมูลให้ศึกษามากก็ยิ่งทําให้ประวัติศาสตร์กระจ่างมากยิ่งขึ้น กรณีการซื้อขายวังบูรพาก็เช่นกัน เป็นเรื่องที่ควรรับฟัง เพราะฉะนั้นหลังจากผู้เขียนได้ไปพบคุณโอสถด้วยตนเอง และกลับมาทบทวนเรื่องนี้อีกนานนับเดือนแล้ว จึงขอนําคําข้อมูลมารายงานให้ผู้สนใจได้ทราบความเป็นไปของวังบูรพาบ้าง
ก่อนจะอ่าน ขอสรุปประวัติคุณหญิงมณีให้ท่านได้ทราบสักเล็กน้อยว่า ท่านเกิดเมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2458 ในสกุลบุนนาค บิดาเคยเป็นทูต ต่อมาได้สมรสกับพระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต ครั้นพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ สิ้นพระชนม์แล้วได้สมรสกับพระองค์เจ้าอาภัสรวงศ์ และนายแพทย์ปชา สิริวรสาร ตามลําดับ
รายละเอียดนอกเหนือจากนี้ ขอให้อ่านหนังสือชีวิตเหมือนฝันเพิ่มเติม หนังสือเล่มนี้เขียนอย่างตรงไปตรงมาน่าอ่านมาก ส่วนคุณโอสถ โกศิน เกิดเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2458 ในสกุลขุนนาง บิดาเคยเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัด ตัวคุณโอสถเรียนจบกฎหมายตั้งแต่ อายุเพียง 18 ปี แต่ต้องรับราชการแผนกสามัญในกระทรวงยุติธรรม รอจนอายุครบ 25 ปีจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาตามกฎหมาย
หลังจากรับราชการต่อมาอีกประมาณ 3 ปี ได้ลาออกไปประกอบอาชีพทนายความและทําธุรกิจต่าง ๆ ทั้งด้านค้าขาย อุตสาหกรรม และจัดสรรที่ดิน กระทั่ง พ.ศ. 2497 จึงเดินทางไปเรียนวิชากฎหมายในประเทศอังกฤษเป็นเวลา 3 ปีเต็ม จนจบ Barrister-at-Law (เนติบัณฑิต) จากสํานัก Lincoln’s Inn จึงกลับเข้ารับราชการเป็นรอบที่สอง
เคยได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ใน พ.ศ. 2515 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมระหว่าง พ.ศ. 2516-2517 (ในสมัยรัฐบาลของ ฯพณฯ สัญญา ธรรมศักดิ์) เคยได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา และสภานิติบัญญัติเกือบทุกสมัย
คุณโอสถเป็นผู้ที่สนใจด้านภาษาและวรรณคดีไทย เคยเขียนเรื่องย่อคํากลอนสุนทรภู่ 2 เรื่องคือ ขุนช้างขุนแผน และพระอภัยมณี พิมพ์ออกแจกจ่ายแก่เพื่อนฝูงและสถานศึกษาต่าง ๆ หนังสืออีกเล่มหนึ่งที่เขียนได้น่าอ่านมากคือ “เมื่อหัวใจผมเต้นครบ 2,270,592,000 ครั้ง” ซึ่งเป็นหนังสืออัตชีวประวัติ พิมพ์แจกเมื่อ พ.ศ. 2516
วันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2530 คุณโอสถได้เขียนจดหมายถึงคุณหญิงมณีโดยคัดลอกข้อความทั้งหมดที่คุณหญิงมณีเขียนถึงการซื้อขายวังมาลงเพื่อเป็นการทบทวนก่อน (ยาวราว 5 หน้า ขอให้ท่านอ่านจากหนังสือ ชีวิตเหมือนฝันโดยตรง หรือดูที่ถ่ายเอกสารมาลงบางส่วน จากนั้นจึงชี้แจงข้อเท็จจริงเป็นข้อ ๆ ไปดังนี้
1. ที่กล่าวว่า “ได้มีคณะพ่อค้าจีน ซึ่งมีนายโอสถ โกศิน เป็นผู้แทนได้มาติดต่อ” นั้น
ชี้แจงว่าหาใช่พ่อค้าจีนดังคํากล่าวไม่ หากเป็นตัวคุณโอสถเองเพียงผู้เดียว
“ผมติดต่อกับพระองค์อาภัสโดยตรง และผมเป็นผู้เดียวที่ไปติดต่อ ผมได้เฝ้าเจ้านายสามพระองค์ คือ พระองค์เจ้าหญิงเฉลิมเขตร ซึ่งรู้จักกันดีกับคุณพ่อคุณแม่ผม ตั้งแต่สมัยกรมหลวงลพบุรีเป็นเทศาภาคใต้ และคุณพ่อผมเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลอยู่ทางใต้ กับเจ้านายอีกสองพระองค์ซึ่งผมเพิ่งรู้จัก คือพระองค์อาภัส และพระองค์รําไพ ส่วนพระองค์พีระผมไม่มีโอกาสเฝ้า ทั้ง ๆ ที่เคยเรียนหนังสือที่เทพศิรินทร์ชั้นเดียวกันมา ส่วนคุณหญิง (หมายถึงคุณหญิงมณี-เอนก) ผมยังไม่รู้จัก
ตระกูลของผมแม้จะไม่สูงศักดิ์ แต่ก็นับว่าเป็นคนไทยที่อยู่ในวงศ์ราชการมาตั้งแต่สมัยปู่ เรียกว่าเป็นไทยแท้ มิได้มีเชื้อสายจากต่างด้าวเหมือนตระกูลใหญ่ ๆ บาง ตระกูล นามสกุลโกศินได้รับพระราชทานมาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พวกผมสังกัดในกระทรวงยุติธรรมกันทุกคน คือ คุณพ่อ คุณอาว์ พี่ชาย ตัวผม และพี่เขย
ผมเป็นคนเดียวที่แหวกแนว คือรับราชการเป็นผู้พิพากษาได้ไม่ถึง 10 ปีก็ออกมาค้าขายเสีย 10 ปี แล้ว จึงไปเรียนกฎหมายอังกฤษ แล้วกลับมารับราชการเป็นรอบที่สอง เริ่มต้นด้วยเป็นเลขาธิการสํานักงานส่งเสริมสินค้าขาออก ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี โดยมี พ.อ.ทิน บุนนาค เป็นรองเลขาธิการ ต่อมาจึงได้เป็นรัฐมนตรีอีกสองกระทรวง
การซื้อวังบูรพานี้ผมขอรับรองว่ามิได้เป็นตัวแทนหรือนายหน้าให้คณะพ่อค้าจีนเลย ผมคิดเองทําเอง และได้แบ่งให้เพื่อนสนิท 3-4 คนถือหุ้นบ้าง ก็เป็นคนสัญชาติไทย มีชื่อและนามสกุลเป็นไทยทั้งนั้น คนหนึ่งเป็นรัฐมนตรีในสมัยนั้น”
2. กรณีที่กล่าวว่า “พระทายาทมีความเห็นว่า ไม่ควรเจรจากับนายโอสถคนเดียว แต่ให้เปิดประมูล ฯลฯ”
คุณโอสถชี้แจงว่า “ผมตกลงกับพระองค์อาภัสเรียบร้อยแล้ว นัดวันรุ่งขึ้นจะไปโอน แต่ท่านบอกผมมาว่ามีคนอื่น คือพวกธนาคารยื่นหนังสือขอซื้อเข้ามาจะทําอย่างไร ผมก็ทูลท่านว่าควรให้ประมูลราคากัน และนัดอีกสามวันให้ประมูล แล้วก็ประมูลกัน ผมให้ราคา 12 ล้าน 2 หมื่น เป็นฝ่ายชนะ ไม่ใช่ 10 ล้าน ผมจําได้ว่าผมเขียนเช็ค 7 ฉบับในวันโอน โดยได้ขอให้ผู้ขายจดพระนามมาให้ จําได้ว่าผมจ่ายให้คุณหญิงฉบับหนึ่ง จากสมุดบันทึกของผมผมเขียนเช็คใบละ 1,717,142.85 บาท เมื่อเขียนไป 6 ใบ ผมต้องทูลถามท่านผู้ขายว่า ยังเหลือเศษอีก 5 สตางค์จะให้เขียนให้ใคร เมื่อท่านตรัสแล้วผมก็เติมลงไป ฉะนั้นส่วนแบ่งในวัน นั้นมีท่านหนึ่งได้มากกว่าท่านอื่นอยู่ 5 สตางค์”
3. กรณีสําคัญคือเรื่อง “ฮั้ว” ประมูล
คุณหญิงมณีกล่าวว่าในการประมูล “ได้มีเจ้าอื่นมาประกวดกับคณะนายโอสถเพียงรายเดียวเท่านั้น ฯลฯ ซึ่งภายหลังเราได้ทราบว่าทางคณะพ่อค้าจีนที่ได้ติดต่อไว้ก่อน ได้จ่ายเงินหนึ่งล้านสด ๆ ให้อีกรายที่เข้ามาประมูลด้วยให้ถอนไปให้เหลือเพียงบริษัทเดียว และในที่สุดบริษัทของนายโอสถก็ได้ประมูลซื้อวังบูรพา ไปในราคา 10 ล้านบาท”
ชี้แจงว่า “ข้อความนี้ถ้าเป็นคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อนเขียนแล้วผมจะโกรธมาก เพราะเป็นการดูหมิ่นกันโดยตรง เป็นทํานองว่าผมใช้กลโกงในการซื้อที่แปลงนี้ แต่ผมอภัยให้ได้เพราะ
(1) การเขียนเช่นนี้ ข้อเท็จจริงขัดกันอยู่ในตัว คือถ้าผมจ่ายเงินล้านให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งเพื่อไล่เขาไปได้ แล้ว เหตุใดจึงต้อง “ประมูล” กันอีก และถ้าไม่ต้องประมูลแล้วผมคงไม่ต้องจ่ายถึง 12 ล้าน 2 หมื่น
(2) ผมเห็นว่าผู้เขียนไม่รู้เรื่องจริง เพราะเวลานั้น ผู้เขียนได้หย่าขาดจากพระองค์อาภัสไปแล้ว และงานนี้ พระองค์อาภัสทรงจัดการแต่พระองค์เดียว ผู้เขียนจึงไม่สามารถรู้เรื่องจริงได้
(3) เป็นการบ่นเสียดาย ที่ผมทํางานสําเร็จโดยไม่หวนคิดบ้างว่าเวลาขายได้นั้นทุกคนดีใจ การจ่ายเงินสด 12 ล้าน 2 หมื่นนั้น ในสมัยนั้นหาไม่ได้ง่ายนัก ถ้าหาได้วังบูรพาคงถูกขายไปได้หลายปีแล้ว คงไม่ทิ้งไว้จน ต้นไม้ขึ้นรกเหมือนป่า”
4. ที่กล่าวว่า “ส่วนพ่อค้าจีนที่ซื้อวังบูรพาไปนั้น ได้ดัดแปลงวังบูรพา…”
ชี้แจงย้ำอีกครั้งว่าไม่ใช่พ่อค้าจีน หากเป็นคุณโอสถคนเดียว โฉนดเป็นชื่อนายโอสถแต่ผู้เดียว
5. ที่กล่าวว่า “ได้ประมูลซื้อวังบูรพาไปในราคา 10 ล้าน ซึ่งเมื่อหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เกี่ยวกับการขาย ที่ต้องชดใช้ไปนั้น พระทายาทก็ได้รับเงินไปเพียงคนละหนึ่งล้านบาทเศษเท่านั้นเอง”
ชี้แจงว่า “ผมจ่ายเงินไป 12 ล้าน 2 หมื่นบาทดังที่กล่าวข้างต้น ส่วนค่าใช้จ่ายของผู้ขาย มีแต่ค่าธรรมเนียมการโอนและอากรแสตมป์ใบรับเงินเท่านั้น ความจริงเดิมผมตกลงกับพระองค์อาภัสไว้ว่า เนื่องจากเป็นการซื้อขายโดยตรง ไม่มีนายหน้า ท่านจะลดให้ 5% คือ 6 แสนบาท แต่เมื่อมีคนมาแย่งซื้อท่านก็เลยไม่ลดให้ ฉะนั้นเงินส่วนแบ่งสําหรับ 7 ท่าน จึงเป็นจํานวนที่ผมกล่าวมาข้างต้น”
6. เป็นข้อที่หลายคนสนใจมาก คือกล่าวว่า ใต้วังบูรพามีไม้สักหลายร้อยต้น ทํากําไรมหาศาลให้แก่ผู้ซื้อเป็นอย่างยิ่ง
ชี้แจงว่า “ความจริงเป็นแต่ข่าวลือ หามีไม้สักแม้แต่ท่อนเดียวไม่ เรื่องนี้ผมทราบมาตั้งแต่ก่อนตกลงซื้อแล้ว เพราะผมไปหาหนังสือประวัติการสร้างวังบูรพามาอ่านก่อน ผู้ก่อสร้างเป็นนายช่างอิตาเลียน เขาใช้ปีกไม้สักเสียบลงไปในดินแทนเสาเข็ม จึงไม่มีท่อนซุงไม้สักเลย”
7. กรณีหินอ่อนปูพื้นวัง
“ขอเรียนว่าที่ชั้นล่างเป็นพื้นปูด้วยหินอ่อน แต่เป็นรอยสึกหมดแล้ว ใช้อะไรไม่ได้ ผมก็เลยให้ผู้รับเหมา ที่มาซื้อวังไป เข้าใจว่าเขาเอาไปบดเพื่อทําหินขัด”
8. ท้ายที่สุด คือเรื่องสิงโตหล่อขนาดใหญ่ 2 ตัวที่ดูงามสง่าน่าเกรงขาม
และเราเคยเห็นตั้งอยู่หน้าประตูทางเข้าห้องขายตั๋วพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในสมัยก่อน ปัจจุบันย้ายไปอยู่ที่หน้าตึกกองบัญชาการทหารบก (ข้างโรงเรียนแผนที่) ถนนราชดําเนินนอก
คุณหญิงมณีกล่าวว่า “สิงโตคู่นี้นายโอสถ โกศินได้ขายให้พ่อค้าจีนไป” ป้าแจ่ม ผู้อาวุโส ของตระกูลยงใจยุทธ ผู้เป็นพี่สาวแท้ ๆ ของหม่อมเล็ก ในสมเด็จฯ วังบูรพา และเป็นผู้เลี้ยงดูเจ้านายเล็ก ๆ ในวังบูรพามานาน เสียดายและเสียใจมากจนคุณหญิงมณีต้องให้ขุนเจนฯ ไปติดต่อ และคุณหญิงต้องซื้อกลับมาในราคาคู่ละหมื่นบาท
ชี้แจงว่า “ตรงนี้ขัดข้อเท็จจริงมาก ความจริงนั้นเวลาผมทําสัญญาจะซื้อขายวังกับพระองค์อาภัสนั้น ท่านให้ใส่ไว้เป็นเงื่อนไขในสัญญาว่า สิงโตไม่ขาย ให้อยู่นอกสัญญา เมื่อซื้อวังแล้วท่านก็ไม่มาเอาสิงโตไป ผมรือวังกลัวอิฐจะหล่นมาถูก ไปทูลท่านให้จัดการเอาไปเสีย ท่านก็เลยขอร้องผมให้จัดให้ ผมต้องไปจ้างคนและรถมา เขารับเหมาขนให้ในราคา 1,200 บาท ผมจ่ายเงินแล้วก็ไม่ได้เบิกจากพระองค์อาภัส
ต่อมาอีกไม่นาน ฯพณฯ สัญญา ธรรมศักดิ์ สมัยท่านเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม มีหนังสือถึงผมว่า อยาก ได้สิงโตไปวางที่บันไดกระทรวงยุติธรรม ผมก็ไปเฝ้า ขอถวายตัวละ 10,000 บาท ท่านไม่ขาย ผมขึ้นให้เป็นตัวละ 15,000 บาท ท่านก็ไม่ขาย ผมก็เขียนหนังสือตอบ ฯพณฯ สัญญาไปว่า ผมพยายามขอซื้อแล้วไม่สําเร็จ
ผมขอยืนยันว่าสิงโตคู่นี้ไม่เคยมาอยู่ในกรรมสิทธิ์ของผมเลย และผมไม่เคยขายสิงโตนี้ แต่กลับเสียค่าขน ไป 1,200 บาท ผมคิดว่าที่คุณหญิงจ่ายเงินให้คนไปซื้อมา 10,000 บาทนั้น อาจจะมีคนมาหลอกลวงมากกว่า และขอเรียนว่าสิงโตคู่นี้ผมจัดการส่งไปที่วังพระองค์นรเศรษฐ ซึ่งอยู่ทางถนนสุขุมวิท และทิ้งอยู่ที่นั่นจนมีการยกให้พิพิธภัณฑสถานไป สิงโตคู่นี้จึงอยู่ที่วังนี้ ถ้าหากผู้เขียน (หมายถึงคุณหญิงมณี-เอนก) ได้ไปตามซื้อจากคนที่ผมขายไป จะต้องปรากฏว่ามีการขนย้ายจากผู้ซื้อมาไว้ในวัง จึงคิดว่าผู้เขียนไม่สามารถยืนยันได้ว่าได้ขนย้ายสิงโตนี้มาจากที่ไหน เพราะความจริงมีการขนย้ายครั้งเดียว โดยผมขนจากวังบูรพาไปยังวังพระองค์นรเศรษฐ
ผมขอเรียนเพิ่มเติมว่า ความจริงเดิมมีคนมาเสนอขายวังนี้แก่ผมในราคา 8 ล้านบาทเท่านั้น แต่เงินผมไป ติดอยู่ที่โรงแอลกอฮอล์ โรงสุราหัวเมือง 3 โรง กับโรงงานเชลแล็ก ผมจึงยังไม่ซื้อ ทิ้งไว้ราว 3 ปี ราคาขึ้นไป 10 ล้านบาท แต่เมื่อซื้อจริง ต้องประมูลไปถึง 12 ล้าน 2 หมื่นบาท ความจริงราคานี้เทียบกับค่าของเงินในสมัยนั้นก็ไม่นับว่าถูกเลย เพราะเงิน 10 ล้านสมัยนั้นตั้งธนาคารได้แล้ว ผมทํางานนี้ก็นับว่ามีความเสี่ยงสูงและเหนื่อยมาก ถ้าไม่รู้จักคิดให้ดีก็อาจถึงล้มละลายได้ง่าย ที่เรียนมานี้เพื่อให้คุณหญิงได้ทราบข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเท่านั้น”
วันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2530 คุณหญิงมณีได้เขียนจดหมายมาขออภัย และชี้แจงว่าท่านเขียนไปตามที่ได้ยิน มา จึงมีโอกาสผิดหรือคลาดเคลื่อนได้ ท้ายจดหมายท่านเขียนว่า กรณีสิงโตเพิ่งรู้ว่าท่านถูกหลอกให้จ่ายเงินเปล่า ๆ เพราะได้มอบเงิน 1 หมื่นบาทให้คนไปจัดการจริง
อนึ่ง “ได้มีพระทายาทบางพระองค์ที่เคยบ่นเสียดายว่าไม่ควรขายวังบูรพา แต่ดิฉันก็ได้เขียนไว้ในหนังสือของดิฉันแล้วว่า สําหรับส่วนตัวของดิฉันเองไม่เคยนึกเสียดายเลย เพราะทราบดีว่าไม่มีพระทายาทองค์ไหนที่คิดทําการค้า และไม่สามัคคีกันด้วย จึงไม่มีวันที่จะจัดการเรื่องวังบูรพาได้สําเร็จนอกจากแบ่งขายที่ดินซึ่งก็อาจได้รับผลประโยชน์ในเวลานั้นน้อยกว่าที่คุณโอสถถวายเป็นแน่ จํานวนเงินที่ได้รับจากคุณโอสถเป็นจํานวนสูงมากในสมัยนั้น ไม่ใช่ธรรมดาเลย จึงรู้สึกว่าทุกคนโชคดีแล้ว เพราะสามารถนําเงินไปใช้หารายได้เพิ่มขึ้นอีกมากมาย
ถ้าหากว่ามีการพิมพ์ครั้งที่สองเมื่อใด ดิฉันจะได้จัดการเขียนเพิ่มเติมข้อความที่คุณโอสถอ้างมานี้ให้ทราบทั่วกันด้วย”
ตรงนี้ผู้เขียน (เอนก) ยังไม่แน่ใจว่ามีการเพิ่มเติมไว้ในที่ใด เพราะเท่าที่พยายามสํารวจ ชีวิตเหมือนฝัน ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2533 ดูอย่างละเอียด พบว่า ข้อความตั้งแต่บทแรกถึงบทสุดท้ายยังคงเหมือนเดิมทุกอย่าง ทั้ง ๆ ที่ในการพิมพ์ครั้งที่ 2 มีการปรับขนาดหนังสือให้ผิดไปจากเดิมแล้ว ส่วนในชีวิตเหมือนฝัน เล่ม 2 (ภาค 3) อันเป็นเล่มจบที่พิมพ์ใน พ.ศ. 2533 ก็ไม่มีตอนใดที่นําเรื่อง วังบูรพา มาทบทวนใหม่อีกเช่นกัน
วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530 คุณโอสถตอบขอบคุณและเล่าให้คุณหญิงมณีทราบว่า หลังจาก หนังสือชีวิตเหมือนฝันตีพิมพ์ออกไป ท่านได้รับความเดือดร้อนพอควร เนื่องจากมีคนนําเรื่องไปพูดในที่ประชุมบ้าง สอบถามเข้ามาบ้าง บางคนที่สนิทมากและรู้ความจริงก็พลอยโกรธแค้นแทน หวังว่าคุณหญิงจะได้ช่วยปัดเป่าความเสียหายในทางชื่อเสียงให้บรรเทาลง
วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2530 หรืออีก 1 เดือนต่อมา คุณหญิงมณีได้เขียนจดหมายสั้น ๆ มาขอบคุณและขออภัยอีกครั้ง
ในตอนท้ายของจดหมาย คุณหญิงมณีกล่าวว่า “ดิฉันขอเรียนด้วยความจริงใจอีกครั้งหนึ่งว่าไม่มีเจตนา ใด ๆ ที่จะหมิ่นประมาท หรือติเตียนคุณโอสถแต่ประการใดเลย และเพื่อให้คุณโอสถสบายใจ และพ้นจากข้อครหาใด ๆ ที่คนอื่น ๆ อาจเข้าใจผิด ดิฉันยินดีอนุญาตให้คุณโอสถให้สัมภาษณ์แก้ข่าวเรื่องนี้แก่สื่อมวลชน หรือโดยวิธีการอื่นใดก็สุดแล้วแต่คุณโอสถจะเห็นสมควรค่ะ”
จดหมายโต้ตอบได้สิ้นสุดลงเพียงเท่านี้
เห็นได้ว่าทั้งสองฝ่ายพยายามปรับความเข้าใจโดยปราศจากทิฐิ ไม่มีการปรักปรําหรือการใช้ข้อความที่จะ ทําให้อีกฝ่ายหนึ่งเสียใจ อันเป็นแบบอย่างของผู้ที่เห็นโลกมามากและตระหนักดีว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงความผิดพลาดอย่างหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ไม่เหลือวิสัยจะแก้ไขและให้อภัยกัน ปัญหาอื่นคงเหลือก็แต่เพียงผู้อ่านชีวิตเหมือนฝัน ได้นําคําชี้แจงที่เผยแพร่นี้ไปแทรกเป็นหมายเหตุเพื่อทําความเข้าใจกันใหม่เท่านั้น
หากทําได้โดยถ้วนทั่ว ผู้เขียนก็จะพลอยรู้สึกยินดีไปด้วย
อ่านเพิ่มเติม :
- ตามรอย “ตึกกอลมเบต์” อาคารเรียนหลังแรกของโรงเรียน “อาศรมชัญ” (อัสสัมชัญ)
- วังนางเลิ้ง ของกรมหลวงชุมพรฯ เป็นที่โล่งก่อนตั้งวัง ไฉนกลายเป็นสถานที่ซึ่งถูกลืม
- วังใหม่ที่ปทุมวัน : ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม “ความทรงจำอันเลือนราง”
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “เบื้องหลังการซื้อขายวังบูรพา” เขียนโดย เอนก นาวิกมูล ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2543
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 ธันวาคม 2562