ตามรอย “ตึกกอลมเบต์” อาคารเรียนหลังแรกของโรงเรียน “อาศรมชัญ” (อัสสัมชัญ)

ตึกเก่า ตึกกอลมเบต์ โรงเรียนอัสสัมชัญ
"ตึกเก่า" โรงเรียนอัสสัมชัญ

ตามรอย “ตึกกอลมเบต์” อาคารเรียนหลังแรกของโรงเรียน “อาศรมชัญ” (อัสสัมชัญ)

ในปัจจุบันนั้นเราเข้าใจว่า “โรงเรียน” จำแนกออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ โรงเรียนราษฎร์ หรือโรงเรียนที่อยู่ในความดูแลของเอกชน กับโรงเรียนหลวง หรือโรงเรียนที่อยู่ในความดูแลของทางราชการ แต่ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนราษฎร์หรือโรงเรียนหลวง ก็จะถูกควบคุมมาตรฐานไว้ด้วย “หลักสูตร” เพื่อให้การดำเนินการต่าง ๆ เป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งผิดจากเดิม เพราะคำว่า “โรงเรียน” หรือ “โรงสกูล” (school) นั้น มีเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งคงต้องกล่าวย้อนไปว่า เดิมนั้นลักษณะการศึกษาเล่าเรียนไม่ได้ถูกแบ่งเป็นโรงเรียนราษฎร์และโรงเรียนหลวง แต่ถูกแบ่งออกเป็นการศึกษาสำหรับเด็กชายและเด็กหญิง รวมถึงสิ่งที่ต้องศึกษาเล่าเรียนคือ หลักสูตรก็จะแตกต่างกัน

ลักษณะการศึกษาเล่าเรียนของเด็กชายจะเริ่มจากที่วัด “มีวัดเป็นที่เรียนและมีพระเป็นครู” ดังมีบันทึก ของ เซอร์จอห์น เบาริ่ง อัครราชทูตอังกฤษผู้เดินทางเข้ามาสู่ประเทศไทย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้บันทึกไว้ว่า “…การศึกษาตั้งต้นแต่การโกนจุก แล้วเด็กผู้ชายถูกส่งไปอยู่วัด เรียน อ่าน เขียน และคำสอนศาสนากับพระ…”

ส่วนการเรียนของเด็กหญิง จะเป็นการฝึกหัดการบ้านการเรือน อาทิ การครัว การฝีมือ เย็บปักถักร้อย มากกว่าจะเป็นการเรียน “หนังสือ” สังฆราชปาลเลอกัวซ์ได้บันทึกไว้ในหนังสือเล่าเรื่องกรุงสยาม ว่า “…การศึกษาของเด็กหญิงมีการสอนทำครัว ตำน้ำพริก ทำขนม มวนบุหรี่และจีบพลู…” ดังนั้น สถานศึกษาก็คือบ้านของตนนั่นเอง หรือมิฉะนั้นหากเป็นธิดาของผู้มีศักดิ์ ก็อาจส่งตัวเข้าไปอยู่กับเจ้านายฝ่ายใน พระองค์ใดพระองค์หนึ่งในวังหลวง เพื่อเรียนรู้กิริยามารยาทตลอดจนฝึกฝนการงานอันถือเป็นคุณสมบัติของกุลสตรี

ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งพระทัยมั่นที่จะปฏิรูประบบการศึกษาของไทยให้เทียบเคียงอารยประเทศ ทรงทดลองจัดระบบการศึกษาตามแบบสมัยใหม่ขึ้นในพระบรมมหาราชวัง มีการจัดตั้ง “โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ” ขึ้น นอกจากโรงเรียนที่ตั้งขึ้นจะอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์แล้ว พระบรมวงศานุวงศ์ก็ดี ข้าราชบริพารก็ดี ต่างรับสนองพระบรมราชโองการด้วยการเป็นองค์อุปถัมภ์โรงเรียนต่าง ๆ ขึ้นอีกมากมายหลายแห่ง

ดังนั้น โรงเรียนในช่วงต้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงสามารถจำแนกโรงเรียนตามลักษณะของผู้อุปถัมภ์อย่างจริงจังเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ กลุ่มแรกคือพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ส่วนกลุ่มที่ 2 ก็คือกลุ่มหมอสอนศาสนาชาวตะวันตก ซึ่งมีทั้งนิกายโปรเตสแตนต์และโรมันคาทอลิก

กลุ่มหมอสอนศาสนานิกายโรมันคาทอลิกในขณะนั้น มีชุมชนคาทอลิกกระจายกันอยู่ในสยามรวม 5 แห่ง เช่น ชุมชนวัดซางตาครู้ส และชุมชนวัดกาลหว่าร์ เป็นต้น แต่แห่งหนึ่งที่ดูจะมีความสำคัญกับระบบการศึกษาของไทยเป็นอย่างมาก คือ ชุมชนคาทอลิกย่านบางรัก ซึ่งมีวัดอัสสัมชัญ [1] เป็นศูนย์กลาง

บาทหลวงเอมิล กอลมเบต์ (Pere Emile Colombet) ผู้ก่อตั้งโรงเรียนอัสสัมชัญ

ในปี พ.ศ. 2420 บาทหลวงเอมิล กอลมเบต์ (Pere Emile Colombet) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส มีความคิดที่จะให้การศึกษาแก่เด็กชายทั่วไป จึงได้จัดให้มีการเรียนการสอนหนังสือขึ้นภายในบริเวณที่ดินของวัด ซึ่ง ณ ขณะนั้นไม่ได้เรียกว่าวัดอัสสัมชัญ แต่คนทั่วไปเรียกว่า “วัดสวนท่าน”

เริ่มแรกบาทหลวงกอลมเบต์ได้นำเอาเด็กยากจนและเด็กกำพร้าในย่านบางรัก ซึ่งในบริเวณนั้นจะมีชุมชนชาวจีนที่ประกอบกิจการค้ากับชาวยุโรปส่วนหนึ่ง แรงงานกุลีชาวจีนอีกส่วนหนึ่ง ที่หันมานับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก กับลูกหลานของชาวยุโรปที่ทำการค้าอยู่ในย่านดังกล่าวอีกส่วนหนึ่ง [2] จำนวน 12 คน มาเริ่มให้การศึกษา โดยมีการสอนทั้งภาษาไทยและภาษาฝรั่งเศสควบคู่ไปกับเผยแผ่ศาสนา ขั้นต้นโรงเรียนนี้ จึงถูกเรียกว่า “โรงเรียนไทย-ฝรั่งเศสวัดสวนท่าน” จนต่อมาได้มีการสอนภาษาอังกฤษเพิ่มเติมเข้าอีกภาษาหนึ่ง

การสอนหนังสือในระยะแรก บาทหลวงกอลมเบต์อาศัยเรือนไม้ใต้ถุนสูงซึ่งเป็นเรือนพักของบาทหลวงในบริเวณวัดกั้นเป็นห้องเรียนได้จำนวนทั้งสิ้น 4 ห้อง จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2428 บาทหลวงกอลมเบต์คิดว่าการสอนนักเรียนเฉพาะผู้ที่นับถือคาทอลิกไม่น่าจะเพียงพอ จึงคิดจะวางรากฐานการศึกษาให้สามารถเปิดรับนักเรียนได้ทุกเชื้อชาติและทุกศาสนา ไม่จำกัดเฉพาะแต่เพียงผู้ที่นับถือคาทอลิกอีกต่อไป [3] บาทหลวงกอลมเบต์จึงได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนจัดตั้งโรงเรียนกับกรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ ใช้ชื่อว่า “อาซมซานกอเล็ศ” (Le Collège de L’Assomption)

เรือนพักของบาทหลวงที่ใช้เป็นอาคารเรียนหลังแรก

ปีแรกที่จัดตั้งมีนักเรียนเข้ามาศึกษาจำนวน 33 คน และเพิ่มขึ้นเป็น 130 คน ในปีที่ 2 จึงเป็นผลทำให้อาคารเรือนไม้เดิมที่มีเพียง 4 ห้องเรียน ไม่เพียงพอที่จะรองรับนักเรียนที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอีกต่อไป บาทหลวงกอลมเบต์จึงดำริที่จะก่อสร้างอาคารเรียนหลังแรกขึ้นในบริเวณวัดอัสสัมชัญ แต่ด้วยข้อจำกัดด้านทุนทรัพย์ จึงใช้วิธีการบอกบุญเรี่ยไรในการจัดสร้างอาคารเรียนหลังใหม่

ความทราบถึงพระเนตรพระกรรณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อาซมซานกอเล็ศจึงได้รับพระราชทานเงินทุนเริ่มแรก เพื่อใช้ก่อสร้างอาคารเรียนเป็นจำนวน 50 ชั่ง โดยมีสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และพระบรมวงศานุวงศ์ ร่วมออกพระราชทรัพย์อุดหนุนการสร้างอาคารเรียนหลังนี้อีกเป็นจำนวนมาก

อาคารเรียนหลังแรกของโรงเรียนใช้ทุนทรัพย์ก่อสร้างเป็นจำนวน 50,000 บาท ก่อสร้างเป็นอาคารสูง 3 ชั้น มีมุขกลางขนาดใหญ่ และมุขกระสันที่ปีกสองข้าง อาคารวางตัวแนวยาวประมาณ 60 เมตร ออกแบบโดย Gloachino Grassi [4] สถาปนิกชาวอิตาลี สัดส่วนของสถาปัตยกรรม ตลอดจนการตกแต่งเป็นแบบตะวันตกในสไตล์คลาสสิกแบบเรียบ

อาคารหลังนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จมาทรงวางศิลาฤกษ์ในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2430 การก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มใช้งานในปี พ.ศ. 2433 ภายหลังอาคารหลังนี้ถูกเรียกว่า “ตึกเก่า” และ ได้ใช้งานถึง 80 ปี ก่อนที่จะถูกรื้อถอน เพื่อสร้างอาคาร ฟ.ฮีแลร์ แทนที่ในเวลาต่อมา

คำว่า “อาซมซานกอเล็ศ” นั้นใช้เรียกตามรากศัพท์ภาษาฝรั่งเศส ที่เขียนว่า “Le Collège de L’Assomption” แต่คนทั่ว ๆ ไปมักเรียกและเขียนผิด ๆ กันไปตามถนัด จนในปี พ.ศ. 2453 กระทรวงธรรมการ มีนโยบายให้เปลี่ยนชื่อเรียกอาคารสถานที่ต่าง ๆ ที่เป็นคำภาษาต่างประเทศให้เป็นคำไทยทั้งหมด ทางโรงเรียนจึงได้มีจดหมายแจ้งไปยังกรมศึกษาธิการ ความว่า

Collège de L’Assomption

Bangkok (Siam)

วันที่ 14 กันยายน ร.ศ. 129 เรียนมายัง

พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ อธิบดีกรมศึกษาธิการ ทราบ

ข้าพเจ้าได้อ่านคำประกาศ ของกรมศึกษาธิการ ลงวันที่ห้าสิงห์ ร.ศ. 129 “ว่าด้วยคำใช้ต่าง ๆ เช่นชื่อเมือง ชื่อชาติ เกิดมีข้อรังเกียจ คือคำใช้เดิม ซึ่งเคยใช้กันมาแล้วแต่โบราณ มาเปลี่ยนเรียกให้ผิดไปตามเสียงฝรั่ง เกิดเปนคำใหม่อีกชุดหนึ่ง ฯลฯ นั้น ขอให้ช่วยกันนึกหา ถ้าโรงเรียนไหน พบคำใดที่เปนที่สงสัยให้บอกมายังกรมศึกษาธิการ ฯลฯ”

ก็เปนที่เตือนสติข้าพเจ้า ให้ระฦกถึงชื่อของโรงเรียน “Assomption” ซึ่งมักเรียกและเขียนผิด ๆ กันตามถนัด ชาวอังกฤษมักเรียกกันว่า “แอ๊ชแซ่มแช่น” โดยชุกชุม ชาวสยามมักเรียกกันว่า “อาซัมชั่น” บ้าง “อาซมซาน” บ้างก็มี ชาวฝรั่งเศษก็ว่า “อาสมปซียง” ฯลฯ ล้วนผิด ๆ กันทั้งนั้น เพราะเหตุฉนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่า ควรจะเลือกหาคำไทย หรือคำอันมีเสียงไทย ๆ ไว้สักคำหนึ่ง สำหรับชาวเมืองไทยอ่านเข้าใจกันได้อย่างหนึ่ง ทั้งให้เสียงคล้ายคลึงกันกับคำเดิมด้วย

บัดนี้ข้าพเจ้าได้ตรวจดู เหนว่าศัพท์ว่า “อาศรมชัญ” นี้ เสียงเปนคำไทย คล้ายกันกับคำว่า “Assomption” มากกว่าศัพท์อื่นที่กล่าวมาแล้ว ทั้งเห็นว่ารากศัพท์ต้นเดิมก็เป็น “อัส์สโม” แผลงเป็น “อาศรม” คงแปลได้ความว่า “ที่เปนที่ระงับบาป, กุฏิ, ตำแหน่ง ฯลฯ” ; ศัพท์ที่สองคือ “ช” ก็แปลว่า “เกิด” ; ศัพท์ที่สาม คือ “ญ” ก็แปลว่า “ญาณ, ความรู้” รวบรวมศัพท์ได้ความว่า “ที่สำหรับเกิดแห่งญาณความรู้” ; ถึงหากว่ายังห่างจากรากศัพท์ “Assomption” เดิมมากก็จริง แต่ดูพอสมเป็นชื่อแห่งโรงเรียนแท้ ๆ, เพราะอันที่จริง “อาศรมชัญ” ก็หมายความว่า “โรงระงับบาป, โรงฝึกหัด, โรงเกิดญาณ” คือโรงเรียนนั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ ขอเจ้าคุณได้โปรดจดชื่อโรงเรียน “Assomption” กลับเปนคำไทยว่า “อาศรมชัญ” เทอญ ; บรรดาไทยทุก ๆ ท่านผู้ชำนาญในรากภาษาแห่งตน คือภาษาบาฬี คงมีความพอใจเอาอย่างทั้งนั้น แล้วจะเปนที่ตัดความรังเกียจ ที่เห็นเขียนเปนเสียงแตกต่างกันเช่นดังกล่าวมาด้วย

ในที่สุดนี้ ข้าพเจ้าขอแสดงความระฦกถึง และความเคารพนับถืออย่างสูงมายังท่านด้วย

ลงชื่อ

รองอธิการ “อาศรมชัญ”

Collège de L’Assomption

Bangkok (Siam)

วันที่ 28 กันยายน ร.ศ. 129

เรียนมายัง

พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ อธิบดีกรมศึกษาธิการ

กรุงเทพฯ

ซึ่งเจ้าคุณโปรดตอบชี้แจงด้วย ชื่อโรงเรียนอาศรมชัญ ว่ากรมศึกษาธิการ ไม่มีข้อขัดข้องประการใด, แต่เหนว่าถ้าจะเขียนเป็น “อัสสัมชัญ” จะเหมาะกว่านั้น ข้าพเจ้าเหนด้วยตามคำชี้แจงของท่าน จึงได้ลงมือใช้เขียน “อัสสัมชัญ” แต่วันนี้ไป

ตึกกอลมเบต์
“ตึกเก่า” โรงเรียนอัสสัมชัญ

ดังนั้น แทนที่ อาซมซานกอเล็ศ จะกลายเป็น อาศรมชัญ เมื่อ พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ อธิบดีกรมศึกษาธิการ แนะนำว่าควรเปลี่ยนชื่อเป็น “อัสสัมชัญ” เพราะไม่เพียงแต่การออกเสียงยังคล้ายกับชื่อเดิม ความหมายก็คงไว้ตามที่ต้องการ และคำว่า “อัสสัมชัญ” ก็ยังมีคำในภาษาบาลีว่า “อัสสโม” แผลงเป็นไทยว่า “อาศรม” ซึ่งหมายความถึง “กุฏิที่ถือศีลกินพรต” ส่วนคำว่า “ชัญ” ก็จะแยกตามชาติศัพท์เดิม ก็ได้แก่ธาตุศัพท์ว่า “ช” ซึ่งแปลว่า เกิด และ “ญ” ซึ่งแปลว่า ญาณความรู้ รวมความได้ว่า “ชัญ” คือที่สำหรับเกิดญาณความรู้

เมื่อรวมสองศัพท์มาเป็นศัพท์เดียวกันแล้วได้ว่า “อัสสัมชัญ” คือ “ที่สำหรับระงับบาปและหาวิชาความรู้” ทางโรงเรียนจึงเริ่มใช้คำว่า “อัสสัมชัญ” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

โรงเรียนอัสสัมชัญมีการก่อสร้างอาคารใหม่และปรับปรุงอาคารเดิมในอีกหลายส่วน จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2479 ได้มีการก่อสร้างอาคารกอลมเบต์ขึ้น ซึ่งอาคารหลังนี้ในปัจจุบันนับเป็นอาคารหลังที่มีความเก่าแก่ที่สุดของโรงเรียน โดยในปัจจุบันได้มีการขึ้นทะเบียนเป็นอาคารเพื่อการอนุรักษ์ไว้กับกรมศิลปากร ซึ่งจะไม่มีการทุบทำลาย หรือเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หากแต่ให้บูรณะให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ตามความเหมาะสม อาคารนี้ก่อสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ให้กับบาทหลวงกอลมเบต์ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนอัสสัมชัญ อาคารถูกออกแบบในลักษณะ Modern ใช้รูปทรงที่เรียบง่าย มีทางเข้าหลักอยู่ที่ด้านหนึ่งของตัวอาคาร แทนที่จะเข้าจากมุขกลางอาคาร เน้นทางเข้าสำคัญนี้ด้วย mass และตัวหอสูง (หอนาฬิกา)

อาคารหลังนี้ได้รับการออกแบบและควบคุมงานโดยบริษัทคริสเตียนีแอนด์นีลเสน มีบริษัทหับเย็บเป็นผู้รับเหมาการก่อสร้าง โดยได้ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้ในปี พ.ศ. 2482

เดิมอาคารกอลมเบต์ หรือ ตึกกอลมเบต์ ใช้เป็นห้องเรียนในระดับมัธยมต้น ปัจจุบัน (2554 – กองบก.ออนไลน์) ใช้เป็นที่เรียนของนักเรียนในแผนก English Program และเป็นสถานที่ตั้งของงานอภิบาล ตึกนี้เคยถูกระเบิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดนหอนาฬิกา แต่ได้บูรณะให้คงสภาพเดิมอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] ประวัติการสร้างอาสนวิหารอัสสัมชัญหลังแรก พระคุณเจ้าฟลอรังส์ซื้อที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นที่ตั้งบริเวณโบสถ์ในปี พ.ศ. 2353 และซื้อที่ดินที่เป็นที่ตั้งโรงเรียนในปัจจุบันในอีก 10 ปีต่อมา ท่านได้ระบุว่าซื้อที่ดินบริเวณทั้งสองนี้ในขณะนั้นมีสภาพเป็นสวนกล้วย ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวเป็นต้นรัชกาลที่ 2 ซึ่งยังไม่มีการขุดคลองผดุงกรุงเกษม (อัสสัมชัญประวัติ : น. 98)

[2] เนื่องจากพระบรมราโชบายเจริญสัมพันธไมตรีกับชาติตะวันตก และเป็นที่ชัดแจ้งว่าที่บริเวณรอบนอกคลองผดุงกรุงเกษม ริมถนนเจริญกรุงเรื่อยลงมาทางด้านใต้ถึงถนนขวาง (ถนนสีลม) บริเวณเหล่านี้จึงมีสถานกงสุลชาติต่าง ๆ ตั้งอยู่เรียงรายกันลงมา เช่น กงสุลโปรตุเกส เยอรมนี อังกฤษ สหรัฐ อเมริกา และฝรั่งเศส (อัสสัมชัญประวัติ : น. 99)

[3] เมื่อบาทหลวงกอลมเบต์แยกกิจการโรงเรียนออกจากวัดสวนท่านแล้ว ท่านได้ว่าจ้างชาวอังกฤษผู้หนึ่ง คือ มิสเตอร์คอนอแวน มาเป็นครูใหญ่ของโรงเรียน โรงเรียนในสมัยนี้จึงพ้นจากความเป็นโรงเรียนของวัด และพ้นจากภารกิจหลักในการสั่งสอนเผยแผ่คริสต์ศาสนา

[4] Mr. Joachim หรือ Gloachino Grassi หรือในเอกสารภาษาไทยจะปรากฏว่า คริสซี, ครัสซี, คราซี, การซี, กราสสี, แกรซี, แกลซี หรือ แตรซี เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างและเป็นสถาปนิกชาวอิตาลีจากเมืองตริเอสเตที่มีผลงานโดดเด่นที่สุดในช่วงครึ่งแรกของรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จากหลักฐานเท่าที่ปรากฏคาดว่าเขาเป็นชาวอิตาลี ภายหลังโอนสัญชาติเป็นคนในบังคับฝรั่งเศส เข้ามาพำนักในสยามราวปี พ.ศ. 2413-36

การรับเหมาออกแบบก่อสร้างอาคารเป็นธุรกิจหนึ่งในหลายประเภทที่เขาทำ และได้รับงานในนามตัวเองและในนามบริษัท Grassi Brother & Co. ซึ่งมีตัวเขาและน้องชายเป็นผู้ดำเนินการ อาคารสำคัญที่ออกแบบมีทั้งสถานที่ราชการ และบ้านพักอาศัยส่วนตัว อาทิ ตำหนักใหญ่วังบูรพาภิรมย์ วัดนิเวศธรรมประวัติ อาคารบางหลังในพระราชวังบางปะอิน วังท่าพระ ศาลสถิตยุติธรรม เป็นต้น (อัสสัมชัญประวัติ : น. 101)


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “ตึกกอลมเบต์ ของโรงเรียนอัสสัมชัญ หรืออาซมซานกอเล็ศ” เขียนโดย รศ. ยุวดี ศิริ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2554


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 กรกฎาคม 2564