“อำนาจเจริญ” จังหวัดที่ 75 ของไทย ทำไมถึงชื่อ “อำนาจเจริญ”

ภาพคนป่าจิตรกรรมฝาผนังวัดบ้านยางข้า ตำบลอำนาจ อำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ (ภาพจาก "ชื่อบ้านนามเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ")

ชื่อ “อำนาจเจริญ” แรกมีขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2401 ในแผ่นดินรัชกาลที่ 4 (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2394-2411) ได้ชื่อจากราชทินนามเจ้าเมืองคนแรก ว่า “พระอมรอำนาจ” อำนาจเจริญเริ่มจากชุมชนหมู่บ้าน เติบโตเป็นเมือง แล้วเป็นจังหวัด จะทบทวนความเป็นมาก่อนมีชื่ออำนาจเจริญอย่างย่อๆ ดังนี้

1. บริเวณจังหวัดอำนาจเจริญเมื่อราว 3,000 ปีมาแล้ว เป็นหลักแหล่งของกลุ่มชนหลายชาติพันธุ์ พูดภาษาตระกูลต่างๆ หลายตระกูล

2. หลัง พ.ศ. 1000 รับศาสนาพุทธ-พราหมณ์ ก็เติบโตเป็นบ้านเมือง ส่วนหนึ่งของรัฐเจนละในอำนาจของตระกูลเสนะ เช่น จิตรเสน หรือ มเหทรวรรมัน

3. หลัง พ.ศ. 1600 กลุ่มชนหลายชาติพันธุ์เคลื่อนย้ายไปตั้งหลักแหล่งที่อื่นๆ ที่อุดมสมบูรณ์กว่า ทำให้บริเวณจังหวัดอำนาจเจริญโรยราแล้วรกร้างไปเป็นป่าดงราว 500 ปี หรืออาจมากกว่านั้น

4. หลัง พ.ศ. 2237 มีความขัดแย้งทางการเมืองในราชสำนักเวียงจัน พระสงฆ์มีสมณศักดิ์ว่า พระครูโพนสะเม็ก หรือ พระครูยอดแก้ว ชาวบ้านทั่วไปรู้จักในนาม ยาคูขี้หอม เป็นผู้นำอพยพหนีจากเวียงจันลงมาตามลำน้ำโขงผ่านบริเวณจังหวัดอำนาจเจริญ ถึงเมืองจัมปาสักก็ตั้งบ้านเมืองใหม่

มีคำบอกเล่าว่าคนกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มอพยพหนีความขัดแย้งจากเวียงจันคราวนั้น แยกจากขบวนใหญ่เข้าไปตั้งบ้านเรือนทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง บริเวณที่มีชื่อเรียกว่า บ้านทรายมูล กับ บ้านดอนหนองเมือง สืบจนปัจจุบันคือ บ้านพระเหลา กับ เมืองพนานิคม อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ

5. คนกลุ่มใหญ่ที่เข้ามาตั้งหลักแหล่งบริเวณจังหวัดอำนาจเจริญ มีขึ้นหลังกรุงศรีอยุธยาแตก เมื่อ พ.ศ. 2310 เพราะเกิดความขัดแย้งทางการเมืองในราชสำนักเวียงจัน ทำให้พระวอพาผู้คนหนีจากเมืองเวียงจัน เมื่อ พ.ศ. 2311 (ต้นยุคกรุงธนบุรี) ลงไปทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงในดินแดนอีสาน ถึงเมืองหนองบัวลำภู (จังหวัดหนองบัวลำภู) แต่ถูกติดตามปราบปรามเลยหนีลงไปทางแม่น้ำโขง ผ่านบริเวณจังหวัดอำนาจเจริญ จนถึงเมืองจัมปาสัก เหมือนคราวยาคูขี้หอม

ต่อมาพระเจ้าตากแห่งกรุงธนบุรีโปรดให้เจ้าพระยาจักรี (ต่อไปคือ รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ยกไปตีได้เมืองเวียงจันเมื่อ พ.ศ. 2321 แล้วอัญเชิญพระแก้วมรกตลงไปกรุงธนบุรี ความนี้เองที่เจ้าพระยาจักรีให้คนไปเกลี้ยกล่อมผู้คนชาติพันธุ์ต่างๆ ที่เป็นชาวเมืองเซโปน (ตะโปน) และเมืองใกล้เคียงทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงในลาวให้อพยพไปตั้งบ้านเรือนอยู่ฝั่งขวา บริเวณที่เป็นดงบังอี่ และพื้นที่ใกล้เคียงจนถึงอำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร ต่อเนื่องถึงบ้านกำปี้ จังหวัดอำนาจเจริญ (ปัจจุบันคือบ้านฤกษ์อุดม ตำบลลือ อำเภอปทุมราชวงศา)

6. กรุงรัตนโกสินทร์สถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2325 รัชกาลที่ 1 โปรดให้เกณฑ์คนจากบ้านเมืองสองฝั่งโขงซึ่งรวมกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญด้วย ไปเป็นแรงงานขุดคูเมืองรอบพระนคร และสร้างกำแพงเมือง

7. กำเนิดเมืองอุบลราชธานี บริเวณบ้านห้วยแจละแม เมื่อ พ.ศ. 2335 รัชกาลที่ 1 โปรดให้พระปทุมสุรราชภักดี (ท้าวคำผง) ผู้นำปราบกบฏ อ้ายเชียงแก้ว (เมืองโขงที่จัมปาสัก) เป็นเจ้าเมืองมีบรรดาศักดิ์ พระประทุมวรราชสุริยวงศ์

ขณะนั้นยังไม่มีเมืองอำนาจเจริญ

จนถึง พ.ศ. 2357 ในแผ่นดินรัชกาลที่ 2 ท้าวก่ำ (หรืออุปฮาดก่ำเป็นบุตรเจ้าพระวอ) แยกจากเมืองอุบลไปหาหลักแหล่งใหม่ แล้วเกณฑ์ไพร่พลหลายชาติพันธุ์หักร้างถางพงป่าเพื่อก่อบ้านสร้างเมืองบริเวณที่เรียกว่า ภูเกษตร โพนทอง (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญ) แต่ไม่ทันได้สร้างเมืองก็จำเป็นต้องย้ายไปอยู่ริมแม่น้ำโขงที่บ้านโคกดงกงพะเนียง ภายหลังได้ชื่อเมืองเขมราฐ (ปัจจุบันคือ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี) ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ

8. กำเนิดเมืองอำนาจเจริญ เริ่มขึ้นอย่างจริงจังในแผ่นดินรัชกาล ที่ 3 (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2367-2394) หลังเหตุการณ์ขัดแย้งกับเจ้าอนุวงศ์เวียงจัน (พ.ศ. 2369-2370) เมื่อบรรดาผู้คนหลายชาติพันธุ์ในเมืองพวนพากันย้ายครัวจากจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (ในลาว) ข้ามไปอยู่ฝั่งขวาที่ปัจจุบันเป็นเขตจังหวัดอำนาจเจริญ นครพนม สกลนคร กระจายเข้าไปถึงจังหวัดใกล้เคียงด้วย

กลุ่มชาติพันธุ์คราวนั้นมีหลายพวก เช่น พวน ผู้ไท แสก ญ่อ (ย้อ) โญ่ย (โย) มีทั้งตระกูลไทย-ลาว และตระกูลมอญ-เขมร ฯลฯ

บริเวณจังหวัดอำนาจเจริญ เริ่มตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านช้องนาง (ออกเสียงเป็นซ้องนาง แต่ฟังเป็นส่องนาง ปัจจุบันคืออำเภอเสนางคนิคม) กับเมืองพนานิคม (ปัจจุบันคืออำเภอพนานิคม) แต่มีบางกลุ่มไปตั้งบ้านเรือนที่บ้านบุ่ง ติดห้วยปลาแดก ครั้น พ.ศ. 2393 ย้ายไปแหล่งใหม่ที่บ้านค้อ ที่ต่อไปเรียกเป็นบ้านค้อใหญ่คอนชัย (ปัจจุบันคืออำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ)

9. ชื่อ “อำนาจเจริญ” แรกมีขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2401 ในแผ่นดินรัชกาลที่ 4 (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2394-2411) ได้ชื่อจากราชทินนามเจ้าเมืองคนแรกว่า พระอมรอำนาจ

10. อำเภออำนาจเจริญในแผ่นดินรัชกาลที่ 5 เป็นเมืองน้อยหรือเมืองบริวารของเมืองที่ใหญ่กว่า เช่น เมืองอุบลราชธานี, เมืองเขมราฐ, เมืองยโสธร สุดแต่จะถูกกำหนด

11. พ.ศ. 2460 เปลี่ยนชื่ออำเภออำนาจเจริญเป็น “อำเภอบุ่ง” ขึ้นกับจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อให้สอดคล้องกับพื้นที่ตั้ง เพราะว่า บุ่ง แปลว่า บริเวณที่มีน้ำ หรือบึง ต่อมา พ.ศ. 2482 เปลี่ยนชื่ออำเภอบุ่ง เป็นอำเภออำนาจเจริญตามเดิม

12. พ.ศ. 2519 เสนอพระราชบัญญัติจังหวัดอำนาจเจริญครั้งที่ 1 แต่สภาผู้แทนราษฎรถูกยุบเสียก่อน พ.ศ. 2522 เสนอพระราชบัญญัติตั้งจังหวัดอำนาจเจริญอีกครั้ง พ.ศ. 2536 รัฐบาลตราพระราชบัญญัติตั้งจังหวัดอำนาจเจริญมี 7 อำเภอ คืออำเภอชานุมาน, อำเภอพนา, อำเภอลืออำนาจ, อำเภอเสนางคนิคม, อำเภอปทุมราชวงศา, อำเภอหัวตะพาน และอำเภอเมืองอำนาจเจริญ

อำเภอชานุมาน ชื่อชานุมาน เดิมเขียนว่า ชานุมาร ตามนิทานชาวบ้านแต่งขึ้นจากเรื่องรามเกียรติ์สำนวนลาวสองฝั่งโขง ทศกัณฐ์ที่เป็นยักษ์ยอมแพ้พระรามแล้วคุกเข่าขอชีวิต ชานุมาร มาจากคำบาลีว่า ชานุ-เข่า กับ มาร-ยักษ์ ต่อมาเห็นว่าไม่เป็นมงคล เลยเปลี่ยนมาร เป็น มาน เพื่อให้หมายถึงมานะ พยายาม

อำเภอพนา เดิมมีฐานะเป็นเมืองพนานิคม ตั้งในรัชกาลที่ 5 โดยได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านเผลา หรือพระเหลาก็เรียก เป็นเมืองพนานิคม และให้เพียเมิองจันทน์ เป็นพระจันทวงษา เจ้าเมือง ขึ้นตรงต่อเมืองอุบลราชธานี ชื่อ “เผลา” กร่อนมาจากชื่อพระเหลา หมายถึงพระพุทธรูปงดงาม คำว่า เหลา แปลว่างดงามมักใช้ทั่วไปในคำว่า หล่อเหลา

อำเภอลืออำนาจ เดิมชื่อบ้านค้อใหญ่คอนไซ ตามนิทานชาวบ้าน ลืออำนาจ ตั้งตามชื่อพระสำคัญประจำเมืองคือ พระเจ้าใหญ่ลือไชย (พระฤทธิ์ลือชัย) และชื่อเมืองเดิมคืออำนาจเจริญ ก่อนที่จะย้ายไปอยู่ที่ตำบลบุ่งในปัจจุบัน

อำเภอเสนางคนิคม เดิมชื่อบ้านหนองทับม้า เพราะเป็นบริเวณตั้งทับที่พักม้าของนายพราน เสนางคนิคม มาจาคำบาลีว่า เสนางค กับนิคม เสนาง-เหล่าทหาร, ไพร่พล, นิคม-ชุมชน, หมู่บ้านใหญ่ เสนางคนิคม-ชุมชนที่เป็นพลไพร่ทหาร

อำเภอปทุมราชวงศา เป็นชื่อตำแหน่งเดิมของ ท้าวคำผง เจ้าเมืองอุบลฯ คนแรก โดยใช้ชื่อว้า พระปทุมราชวงศา ก่อนจะเปลี่ยนเป็น พระปทุทวรราชสุริยวงศ์

อำเภอหัวตะพาน หัวตะพาน มาจากคำว่า ขัวพาด ขัว เป็นคำเก่าแก่ในตระกูลไทย-ลาว แปลว่า สะพาน เนื่องจากหมู่บ้านนี้มีน้ำล้อมรอบ 4 ด้าน จึงต้องใช้ขัวพาดข้าม ต่อมาขัวพาด เพี้ยนเป็น ขัวผ่าน, ขัวพาน, ขัวตะพาน และหัวตะพาน ในที่สุด

อำเภอเมืองอำนาจเจริญ เดิมชื่อ บ้านห้วยปลาแดก ในพื้นที่มีบุ่งน้ำใหญ่ ต่อมาจึงเรียกกันว่า บ้ายบุ่ง ส่วนชื่ออำนาจเจริญ ตั้งขึ้นในรัชกาลที่ 4 โดยยกบ้านค้อ (อำเภอลืออำนาจในปัจจุบัน) ให้เป็นเมืองชื่อเมืองอำนาจเจริญ ตามชื่อของพระอมรอำนาจ ผู้เป็นเจ้าเมือง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

สุจิตต์ วงษ์เทศ. ชื่อบ้านนามเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ, กองทุนส่งเสริมวัฒนธรรม สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม, 2549


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 ตุลาคม 2562