ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“ดอยนางนอน” เป็นพื้นที่ทางธรรมชาติสำคัญของ จ. เชียงราย เรียกได้ว่าอยู่คู่กับชาวเชียงรายมาเนิ่นนาน และมีหลากหลายตำนานพูดถึง ดอยนางนอน แม่สาย จ. เชียงราย
3 ตำนาน ที่เกี่ยวกับ ดอยนางนอน แม่สาย จ. เชียงราย
ตำนานแรก เป็นเรื่องราวอิงประวัติศาสตร์ ผู้คนเชื่อว่าพื้นที่แห่งนี้คือถิ่นกำเนิดของ “ปู่เจ้าลาวจก” ต้นราชวงศ์มังราย ในเทือกเขามีดอยอยู่ 3 ลูก เรียกว่า “ดอยสามเส้า” ประกอบด้วย ดอยดินแดงหรือดอยตุง ดอยย่าเถ้า และดอยจ้องหรือดอยจิกจ้อง โดยดอยตุงก็คือที่ตั้งของเมือง “นครหิรัญเงินยาง” ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานปฐมธาตุแห่งล้านนา อย่าง “พระธาตุดอยตุง”
ตำนานที่ 2 เป็นเรื่องราวของเจ้าหญิงเมืองเชียงรุ้ง สิบสองปันนาและชายดูแลม้า องค์หญิงองค์นี้รักกับชายคนดังกล่าว วันหนึ่งนางเกิดตั้งครรภ์ ด้วยความกลัวว่าบิดาตนจะรับรู้ จึงหนีกันไปที่แคว้นไชยนารายณ์ เมื่อถึงก็เหน็ดเหนื่อยกันมาก สามีของนางจึงให้นางนอนพัก ส่วนตนจะออกไปหาอาหาร
ทว่าชายดูแลม้าก็ตายเพราะทหารที่ติดตามมาฆ่า ด้านเจ้าหญิงก็รอให้สามีกลับมา เมื่อทราบว่าสามีเสียชีวิต นางก็ตัดสินใจเอาปิ่นปักผมมาแทงตนเองให้ตาย นางได้นอนหงายเสียชีวิตที่ดอยนางนอน ส่วนน้ำตาไหลรินออกมาก็ถือกำเนิดเป็น “แม่น้ำสาย”
ตำนานที่ 3 เป็นเรื่องเกี่ยวกับ “พระธาตุจอมนาค” เล่าว่าพญาครุฑได้ลักพาลูกสาวพญานาคมาแอบที่เทือกเขาแห่งนี้ พญานาคเมื่อได้ตามหาก็พบว่าลูกสาวนอนอยู่กับพญาครุฑที่ต้นน้ำ หรือที่เรารู้จักกันคือ “ขุนน้ำนางนอน”
พญานาคเมื่อพบลูกสาว ก็ขอพญาครุฑคืน แต่พญาครุฑกลับขอแลกกับทองคำ จึงทำให้พญานาคต้องเอาทองคำที่ใต้บาดาลมามอบให้ และเรียกพื้นที่ที่พญานาคเอาทองคำขึ้นมาให้นี้คือ “หนองตานาค” ส่วนบริเวณที่พญานาคส่งทองคำให้พญาครุฑเรียกว่า “หนองละกา” หรือหมายถึงพญานาคลาจากพวกสัตว์นกกลับบาดาล ส่วนที่เก็บทองคำก็คือ “ถ้าทรายคำ” บางคนเรียกว่า “ถ้ำทรายทอง”
อย่างไรก็ตาม พญานาคได้สร้าง “พระธาตุจอมนาค” ทิ้งไว้ก่อนกลับถิ่นของตนเอง
อ่านเพิ่มเติม :
- ค้นร่องรอยภูสามเส้าหรือดอยนางนอน กับตำนานปู่เจ้าลาวจก
- รู้หรือไม่? ตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัด “เชียงราย” เคยเป็น “หนุมาน”
- สิงห์หน้าวัด-นาคราวบันได เอกลักษณ์งานประติมากรรมในพุทธสถานล้านนา
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
https://www.matichonweekly.com/column/article_42858
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 กันยายน 2567