เมื่อการพัฒนาคุกคามอาคารเก่า “ย่างกุ้ง” ต้องเลือกว่าจะอนุรักษ์หรือทำลาย

ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2016, คนงานก่อสร้างขณะเคลื่อนย้ายซากอิฐจากอาคารยุคโคโลเนียลในย่างกุ้งเพื่อสร้างอพาร์ทเมนต์แห่งใหม่ (AFP PHOTO / ROMEO GACAD)

สิ่งก่อสร้างแต่ละยุคแต่ละสมัยล้วนมีเรื่องราวและประวัติศาสตร์ ซึ่งอาจจะมีคุณค่าในสายตาคนกลุ่มหนึ่ง แต่กับคนอีกกลุ่มอาจมองว่าสิ่งปลูกสร้างในอดีตเป็นเพียงอุปสรรคต่อ “การก้าวไปข้างหน้า” ซึ่งถือเป็นทางแยกที่ประเทศกำลังพัฒนามักต้องเผชิญว่าจะเลือกทางเดินโดยเหลือประวัติศาสตร์แบบใดให้คนรุ่นหลังได้จดจำ

ที่พม่า นับตั้งแต่ประเทศเดินหน้าสู่ระบอบประชาธิปไตยก็เริ่มมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจอย่างกว้างขวาง กระตุ้นให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจจนข้ามหน้าข้ามตาประเทศเพื่อนบ้าน ขณะเดียวกันอาคารเก่าอายุนับร้อยปีซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่ยุคอาณานิคมก็เริ่มถูกทุบทำลายพร้อมไปกับการพัฒนาเมืองเพื่อก่อสร้างอาคารสูงแนวดิ่งขึ้นแทนที่

แต่ผู้คนที่ยังเห็นคุณค่าในอาคารโบราณเหล่านี้ก็ได้ยื่นมือเข้ามาปรับโฉมหน้าอาคารยุคโคโลเนียล ในย่านธุรกิจของนครย่างกุ้งให้กลับมาสดสวยอีกครั้ง หลังถูกทอดทิ้งให้ทรุดโทรมมาโดยตลอดในช่วงที่รัฐบาลทหารยังคงปกครองประเทศ

“ผมดีใจมากเลย มีไม่กี่คนหรอกที่จะคิดปรับปรุงอาคารเก่า โดยทั่วไปคนมักจะคิดว่าถ้ามันเก่านักก็ทุบทิ้งไปสิแล้วก็สร้างคอนโดขึ้นมาแทน แต่นี่ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับเราเลย” ออง ตู (Aung Thu) ชาวบ้านในย่านอาคารเก่าของย่างกุ้งกล่าวกับเอเอฟพี

การพัฒนาเมืองกำลังเป็นภัยคุกคามต่ออาคารโบราณเหล่านี้ เหล่านักอนุรักษ์และฟื้นฟูอาคารโบราณจึงหวังว่า โครงการปรับปรุงอาคารยุคโคโลเนียลในย่านเมอร์ชานต์สตรีต (Merchant St.) จะช่วยเป็นแนวทางในการดูแลอาคารโบราณใหักับพื้นที่อื่นๆ ของย่างกุ้ง

“ชาวบ้านยินดีกับอาคารปรับปรุงใหม่ มันดูดีมากแล้วก็ช่วยดึงดูดความสนใจของผู้คนซึ่งถือเป็นหัวใจหลักที่โครงการต้องการนำเสนอ เราต้องการให้คนทั่วไปหันมาใส่ใจมรดกโบราณของพวกเขา” แฮร์รี วอร์ดิลล์ (Harry Wardill) จากมูลนิธิเทอร์คอยส์เมาเทน (Turquoise Mountain) ผู้ดูแลการฟื้นฟูอาคารในครั้งนี้กล่าว

การบูรณะครั้งนี้มีขึ้นโดยที่ผู้พักอาศัยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ทำให้บางส่วนรู้สึกอดเป็นกังวลเมื่อได้รับข้อเสนอในตอนแรก แต่ตอนนี้พวกเขาคงรู้สึกไม่ต่างไปจากถูกหวย

“ฉันเชื่อว่า การปรับปรุงอาคารครั้งนี้เป็นไปได้ด้วยบุญเก่าจากชาติที่แล้ว เพราะเราคงไม่มีปัญญาที่จะจ่ายเอง” อาย อาย มาร์ (Aye Aye Mar) กล่าว

การเข้ามาของรัฐบาลใหม่ตามระบอบประชาธิปไตย กลายเป็นความหวังสำคัญของบรรดานักอนุรักษ์ หลังจากที่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการอาคารโบราณในย่างกุ้งได้ถูกทำลายไปกว่า 35 เปอร์เซนต์หรือราว 1,800 หลังคาเรือน ในช่วงปี 1990-2011 ทั้งนี้จากข้อมูลของ Yangon Heritage Trust (YHT) องค์กรเอกชนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์อาคารเก่าในย่างกุ้ง

 


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2559