ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2547 |
---|---|
ผู้เขียน | ไมเคิล ไรท์ |
เผยแพร่ |
ภาษาอังกฤษเรียกพิพิธภัณฑสถานว่า Museum (มิวเซียม) คำนี้มาจากภาษากรีก “Mouseion” ซึ่งประกอบด้วย Mousai + ปัจจัย -on ปัจจัย -on คล้ายปัจจัย -ลัย ภาษาสันสกฤตที่หมายถึง “ที่สถิต” เช่น วิทยา-ลัย หิมา-ลัย เทวา-ลัย Mousai เป็นพหูพจน์ของ Mousa ที่ภาษาอังกฤษรับมาในรูป Muse (มิวฺสฺ) หมายถึงเทพธิดาเก้าองค์ที่ดลใจให้มนุษย์มีศิลปวิทยา
เทพปกรณัมกรีกว่า มหาเทพ Zeus (ซิวฺสฺ) หรือพระอินทร์ ได้สมสู่กับนาง Mnemosyne (มเนโมสีเน) ซึ่งหมายถึง “ความทรงจำ” หรือ “ความรำลึก” แล้วบังเกิดเทพธิดาที่ดลใจศิลปวิทยาทั้งหลาย
ว่ากันว่า เบื้องต้นมีเทพธิดาเพียงสามองค์ คือ 1. “วาจากวี” 2. เสียงดนตรี และ 3. การร่ายรำ ต่อมาเทพธิดาทั้งสามได้ขยายจำนวนเป็นเก้าองค์ (3 X 3 = 9, ตามการเล่นเลขศักดิ์สิทธิ์ ตามที่คนโบราณทุกชาติทุกภาษานิยมกัน) เทพธิดาทั้งเก้ามีดังนี้ :
ชื่อ | ครอง/ดลบันดาล | เครื่องหมาย |
1. Calliope | มหากาพย์ | แผ่นจาร เหล็กจาร |
2. Clio | ประวัติศาสตร์ | ม้วนกระดาษ |
3. Erato | เพลงรัก | พิณ |
4. Euterpe | ดนตรี | ขลุ่ยคู่ |
5. Melpomene | โศกนาฏกรรม | หน้ากากไห้ |
6. Polyhymnia | คาถาสรรเสริญเทพเจ้า | นิ้วชี้ติดปาก |
7. Terpsichore | ระบํา | ยกขารำ |
8. Thalia | ตลก | หน้ากากหัว |
9. Urania | โหราศาสตร์ | ลูกโลก |
รายการนี้อาจจะดูประหลาดอยู่ แต่ท่านผู้อ่านต้องระลึกว่า โบราณไม่ได้แยก “ศิลปะ” ออกจาก “วิทยาศาสตร์” เหมือนอย่างที่แยกกันทุกวันนี้ ในสมัยโบราณ วิทยาศาสตร์ยังเป็นศิลปะ และศิลปะยังเป็นวิทยาศาสตร์ ดังนั้น “ประวัติศาสตร์” กับ “โหราศาสตร์” ยังผนวกกับ “กวีนิพนธ์”, “ดนตรี” และ “ระบำ” ได้สะดวกไม่ขัดกัน
การบูชาเทพธิดาทั้งเก้า
เราไม่ทราบว่าโบราณท่านบูชาเทพธิดาเหล่านี้อย่างไร เพราะโบราณสถานกรีก-โรมันถูกทำลายมากจนมองไม่เห็น แต่สันนิษฐานกันว่าเทวรูปเทพธิดาคงเรียงรายในกำแพงแก้ว (ที่ปัจจุบันเรียกว่า Gallery) คล้ายเทวดานพเคราะห์ที่เรียงรายในกำแพงแก้วเทวสถานฮินดู
ศิลปินผู้ใดที่รับความสำเร็จ (หรือยังต้องการความดลบันดาลใจ) ก็จะมาจุดประทีป เผาเครื่องหอม และถวายพวงมาลัย
หลักฐานจากวรรณคดีชัดเจนดีกว่าโบราณคดี นั่นคือ นักประพันธ์กรีก-โรมัน ล้วนขึ้นต้นด้วยคำสรรเสริญบูชาหรืออ้อนวอนเทพธิดาให้มาดลใจ ตัวอย่างที่ดีที่สุด คือมหากาพย์ Iliad ของ Homer (ราว 800 ปีก่อนคริสตกาล) ที่ขึ้นต้นว่า :
“จงเดือดดาลเถิดเทพี เล่าเรื่องร้าย อาฆาตพญาอะฆิลีส ฆาตกรที่มัจจุราชจองไว้ ที่นำชาวกรีกให้เสียหาย จนวิญญาณหาญถูกฟาดลงไปสู่แดนนรกนับไม่ถ้วน วีรชนล้วนที่ตายกลายเป็นเหยื่อ โอชาแห่งสุนัขและนกอีแร้ง ตามพระประสงค์ของ Zeus กำหนดไว้ เริ่มเถิด เทพธิดา (Muse) ครั้นสองท่านเกิดเคืองกัน อากาเมมโนนยอดนราและอะฆิลีสมหาวีระ”
ว่าโดยสรุปแล้ว มหากวี Homer ไม่กล้าอวดว่าเขาแต่งมหากาพย์นี้ ท่านได้แต่ขอร้องให้เทพธิดา Muse เสด็จมาช่วยดลบันดาลให้บันทึกความสะเทือนใจที่เหลือใจมนุษย์จะทนได้
เทพธิดาหายไป
ระหว่างราว ค.ศ. 300-800 โลกกรีก-โรมันถูกถล่มโดยเผ่า “ชาวป่า” ที่บุกรุกเข้ามาจากยุโรปตอนเหนือ แล้วชาวคริสต์ต่างมาครองโลกกรีก-โรมัน กิจการของชาวคริสต์ในสามร้อยปีแรกคือ 1. ปิดและทำลายเทวสถานเก่า 2. ยกเลิกวิทยาลัยปรัชญา (Schools of Philosophy) 3. ห้ามไม่ให้เล่นกีฬาโอลิมปิก (ที่เป็นพิธีบูชาเทพเจ้า) และ 4. เผาห้องสมุด Alexandria ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในสมัยโบราณ
แต่นั้นมาประมาณหนึ่งพันปี เราไม่ได้ยินชื่อเทพธิดาเก้าองค์อีกเลย จนถึงยุค Renaissance ที่ฝรั่งเริ่มต่อต้านศาสนจักร เริ่มค้นคว้าเรื่องอดีต เริ่มสะสมโบราณวัตถุ และเริ่มจัดแสดงโบราณวัตถุ ตามห้องโถงยาว (Gallery) และจัดเป็นห้อง ๆ ที่ปัจจุบันเรียกว่า Museum ปัจจุบันจึงมักเข้าใจผิดว่า Museum คือโกดังเก็บของเก่าที่ไม่มีความหมาย ถึงคนเข้าไปดูก็ดูไม่ค่อยรู้เรื่อง และยังอาจจะรู้สึกถูกข่มหัวด้วยซ้ำไป
มิวเซียม ความหมายที่แท้จริง
ว่าตามศัพท์ Museum หมายถึง “ที่อยู่ของเทพธิดา (Muse) ที่บันดาลศิลปวิทยา” มันไม่ควรเป็นที่อวดอ้างอะไร หรือข่มหัวใคร มันเป็นที่สาธารณะ (ของทุกคน) ที่ใคร ๆ เข้าไปดูได้ตามใจนึกคิด และตามแต่จะสนใจอะไร Museum เป็นสถานที่เดินเล่นดูของดี ๆ งาม ๆ และมีประโยชน์ เจริญตาเจริญใจ เป็นสถานที่รำพึงรำพันตามใจชอบ
ใครเข้าไปชม อย่างน้อยควรได้รับความสนุกสนานบันเทิงใจ บางคนอาจจะได้ความรู้ที่จะช่วยเข้าใจตนเองและโลกรอบตัวได้ดีขึ้น บางคนอาจจะนึกอะไรขึ้นมาได้ที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิต
แต่ที่สำคัญที่สุดคือ บางคนอาจจะได้รับการดลบันดาลใจให้สร้างสรรค์สิ่งดีงามใหม่ ๆ ขึ้นมาด้วยตนเอง เป็นประโยชน์ประดับชีวิตมนุษย์ทั่วโลก
อ่านเพิ่มเติม :
- ร่องรอย ตำนานเทพนิยายกรีก-โรมัน ในโบราณวัตถุที่ค้นพบในไทย-อินเดีย
- “The Calf-Bearer” คนแบกวัว ของขวัญ(แด่เทพเจ้า) ยุคกรีกโบราณ
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “‘พิพิธภัณฑ์’ เกี่ยวกับเทพธิดาอย่างไร?” เขียนโดย ไมเคิล ไรท์ ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2547
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2565