“The Calf-Bearer” คนแบกวัว ของขวัญ(แด่เทพเจ้า) ยุคกรีกโบราณ

ภาพถ่าย The Calf-Bearer หลังการขุดค้นที่อะโครโพลิส, ถ่ายเมื่อ ปี 1865 (ภาพจาก The Metropolitan Museum of Art)

งานสลักหินศิลปะกรีกยุคอาเคอิค (Archaic Period) เก่าแก่ราว 570 ปีก่อนคริสตกาล ถูกค้นพบเมื่อปี 1864 ในกรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ระหว่างการปรับพื้นที่และก่อสร้างพิพิธภัณฑ์อะโครโพลิสเก่า (the old Acropolis Museum)

ชิ้นส่วนดังกล่าวเป็นช่วงบนลำตัวถึงบริเวณเข่า ขณะที่ส่วนฐานและเท้าถูกค้นพบภายหลังในปี 1887 ณ บริเวณเดียวกัน (ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์อะโครโพลิส) ประติมากรรมดังกล่าวเป็นรูปของชายมีเครากำลังแบกลูกวัวไว้เหนือบ่าของเขา วิเคราะห์จากสถานที่ค้นพบเชื่อว่าเป็นของขวัญแด่เทพเจ้าและรูปสลักนี้สร้างอุทิศแด่เทพีอเธนา (Athena) เพราะอะโครโพลิสเป็นที่ตั้งของวิหารอเธนานั่นเอง

ในส่วนของรายละเอียดอื่น ๆ ชายผู้นี้สวมเสื้อคลุมแบบกรีกโบราณเรียกว่า “ไฮเมชัน” (Himation) ซึ่งเป็นผ้าบาง ๆ คลุมไหล่ แต่เปิดบริเวณอกและส่วนหน้าของร่างกาย เป็นไปได้ว่ารูปสลักเคยถูกลงสีอย่างสดใสสวยงามมาก่อน ซึ่งทำให้แยกความแตกต่างระหว่างเสื้อคลุมกับร่างกายมนุษย์ได้ง่ายดายกว่าปัจจุบัน

บนศรีษะของเขายังมีแถบคาดผม ใบหน้ามีการแสดงออกทางสีหน้าชัดเจนแม้ลูกตาที่ทำจากวัสดุอื่นสูญหายไปแล้ว ส่วนริมฝีปากของเขามี “รอยยิ้มอาเคอิค” (Archaic smile) อันโดดเด่น เป็นลักษณะในพบได้ในงานศิลปะกรีกยุคนี้ โดยเป็นการยิ้มเยอะคล้ายจะหัวเราะ

สรีระโดยรวมของเขายังบ่งบอกถึงความแข็งแรง กำยำ เขาใช้สองมือจับเท้าลูกวัวขณะที่หัวของสัตว์ตัวนี้ก็โน้มเอียงหันมาทางศรีษะของเขาด้วยเช่นกัน ส่วนหางของมันวางพาดบนแขนของเขาตั้งแต่หัวไหล่ลงมา ขณะที่ฐานของรูปสลักซึ่งมีการค้นพบภายหลังมีคำจารึกที่เขียนจากขวาไปซ้าย บอกให้ทราบว่าประติมากรรมนี้อุทิศโดย “Rhombos” บุตรชายของ “Palos”

The Calf-Bearer ปัจจุบันจัดแสดงที่ พิพิธภัณฑ์อะโครโพลิส (ภาพจาก Wikimedia Commons / Acropolis Museum)

เชื่อว่ารูปสลักนี้สร้างขึ้นแทนตัวของ Rhombos เอง เพราะเขาน่าจะเป็นชาวเอเธนส์ผู้มั่งคั่งในอดีต และมีทรัพย์สินมากพอที่จะอุทิศงานชิ้นนี้ที่มีมูลค่าสูงพอ ๆ กับงานสลักหินอ่อนชิ้นอื่น ๆ บนอะโครโปลิส ประกอบกับโดยทั่วไปแล้วประติมากรรมคนแบกสัตว์มักเป็นงานสำริดขนาดเล็ก แต่ชิ้นนี้คืองานหินอ่อนขาดใหญ่ชิ้นแรกที่เคยมีการค้นพบ

ค่อนข้างตลกร้ายที่นักโบราณคดีเชื่อว่าการเผาทำลายกรุงเอเธนส์โดยจักรวรรดิเปอร์เซียเมื่อปี 479 ก่อนคริสตกาลมีส่วนทำให้เราได้เห็นชิ้นงานนี้ เพราะชาวเอเธนส์ตัดสินใจบูรณะวิหารเทพเจ้าของพวกเขาให้งามสง่ายิ่งกว่าเดิม ก่อนจะฝังประติมากรรมบางส่วนไว้ใต้ดินบริเวณวิหารแห่งใหม่

เมื่อมีการค้นพบในสมัยหลังจึงเชื่อได้ว่างานชิ้นนี้ไม่เคยต้องแสงแดดมาอย่างน้อยกว่า 1,300 ปีแล้ว ซึ่งสร้างความตื่นเต้นแก่แวดวงศิลปะและโบราณคดี เพราะมันมีรายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับศิลปะกรีกยุคคลาสสิคในสมัยโบราณนั่นเอง (คลิกชมภาพเพิ่มเติม The Calf-Bearer)

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

Acropolis Museum (Retrieved Dec 27, 2022) : Male statue with its base. The “Calf-bearer”. (Online)

The Metropolitan Museum of Art (Retrieved Dec 28, 2022) : [The Calf-Bearer and the Kritios Boy Shortly After Exhumation on the Acropolis]; Danseuse du Temple de Bacchus. (Online)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 ธันวาคม 2565