ฝรั่งมองฝรั่ง และฝรั่งมองไทย มุมมองของไมเคิล ไรท์

“ฝรั่ง” ในจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถวัดคงคาราม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี

ก่อนฝรั่งเข้ามา

แต่เดิมชาวอุษาคเนย์ไม่รู้จักฝรั่ง และฝรั่งไม่รู้จักชาวอุษาคเนย์

ความรู้ของฝรั่งเกี่ยวกับตะวันออกจบลงที่ตะวันออกกลาง เลยตะวันออกกลางออกไป เป็นแต่แดนเทพนิยายที่ม้ามีเขางอกจากหน้าผาก (Unicorn), คนมีปากกลางหน้าท้อง, “คนตีนโต” ใช้ตีนเป็นร่ม ฯลฯ

ในสมัยนั้นชาวอุษาคเนย์รู้จักชาวต่างประเทศเพียงสองจำพวก คือ จีน (ด้านตะวันออก) และ อินเดีย (ด้านตะวันตก) นอกนั้นเป็นเพียง “อุตรกุรุทวีป” นอกแดนมนุษย์ กับแดนป่าหิมพานต์ที่เต็มไปด้วยวิทยาธรและสัตว์ประหลาด

ชาวสยามแต่เดิมนั้นรู้ว่าตนอยู่ใน “ชมพูทวีป” นี้ (คือโลกมนุษย์) ซึ่งคำนี้ปรากฏโดยทั่วไปทั้งในตำนานท้องถิ่นและพระราชพงศาวดาร

ในสมัยก่อนชาวจีนก็เข้ามาค้าขาย แต่ไม่มีอะไรทางวัฒนธรรมจะมอบให้ชาวอุษาคเนย์ เพราะจีนเจริญเดินเลยชาวอุษาคเนย์ มีคำสอนเพียงอย่างเดียวคือ “จิ้มก้อง”

แต่ชาวอินเดียทั้งพราหมณ์และพุทธที่เข้ามายังอยู่ในระดับความเจริญไล่เลี่ยกับชาวอุษาคเนย์ และเขามี “สินค้าทางปัญญา” หรือศิลปวัฒนธรรมชนิดที่ชาวอุษาคเนย์จะรับได้ นั่นคือพระศาสนาทั้งสองซึ่งแซมกับศาสนาผีพื้นเมืองได้อย่างสนิท, อักษรประดิษฐ์ที่สามารถใช้เขียนภาษาพื้นเมือง, โหราศาสตร์และปฏิทิน, อายุรแพทย์, พระธรรมศาสตร์ ฯลฯ ร้อยแปด รวมทั้งเวทมนตร์คาถาที่จะปลุกเสาหลักบ้านให้กลับกลายเป็นเขาพระสุเมรุหลักจักรวาล และอาจจะเสกให้เจ้าบ้านหรือเจ้าเผ่าให้กลายเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิราชาธิราชตรีภูวนาทิตย์ ครองฟ้าดินสุดหล้าฟ้าหาที่สุดมิได้

ในสมัยก่อนที่ฝรั่งจะปรากฏตัวในแผ่นดินนี้ ชาวสยามสบายใจว่าตนเป็นมนุษย์ที่มีศิลปวัฒนธรรมสูงสุด, เป็นชาวชมพูทวีปอันเป็นมนุษยวิสัย และเมืองหลวงของตน (ไม่ว่าเป็นกรุงพุกาม, เชียงใหม่, หลวงพระบาง หรือกรุงศรีอยุธยา) ก็เป็นศูนย์กลางของจักรวาล

แล้ววันหนึ่ง มีชนกลุ่มหนึ่งเข้ามาในชมพูทวีปนี้จากนอกมนุษยวิสัย มีรูปร่างคล้ายมนุษย์ แต่มีขนดกเยี่ยงลิง มีศีลธรรมหยาบช้า แต่มีวิชาด้านชนะสงครามสูง โดยเฉพาะการก่อป้อมปราการและการทำปืนยิงไฟ ทั้งปืนใหญ่และปืนนกคาบ

ไม่มีใครอยากคบยักษ์เหล่านี้

แต่ใครไม่คบก็ย่อมแพ้สงครามเพราะไม่ทันเทคโนโลยี

ฝรั่งมาถึงครั้งแรก

เรือโปรตุเกสเดินมาพ้นแหลมแอฟริกาใต้ (Cape of Good Hope) เป็นครั้งแรก ใน ค.ศ. 1476 แล้วใช้ใบแล่นถึงฝั่งตะวันตกของอินเดียในปีเดียวกัน

เขารุกรานหัวเมืองชายฝั่งตะวันตกของอินเดียอย่างแสนทารุณโหดร้าย แล้วค่อยๆ ตั้งตนเป็นใหญ่ในเมืองท่าต่างๆ (เช่นเมือง Goa)

โปรตุเกสยังรุกรานเกาะลังกาต่อไป ซึ่งหน่วยสอดแนมสิงหลบันทึกถึงพระเจ้าแผ่นดินว่า “มียักษ์ผิวขาวจำพวกหนึ่งแล่นเรือใบเข้ามาในอ่าวโคลัมโบ มันแต่งตัวด้วยเหล็ก (ชุดเกราะ), กินก้อนหิน (ขนมปัง) เป็นอาหาร, ดื่มเลือด (ไวน์สีแดง) เป็นน้ำ, และฆ่าคนได้จากที่ไกลด้วยเสียงฟ้าร้อง (ปืนใหญ่)”

เขาเผาวัด, ฆ่าพระ จนในไม่ช้าพุทธศาสนาเกือบสาบสูญในเกาะลังกา

ในขณะเดียวกัน โปรตุเกสส่งทัพเรือข้ามอ่าวเบงกอลไปเห็นฝั่งตะวันตกของแหลมอุษาคเนย์แล้วยึดเมืองมะละกาเป็นหัวหาด เขาได้ยินว่าเมืองมะละกานี้เป็นเมืองขึ้นของกรุงสยาม

ในปีต่อมาเขาส่งทูตเข้ามาเจรจาที่กรุงศรีอยุธยา เป็นครั้งแรกที่ชาวสยามเห็นหน้า

ในการเห็นหน้าฝรั่งเป็นครั้งแรกนี้ ชาวสยามคิดอย่างไร? และทำไมชาวโปรตุเกสจึงสุภาพถึงเพียงนี้? ทำไมไม่ฆ่าพระ? ทำไมไม่เผาวัด? ชะรอยเขากำลังน้อยจึงไม่กล้ารังแก?

ในไม่กี่ปีข้างหน้าชาวโปรตุเกสมาขายตัวเป็น “อาสา” ทหารรับจ้างและสอนวิชายิงและหล่อปืนให้หงสาวดี, กรุงศรีอยุธยา ฯลฯ ในแผ่นดินใหญ่ของอุษาคเนย์

แล้วชาวอุษาคเนย์คิดอย่างไรเกี่ยวกับฝรั่งรุ่นแรกที่เขารู้จัก? ผิวแดง, ผมแดง, ขนดก, มีหนวดมีเครา ต่างฟ้องว่าเป็นยักษ์, ไม่ใช่มนุษย์ในชมพูทวีปนี้ เขาชอบสำมะเลเทเมาชกต่อยอาละวาด ยิ่งกว่านั้นเขาบูชานักโทษที่ถูกประหาร ด้วยการตรึงกางเขน ที่กรุงศรีอยุธยาเขาประหารนักโทษด้วยวิธีโหดร้ายน่าสยดสยอง, แต่ชาติอะไรเล่าที่จะรับว่า นักโทษเช่นนั้นคนหนึ่งเป็นอวตารพระผู้เป็นเจ้า

พูดในแง่ปัญญาหรือสุนทรีย์แล้วผมไม่เห็นมีทางที่ชาวอยุธยาจะนิยมชมชอบฝรั่ง

กรุงศรีอยุธยาสมัยนั้น (ในสายตาชาวกรุงศรีฯ) คือศูนย์กลางของจักรวาล, มีวัดมหาธาตุ เป็นหลักพระสุเมรุ มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นหลักแห่งวัฒนธรรม มีบุญบารมีของพระมหากษัตริย์เป็นเกราะหุ้มชั้นใน และมีเทวดา (ทั้งพราหมณ์และพื้นเมือง) หุ้มชั้นนอก อย่าให้พูดถึงแม่น้ำที่ล้อมกรุงศรีฯ

แม่น้ำและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายนั้นป้องกันกรุงศรีฯ ได้ตลอดมาสมชื่อ “อยุธยา” (“ไม่พ่ายแพ้”)

แต่หลังจากที่ฝรั่งเข้ามาที่หงสาวดีพร้อมด้วยกลศาสตร์ทหาร (Military Engineering), การจัดทัพแบบฝรั่งและปืนใหญ่แล้ว วิธีป้องกันกรุงศรีฯแบบเก่าไม่มีความหมายแล้ว กรุงศรีฯ จึงตกเป็นเหยื่อของกองทัพหงสาวดีกับสุโขทัยใน พ.ศ. 2112

สิ้นยุคทองของสยามด้วยประการะเช่นนี้

ฝรั่งรุ่นสอง

รุ่นสองนี้ความจริงเป็นรุ่นแรกต่อๆ กัน เสียแต่ว่าชาวสยามได้เปลี่ยนทัศนคติและเริ่มยุคเงิน

สมเด็จพระนเรศวร (ซึ่งผมไม่จำเป็นต้องอุตริเรียกว่า “มหาราช” อย่างปัญญาอ่อนเพราะท่านทรงเป็นมหาราชอยู่แล้ว) ได้เรียนรู้วิชาทหารแบบฝรั่งจากเมืองหงสาวดี จึงทรงรื้อฟื้นแผ่นดินสยามที่กรุงศรีฯ โดยใช้วิชาที่ท่านทรงเรียนมา เริ่มมีการสร้างป้อมปราการแบบฝรั่ง และการใช้ปืนใหญ่ทั้งในการบุกและการป้องกันเมือง

ในสมัยนั้นผมไม่เชื่อว่าชาวสยามจะเคารพหรือรักฝรั่ง ชาวสยามรู้จักฉวยวิชาที่เป็นประโยชน์ จึงตั้งบ้านตั้งเมืองได้แข็งแรงขึ้น

แต่ชาวสยามยังเป็น “คน” และฝรั่งยังเป็น “ยักษ์” อยู่

ฝรั่งรุ่นสาม

ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ (ผมไม่ต้องเรียกว่า “มหาราช” เพราะท่านทรงเป็นมหาราชอยู่แล้ว) บ้านเมืองกำลังแข็งแรงรุ่งโรจน์อย่างยิ่ง โดยมีความไว้วางใจในตนเองอย่างสูง และสามารถต้อนรับต่างชาติต่างภาษาอย่างไม่คิดระแวงหวาดกลัว

ในบรรดาชาวต่างชาติที่เข้ามาแต่ก่อนนั้น ชาวโปรตุเกสเบนความสนใจไปทางอื่น (ฟิลิปปินส์และมาเก๊า) และชาวโปรตุเกสที่เข้ามาตั้งตนในกรุงศรีฯ ก็ได้เมียไทยจึงเริ่มกลายชาติเป็นคนพื้นเมือง แขกต่างๆ เช่น จูเลีย (โจฬะเก่า), โมฆุล และเปอร์เซีย ทำท่าทีว่าจะคุมการค้าต่างประเทศ

ส่วนแขกจามกับแขกมักกะสันเข้ามามาก จนอาจจะก่อจลาจลได้

ฝรั่งที่เข้ามาใหม่ ได้แก่ ชาวดัตช์, ชาวอังกฤษ และชาวฝรั่งเศส

ชาวดัตช์กับชาวอังกฤษนั้นน่าเบื่อมากเพราะสนใจแต่การค้า ไม่มีวิชาใหม่ที่ชาวสยามจะสนใจ

ฝรั่งเศสทำแปลกมาก นั่นคือส่งนักปราชญ์คณะบาทหลวง Jesuit เข้ามาด้วยวิชาดาราศาสตร์ (ที่พอเทียบกับโหราศาสตร์ของพราหมณ์), กลศาสตร์การชักน้ำทำน้ำพุ และยุทธศาสตร์ฉบับล่าสุด

ในสมัยนั้นชาวสยามก็แสดงความสนใจในวิชาเหล่านี้แต่ไม่น่าจะเคารพฝรั่งมากนัก การแพทย์ของฝรั่งด้อยกว่าอายุรแพทย์ของแขกหรือของจีน การเดินเรือด้วยเรือใบของฝรั่งไม่ผิดกับการเดินสำเภาของแขกหรือจีน

สมเด็จพระนารายณ์เป็นปัญญาชนจึงยินดีต้อนรับนักปราชญ์ชาวฝรั่งเศส แต่เมื่อสิ้นแผ่นดินท่านแล้ว “ฝรั่งวิทยา” สาบสูญไปช้านาน

แต่สิ้นแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์จนถึงรัชสมัยของรัชกาลที่ 4 นั้น ฝรั่งไม่มีบทบาทไม่ว่าเป็นในด้านการสร้างสรรค์หรือด้านการทำลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่มีบทบาทด้านปัญญา

ฝรั่งรุ่นสี่

ร.1, ร.2 และ ร.3 นั้นไม่มีบันทึกว่ามีความสนใจใดๆ กับฝรั่ง น่าจะเป็นเพราะเหตุสองประการ

ประการแรก ทั้งสามพระองค์น่าจะถือว่าท่านเป็นเจ้าของอารยธรรมที่สูงที่สุดในจักรวาล

ประการที่สอง แม้ฝรั่งจะก้าวหน้าไปมากในด้านทฤษฎี (เช่นทฤษฎีว่าด้วยความถ่วงของโลก, สรีรวิทยา, การไฟฟ้า และแม่เหล็ก เป็นต้น) แต่ทฤษฎีเหล่านี้ยังอยู่ในหนังสือ ยังมิได้นำมาใช้ในทางที่เห็นได้ด้วยตา

ใน พ.ศ. 2359 ร.2 ทรงทราบว่า อังกฤษยึดเกาะลังกาทั้งหมดเป็นเมืองขึ้นจึงทรงส่งสมณทูตออกไป “บูชาพระเจดีย์สถานในลังกาทวีป” พร้อมทั้งให้สอดแนมดูว่า อังกฤษเขาดำเนินอย่างไรกับเมืองขึ้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า ร.2 ท่านไม่ให้ใช้บริการเรือเดินสมุทรของฝรั่ง แต่ให้คณะสมณทูตเดินทางตามวิถีเก่าจากกรุงเทพฯ ถึงเมืองนครฯ จากเมืองนครฯ ถึงตรัง แล้วจากตรังโดยอาศัยเรือพื้นเมืองค้าช้างข้ามไปถึงอินเดียใต้

ทั้งนี้แสดงว่า โลกเก่า (วิธีเดินทางเดิม) ยังดีอยู่ แต่ โลกใหม่ (ในรูปการคุกคามของตะวันตก) เริ่มเป็นที่น่ากลัวแล้วสำหรับชาวสยาม

ในสมัย ร.2 นั้นฝรั่งที่ยุโรปเริ่มนำทฤษฎี (Pure Science) ออกจากตำรามาใช้ในภาคปฏิบัติ (Technology) แล้ว ในสมัย ร.3 เทคโนโลยีนั้นเริ่มไหลเข้าถึงสยาม

หมอสอนศาสนานำการปลูกฝีเข้ามาแล้ว ใครถูกปลูกฝีไม่เป็นโรคฝีดาษเป็นประจักษ์แก่ตา

หมอบรัดเลย์นำแท่นพิมพ์เข้ามามีประ สิทธิภาพสูงกว่าการจารใบลาน หรือการลอกสมุดข่อย

และแล้ววันหนึ่งมีเรือกลไฟเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา (ผมหาวันเดือนปีไม่พบ) นี่คือครั้งแรกที่ชาวสยามเห็นเรือที่เดินได้เองโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาลมหรือฝีพาย

หมู่นักปราชญ์ชาวสยามนำด้วยพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎและเจ้าฟ้าจุฑามณีต่างไม่ด้อยปัญญา จึงสังเกตปรากฏการณ์ใหม่เหล่านี้แล้วสำคัญว่า ฝรั่งมิได้เป็นเพียงยักษ์ที่ควรตีห่างแต่เป็นนักปราชญ์ที่มีวิชาควรศึกษา

นี่แหละคือเบื้องต้นของวิชา “ฝรั่งศึกษา” รุ่นใหม่ที่นำสยามประเทศเข้าสู่ยุคใหม่โดยไม่เสียเอกราชกลางทาง ก็สมควรจะสรรเสริญว่าเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่

ใครจะเถียง?

แต่แล้วการสรรเสริญตนเองมีประโยชน์ไฉน? ผมถึงอยากเสนอว่า ควรมีการศึกษาวิวัฒนาการของ “ฝรั่งวิทยา” ในสยามตั้งแต่สมัย ร.3 ถึงปัจจุบัน เพื่อตอบปัญหาว่า :

1. ทำไมประเทศเพื่อนบ้านที่แสนอาภัพเสียเอกราชนั้นแต่ยังสามารถรักษาวัฒนธรรมเดิมของตนได้อย่างดี (ดูเขมรอพยพรำเทียบกับนาฏศิลป์กรมศิลป์)

2. ทำไมสยามที่รักษาเอกราชได้ตลอดมาอย่างมหัศจรรย์ และมีความเป็นเลิศทางเศรษฐกิจ จึงมีปัญหากับวัฒนธรรมเดิมที่แท้จริงของตนถึงต้องมี “คณะกรรมการเอกลักษณ์แห่งชาติ” เพื่อ หา เอกลักษณ์ที่หายไปไหนผมไม่ทราบ? ทำไมต้องทําลายหลักฐานทางโบราณคดีและปรุงแต่ง “ประเพณี” ปลอมๆ เพื่อ “ต้อนรับนักท่องเที่ยว?” ทำไมหลักฐานทางประวัติศาสตร์ถูกอำพราง? ทำไมคนไทยจึงรังเกียจการเคี้ยวหมากพลู แต่ไม่รังเกียจการเคี้ยวหมากฝรั่ง ?

อย่าให้ผมสีซออีกต่อไปเลย

คำตอบแก่ปริศนาเหล่านี้ฝังอยู่ในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ระหว่างสมัย ร.3 ที่นักปราชญ์ไทยเริ่มเห็นว่า ฝรั่งไม่ใช่ยักษ์หรือลิง กับปี พ.ศ. 2518 ที่อเมริกาแพ้สงครามในเวียดนามแล้ว นักปราชญ์ไทยเริ่มถึงบางอ้อ (อย่างที่เคยสงสัยมาช้านานแล้ว) ว่า

ฝรั่งไม่ใช่เทพ

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 มิถุนายน 2565