เผยแพร่ |
---|
หลายคนคงสงสัยว่าแท้จริงแล้วชื่อ “ท้าวทองกีบม้า” มีที่มาจากไหน?
บ้างก็บอกว่าเป็นการเรียกชื่อเพี้ยนซึ่งซื่อของนางคือ “ตอง กีมาร์” แต่จากสำเนียงไทยที่ออกเสียงเป็น “ทองกีบม้า” หรือคิดไปในอีกทางที่ว่า นางมีชื่อเสียงจากการปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าห้องเครื่องวิเสทในราชสำนัก ตำแหน่ง “ท้าวทองกีบม้า” ว่ากันว่านางได้ประดิษฐ์ขนมไทยที่ได้รับอิทธิพลจากอาหารโปรตุเกส อาทิ ทองหยิบ, ทองหยอด, ฝอยทอง, ทองม้วน และหม้อแกง จนได้สมญาว่าเป็น “ราชินีแห่งขนมไทย”
ตัวอย่างที่กล่าวมานี้อาจเป็นข้อสันนิษฐานจากการศึกษาข้อมูลจากหลายแหล่งเพื่อนำมาแชร์กันเท่านั้น ทั้งนั้น ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ได้กล่าวถึงที่มาของ “ท้าวทองกีบม้า” ในหนังสือ “ท้าวทองกีบม้า มาดามฟอลคอน” ไว่ว่า
ท้าวทองกีบม้า เป็นนามบรรดาศักดิ์ของข้าราชสำนักฝ่ายใน มีหน้าที่ประกอบประดิษฐ์เครื่องเสวยที่เรียกว่าเครื่องต้น ปรากฏนามบรรดาศักดิ์นี้ในพระอัยการตำแหน่งนาพลเรือน(กฏหมายตราสามดวง) ซึ่งเรียกพวกประกอบเครื่องเสวยว่า วิเสท แบ่งเป็นพวกวิเสทกลางและวิเสทนอก
พวกวิเสทนอกมีหน้าที่ประกอบเครื่องคาวทุกชนิดทุกประเภท มีนามบรรดาศักดิ์ ๓ ตำแหน่งว่าท้าวยอดมณเฑียร, ท้าวอินกิลยา, และท้าวมังสี, พวกวิเสทกลางมีหน้าที่ประกอบอาหารหวานทุกชนิดทุกประเภท มีนามบรรดาศักดิ์ ๓ ตำแหน่งว่า ท้าวเทพภักดี, ท้าวทองพยศ, และท้าวทองกีบม้า, พวกวิเสททั้งหมดนี้อยู่ภายใต้กรบังคับบัญชาของท้าวอินสุริยา
ท้าวทองกีบม้า เป็นนามบรรดาศักดิ์ที่ไม่ปรากฏที่มาและความหมายจึงมีผู้สันนิษฐานตามหลักฐานที่ปรากฏในประวัติศาสตร์เป็นหลายทาง
ทางแรกว่าน่าจะมาจากลักษณะของขนมหวานของชาวโปตุเกสชนิดหนึ่งที่เรียกกันว่า Biretta ทำด้วยไข่และน้ำตาล ประดิษฐ์เป็นรูป ๓ หยิบคล้ายหมวกบาทหลวง (Biretta) ซึ่งก็คือขนมหวานที่ไทยเรียกว่าทองหยิบในปัจจุบันนั่นเอง แต่สำหรับสายตาของคนไทยสมัยโบราณที่ไม่มักคุ้นกับลักษณะของหมวกบาทหลวง เห็นลักษณะ ๓ หยิบของขนมชนิดนี้แล้วนึกไปถึงรูปร่างของกีบม้า ซึ่งมีสีเหลืองเหมือนทองมากกว่า จึงเลยอาจเรียกผู้ประดิษฐ์ขนมหวานนี้ว่าทองกีบม้า จนภายหลังจึงกลายเป็นนามบรรดาศักดิ์
อีกทางหนึ่งผู้รู้บางท่านสันนิษฐานคำว่า ทองกีบม้า น่าจะเพี้ยนมาจากชื่อของสตรีผู้หนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่ในหน่วยงานวิเสท คือ แคท เทอริน เดอ ทอร์ควิมา สตรีนี้เป็นผู้นำแบบอย่างอาหารหวานของชาวโปรตุเกสเข้ามาเผยแพร่ในราชสำนักไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา จึงได้ตั้งบรรดาศักดิ์ตามชื่อของนาง แต่เรียกเพี้ยนตามแบบสำเนียงไทยว่า ทองกีบม้า
ในส่วนของ ปรามินทร์ เครือทอง อธิบายไว้ว่า ประวัติชีวิตในตำนานของท้าวทองกีบม้า ตามที่ปรากฏหลักฐานในเอกสารต่างๆ จัดว่ามีอยู่น้อย กระจัดกระจาย และสับสนเกินกว่าจะผูกเรื่องราวชีวิตของหญิงผู้นี้ได้สมบูรณ์ ไม่เว้นแม้กระทั่งข้อสันนิษฐานที่อ้างว่า ท้าวทองกีบม้าผู้นี้คือต้นคิดขนมไทยตำรับโปรตุเกสรวมไปถึงนามบรรดาศักดิ์ “ท้าวทองกีบม้า” ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่พบหลักฐานเอกสารใดๆ ที่อ้างอิงไว้อย่างชัดเจนว่า มารี กีมาร์ คือเจ้าของนามบรรดาศักดิ์ ท้าวทองกีบม้า คนแรก
ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงแนวคิดและการตีความของนักวิชาการในชั้นหลังทั้งสิ้น
ท้ายสุดแล้วท้าวทองกีบม้าคือใครยังคงเป็นเรื่อที่หาข้อสรุปแน่ชัดไม่ได้ ซึ่งเรื่องราวของท้าวทองกีบม้ายังคงเป็นข้อสันนิษฐานให้หาความจริงกันต่อไป
อ้างอิง : หนังสือ การเมืองในประวัติศาสตร์ “ขนมหวาน” ของ ท้าวทองกีบม้า “มาดามฟอลคอน” “ขนมไทย” หรือ “ขนมเทศ”. โดย ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย และปรามินทร์ เครือทอง. สำนักพิมพ์มติชน ๒๕๔๖