ตรุษจีน ทำไมในซีรีส์จีนเขากินเกี๊ยว แต่จีนในไทยเรากินขนมเข่ง ?!?

ขนมเข่ง
ขนมเข่ง ขนมประจำเทศกาลตรุษจีนภาพประกอบจาก มติชนออนไลน์

ใครที่ดูซีรีส์จีน หรือสารคดีจีน ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับเทศกาล “ตรุษจีน” ก็ต้องมีฉากห่อเกี๊ยว กินเกี๊ยว ให้เห็นเสมอๆ ทำไมจึงไม่มีใครกิน “ขนมเข่ง” อย่างที่เมืองไทยกัน?

เรื่องนี้หนังสือ “เทศกาลจีนและการเซ่นไหว้” (สนพ.มติชน, มีนาคม 2557) ที่ อาจารย์ถาวร สิกขโกศล เขียนอธิบายพอสรุปได้ว่า

“ขนมเข่ง” เป็นขนมไหว้ตรุษจีนมีลักษณะแตกต่างกันไปตามถิ่น แต่เรียกเหมือนกันว่า “เหนียนเกา” (粘糕 หรือ 年糕) แปลว่า ขนมเหนียว หรือ ขนมประจำปี ตามลำดับ

เหนียนเกาแต่ละถิ่นแตกต่างกันตามวัฒนธรรมและวิถีชีวิต แต่มีลักษณะสำคัญร่วมกันคือทำด้วยแป้ง ไม่ว่าทำจากแป้งอะไรก็เรียกว่า “เหนียนเกา” ตัวอย่างเช่น เหนียนเกาของจีนทางเหนือ (แม่น้ำแยงซีเกียง) นิยมใช้แป้งข้าวฟ่าง ซึ่งมีสีเหลือง และมีรสหวานน้อยๆ อยู่ในตัว แต่จีนทางใต้ (แม่น้ำแยงซีเกียง) เหนียนเกามักใช้แป้งข้าวเหนียว ส่วนขนมเข่งในเมืองไทยจัดเป็นเหนียนเกาชนิดหนึ่ง ใช้แป้งข้าวเหนียวเหมือนทางใต้ของจีน

แล้วทำไมต้องใช้ขนมชนิดนี้ไหว้ ตรุษจีน

นั่นต้องย้อนกลับไปดูที่ชื่อ “เหนียนเกา” ที่ไม่ว่าจะทำจากแป้งข้าวฟ่าง หรือแป้งข้าวเหนียว เมื่อทำขนมออกมาจะมีเนื้อเหนียวนุ่ม จึงเรียกว่า เหนียนเกา (粘糕) คำว่า เหนียน (粘) แปลว่า เหนียว พ้องเสียงกับคำว่า เหนียน (年) ที่แปลว่า ปี คำว่าเกา (糕) แปลว่า ขนม พ้องเสียงคำว่า เกา (高) ที่แปลว่า สูง

เหนียนเกา (粘糕) แปลว่า ขนมเหนียวที่ไหว้ตรุษจีน ต่อมาก็เปลี่ยนอักษรเป็น (年糕) แปลว่า ขนมประจำปี หรือแม้ไม่เปลี่ยนตัวอักษร ทั้งสองคำก็ยังคงออกเสียงเหมือนกันว่า “เหนียนเกา” พ้องเสียงกับ “เหนียนเกา” (年高) แปลว่า สูงส่งยิ่งขึ้นทุกปี จึงเป็นคำอวยพรอย่างดี

เมื่อ “เหนียนเกา” มาถึงเมืองไทย เราเรียกกันว่า “ขนมเข่ง” เพราะขนมอยู่ในกระทงใบตองแห้งทรงตัวยาก ต้องมีเข่งไม้ไผ่สานเล็กๆ รองเวลานึ่ง แต่สำหรับคนจีน (แต้จิ๋ว) ในไทยเรียกมันว่า “ตีก้วย” หรือ “เตี่ยมก้วย” แปลว่า ขนมหวาน ถือเอาเคล็ดให้ประสบแต่ความหวานชื่นในปีใหม่

แล้วทำไมในซีรีส์จีน หรือสารคดีจีนกินเกี๊ยว

นั่นเป็นเพราะว่า เกี๊ยว (饺) เป็นอาหารประจำเทศกาลตรุษจีนของคนจีนทางเหนือ การทำเกี๊ยว ห่อเกี๊ยวเป็นงานสำคัญอย่างหนึ่งในเทศกาลตรุษจีน ปกติจะทำในวัน 30 ค่ำเดือน 12 (วันสิ้นปี)

เกี๊ยวยังเป็นของกินประจำเทศกาลตรุษจีนตั้งแต่ราชวงศ์หมิง สาเหตุสำคัญมี 3 ประการ ดังนี้

1. เกี๊ยวมีรูปลักษณ์คล้ายเงินแท่งโบราณ (饺元宝) คนจึงกินเป็นเคล็ดว่าเรียกเงินเรียกทอง ความมั่งคั่งและทรัพย์ทั้งปวง สำหรับคนปักกิ่งการกินเกี๊ยวยังสัมพันธ์กับประเพณีเชิญไฉ่ซิ้ง (เทพเจ้าแห่งทรัพย์) คืนสิ้นปี จึงเอาเกี๊ยวไหว้ไว้ “เชิญไฉ่ซิ้ง” ไหว้เสร็จก็ลามากินเป็นมงคล

2. เกี๊ยวเป็นอาหารที่มีไส้หลากหลาย เปิดโอกาสให้นำของซึ่งเป็นสิริมงคลมาเป็นส่วนผสมของไส้ เช่น ไส้ถั่วลิสงเพื่อเป็นเคล็ดว่า ปีใหม่จะมีสุขภาพแข็งแรง เพราะถั่วลิสงมีชื่อหนึ่งว่า ผลไม้อายุวัฒนะ

3. เกี๊ยวเป็นเสียงภาษาจีนแต้จิ๋ว (ตามลิ้นคนไทย) ตามเสียงภาษาจีนกลางเรียกเกี๊ยวว่า “เจี่ยว (饺)” ออกเสียงใกล้เคียงกับคำ เจียว (交) ที่แปลว่า เกี่ยวเนื่อง ต่อเนื่อง รูปอักษรของ 2 คำนี้ ก็มีส่วนเหมือนกัน จึงถือเป็นเคล็ดว่า กินเกี๊ยวเพื่อให้ปีเก่ากับปีใหม่เกี่ยวเนื่องกัน

ทำไมซีรีีส์จีนกินแต่เกี๊ยว

เมื่ออาหารทั้ง 2 จานต่างก็มีความเป็นมงคล แต่หนึ่งทำจากแป้ง+น้ำตาล หนึ่งคือแป้ง+ไส้ชนิดต่างๆ ที่เลือกให้เป็นมงคลได้ อร่อยด้วย เป็นท่านจะเลือกกินอะไร จบข่าว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 มกราคม 2566