อั่งเปา-แตะเอีย มาจากไหน? สะท้อนคติความสัมพันธ์ระหว่างเด็ก-ผู้ใหญ่ในวัฒนธรรมจีนอย่างไร?

แจก อั่งเปา แตะเอีย
ผู้แต่งตัวเป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภ (Choi Sun) แจกอั่งเปาให้กับเด็ก ๆ ที่สวนสนุกในฮ่องกง เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 (ภาพจาก MIKE CLARKE / AFP)

สิ่งที่เด็ก ๆ รอคอยมากที่สุดในเทศกาลตรุษจีนเห็นจะได้แก่เงิน “อั่งเปา” ไม่ก็ “แตะเอีย” ซึ่งขอแปลเอาความว่า “เงินก้นถุงท้ายปี” ซึ่งต้องมีติดตัวไว้ให้ต่อเนื่องกับเงินในปีต่อไป เงินชนิดนี้ภาษาจีนกลางเรียกว่า “ยาซุ่ยเฉียน” แต้จิ๋วว่า “เอี๊ยบส่วยจี๊” แปลว่า “เงินกด (ท้าย) ปี”

ภาษาพูดเรียกว่า “แตะเอีย” แปลว่า “ทับเอว ถ่วงเอว” เพราะเงินสมัยก่อนเป็นโลหะ นิยมเก็บใส่ไถ้ (ถุงผ้ายาว) เคียนเอวไว้ หรือใช้เชือกร้อยผูกไว้กับเอว การให้เงินก้นถุงท้ายปีจึงถือเป็นการ “ถ่วงเอว”

ในภาษาพูดแต้จิ๋วเรียกการให้เงินชนิดนี้อีกอย่างว่า “เอี๊ยบโต๋วเอีย” แปลว่า “ถ่วงเอี๊ยม” ปกติเอี๊ยมที่เด็กจีนคาดจะมีกระเป๋าอยู่ข้างหน้า เงินที่ผู้ใหญ่ให้เป็นก้นถุงท้ายปีจะใส่ไว้ในกระเป๋านี้ ถ่วงให้เอี๊ยมหนักขึ้น ผู้ใหญ่ให้เงินก้นถุงเด็กตอนสิ้นปีเพื่อเป็นเงินมงคล ให้เด็กมีเงินติดกระเป๋าไว้เพื่อต่อเงินประจําปีหน้า และเป็นการสอนเด็กให้รู้จักเก็บออม ต้องมีเงินเหลืออยู่ในกระเป๋าตลอดทั้งปี

เงินก้นถุงท้ายปีนี้ โดยปกติผู้ใหญ่ให้แก่เด็ก แต่ต่อมาเงินที่ลูกหลานให้แก่ญาติผู้ใหญ่ในเทศกาลตรุษจีนก็นิยมเรียกว่าแตะเอียเหมือนกัน และเงินบําเหน็จพิเศษ (โบนัส) ที่ห้างร้านหรือนายจ้างให้แก่ลูกจ้างก็เรียกว่าแตะเอียด้วย

เทพเจ้าแห่งโชคลาภ แจกอั่งเปาให้กับเด็ก ๆ ที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในฮ่องกง เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 (Photo by MIKE CLARKE / AFP)

ที่มาของประเพณีนี้มีความเห็นต่างกันเป็น 2 ทาง ทางหนึ่งว่ามาจากประเพณีการให้ “ยาซุ่ยผ่าน-พานกดท้ายปี” ของสมัยราชวงศ์ซ่ง ในหนังสือ “เมิ่งเหลียงลู่-ฝันจินตนาการ” ของจื้อมู่ คนยุคราชวงศ์ซ่งใต้ (พ.ศ. 1669-1822) กล่าวว่าตามประเพณีเก่าในวันสิ้นปี บ้านที่มีเด็กจะเอาพานหรือถาดใส่ผลไม้ให้เป็นของขวัญกัน ขุนนางก็ถวายกล่องผลไม้แก่ฮ่องเต้เพื่อไว้เสวยในคืนสิ้นปี

ในยุคเก่าก่อนยังมีประเพณี “ยาซุ่ยกั่วจือ-ผลไม้กดท้ายปี” คือ เอาส้ม ลิ้นจี่ และผลไม้อื่น ๆ วางไว้ข้างหมอน ตื่นเช้าวันปีใหม่กินให้หมดเพื่อเป็นสิริมงคล ถึงยุคราชวงศ์ซ่งใต้ประเพณีเหล่านี้ยังคงมีอยู่ ต่อมาการให้พานหรือถาดผลไม้ที่เรียกว่า “ยาซุ่ยผ่าน” ไม่สะดวก จึงเปลี่ยนเป็นเงินที่เรียกว่า “ยาซุ่ยเฉียน-เงินกดท้ายปี” แทน

ถึงสมัยราชวงศ์ชิง ประเพณีการให้ “ยาซุ่ยเฉียน” หรือเงินแตะเอียแพร่หลายไปทั่ว ถึงคืนสิ้นปีผู้ใหญ่จะเอาด้ายแดงร้อยเงินเหรียญกษาปณ์เป็นพวงไปวางไว้ที่ขาเตียงนอนเด็ก ภายหลังนิยมใช้กระดาษแดงห่อเงินแทน จึงเรียกเงินนี้ว่า “อั่งเปา” หมายถึง “เงินห่อกระดาษแดง” อันเป็นสิริมงคล

อีกทางหนึ่งว่าประเพณีแตะเอียนี้มาจาก การให้ “เงินกดอุปัทวันตราย” ซึ่งภาษาจีนออกเสียงว่า “ยาซุ่ยเฉียน” แต่อักษร “ซุ่ย” ตัวนี้แปลว่า “อุปัทวันตรายจากผีร้าย” พ้องเสียงกับคํา “ซุ่ย” ที่แปลว่า “ปี” ต่อมาชื่อประเพณีนี้จึงผิดเพี้ยนแปรเปลี่ยนเป็น “ยาซุ่ยเฉียน” ที่หมายถึง “เงินกด (ท้ายปี)”

ประเพณีการให้ “เงินกดอุปัทวันตราย” มาจากความเชื่อของคนโบราณ ยังมีผีร้ายตนหนึ่งชื่อ “ซุ่ย” ตัวดํามือขาว ตากลมน่ากลัว ทุกคืนสิ้นปีจะออกมาหลอกหลอนทําร้ายเด็ก หากเด็กคนใดถูกมันจับหัวก็จะตัวร้อนเป็นไข้แล้วกลายเป็นเด็กปัญญาอ่อน ผู้คนกลัวลูกหลานตนถูกผีร้ายตนนี้ทําร้าย จึงจุดโคมไฟอยู่เฝ้าลูกหลานตลอดทั้งคืน เรียกว่า “เฝ้าซุ่ย”

ต่อมาที่เมืองเจียซิง (มณฑลเจ้อเจียง) มีผู้เฒ่าแซ่ก่วน ได้ลูกชายเมื่อชรา เขาเล่นกับลูกในคืนสิ้นปีจนเผลอหลับไป เงินเหรียญที่ห่อกระดาษแดงไว้ 8 อันกระจายอยู่รอบหมอนที่เด็กน้อยหนุนอยู่ พอผีร้าย “ซุ่ย” จะมาจับต้องตัวเด็กก็เกิดรัศมีสีทองแผ่พุ่งออกมาจากหมอนทําให้ผีร้ายหนีไป ตั้งแต่นั้นมาชาวบ้านจึงเอากระดาษแดงห่อเหรียญกษาปณ์วางไว้ข้างหมอนลูกหลานในคืนวันสิ้นปี

อีกตํานานหนึ่งกล่าวว่าในทะเลตะวันออก มีถ้ำที่โคนไม้บนภูเขาในทะเลนั้นเป็นที่รวมของภูตผีปีศาจ แต่ปกติจะมีเทพทวารบาลเฝ้าคุมอยู่ พอถึงวันสิ้นปี เทพผู้เฝ้าคุมกลับสวรรค์ บรรดาผีร้ายซึ่งมีสัตว์ประหลาดชื่อ “เหนียน-ปี” เป็นหัวหน้าจะออกอาละวาดตามบ้านคน ผู้คนจึงจุดไฟสว่างทั้งคืน “เฝ้าปี” เพื่อป้องกันภูตผีและสัตว์ร้าย

ผีเหล่านี้กลัวแสงไฟจึงลอบเข้าห้องนอนเด็ก เมื่อเห็นเงินห่อกระดาษแดงข้างหมอนก็ดีใจ หยิบแล้วโลดแล่นออกจากห้องไปหาความสนุกสนานที่อื่นต่อโดยไม่ทําร้ายเด็ก จึงเกิดประเพณีเอาเงินห่อกระดาษแดงวางไว้ข้างหมอนเด็กในคืนวันสิ้นปี เพื่อป้องกันไม่ให้ผีทําร้ายเด็ก

วิเคราะห์ตามหลักวิชาคติชนวิทยา (Folklore) แล้วเห็นได้ว่า ช่วงสิ้นปีผู้ใหญ่จะตามไฟอยู่ “เฝ้าปี” เด็กมักจะทนง่วงไม่ไหวต้องเข้าไปนอนก่อน ในช่วงคืนสําคัญเช่นนี้ ความสุขและสวัสดิภาพของลูกหลานเป็นเรื่องสําคัญยิ่ง ผู้ใหญ่จึงนิยมเอาเหรียญกษาปณ์ร้อยด้ายแดงหรือห่อด้วยกระดาษแดงไปวางไว้ข้างหมอนหรือขาเตียงเพื่อเป็นของขวัญวันปีใหม่ ให้เด็กได้รับทันทีเมื่อตื่นขึ้นมา และเพื่อเอาเคล็ดขับไล่อุปัทวันตรายอีกด้วย

เพราะในชีวิตจริงของมนุษย์นั้นเมื่อมีเหตุเภทภัยเกิดขึ้น หากมีเงินอยู่ใกล้มือก็อาจจะช่วยแก้ไขได้ ฉะนั้นยามเด็กนอนหลับอยู่ หากมีผีร้ายเข้ามา เงินข้างหมอนอาจช่วยไถ่ถอนเอาตัวเด็กไว้ได้ คนจีนคงเห็นว่า แม้ผีก็ชอบเงิน

เนื่องจากเป็นเงินก้นถุงท้ายปีและขับไล่อุปัทวันตราย จึงเรียกว่า “ยาซุ่ยเฉียน” ซึ่งมีความหมายได้ 2 นัยดังกล่าวแล้วข้างต้น การขับไล่อุปัทวันตรายจากผีร้ายคงเป็นความเชื่อเก่าแก่ แต่ต่อมาจุดมุ่งหมายสําคัญของเงินคือเป็นเงินขวัญถุงท้ายปีแก่ลูกหลาน

เงินยาซุ่ยเฉียนตามประเพณีดังเดิมนี้มีต่างกันเป็น 2 แบบ แบบหนึ่งเป็นเหรียญกษาปณ์ที่ทําขึ้นเพื่อการนี้โดยเฉพาะ มีอักษรที่มีความหมายเป็นสิริมงคล เช่น “รอดพ้นจากโรคภัย ลูกหลานรุ่งเรือง” “พ้นจากถูกเกณฑ์ทหาร ขจัดอุปัทวันตราย”

เหรียญกษาปณ์อู่จู (5 บาท) สมัยราชวงศ์ฮั่นที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน บางเหรียญก็มีข้อความดังกล่าวนี้ แสดงว่าความเชื่อและประเพณีนี้มีมาตั้งแต่ยุคนั้น ในยุคหลัง ๆ เช่น ยุคราชวงศ์ซ่งก็มีนัยความมงคลอื่น ๆ เช่น “สิริมงคลสมปรารถนา” “ลาภ ยศ อายุ เบิกบาน” “อายุยืน 100 ปี” เหรียญเหล่านี้นิยมใช้พกติดตัวขับไล่สิ่งชั่วร้ายอีกด้วย

อีกแบบหนึ่งเป็นเงินที่ใช้ตามปกติ แต่นิยมร้อยด้วยด้ายแดงหรือหลากสีเพื่อเป็นสิริมงคล แต่เงินที่ให้แก่เด็กนิยมใช้เงินปลีกเล็กที่เรียกว่า “เสี่ยวหมาเฉียน” เป็นเหรียญขนาดเล็กกว่า 1 หยวน มีรูสี่เหลี่ยมใช้เชือกร้อยได้สะดวก ถึงยุคสาธารณรัฐเหรียญมีรูเลิกใช้ ผู้ใหญ่จึงนิยมใช้กระดาษแดงห่อเงินเหรียญ 100 เหวินซึ่งมีค่าไม่มากให้เป็นของขวัญเด็ก

จุดมุ่งหมายเบื้องต้นของการให้เงินแตะเอียแก่เด็กน่าจะเพื่อให้เด็กมีเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ ซื้อของกินของเล่นในเทศกาลพิเศษนี้ เช่น ประทัด แต่จุดมุ่งหมาย สําคัญมี 2 ประการคือ เป็นสิริมงคลแก่เด็ก และเป็นเงินขวัญถุงให้เด็กรู้จักเก็บหอมรอมริบ มีเงินติดตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่ฟุ่มเฟือยใช้จนหมด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเทศกาลสําคัญอันเป็นมงคลเริ่มต้นปีใหม่ เพื่อเป็นรากฐานที่ดีแก่ชีวิตในปีใหม่ที่จะมาถึง เงินแตะเอียแต่ละปีนี้ ถ้าเก็บไว้ทุก ๆ ปี ตั้งแต่ยังเด็กเล็กอยู่จนถึงโตเป็นผู้ใหญ่ก็คงพอเป็นทุนรอนตั้งตัวได้พอสมควร

การให้ของ “ยาซุ่ย-กดท้ายปี” หรือ “ตบท้ายปี” มิจําเป็นต้องให้เงินเสมอไป ซูซื่อ (พ.ศ. 1580-1644) กวีเอกสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ ให้จานฝนหมึกแก่ซูไหมบุตรชายเป็น “ยาซู่ยอู้ ของขวัญตบท้ายปี” พร้อมกับจารึกคําเตือนใจ 4 วรรค วรรคละ 7 คํา (อักษร) มีใจความให้ใช้จานฝนหมึกนี้เข้าสู่วิถีแห่งการศึกษาด้วยความกระหาย ใฝ่ก้าวหน้าอย่างสำรวมระวัง บริหารทรัพย์อย่างรู้แบ่งปันแก่ปวงชน และชำระคดีความอย่างยุติธรรมให้โอกาสผู้ผิดกลับตัวเป็นคนดี

สาระสำคัญของประเพณีนี้คือ การให้สิ่งที่มีคุณค่า อันจะช่วยพัฒนาเด็กเติบโตเป็นคนดีมีคุณภาพของครอบครัวและสังคม อาจเป็นสิ่งของที่มีประโยชน์ หรือวาทะอันทรงคุณค่าน้อมนำเด็กไปสู่ความดีงาม

การให้เงินแตะเอียแก่เด็ก ๆ ตามธรรมเนียมเก่าส่วนมากเป็นตอนกลางคืน หลังจากกิน “อาหารประจำปี (เหนียนเย่ฟั่น)” แล้ว เด็ก ๆ จะเข้าแถวกันไปอวยพรผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็จะอวยพรตอบและแจกเงิน “แตะเอีย” แต่บางคนอาจเอาไปสอดไว้ใต้หมอนตอนเด็ก ๆ หลับหรือมีวิธีแจกแตกต่างไปจากนี้อีกหลายวิธี

ส่วนผู้ใหญ่นั้นไม่นอนตลอดคืน เพราะจะต้องอยู่ “เฝ้าปีเก่า รับปีใหม่”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ถาวร สิกขโกศล. เทศกาลจีนและการเซ่นไหว้. กรุงเทพฯ : มติชน, 2557.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 มกราคม 2563