วันจ่าย วันไหว้ วันถือ ในเทศกาล “ตรุษจีน” เป็นวันไหน ทำอะไร

วันจ่าย วันไหว้ วันถือ วันตรุษจีน
ไก่ต้ม เป็ดพะโล้ ที่หาซื้อกันในวันจ่าย เพื่อใช้ไหว้ในวันตรุษจีน (ภาพจาก https://www.matichon.co.th/)

วันจ่าย วันไหว้ วันถือ เป็นคำพูดที่เกิดขึ้นจากการสังเกตเห็นกิจกรรมที่คนจีนทำกันในเทศกาลตรุษจีน คือ การเตรียมซื้อสำหรับวันตรุษจีน, การไหว้เจ้า/บรรพบุรุษ, การห้าม/ถือไม่ทำบางอย่างในวันขึ้นปีใหม่

ซึ่งในปี 2567 “วันจ่าย วันไหว้ วันถือ” ตรงกับวันอะไร วันจ่ายคือวันที่ 8 กุมภาพันธ์ วันไหว้คือวันที่ 9 กุมภาพันธ์ และวันถือคือวันที่ 10 กุมภาพันธ์

วันจ่าย คือวันที่ซื้อหาของที่จะใช้ไหว้ในวันตรุษจีน ในยุคที่ยังไม่มีตู้เย็น ผักสด, ผลไม้, เป็ดไก่ ฯลฯ หลายอย่างซื้อล่วงหน้านานไม่ได้อาจเสียหาย และเพื่อคงความสดของอาหาร ถ้าไหว้พรุ่งนี้ส่วนใหญ่ก็จะซื้อของต่างๆ วันนี้ แต่ปัจจุบันที่มีทั้งตู้เย็น ตู้แช่ ทยอยซื้อบางอย่างล่วงหน้าก็สะดวกดีและราคาไม่แพง

ของที่ซื้อก็มี ซาแซ-เนื้อสัตว์ 3 อย่าง (เช่น ไก่ต้ม 1 ตัว, เป็ดพะโล้ 1 ตัว, หมูติดหนังต้ม 1 ชิ้น อาจเปลี่ยนไข่ไก่ต้ม 2-4 ฟอง แทนไก่ต้ม หรือใช้ ปลา, กุ้ง แทนได้), ผลไม้ตามฤดูกาล ที่มักไม่ขาดคือ “ส้ม” เพราะส้มในภาษาจีนมีความหมายมงคล, อาหารคาวหวาน และขนมต่างๆ แต่ก็มีขนมประจำเทศกาลคือ ขนมเข่ง

ส่วนที่บางคนบอกว่า ต้องต้มชุงไฉ่ (ผักขมจีน) มาไหว้ เพราะ “ชุง” กร่อนเสียงจาก “ชุ้ง-เหลือ” จะได้มีเงินทองเหลือเก็บ, ห้ามไหว้ “มะม่วง” หรือ “ส่วย” ในภาษาจีน ที่ใกล้เคียงกัน “ซวย” ฯลฯ แต่ช้าก่อน ถ้าท่านไม่ใช่คนแต้จิ๋ว ในภาษาของท่าน 2 คำนี้ ความหมายอาจเปลี่ยนไปอีกแบบก็ได้

เอาเป็นว่าตามธรรมเนียมปฏิบัติของแต่ละบ้านก็แล้วกัน ใครสบายใจแบบไหนจัดไป

วันไหว้ วันนี้เราไหว้เจ้า/บรรพบุรุษ ในโอกาสวันสิ้นปีตามจันทรคติจีน เริ่มจากตอนเช้าไหว้เจ้า แต่จริงไม่ได้ไหว้แต่เจ้า เพราะเราจะไหว้เจ้าที่ตั้งอยู่ในบ้านทั้งหมด, ไหว้พระพุทธรูปในห้องพระ/หิ้งพระ, ไหว้ศาลภูมิเจ้าที่ในบ้าน และประจำหมู่บ้าน ส่วนใหญ่ไหว้ด้วยผลไม้, ขนม, น้ำชา ฯลฯ

สายๆ ประมาณ 10-11 โมง ก็ไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว โดยนับขึ้นไป 3 รุ่นจากหัวหน้าครอบครัว ตั้งโต๊ะไหว้หน้าหิ้งตั้งรูปท่าน หรือเชิญกระถางธูปลงมาไหว้ในสถานอื่นที่จัดไว้ (ในบ้าน) ไหว้ด้วยข้าวปลาอาหาร, ซาแซ, ขนม, ผลไม้, น้ำชา, เหล้า ฯลฯ

จากนั้นประมาณ 11 โมง (บางบ้านไหว้หลังเที่ยงไปแล้ว) ก็ไหว้ “ฮ้อเฮียตี๋” แปลว่า “พี่น้องที่ดี” แต่จริงๆ คือ “ไหว้ผีไม่มีญาติ” แต่ก็ไม่ใช่ผีไม่มีญาติทุกตน หากจำกัดหรือเชื้อเชิญเฉพาะแค่ 1. ชาวจีนโพ้นทะเลที่ร่วมเดินมาด้วยกันที่เสียชีวิตระหว่างเดินทาง หรือมาเสียชีวิตตามลำพังที่เมืองไทย ขาดการติดต่อกับครอบครัว อาจไม่มีใครเซ่นไหว้ 2. ลูกจ้างคนงานเก่่า เพื่อนเก่าทั้งที่เป็นคนไทยหรือจีน ที่ไม่มีครอบครัว โดยปูเสื่อกับพื้นที่ชายคาบ้าน/ร้านค้า ของไหว้มีข้าวปลาอาหาร, ซาแซ, ขนม, ผลไม้, น้ำชา, เหล้า ฯลฯ

ตอนเย็น ก็ไหว้เจ้า (เฉพาะในบ้าน) และบรรพบุรุษอีกครั้ง ด้วยน้ำชาและผลไม้หรือขนมเล็กๆ น้อยๆ

วันถือ ซึ่งตรงกับวันขึ้นปีใหม่ แต่มีเรื่อง “ถือสา” ห้ามพูด, ห้ามทำ หลายอย่าง เช่น ห้ามพูดคำหยาบเรื่องไม่เป็นมงคล, ห้ามทะเลาะ ตบตี ด่าทอกัน, ห้ามทำข้าวของแตก, ห้ามไปที่อโคจรทั้งหลาย เช่น โรงพยาบาล สถานีตำรวจ ศาล ฯลฯ (ยกเว้นว่า นั่นคือสถานที่ทำงาน), ห้ามไปงานศพ ฯลฯ

รายการพวกนี้พอทำความเข้าใจได้ไม่ยาก เพราะวันปีใหม่ก็ไม่ควรทำ ไม่ควรไปในที่ที่ไม่เป็นมงคล อย่างการไปขึ้นโรงขึ้นศาล

ส่วนห้ามกวาดบ้านถูบ้าน, ห้ามกินข้าวต้ม ฯลฯ แม้จะดูแปลกสักหน่อย แต่ก็มีเหตุผลอ้างอิงอยู่ เช่น ห้ามกวาดบ้านเพราะก่อนตรุษจีนมีการทำความสะอาดเพื่อส่ง “เจ้าเตา” แล้ว หากในวันไหว้มีอะไรเลอะเทอะก็ทำความสะอาดให้เรียบร้อยในเย็นนั้น  ไม่ต้องมาทำในวันขึ้นปีใหม่ ด้วยถือว่าเป็นการกวาดเงินทองไปทิ้ง

ห้ามกินข้าวต้ม เพราะจะทำให้เจอฝน แต่อีกมุมหนึ่ง คนแต้จิ๋วในช่วงที่เผชิญกับสงคราม, ภัยธรรมชาติรุนแรง, ในยามยากจน ต่างกินข้าวต้มเพื่อประหยัดข้าวสารไว้กินให้นานที่สุด ตรุษจีนทั้งทีก็ควรได้กินข้าวสวยให้อร่อยสักวัน

ที่สำคัญอีกอย่างคือ “ห้ามทวงหนี้” มีลูกหนี้กี่ราย ต้องทวงต้องตามให้เสร็จก่อนตรุษจีน ถ้าไม่ทันก็ต้องรอให้พ้นเทศกาลไปแล้ว ใครทวงเงินทวงหนี้กันวันนี้ นอกจากบอกให้โลกรู้ว่าไม่มีปัญญาเก็บหนี้ ยังต้องโดนสังคมประณามว่าไม่รู้กาลเทศะอีกด้วย

แล้ว “ให้แตะเอีย” กับ “ไหว้ไฉ่ซิ้ง” ทำกันในวันจ่าย วันไหว้ หรือวันถือ

แตะเอีย ในวันไหว้ที่ลูกหลานพี่น้องมาพร้อมกัน กินข้าวรวมญาติเสร็จ ก็แจกเงินกันได้แล้ว หรือจะล่าช้ากว่ากันวันสองวันก็ไม่เป็นปัญหา ขอแค่อย่าลืมให้ อย่าลืมใส่เงินมาก็พอ

ส่วนไหว้ไฉ่ซิ้ง-เทพเจ้าแห่งทรัพย์ เดิมไหว้ในตอนเช้าวันขึ้นปีใหม่ก็เอาสาคูต้มน้ำตาล, จันอับ ขนมหรือผลไม้เล็กน้อยๆ ไหว้แบบเรียบง่ายเป็นอันจบ แต่ปัจจุบันที่กลายเป็นแฟชั่น บรรดาซินแสบอกว่าต้องดูทิศ, ฤกษ์ในแต่ละปี ที่ต่างกันไป

คร่าวก็คงประมาณนี้ ประเพณีที่ปฏิบัติมาเป็นร้อยๆ ปี ก็คงต้องปรับเปลี่ยนไปตามวิถีชีวิตของคนและสังคมที่เปลี่ยนแปลง 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก ถาวร สิกขโกศล. เทศกาลจีน และการเซ่นไหว้, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2557


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2567