ลูกหลาน “จีนโพ้นทะเล” ใช้ข้อมูลอะไร? เพื่อยืนยันตัวตนเมื่อจะกลับบ้านที่เมืองจีน

หมู่บ้าน ชนบท เมือง Zhangjiakou ในประเทศ จีน
ภาพมุมสูงหมู่บ้านชนบทแบบเดิม กับหมู่บ้านสมัยใหม่ เมือง Zhangjiakou ในประเทศจีน ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 2006 (FREDERIC J. BROWN / AFP)

จีนโพ้นทะเล แม้จะออกมาเผชิญโชคประกอบอาชีพในหลายประเทศ แต่ก็ไม่ได้ตัดขาดกับครอบครัวหรือบ้านเกิดที่เมืองจีน ไม่ว่าจะเป็นการกลับไปเยี่ยมบ้าน, การส่งเงินทองข้าวของระหว่างกัน ฯลฯ ยังมีอยู่เสมอ แต่เมื่อจีนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ (พ.ศ. 2492) ที่เสมือนกับการปิดประเทศ ทำให้คนจีนโพ้นทะเลขาดการติดต่อกับครอบครัวญาติพี่น้องในจีน

กว่ารัฐบาลคอมมิวนิสต์จะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศต่างๆ ได้ก็ใช้เวลาหลายสิบปี เช่น กรณีประเทศไทย-จีน สถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2518 ในสังคม “จีนโพ้นทะเล” ก็เริ่มมีกิจกรรมหนึ่งนั่นคือ “การกลับไปเยี่ยมบ้านเกิด”

ใครที่ยังมีพ่อแม่ญาติพี่น้องที่อพยพจากเมืองมาอยู่ต่างประเทศยังมีชีวิตอยู่ หรือพ่อแม่ญาติพี่น้องที่เมืองจีนยังมีชีวิตอยู่ ก็ง่ายที่จะไปบ้านเกิด ที่สำคัญคือง่ายในการ “ยืนยัน” ตัวตนกับญาติที่เมืองจีน

แต่หลายคนที่พ่อแม่หรือญาติที่เป็น “จีนโพ้นทะเล” เสียไปแล้ว เขาทำกันอย่างไร

ข้อมูลที่มีครอบครัวส่วนใหญ่ใช้ คือ ที่อยู่ที่เคยใช้ส่งเงินกลับไปบ้านเมืองจีน หรือ “โพย” นั่นเอง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเพียง ชื่อ-แซ่ หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด มณฑล (ไม่มีบ้านเลขที่ ซอย ถนน เบอร์โทรศัพท์)

ใครที่ไม่มีข้อมูลเรื่องโพยเก็บไว้ หรือจำไม่ได้ ก็หาข้อมูลชุดเดียวกันนั้นได้จาก “เจียะปี-ป้านหินหน้าหลุมศพ” หรือ “แกซิ้ง-ป้ายบูชาบรรพชน” ซึ่งมีขนบว่าจะต้องบันทึกข้อมูลของผู้วายชนม์นั้นว่า ชื่อแซ่อะไร, ปีที่เสียชีวิต, ที่อยู่ที่บ้านเกิดที่เมืองจีน (ส่วนใหญ่จะมีแต่ตำบลกับอำเภอ), ชื่อภรรยา ฯลฯ  ข้อมูลแค่นี้ดูก็ไม่น่าจะหากันเจอ แต่ด้วยวัฒนธรรมตระกูลแซ่ คนจีนในสังคมเก่า จะอยู่รวมกันคนแซ่เดียวกันเป็นหมู่บ้านใหญ่

ขอสมมติโดยใช้ที่อยู่ในเมืองไทย เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ ถ้าข้อมูลในโพยมีเพียงว่า นายอึ๊งซุนหลี บ้านคลองสำโรง ตำบลศีรษะจรเข้ใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อไปที่จังหวัดสมุทรปราการ ก็ตรงไปอำเภอบางพลี แล้วต่อไปตำบลศีรษะจรเข้ใหญ่ ถามหาหมู่บ้านแซ่อึ๊งที่บ้านคลองสำโรงอยู่ที่ใด (บางครั้งข้อมูลก็มีการเปลี่ยนแปลง เช่น ตำบลศีรษะจรเข้ใหญ่ เดิมขึ้นกับอำเภอบางพลี แต่ปัจจุบันขึ้นกับอำเภอบางเสาธงแล้ว แต่ก็คงไม่หนีกันไปเท่าใดนัก)

เมื่อถึงหมู่บ้านของบรรพบุรุษ ในกรณีที่ไม่มีญาติที่เคยอยู่ที่หมู่บ้านนี้กลับไปด้วย, ไม่มีญาติที่อยู่หมู่บ้านซึ่งเคยติดต่อกัน ในกรณีเช่นนี้ เมื่อถึงหมู่บ้านของตระกูลแซ่ ควรไปที่ “สื่อตึ้ง-ศาลบรรพชน” ก่อน เพราะเป็นจุดศูนย์กลางของคนในหมู่บ้าน เหมือนบ้านผู้ใหญ่บ้านหรือบ้านกำนันในเมืองไทย ก็รู้จักลูกบ้านใครอยู่ไหน ต่างกันแค่สื่อตึ๊งจะเก็บเรื่องราวของคนแซ่ใดแซ่หนึ่งในหมู่บ้านนั้นเท่านั้น

ที่ศาลบรรพชน แม้เราจะแซ่เดียวกับเขา แต่เป็นคนแซ่เดียวกันจากหมู่บ้านนี้จริงหรือเปล่า ยังต้องรอการพิสูจน์ และในเมื่อเราไม่มีเอกสารราชการที่จะอ้างอิงได้ ก็ต้องอาศัย “password-รหัสผ่าน” ยืนยัน

รหัสผ่านที่ว่าก็คือ “ปวยสู-ชื่อลำดับรุ่น” ที่ตระกูลแซ่ต่างๆ แต่ละหมู่บ้านจะจัดลำดับไว้ระบบตระกูลแซ่ เพื่อให้ทราบว่าแต่ละคนเป็นรุ่นที่เท่าไหร่ของแซ่นี้ในหมู่บ้านแห่งนี้ ทั้งสามารถใช้เทียบกับแซ่เดียวกันในที่อื่นว่าใครอยู่ในลำดับก่อนหลังของแซ่นั้นๆ ที่มีสมาชิกตระกูลแซ่กระจายอยู่ทั่วทุกแห่ง

ปวยสูมาจากการกำหนดชุดคำที่ผู้อาวุโสหลายคนในหมู่บ้านช่วยกันกำหนดขึ้น จากตัวอักษรที่มีความหมายเป็นมงคลดี เทียบเป็นภาษาไทยให้เข้าใจง่าย เช่น “ศรี สุข เจริญ มั่น คง ยืน ยง เที่ยง ธรรม ดี แท้…”

ถ้าปู่เป็นรุ่นเจริญ ก็ใช้คำว่า “เจริญ” มาตั้งเป็นชื่อ เช่น เจริญชัย, เจริญพร, กิจเจริญ ฯลฯ จะอยู่ที่พยางค์ที่ 1 หรือ 2 ของชื่อก็แต่ละขนบของแต่ละหมู่บ้าน ถึงรุ่นพ่อก็จะอยู่ในรุ่นมั่น หลานก็จะเป็นรุ่นคง ไล่ลำดับไป เมื่อใช้ชุดอักษรนี้หมด จึงจะจัดชุดอักษรใหม่ ซึ่งจะมีการบันทึกไว้ใน “จกโพ่ว-ปูมประจำตระกูล”

ดังนั้น เมื่อเราไปถึงศาลบรรพชน ที่สื่อตึ๊งก็จะถามว่า “ปวยสู” ของเราคืออะไร เราจึงควรจดปวยสูอย่างน้อยสัก 4-5 คำ ไปยืนยัน ถ้ามี/รู้ปวยสูเพียง 2-3 คำ ก็ใช้ได้ ในเมื่อมันเป็นเสมือนรหัสผ่าน คำที่มีความหมายมงคล ใครๆ ก็เลือกใช้เป็นปวยสู ถ้าใช้เรามีปวยสูน้อยตัว โอกาสคลาดเคลื่อนก็จะมีสูง

เมื่อปวยสูตรงกัน ก็เหมือนการใส่รหัสถูกต้อง ก็เหมือนเปิดระบบข้อมูลได้ ถ้ารู้ว่าบรรพปู่ทวดย่าทวดชื่ออะไร ปู่ย่าชื่ออะไร พ่อแม่ชื่ออะไร เราก็เข้าถึงชั้นข้อมูลที่ลึกลงไปอีกชั้น เราจะไม่ได้ยืนที่หมู่บ้านของบรรพบุรุษ แต่คนที่ศาลบรรพชน สามารถพาไปยืนในบ้านของบรรพบุรุษได้ ที่เป็นเช่นนี้ได้เพราะวัฒนธรรมการจดบันทึกของคนจีน “จีนโพ้นทะเล” ก็กลับไปเยี่ยมเยียนญาติพี่น้องที่บ้านเกิดได้เช่นนี้เอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

เสี่ยวจิว. ตัวตน คน“แต้จิ๋ว”, สำนักพิมพ์มติชน. พิมพ์ครั้งแรก กันยายน 2554

ถาวร สิกขโกศล. ชื่อ แซ่ และระบบตระกูลแซ่, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก, สิงหาคม 2559


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2564