“โพยก๊วน” เงินออมหลายร้อยล้านที่จีนโพ้นทะเลส่งกลับบ้านเกิด

ที่ทำการไปรษณีย์หมายเลข 8 ที่ให้บริการเรื่องโพยโดยเฉพาะ ในภาพเป็นความเสียหายที่เกิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ภาพจาก หนังสือบันทึกประวัติศาสตร์การประกันภัยไทย)

ตรุษจีน, เช็งเม้ง และสารทจีน คือเทศกาลสำคัญที่ ชาวจีนโพ้นทะเล สมัยก่อนนิยมส่งเงินกลับประเทศจีนด้วยการส่ง “โพยก๊วน”

โพยก๊วน (批馆) เป็นการรวมคำว่า  ‘โพย-批’  ที่แปลว่า จดหมาย และเงิน  (หากมีเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งไม่เรียกว่าโพย)  กับคำว่า ‘ก๊วน-馆’ แปลว่า สถานที่ต่าง ๆ รวมความแล้ว ‘โพยก๊วน’ จึงหมายถึงสถานที่รับ-ส่งโพย หากเรามักกล่าวติดปากว่า ‘โพยก๊วน’ มากกว่า ‘โพย’ เมื่อกล่าวถึงจดหมายและเงินที่ ชาวจีนโพ้นทะเล ส่งไปให้ญาติที่ประเทศจีนมากว่าร้อยปี

Advertisement

เมื่อนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความก้าวหน้าของระบบการเงินการธนาคาร และเทคโนโลยีการสื่อสารหลายรูปแบบ การส่ง “โพย” จึงค่อย ๆ เลิกลาไป โพยจึงเป็นแค่เรื่องเล่าในความทรงจำที่คนรุ่นต่อมา ๆ จำนวนมากนึกภาพไม่ออก

ตราสารการเงินเก่าแก่กว่าแต่ใกล้ตัวกว่าที่มักมีการกล่าวอ้างกันในหนังสือนิยายกำลังภายในอย่าง “ตั๋วแลกเงิน” อาจช่วยให้ท่านจินตนาการภาพของโพยได้ง่ายขึ้น หากนึกถึงเหล่าจอมยุทธชายหญิงที่รอนแรมไปในยุทธภพได้นับเป็นเดือน ๆ เพราะมี “ตั๋วแลกเงิน” ซุกซ่อนอยู่ในอกเสื้อเป็นทุนทรัพย์อยู่ กระดาษแผ่นเล็ก ๆ แผ่นเดียวนี้อาจมีมูลค่ามากกว่าเงินที่บรรทุกใส่หลังลาหลายหีบ

โพยก๊วน ระบบการเงินโพ้นทะเล

โพยและตั๋วแลกเงินเป็นตราสารการเงินเหมือนกัน ทำด้วยกระดาษเหมือนกัน ใช้แลกเป็นเงินสดได้เหมือนกัน ต่างกันที่ตั๋วแลกเงินเป็นตราสารการเงินภายในประเทศจีนเกือบทั้งสิ้น ส่วนโพยเป็นตราสารการเงินระหว่างประเทศ (ที่มีชาวจีนโพ้นทะเลไปพำนัก กับประเทศจีน)

ที่สำคัญคือโพยตราสารการเงินเพียงหนึ่งเดียว ที่ต้องมีจดหมายไถ่-ถามทุกข์แนบไปด้วยทุกครั้ง เทียบให้ภาพที่ง่าย ๆ โพยก็คือธนาณัติและโทรเลขที่รวมอยู่ในซองเดียวกัน 

เพราะเป็นการส่งเงินเหมือนกับธนาณัติ ขณะเดียวกันก็มีจดหมายข้อความสั้นคล้าย ๆ โทรเลข ขนาดของโพยนั้นไม่ใหญ่มาก ผู้อาวุโสบ้างท่านว่ามีขนาดประมาณ 9×16 เซนติเมตร ขณะที่บางท่านว่ามีขนาดประมาณ 4×8 เซนติเมตร (นั่นอาจขึ้นกับโพยก๊วนต่างสำนักหรือช่วงเวลาที่แตกต่างกัน) ทำจากกระดาษสาเนื้อละเอียดและบาง ต้องเขียนด้วยพู่กันจีน ด้วยข้อความเพียงสั้น ๆ ที่ไถ่ถามทุกข์สุข หรือบอกเล่าสถานการณ์ของแต่ละฝ่ายที่เผชิญอยู่แบบย่อ ๆ

นอกจากนี้ บางครอบครัวอาจใช้คำพูดหรือเครื่องหมายที่เป็นสัญลักษณ์เฉพาะ เช่น การประทับอิ่งด้วยหมึกสีดำ หรือไม่ประทับอิ่ง (ตราประทับชื่อนามสกุล/ชื่อยี่ห้อ/ชื่อร้านค้า ใช้แทนลายเซ็น แกะจากหิน ปกติจะใช้หมึกสีแดง) ผู้รับโพยจะทราบทันทีว่ามีพ่อแม่หรือผู้อาวุโสทางบ้านเสียชีวิต

ระยะแรกนั้นการส่งเงินกลับไปให้ครอบครัวเป็นการฝากไปกับคนรู้จักที่เดินทางกลับเมืองจีน ภายหลังเริ่มมีลักษณะของตัวแทนหรือนายหน้าในลักษณะของบุคคลที่เรียกว่า จุยแคะ (水客) มาเป็นผู้รับฝาก ก่อนที่จะเกิดเป็นโพยก๊วนสำนักต่าง ๆ

ส่วนวิธีการส่งโพยนั้นมี 2 แบบด้วยกันคือ 1. ผู้ส่งรายย่อยต้องเดินทางมาส่งที่สำนักงานโพย หรือโพยก๊วนเอง 2. ส่วนผู้ส่งรายใหญ่ (ส่งเป็นประจำสม่ำเสมอและเป็นเงินจำนวนมาก) ทางโพยก๊วนจะติดตามเมื่อถึงกำหนดส่ง หรือบางครั้งก็ไปให้บริการถึงที่พักหรือสำนักงานร้านค้า

โดยผู้ส่งโพยส่วนใหญ่จะใช้โพยก๊วนเจ้าประจำในการส่งโพย เพราะการส่งโพยเป็นระบบการเงินที่ไม่มีกฎหมายรับรอง จึงต้องอาศัยความเชื่อถือและคุณธรรมเป็นหลัก นอกจากนี้ ยังต้องอาศัยความชำนาญพื้นที่ของโพยก๊วนแต่ละแห่งด้วย เพราะการจ่าหน้าซองโพยนั้นจะมีเพียงชื่อบุคคลหรือร้านค้า หมู่บ้าน  ตำบล อำเภอ คนเดินโพยก็สามารถจัดส่งให้ถึงมือผู้รับได้

ดังนั้น ผู้ส่งโพยจึงมักใช้บริการโพยก๊วนที่เป็นคนบ้านเดียวกับตนเอง หรือที่มีผู้แนะนำเรื่องความน่าเชื่อถือเพื่อป้องกันการฉ้อโกง ซึ่งทำให้การใช้บริการโพยในการส่งเงินกลับมีการโกงกันน้อยมาก เพราะเป็นการใช้บริการจากการบอกต่อ

สำหรับประเทศไทยร้านโพยก๊วนส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ของสำเพ็งและเยาวราช) แต่ในจังหวัดใหญ่ ๆ ที่มีชาวจีนโพ้นทะเลอาศัยอยู่มาก เช่น ชลบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี ขอนแก่น ฯลฯ นั้น มีโพยก๊วนที่ให้บริการส่งโพยเช่นกัน โดยจะรวบรวมโพยในจังหวัดของตนมาส่งโพยก๊วนที่กรุงเทพอีกทอดหนึ่ง

ใบเสร็จ โพยก๊วน
ใบเสร็จรับโพยจากโพยก๊วนในเมืองมะนิลา เมื่อวันที่ 28 เดือน 9 ปี ๕.ศ. 1955 ข้อความในล้อมกรอบด้านล่างระบุให้เก็บใบเสร็จนี้ไว้เป็นหลักฐาน (ภาพจาก www.youj.net)

การส่ง โพย จากเมืองไทยนั้นผู้ใหญ่หลายท่านตอบตรงกันว่า ใช้เงินเหรียญฮ่องกงเป็นหลัก แต่คิดค่าบริการเป็นเงินไทย เช่น เมื่อประมาณ 40-50 กว่าปีก่อน หากส่งเงินไปให้ญาติ 50 เหรียญฮ่องกง (1 เหรียญฮ่องกงขณะนั้นมีมูลค่าประมาณ 3.70 บาท) โพยก๊วนคิดค่าบริการประมาณ 17-18 บาท หากเป็นโพยที่ส่งผ่านโพยก๊วนจากส่วนภูมิภาคค่าบริการจะเพิ่มเป็น 20 บาท ประมาณ พ.ศ. 2503 จึงเริ่มเปลี่ยนมาใช้เงินหยวน ถ้าคนส่งไม่รู้หนังสือ โพยก๊วนจะมีเจ้าหน้าที่คอยบริการเขียนโพยตามคำบอกให้ด้วยสำหรับผู้ส่งที่เขียนหนังสือจีนไม่ได้ แล้วอ่านให้ฟังว่าเขียนจดหมายไปอย่างไรก่อนจะใส่ซองผนึก

หลังจากนั้นโพยก๊วน (ที่เมืองไทย) จะจัดส่งโพยด้วยเรือเมล์ไปประเทศจีน ซึ่งที่นั่นจะมีสาขาโพยก๊วนค่อยดูแลติดตามส่งโพยให้กับผู้รับ โดยมีคนเดินโพยนั้นจะเรียกว่าแบบยกย่องว่า “ปุงโพยแปะ”  (แปลว่าคุณลุงผู้แจกโพย) จะเดินทางไปส่งโพยให้แก่ผู้รับแต่ละรายถึงบ้าน หรือหากมีผู้รับรายใดย้ายคนเดินโพยบ้าน คนเดินโพยจะติดตามสอบถามจากญาติ ๆ ของผู้รับและจัดส่งให้จนถึงมือ

ในการส่งโพยไปแต่ละครั้ง คนเดินโพยจึงต้องพกพาเงินจำนวนมากไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ แต่จะไม่มีโจรคนใดปล้นคนเดินโพยเลย ด้วยถือว่าการปล้นคนเดินโพยนั้น จะเกิดผลกระทบกับคนจำนวนมาก เพราะหลายคนครอบครัวรอเงินโพยซึ่งญาติโพ้นทะเลส่งมาอุดหนุนอยู่

โพยที่ส่งจากประเทศต่าง ๆ ไปถึงญาติเมืองจีนแล้ว ส่วนใหญ่จะตอบกลับเพื่อยืนยันว่ารับเงินที่ส่งไปและบอกเล่าข่าวคราวของทางบ้านเรียกว่า “ฮ้วยโพย-回批” ซึ่งทางโพยก๊วนจะเก็บโพยที่ตอบกลับมาไว้ให้ผู้ส่งโพย

มูลค่า “โพย” กับท่าทีผู้นำจีน

ตามลักษณะของโพยข้างต้น โพยคงดูไม่ต่างจากจดหมายน้อย ทว่าสิ่งที่บรรจุในซองโพยไม่ว่าจะเป็นเรื่องมูลค่าหรือคุณค่านั้นไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเลย

หลินปัน (Lynn Pan) ชาวจีนโพ้นทะเล ในอังกฤษ อธิบายถึงท่าทีของผู้ปกครองจีนกับการอพยพของชาวโพ้นทะเลในหนังสือ อึ่งตี่เกี้ย : เรื่องราวของชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลก แปลโดยเกษียร เตชะพีระ ว่า

“เมื่อชาวดัชต์ส่งสาสน์มาถวายจักรพรรดิแมนจูเพื่อกราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษที่ได้ฆ่าหมู่ชาวจีนในเมืองปัตตาเวียไปเมื่อปี ค.ศ. 1740 (พ.ศ. 2283) นั้น มีรายงานว่าพระองค์ทรงตอบกลับไปว่า ‘ไม่ค่อยห่วงกังวลชะตากรรมของไพร่กะเลวกะราดเหล่านี้นัก ด้วยพวกนี้ถึงแก่ผละจากบ้านเมืองและทอดทิ้งฮวงซุ้ยบรรพชนไปเพียงเพราะเห็นแก่เงิน’”

ทว่าวันหนึ่งลมก็เปลี่ยนทิศ เพราะเงินโพยที่ส่งกลับมาตุภูมิมีมูลค่ามหาศาล ราชสำนักแมนจูจึงไม่อาจละเลยหรือเย็นชาต่อชาวจีนโพ้นทะเลอีกต่อไป หนังสือเล่มเดียวกันนี้กล่าวว่า

“เมื่อย่างเข้าระยะต้นถึงกลางคริสต์ทศวรรษที่ 1950 ปรากฏว่ายอดจำนวนเมียที่ผัวทิ้งไว้เบื้องหลังในเมืองจีนตกราว 8 ล้าน 5 แสนคน ในจำนวนนี้ 6 ล้าน 5 แสนอยู่ในมณฑลกวางตุ้ง ส่วนอีก 2 ล้านอยู่ในมณฑลฟุเจี้ยน 

พวกเธอต่างพึ่งพาเงินทองที่ผู้อพยพส่งกลับบ้านไปให้ญาติโยมในเมืองจีน เงินโพยก๊วนเหล่านี้บ้างก็ใช้ส่งเสียเลี้ยงดูพ่อแม่ลูกเมีย บ้างก็ใช้สั่งซื้อผลิตภัณฑ์จากจีนนำเข้าไปขายในประเทศที่ตนตั้งหลักแหล่งอยู่  บ้างก็ใช้ลงทุนในกิจการต่าง ๆ ที่บ้านเกิด และบ่อยครั้งทีเดียวในกรณีผู้อพยพไปได้ดิบดีในต่างแดน ก็จะส่งเงินกลับมา โดยระบุให้ใช้เป็นค่าก่อสร้างถาวรวัตถุเป็นที่ระลึกให้กับตัวเอง อาทิ บ้านหลังใหม่ หอบูชาบรรพชน สุสาน โรงเรียนหรือสะพาน…

รวมเบ็ดเสร็จแล้ว เงินโพยก๊วนจากจีนโพ้นทะเลนับเป็นจำนวนมากพอควรคือคิดเฉลี่ยตกราว 80-100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี ระหว่าง ค.ศ. 1929-41 (พ.ศ. 2472-84) และสนองเงินตราต่างประเทศให้มากพอที่จะหักกลบลบล้างการขาดดุลการชำระเงินปริมาณมหาศาลของจีนในช่วงเวลาบางปีก่อนสงครามโลกครั้งที่สองทีเดียว…

แน่ล่ะว่าโอรสสวรรค์ทรงประเมินไพร่ข้าโพ้นทะเลของพระองค์ผิดพลาด ทั้งนี้ก็เพราะเพียงชั่วอายุคนสั้น ๆ รุ่นเดียว แค่กรวดทรายบางส่วนซึ่งพวกเขาโกยเก็บไว้และส่งกลับบ้านก็มีจำนวนสูงถึงหลายสิบล้านดอลล่าร์สเปนในแต่ละปี บัดนี้เงินโพยก๊วนกลับกลายเป็นความช่วยเหลือจากต่างชาติชนิดหนึ่งที่ให้กับรัฐบาล  ขืนไปกั้นปิดกระแสเงินโพยก๊วนไว้ เศรษฐกิจของมณฑลกวางตุ้งและฟุเจี้ยนก็จะได้รับผลสะเทือนแทบจะทันที

จะดูแลรักษากระแสเงินโพยก๊วนให้หลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสายได้อย่างไร เป็นเรื่องที่รัฐบาลชุดแล้วชุดเล่าห่วงกังวล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลแมนจู ก๊กมินตั๋ง หรือคอมมิวนิสต์ ในสายตาพวกแมนจู คนจีนไม่ว่าเกิดแห่งใดและอยู่ที่ไหนก็ล้วนเป็นไพร่พลเมืองจีนทั้งสิ้น ความจงรักภักดีของพวกเขาต่อจักรพรรดิจีนถือว่ามิอาจสลายคลายลงได้ และเพื่อป้องกันมิให้พวกเขาตกอยู่ใต้อำนาจครอบครองของต่างชาติก็มีการออกกฎหมายสัญชาติมาในปี ค.ศ. 1909 (พ.ศ.2452) ซึ่งยึดหลักสัญชาติโดยสืบสายโลหิต (jus sanguinis)  ทำให้ใครก็ตามที่เกิดจากบิดาหรือมารดาที่เป็นคนจีนกลายเป็นพลเมืองจีนไปด้วย…” [เน้นโดยผู้เขียน]

แม้แต่ผู้นำอย่าง ดร. ซุนยัดเซ็นยังกล่าวชื่นชมการสนับสนุนของชาวจีนโพ้นทะเลว่า “ชาวจีนโพ้นทะเลคือมารดาผู้ให้กำเนิดการปฏิวัติ” ซึ่งเซี่ยกวงกล่าวไว้ในหนังสือ กิจกรรมทางการเมืองของชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย ค.ศ. 1906-1939 แปลโดยเชาวน์ พงษ์พิชิต ว่า

“แม้ในด้านการบริจาคกำลังทรัพย์สนับสนุนกิจกรรมปฏิวัติของซุนยัดเซ็น ‘ชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย’ ก็ไม่ยิ่งหย่อนกว่าในประเทศอื่น ๆ ในการลุกขึ้นต่อสู่ด้วยกำลังติดอาวุธหลายครั้งครั้งซึ่งดร.ซุนยัดเซ็นก่อขึ้นที่กวางตุ้ง กวางสี และยูนนาน  เมื่อ ปี ค.ศ. 1907-1908 ‘ชาวจีนโพ้นทะเลแถบเอเชียอาคเนย์บริจาคทรัพย์รวมแล้วมีจำนวนถึง 150,000 หยวน’ ในจำนวนนี้ ‘ได้มาจากอินโดจีนและสยาม (ประเทศไทยในปัจจุบัน) 60,000 หยวน

โพยก๊วน
โพยตอบกลับจากประเทศจีน ผู้ส่งพันธมิตรที่ 18 ถึงโซวกุงเคียม (นายกสมาคมจีนแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย คนที่ 5), กวยจึงกัง และอี้งเอ๊ก เพื่อยืนยันว่าได้รับเงิน 200 หยวนแล้ว และขอบคุณที่คนจีนรักชาติโพ้นทะเลร่วมต่อต้านญี่ปุ่น (ภาพจาก(ภาพจากหนังสือ 泰国桥批文化 โดย 黎道纲 )

โพยหลักล้านจากเมืองไทย

โพยจากทั่วโลกที่เดินทางกลับแผ่นดินเกิดของชาวจีนโพ้นทะเลมีมูลค่ามากมายจนผู้นำประเทศต้องเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง แล้วที่ประเทศต้นทางของโพยแต่ละฉบับนั้นมีบทบาทต่อเศรษฐกิจและสังคมเช่นไร? สำหรับประเทศไทย ประเทศที่มีชาวจีนโพ้นทะเลอยู่มากที่สุดในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้

งานเขียนของพรรณี บัวเล็ก เรื่อง ลักษณะของนายทุนไทยในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2475-2482 : บทเรียนจากความรุ่งโรจน์สู่โศกนาฏกรรม นำเสนอให้เห็นว่า

โพยก๊วนเป็นกิจการทางการเงินของชาวจีนที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย โดยพ่อค้าที่ทำธุรกิจโพยก๊วนมักจะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับธุรกิจอื่น ๆ เช่น โรงสี ธนาคาร (ทั้งที่จัดตั้งโดยจดทะเบียนและไม่จดทะเบียน โดยดำเนินการในลักษณะห้างเงินดำเนินการในชุมชนจีน และเป็นที่แลกเงิน) ประกันภัย ธุรกิจส่งออก ฯลฯ

“เจ้าของธนาคารส่วนใหญ่ก็คือเจ้าของโรงสี  และบริษัทพ่อค้าข้าวขนาดใหญ่ที่มีเงินทุนหมุนเวียนมา เช่น ธนาคารหวั่งหลี ธนาคารกวางเก๊าะหลง ธนาคารเลียวยงเฮง และธนาคารจินเสง เป็นต้น นอกจากธุรกิจการซื้อขายตั๋วแล้ว ธุรกิจสำคัญอีกประการหนึ่งของธนาคารประเภทนี้คือการเป็นร้านโพยก๊วน (remittance house) รับส่งเงินกลับไปยังประเทศจีน 

รายได้ของธุรกิจประเภทนี้มาจาก ค่าบริการส่งเงิน ค่าดอกเบี้ยของเงินที่รับฝากที่จะดำเนินการส่งและบางครั้งก็จะได้จากอัตราแลกเปลี่ยนขึ้นที่เปลี่ยนแปลงไป การส่งเงินพ่อค้าจะแลกเป็นเงินฮ่องกง ธุรกิจโพยก๊วนและธุรกิจส่งออกจะมีความสัมพันธ์กันเนื่องจากพ่อค้าจะเปลี่ยนเงินที่รับโพยก๊วนเป็นรูปของสินค้า ซึ่งโดยปกติแล้วมักจะเป็นข้าว เงินโพยก๊วนนี้ก็จะถูกส่งไปยังซัวเถา (Swatow) ในรูปของข้าว หลังจากขายข้าวได้แล้วจึงจะส่งเงินไปตามที่รับฝากโพยก๊วนจากพ่อค้าจะมีร้านสาขาของตนทั้งในฮ่องกงและซัวเถาเพื่อดำเนินการค้าข้าวและโพยก๊วน”

ทั้งบรรดาเจ้าของโพยก๊วนได้รวมตัวกันจัดตั้งสมาคมอย่างเป็นทางการชื่อว่า “สมาคมงึ้นซิ้นเก็กกง” เมื่อในวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2475 เพื่อกำหนดราคาเงินเหรียญจีนกับเงินบาทสยามที่รับฝากส่งไปประเทศจีนให้เป็นราคาเดียวกันทุกร้าน

เป็นที่ทราบกันดีว่าชาวจีนเป็นพ่อค้ากลุ่มหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศในเวลานั้น เมื่อกิจการของพ่อค้าชาวจีนอย่างโพยก๊วน เชื่อมโยงกับธุรกิจอื่น ๆ เป็นห่วงโซ่เช่นนี้ มูลค่าของโพยจึงไม่น้อยที่เดียว

โพยก๊วน
ซ้าย-โพยของร้านจิ้นฮั่วเฮง เกี้ยมฮือโกย สำเพ็ง(ย่านถนนวาณิช 1) ประเทศไทย โดยพ่อส่งเงิน 50,000 หยวน ให้ลูกชายที่หมู่บ้านทอโตวแปะเจี๊ยะ อำเภอกิ๊กเอี๊ย วันที่ 20 มกราคม 1947(ภาพจากหนังสือ 泰国桥批文化 โดย 黎道纲 )  ขวา-ซองตราไปรษณียากรชนิด 15 สตางค์ ที่กรมไปรษณีย์สยามจัดพิมพ์ให้ใช้ส่งโพยแทนซองธรรมดา มีตราประทับที่ทำทการไปรษณีย์ที่ 8 (ภาพจาก www.siamstamp.com)

หนังสือของสุชาดา  ตันตสุรกฤกษ์ ที่ชื่อ โพยก๊วน การส่งเงินกลับประเทศโดยชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย อธิบายให้เห็นถึงท่าทีของผู้ปกครองต่อการส่งโพยว่า

“ในช่วงปีพุทธศักราช 2454 นี้เองเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ นโยบายการปกครองชาวจีนในประเทศไทยจึงเปลี่ยนไปและเข้มงวดมากขึ้น…

โดยทรงมีรับสั่งให้เจ้าพระยายมราชเสนาบดีกระทรวงนครบาลทำการสืบสวนดูเรื่องโพยก๊วนที่รับฝากหนังสือและส่งเงินไปยังเมืองจีนแยกประเภทตามภาษา ขนาดของจำนวนเงินที่ส่งออกในแต่ละปี  และบัญชีรายชื่อร้านโพยก๊วนพร้อมที่ตั้งในกรุงเทพขณะนั้น

ซึ่งจากการสืบสวนของพระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมืองได้ความว่า จำนวนร้านโพยก๊วนในกรุงเทพขณะนั้นมีอยู่รวม 58 ยี่ห้อ เป็นของชาวจีนภาษาแต้จิ๋ว ไหหลำ และแคะ เท่านั้น ส่วนชาวจีนภาษากวางตุ้งและฮกเกี้ยนไม่มีการจัดตั้งร้านโพยก๊วน การฝากจดหมายและเงินไปประเทศจีนใช้วิธีฝากทางห้างร้านค้าขายไปเอง ในจำนวนร้านโพยก๊วน 58 ยี่ห้อนี้รับฝากเงินปีหนึ่งประมาณ 7,800,000 เหรียญ… 

ส่วนการส่งโพยของชาวกวางตุ้งและฮกเกี้ยนซึ่งมีปริมาณเข้ามาอาศัยทำหากินในกรุงเทพขณะนั้นไม่มากนักและมิได้มีการจัดตั้งร้านโพยก๊วนขึ้น การส่งใช้ฝากทางห้างร้านค้าขายที่รู้จักกันกันหรือฝากคนที่รู้จักกันไปรวมทั้งการนำติดตัวกลับไปเมื่อเดินทางกลับถิ่นกำเนิด 

ทางการไทยขณะนั้นคาดประมาณว่าชาวจีนภาษากวางตุ้งฝากเงินกลับบ้านปีหนึ่งเฉลี่ยคนละ 40 เหรียญ  มีชาวกวางตุ้งอาศัยอยู่ประมาณ 100,000 คน รวมเป็นเงินส่งออกปีละ 4,000,000 เหรียญ  ส่วนชาวจีนภาษาฮกเกี้ยนฝากเงินกลับบ้านปีหนึ่งเฉลี่ยคนละ 40 เหรียญเช่นกัน ประมาณว่าอาศัยอยู่ 5,000 คน  รวมเป็นเงินส่งออกปีละ 200,000 เหรียญ นอกจากนี้ทางการไทยยังคำนวณปริมาณส่งออกนอกประเทศของชาวจีนจากการเดินทางกลับประเทศ โดยคิดจากการนำเงินติดตัวออกไปใช้จ่ายในการเดินทางกลับเฉลี่ยประมาณคนละ 40 เหรียญ 

ในปี พ.ศ. 2454 นี้มีชาวจีนเดินทางกลับประเทศรวมทั้งสิ้น 60,797 คน  คิดเป็นเงินนำติดตัวออกไป 2,400,000 เหรียญ รวมเป็นเงินส่งกลับประเทศของชาวจีนโพ้นทะเลทั้งทางโพยก๊วนและการส่งออกด้วยการฝากและนำติดตัวทางกลับเป็นเงินทั้งสิ้นปีละ 14,400,000 เหรียญ คิดเป็นเงินไทยขณะนั้น 16,551,724 บาท 13 สตางค์…

และในช่วงปลายรัชกาลที่ 7 มีแนวโน้มว่าชาวจีนโพ้นทะเลในไทยส่งเงินกลับประเทศมากขึ้นเรื่อย เพื่อช่วยรัฐบาลจีนทำสงครามต่อต้านญี่ปุ่นที่เข้ามารุกรานจีน (ประมาณ พ.ศ. 2474-79)

“ประมาณว่าระหว่าง พ.ศ. 2470 ถึง พ.ศ. 2475  คนจีนในไทยส่งเงินกลับประเทศประมาณ 160 ล้านบาท…การส่งเงินกลับประเทศในลักษณะนี้สร้างความไม่พึงพอใจแก่รัฐบาลคณะราษฎรเป็นอย่างมาก  เชื่อกันว่านับตั้งแต่ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ปริมาณการส่งเงินกลับประเทศได้เพิ่มขึ้นถึงปีละ 50 ล้านเหรียญ หรือ 37 ล้านบาท…

คณะราษฎรได้ตระหนักถึงความสำคัญของธนาคารแลกเงินซึ่งเป็นธนาคารเล็กๆ ของชาวจีนมีบทบาทที่สำคัญในการส่งเงินออกนอกประเทศที่เรียกว่า โพยก๊วน ซึ่งแต่เดิมสามารถดำเนินกิจการได้อย่างเสรี  รัฐบาลคณะราษฎรจึงดำเนินนโยบายเก็บภาษีอย่างหนัก โดยตราพระราชบัญญัติการธนาคารและการประกันภัยขึ้น…”

ปรมาจารย์ผู้สนใจศึกษาเรื่องของประเทศจีนอย่าง จี.วิลเลียม  สกินเนอร์ (G.William Skinner) กล่าวถึงมูลค่าของเงินโพยจำนวนมากนี้เช่นกัน  ในงานเขียนของเขาที่ชื่อ สังคมจีนในประเทศไทย ว่า

“สำหรับทศวรรษแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 รายงานของเจ้าหน้าที่ศุลกากรจีนประมาณจำนวนเงินที่ส่งไปให้ประจำปีทั้งหมดที่ได้รับในเขตพวกแต้จิ๋ว และพวกจีนแคะที่อพยพออกมา โดยใช้บริการที่เมืองซัวเถานั้นเป็นเงินถึง 21,000,000 เหรียญ แต่คงไม่มากกว่า 1 ใน 3 ของเงินจำนวนนี้มาจากสยาม  อาจกล่าวได้แต่เพียงว่า เงินที่ส่งไปจากสยามเป็นเงินก้อนใหญ่และสูงขึ้นเรื่อยๆ”

โพย 6,500 ฉบับ ต่อวัน

เมื่อมูลค่าเงินส่งโพยในแต่ละปีมีจำนวนถึงหลักล้านบาท จำนวนโพยที่ส่งออกไปในแต่ละปีก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน มีการจัดตั้งที่ทำการไปรษณีย์ที่ 8 ขึ้นที่ริมถนนเยาวราช เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2451 เพื่อดูแลโพยของชาวจีนโพ้นทะเลโดยเฉพาะ หากปริมาณการส่งโพยก็มากมายเกินกว่าที่คาดไว้ ความตอนหนึ่งในจดหมายกราบบังคมทูลของพระยาสุขุมนัยวินิต เสนาธิการกระทรวงโยธาธิการ ลงวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2451 เรื่องให้ยืมแสตมป์ฤชากรมาใช้แทนตั๋วตราไปรษณีย์ ว่า

“ตั้งแต่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เปิดออฟฟิศไปรสนีย์ที่ 8 คือออฟฟิศไปรสนีย์จีนตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนศกนี้มาแล้ว พวกจีนได้ส่งหนังสือจีนไปประเทศจีนมาก ถ้าเปนวันเรือเมล์ออกวัน 1 อย่างน้อย 6,500 ฉบับ  ต้องจำหน่ายตั๋วตราไปรสนีย์บางวันถึง 1,500 บาทเปนอย่างน้อย แต่ตั๋วตราไปรสนีย์ซึ่งมีอยู่ในเวลานี้อย่างราคาสูงที่สุดเพียงดวงละ 1 บาทเท่านั้น จำนวนหนังสือห่อหนึ่งต้องปิดตั๋วตราถึง 200 หรือ 300 ดวง ต้องปิดทับซับซ้อนกันลงไปจนเต็มหลังห่อ เปนการตรวจยากแลเสียเวลาของเจ้าพนักงาน 

กรมไปรสนีย์โทระเลขกำลังคิดจะสั่งตั๋วตราอย่างราคาสูงมาใช้อยู่แล้ว แต่การนั้นยังจะช้าอยู่ ได้ปฤกษากับกระทรวงการคลังมหาสมบัติเหนด้วยเกล้าฯ พร้อมกันว่า ในชั้นนี้ควรยืมแสตมป์ฤชากรมาใช้แทนไปพลางก่อน…ข้าพระพุทธเจ้าขอรับพระราชทานพระบรมราชานุญาตใช้แสตมป์ฤชากรดวงละ 10 บาท 20 บาท และ 40 บาท มาใช้แทนตั๋วตราไปรสนีย์ไปพลางก่อน จนกว่าตั๋วตราไปรสนีย์ที่คิดจะส่งนั้นเข้ามาถึง

วันที่มีเรือเมล์ไปเมืองจีนมีโพย 6,500 ฉบับต่อวัน หากเรือเมล์ออกสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ในหนึ่งปีจะมีจำนวนโพยจากเมืองไทยไปเมืองจีนไม่น้อยกว่า 300,000 ฉบับ การส่งโพยเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 (ครองราชย์ พ.ศ. 2411-53) และสิ้นสุดอย่างแท้จริงหลังจารัฐบาลไทย-จีนเปิดสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการในรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์  ปราโมช  เมื่อ พ.ศ. 2518 (เพราะคนจีนโพ้นทะเลในเมืองไทยสามารถเดินทางไปเยี่ยมครอบครัวที่เมืองได้ด้วยตนเองแทนโพย รวมทั้งระบบการโอนเงินผ่านธนาคารพาณิชย์)   ระยะเวลากว่า100 ปีนี้ คงมีโพยหลายล้านฉบับเดินทางไปมาจากเมืองไทยไปเมืองจีน

สกินเนอร์ อธิบายถึงสาเหตุของการส่งโพยจำนวนมากนี้ว่า

“การพิจารณาบทบาททางด้านเศรษฐกิจของชาวจีนที่อยู่ในประเทศใดก็ตามจะไม่สมบูรณ์ได้เลย ถ้าไม่มีการกล่าวถึงการส่งเงินไปให้เครือญาติ ในเมื่อวัตถุประสงค์ทั่วไปของผู้อพยพต้องการจะส่งเสริมฐานะความมั่งคั่งของตระกูล… 

‘เงินส่วนหนึ่ง…ที่หามาได้อย่างยากลำบาก [ของชาวจีนผู้เข้ามาตั้งหลักแหล่ง] ได้ส่งไปให้แก่ญาติพี่น้องซึ่งยังคงอยู่ที่บ้านเกิดทุก ๆ ปี และน่าพิศวงที่ได้ทราบว่าชาวจีนเหล่านี้ยากลำบากเพียงใดในการจัดหาและส่งเงินเบี้ยเลี้ยงไปยังบ้านเกิด…ถ้าผู้อพยพออกสามารถส่งเงินได้เพียงหนึ่งเหรียญดอลลาร์ก็จะส่งเงินจำนวนนี้ไป…เขาจะไม่ส่งจดหมายไปบ้านเลยถ้าไม่มีการส่งเงินของขวัญไปด้วย เขาไม่เขียนจดหมายเสียดีกว่าโดยไม่ส่งอะไรที่มีความสำคัญกว่ากระดาษ’”

รวบรวมหลักฐานโพ้นทะเล

แล้ววันนี้มีความพยายามรวบรวมโพยแผ่นเล็ก ๆ จากโพ้นทะเล โพยที่เคยนำมาซึ่งผลประโยชน์มูลค่ามหาศาล นำข่าวคราวของญาติพี่น้องผู้อยู่แดนไกล ให้เป็นเอกสารหลักฐานชั้นต้นทางประวัติศาสตร์อีกชิ้นหนึ่ง

คุณลี้เต๋ากัง (黎道纲) นักวิชาการอิสระด้านจีนวิทยา และคุณอั๊งลิ้ม (洪林) นักหนังสือพิมพ์จีนอาวุโส ผู้เขียนหนังสือเรื่อง โพยจากชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย (泰国桥批文化) ซึ่งทั้ง 2 ท่าน ตัวแทนจากประเทศไทยที่ไปร่วมประชุมเรื่องโพย เมื่อ พ.ศ. 2548  และ 2550 กับศูนย์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมซัวเถา จังหวัดซัวเถา มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน องค์กรที่รวบรวมโพยหลายแสนฉบับ และจัดการประชุมเรื่องดังกล่าวทุก ๆ 2 ปี เล่าถึงความพยายามดังกล่าวว่า

“สาเหตุที่เกิดความสนใจเรื่องนี้เริ่มจากการที่เอกสารเก่าแก่ของมณฑลซานซี และมณฑลอันฮุยได้รับการรับรองจากสหประชาชาติให้เป็นมรดกของมนุษยชาติ เป็นมรดกโลก เอกสารของมณฑลซ่านซีนั้นเป็นเรื่องของระบบการแลกเปลี่ยนเงินตรา ที่มีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ชิงก่อนที่จะมีระบบธนาคาร สมัยนั้นท่านสามารถถือดราฟต์จากซานสีไปกวางตุ้งแลกเงินได้  ส่วนเอกสารอันฮุยเป็นเรื่องของระบบการพาณิชย์  การทำสัญญาการค้า เรียกว่า อันฮุยเหวินซู และเป็นศาสตร์ที่มีการศึกษากัน

หากศาสตราจารย์เหยาจงหยี นักวิชาการชาวแต้จิ๋ว ผู้มีที่ถิ่นพำนักอยู่ที่ฮ่องกงมีความเห็นว่า โพยของแต้จิ๋วมีคุณค่ายิ่งกว่านั้นอีก เพราะไม่ว่าจะเป็นเอกสารของซานซีหรืออันฮุย ล้วนมีข้อกฎหมายบังคับรับรอง แต่โพยของแต้จิ๋วไม่มีกฎหมายบังคับ อาศัยเครดิต อาศัยความเชื่อถือ และไม่ต้องใช้เอกสาร เราเพียงพูดปากเปล่า เราเพียงแต่เขียนจดหมายแบบแล้วใช่เป็นตั๋วแลกเงินไปในตัว สามารถดำเนินการได้เป็นเวลา 100 กว่าปี เมื่อท่านมอบเงินให้แก่เจ้าหน้าที่ของร้านโพยก๊วน เขารับไปเลยโดยไม่มีใบเสร็จให้ แต่จัดส่งเงินไปถึงมือญาติของท่าน แลกกับค่าบริการที่คิดเพียงเล็กน้อย เมื่อเอกสารของมณฑลซ่านซี และอันฮุยเขาเป็นมรดกโลกได้ทำไมโพยของแต้จิ๋วจะเป็นมรดกโลกไม่ได้ จึงเกิดการรวบรวมโพยขึ้น

โดยโพยทั้งหมดที่รวบรวมนั้น ขณะนี้ได้สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยคุรุศาสตร์กวางสี เมืองนานนิง มณฑลกวางสีรับเป็นผู้จัดพิมพ์ให้เป็นหนังสือชุด ชุดหนึ่งจะมีประมาณ 130 เล่ม คิดเป็นจำนวนโพยประมาณ 200,000 ฉบับ เนื้อหาภายในนั้นไม่มีคำวิจารณ์ หรือข้อคิดเห็นต่าง ๆ เลย มีแต่เนื้อหาโพยที่ได้รวบรวมล้วน เพื่อให้เป็นข้อมูลชั้นต้นให้แก่คนรุ่นหลังที่สนใจใช้ศึกษา…

(จากซ้ายไปขวา) ซองโพยจากประเทศฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, เวียดนาม, กัมพูชา, มาเลเซีย และอินโดนิเซีย (ภาพจากหนังสือแสดงไปรษณียากร พ.ศ. 2546)

ประวัติศาสตร์ในซองโพย

เช่นนี้ เงินที่ส่งไปกับโพยจึงไม่ได้บอกเพียงเศรษฐานะของจีนอพยพผู้มาใหม่ หากยังมีนัยยะของวัฒนธรรมของชาวจีนในเรื่องของหน้าที่ ความรับผิดชอบ ความผูกผันกับครอบครัว และเรื่องราวของสังคมในขณะนั้นอีกด้วย ซึ่งคุณลี้และคุณอั๊งยังเล่าให้ฟังว่า

“บรรดาจีนโพ้นทะเลถิ่นต่าง ๆ ในเมืองไทยนั้น ชาวแต้จิ๋วเป็นผู้ส่งโพยก๊วนมากที่สุด สำหรับคนแคะยังนิยมใช้จุยแคะ-carrier มากกว่า เพราะไม่ได้ส่งเงินบ่อยเหมือนคนแต้จิ๋ว นอกจากที่อยู่ของคนแคะนั้นอยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดินมากกว่า ซึ่งไม่ค่อยมีสำนักงานของโพยก๊วน จุยแคะจึงเป็นวิธีที่สะดวกกว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จะมีเรือออกจากท่าราชวงศ์ไปซัวเถาทุกสัปดาห์ และมีการประกาศในหนังสือพิมพ์จีนให้ทราบว่า วันนี้เรือของใครบ้างที่ออก

คนแต้จิ๋วสมัยก่อนนั้น พอนั่งเรือมาถึงเมืองไทยต้องรีบส่งเงินกลับไปบ้าน ทั้งที่เพิ่งจะมาถึงได้ไม่กี่วัน เพิ่งหาเงินได้ไม่เท่าไรก็ต้องส่งเงินกลับ เพื่อแจ้งข่าวกับทางบ้านว่าตนมาถึงแล้วอย่างปลอดภัย แต่จะส่งจดหมายอย่างเดียวไม่ได้ต้องเงินไปด้วย แม้ว่าตนเองมาอยู่เมืองไทยใหม่จะลำบาก ทว่าครอบครัวที่ประเทศจีนโน้นลำบากกว่า…

นอกจากนี้เส้นทางเดินโพยในช่วงสงครามโลก  ผู้อาวุโสท่านหนึ่งที่เคยทำหน้าที่เป็นคนเดินโพยเล่าให้ฟังว่าเส้นทางที่ปกติที่เคยใช้คือทางเรือจะใช้ไม่ได้ ต้องหันมาใช้ทางบกแทน โดยเริ่มเดินทางจากกรุงเทพ เดินไปนครราชสีมา ไปขอนแก่น ไปหนองคาย ไปฮานอยประเทศเวียดนาม แล้วข้ามคลองเข้าไปประเทศจีนอีกที โดยเอาเงินไทยที่ได้รับฝากมาไปซื้อเป็นทองแท่งใส่ในถุงผ้าที่เย็บเป็นพิเศษเฉพาะผูกไว้ที่เอว กี่วันกี่คืนไม่กล้าแก้ออก เมื่อถึงประเทศจีนแล้วจึงนำทองแท่งไปแลกเป็นเงินจีนอีกที่จึงไปแบ่งแต่ละบ้านตามที่ญาติส่งมาให้

ซึ่งเส้นทางนี้ ในหนังสือ ‘เพื่อชาติ เพื่อ humanity : ภารกิจของวีรบุรุษเสรีไทย จำกัด พลางกูร ในการเจรจากับสัมพันธมิตร’ ของอาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา กล่าวถึงไว้ว่า นายหลุยส์ พนมยงค์ น้องชายของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ แจ้งว่ามีชาวจีนแนะนำให้ทางใช้เส้นทางประเทศเวียดนาม แทนเส้นทางเดิมทางภาคเหนือของไทยที่มีภูเขามาก ทำให้อาจารย์ปรีดีจึงส่งคุณจำกัด พลางกูรไปประเทศจีนสำเร็จด้วยเส้นทางนี้”

หลายปีก่อนมูลค่าเงินในซองโพยทำให้ผู้นำ และราชสำนักต้องเปลี่ยนท่าทีมาแล้ว วันนี้จดหมายที่มากับโพย จดหมายที่ลูกส่งถึงพ่อแม่ สามีส่งถึงภรรยา พี่ส่งถึงน้อง ฯลฯ จะสะท้อนสภาพสังคม วัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ ฯลฯ ในช่วง 100 กว่าปีนี้ให้ศึกษา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 มีนาคม 2562