ผู้เขียน | เสี่ยวจิว |
---|---|
เผยแพร่ |
บทสนทนาหนึ่งที่ได้ยินบ่อยในซีรีส์โดยเฉพาะประเภทย้อนยุค และกำลังภายใน คือ ท่าน “แซ่” อะไร และในชีวิตจริงนี่ก็ยังเป็นบทสนทนาในสังคมชาวจีน และลูกหลานจีนโพ้นทะเล
แซ่ (姓) หรือ นามสกุลของคนจีน ที่มีกว่า 10,000 แซ่ มีพัฒนาการยาวนานมาหลายพันปี คนในแซ่เดียวกันมาอยู่รวมกัน และสร้าง “ระบบตระกูลแซ่” ของตนขึ้นมาเพื่อดูแลปกป้องคนแซ่เดียวกัน
ระบบตระกูลแซ่มีวิวัฒนาการตามสภาพแวดล้อมของสังคม จุดหนึ่งที่สำคัญคือการที่ปราชญ์สำคัญในลัทธิขงจื๊อใหม่ เช่น จางไจ้และจูซี ได้สนับสนุนให้ครอบครัวย่อยๆ อยู่รวมกันเป็นหมู่บ้านตามตระกูลแซ่ ถ้าเป็นหมู่บ้านใหญ่อาจมีหลายแซ่อยู่แยกกันเป็นกลุ่มๆ แต่ละแซ่มีศาลบูชาบรรพชนเป็นศูนย์กลาง
ซึ่งองค์ประกอบสำคัญของตระกูลแซ่ระบบนี้คือ
1. ปูมประจำตระกูลแซ่ แต่ละแซ่ที่แยกออกไปตั้งถิ่นฐานในหมู่บ้านนั้นจะบันทึกเรื่องราวของแซ่ตนเอง เช่น ประวัติถิ่นฐานเดิมของตระกูล, เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในแซ่ตนเอง ณ หมู่บ้าน, คำสอนและกฎประจำตระกูล, คำบอกลำดับรุ่นในตระกูลแซ่, สาแหรกแซ่ ประวัติบุคคลสำคัญในตระกูล เป็นต้น
2. ศาลบรรพชน ถ้าหมู่บ้านใดมีคนมากกว่า 1 แซ่อาศัยอยู่ ศาลบรรพชนจะเพิ่มจำนวนตามแซ่ที่มี ศาลเป็นศูนย์กลางของชุมชน มีหน้าที่หลายอย่างด้วยกัน ทำหน้าที่คล้ายกับศาลาวัดของไทย คือ
1) เป็นศูนย์รวมข้อมูลประวัติของแต่ละแซ่ในชุมชนนั้น เช่น ปูมประจำตระกูลแซ่, ป้ายสถิตวิญญาณของบรรพชนในแซ่ของหมู่บ้าน ฯลฯ
2) เป็นที่ประกอบพิธีการต่างๆ เช่น การเซ่นไหว้บรรพชนในแต่ละเทศกาล, ที่ประชุมของบรรดาผู้อาวุโสของแซ่ในวาระที่เป็นทางการ, ที่พิจารณาข้อพิพาทของคนในหมู่บ้าน, เป็นสถานศึกษาแก่คนในหมู่บ้าน สมัยที่การดูแลของส่วนกลางยังไม่ทั่วถึง
3. นาประจำตระกูล สำหรับเก็บเกี่ยวผลประโยชน์เพื่อใช้ในกิจกรรมร่วมของวงศ์ตระกูล เช่น การบูชาบรรพชน, การศึกษาของคนในตระกูลแซ่, อุดหนุนจุนเจือคนในตระกูล ฯลฯ
4. ประธานวงศ์ตระกูล ซึ่งคัดจากผู้ที่มีศักดิ์หรือรุ่นตามคำบอกลำดับรุ่นเป็นรุ่นอาวุโส และมีบารมีเป็นที่เคารพของคนในตระกูล ประธานวงศ์ตระกูลเป็นผู้นำทำพิธีเซ่นสรวงบรรพชน ดูแลศาลบรรพชน นารวมของตระกูล จัดการศึกษาของตระกูล รักษากฎระเบียบของตระกูล แก้ปัญหาการวิวาทของคนในตระกูล ตลอดจนลงโทษผู้ทำผิด ฯลฯ
5. กฎของวงศ์ตระกูล มีสถานะเป็นกฎหมายสูงสุดของตระกูลแซ่ ฝ่ายรัฐสมัยต่างๆ จนถึงราชวงศ์ซ่งให้ความสำคัญกับกฎของตระกูลเสมือนกฎหมายของบ้านเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของทรัพย์สิน เว้นแต่มีการฟ้องร้องว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือขัดกับกฎหมายของรัฐ ราชการจึงจะเข้าไปจัดการ
แซ่และระบบตระกูลแซ่ ยังเป็นเครื่องมือสําคัญประการหนึ่งในการรวมชนชาติจีน จากคนต่างแซ่ ต่างพวกผสมกลมกลืนกันกลายเป็นคนจีน ความเชื่อพื้นฐานที่เคยฝังใจคนจีนตลอดมาว่า “แซ่เดียวกัน เป็นญาติกันต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน” ก็มีที่มาจากระบบตระกูลแซ่นี้เอง
หรือหากเป็นคนต่างแซ่ก็จะถูกเชื่อมร้อยด้วยตำนานของแซ่ว่า ทุกแซ่ล้วนสืบเชื้อสายและเป็น “ลูกหลานเหยียนตี้-หวงตี้” บูรพกษัตริย์สองพี่น้องในยุคบรรพกาล ทำให้สามารถลำดับได้ว่า นายเอ แซ่แต้ ลำดับรุ่นที่ 127 กับนายบี แซ่อึ๊ง ลำดับรุ่นที่ 209 ระบบตระกูลแซ่ยังสามารถจำแนกได้ว่าทั้งสองคนเป็นลำดับรุ่นที่เท่าใดในวงศ์เหยียนตี้หวงตี้ ใครอาวุโสกว่าใคร
ผศ.ถาวร สิกขโกศล สรุปการนับเป็นญาติกันของแซ่ต่างๆ ว่า “การนับญาติตามระบบนี้สามารถสร้างสำนึกของคนจีนทุกแซ่ว่าเป็นลูกหลานเหยียน-หวงเช่นเดียวกัน แต่เมื่อพิจารณากันตามข้อเท็จจริงแล้ว เป็นไปไม่ได้ที่คนทุกแซ่ล้วนสืบเชื้อสายมาจากเหยียนตี้และหวงตี้ เรื่องนี้เป็นความจริงตามบัญญัตินิยมที่สร้างขึ้นเป็นระบบ เพื่อความเป็นเอกภาพของทุกแซ่และประชาชาติจีนทุกคน”
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเขียนไว้ว่า “รวมกันง่ายไม่ใช่แขก แตกกันง่ายไม่ใช่เจ๊ก”
แซ่ และระบบตระกูลแซ่ เข้มแข็งเพียงใดคงต้องดูจากท่าที “จีนโพ้นทะเล” และลูกหลาน
“จีนโพ้นทะเล” คือ ผู้ที่มีเชื้อสายจีนที่อพยพย้ายถิ่นไปอยู่ต่างประเทศ แต่จริงๆ ในโลกนี้มีคนอีกหลายเชื้อชาติออกเดินทางแสวงโชคและอพยพถิ่น แต่ทำไมจึงไม่มีอังกฤษโพ้นทะเล, สเปนโพ้นทะเล, ญี่ปุ่นโพ้นทะเล, ไทยโพ้นทะเล พม่าโพ้นทะเล ฯลฯ ทำไมโลกจึงมีเพียง “จีนโพ้นทะเล”
เพราะคนโพ้นทะเลที่อพยพเหล่านั้น เมื่อมีโอกาสกลับไปบ้านเกิด บุคคลที่ระลึกถึงและอยากพบที่สุดก็คงไม่พ้น พ่อแม่, ลูกเมีย, พี่น้อง, ปู่ย่าตายาย หรือญาติที่มีความผูกพันใกล้ชิดเป็นหลัก ถ้าบุคคลเหล่านี้เสียชีวิตไปแล้วสายใยกับบ้านเกิดกับคนโพ้นทะเลส่วนใหญ่จึงเสมือนขาดกันไปด้วย
หากนั่นไม่ใช่สำหรับคนจีนโพ้นทะเล เพราะระบบแซ่ทำให้คนจีนโพ้นทะเลสามารถยึดโยงกับรากเหง้า และเรื่องราวของตนเองได้จากบ้านเกิด ทำให้คนจีนโพ้นทะเลไม่ไร้ตัวตนและโดดเดี่ยวจนเกินไป
แซ่ และระบบตระกูลแซ่ ที่เข้มแข็ง ทำให้จีนโพ้นทะเลและสมาชิกชั้นลูกหลานหลายครอบครัวในหลายประเทศยังเดินทางกลับไปเยี่ยมเยียน หรือสืบค้นรกรากของบรรพชนให้เห็นอยู่เสมอ บนพื้นฐานที่ไม่เลื่อนลอย โดยมี “คำบอกลำดับรุ่นในตระกูลแซ่” ที่ผู้อาวุโสของแซ่นั้นในแต่ละหมู่บ้านกำหนดขึ้นสำหรับใช้ในชื่อตั้งชื่อลูกหลานผู้ชาย เป็นเสมือน “รหัสผ่าน” ชั้นดีที่จะยืนยันว่าเราเป็นสมาชิกที่มีรากเหง้าจากแซ่นี้ หมู่บ้านนี้จริง และมีข้อมูลมากมายรอยู่ให้เราค้นหาคำตอบ
โพยก๊วน (เงินและจดหมายที่ส่งกลับมาตุภูมิ) เป็นอีกหลักฐานที่ดี หลินปัน (Lynn Pan) ชาวจีนโพ้นทะเลในอังกฤษอธิบายถึงเงินโพยที่ส่งกลับมาตุภูมิมีมูลค่ามหาศาลว่า
“…เงินทองที่ผู้อพยพส่งกลับบ้านไปให้ญาติโยมในเมืองจีน เงินโพยก๊วนเหล่านี้บ้างก็ใช้ส่งเสียเลี้ยงดูพ่อแม่ลูกเมีย บ้างก็ใช้สั่งซื้อผลิตภัณฑ์จากจีนนำเข้าไปขายในประเทศที่ตนตั้งหลักแหล่งอยู่ บ้างก็ใช้ลงทุนในกิจการต่างๆ ที่บ้านเกิด และบ่อยครั้งทีเดียวในกรณีผู้อพยพไปได้ดิบดีในต่างแดน ก็จะส่งเงินกลับมา โดยระบุให้ใช้เป็นค่าก่อสร้างถาวรวัตถุเป็นที่ระลึกให้กับตัวเอง อาทิ บ้านหลังใหม่ หอบูชาบรรพชน สุสาน โรงเรียนหรือสะพาน…
รวมเบ็ดเสร็จแล้ว เงินโพยก๊วนจากจีนโพ้นทะเลนับเป็นจำนวนมากพอควรคือคิดเฉลี่ยตกราว 80-100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ระหว่าง ค.ศ. 1929-41 (พ.ศ. 2472-84) และสนองเงินตราต่างประเทศให้มากพอ ที่จะหักกลบลบล้างการขาดดุลการชำระเงินปริมาณมหาศาลของจีนในช่วงเวลาบางปีก่อนสงครามโลกครั้งที่สองทีเดียว…”
สำหรับประเทศไทย สุชาดา ตันตสุรกฤกษ์ บันทึกไว้ว่า “ประมาณว่าระหว่าง พ.ศ. 2470 ถึง พ.ศ. 2475 คนจีนในไทยส่งเงินกลับประเทศประมาณ 160 ล้านบาท… การส่งเงินกลับประเทศในลักษณะนี้สร้างความไม่พึงพอใจแก่รัฐบาลคณะราษฎรเป็นอย่างมาก เชื่อกันว่านับตั้งแต่ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ปริมาณการส่งเงินกลับประเทศได้เพิ่มขึ้นถึงปีละ 50 ล้านเหรียญ หรือ 37 ล้านบาท…” เพื่อช่วยรัฐบาลจีนทำสงครามต่อต้านญี่ปุ่นที่เข้ามารุกรานจีน (ประมาณ พ.ศ. 2474-79)
แซ่ และระบบตระกูลแซ่ ยังเป็นเครื่องมือที่ทำงานเชื่อมโยงสัมพันธ์ระยะไกลไว้ได้ จึงมีคำว่า “จีนโพ้นทะเล”
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
ข้อมูลจาก :
วิภา จิรภาไพศาล. “ระบบแซ่” สิ่งที่ทำให้โลก มีแต่ “จีนโพ้นทะเล” ใน, ศิลปวัฒนธรรม กุมภาพันธ์ 2553
ถาวร สิกขโกศล. ชื่อ แซ่ และระบบตระกูลแซ่, สำนักพิมพ์มติชน สิงหาคม 2559
เสี่ยวจิว. ตัวตน คน ‘แต้จิ๋ว’ , สำนักพิมพ์มติชน กันยายน 2554
หลินปัน (เขียน), เกษียร เตชะพีระ (แปล). อึ่งตี่เกี้ย : เรื่องราวของชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลก, สำนักพิมพ์คบไฟ, มกราคม 2540
สุชาดา ตันตสุรกฤกษ์ ที่ชื่อ โพยก๊วน การส่งเงินกลับประเทศโดยชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศ, สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2532
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 พฤษภาคม 2563