ผู้เขียน | เสมียนนารี |
---|---|
เผยแพร่ |
ภาษาจีนมีคำที่แปลว่า “นามสกุล” ใช้แพร่หลาย 2 คำ คือ แซ่ (姓) กับ สี (氏) ในสมัยโบราณ มีความหมายต่างกัน ใช้แทนกันไม่ได้ แซ่ คือโคตรวงศ์เก่าแต่โบราณ สี คือตระกูลย่อยที่แยกสาขามาจากแซ่หรือโคตรวงศ์โบราณ แต่ปัจจุบัน คำว่า แซ่ กับ สี เป็นไวพจน์ (Synonym) มีความหมายเหมือนกัน ใช้แทนกันได้
คนจีนเริ่มใช้แซ่ ใช้สี เมื่อไรไม่ทราบชัด แซ่-สี ของบุคคลในยุคตำนาน เช่น เหยียนตี้ หวงตี้ เหยาตี้ ซุ่นตี้ นั้น ในหนังสือยุคชุนชิว-จั้นกั๋วของราชวงศ์โจวตะวันออก ห่างจากยุคสมัยของคนเหล่านั้นมานานนับพันปี จึงมีความน่าเชื่อถือในระดับหนึ่งเท่านั้น หลักฐานเรื่องแซ่และสีเริ่มมีปรากฏในจารึกกระดูกกระดองราชวงศ์ซาง และปรากฏชัดขึ้นในวรรณกรรมยุคราชวงศ์โจวเป็นต้นมา
เช่น สมัยราชวงศ์โจวตะวันตก แซ่กี ของราชวงศ์โจวเป็นแซ่ใหญ่เก่าแก่ กษัตริย์ของราชวงศ์โจว เป็นกุลทายาทสืบมหาสาขาของแซ่กี พระบรมวงศานุวงศ์องค์อื่นๆ แยกกันไปตั้งสีใหม่เป็นอนุสาขาของแซ่กี ได้แก่ ฉั่ว, อ๋วย, แต้, ฮ้อ ฯลฯ
ยุคชุนชิว-จั้นกั๋วถึงราชวงศ์ฉินเป็นช่วงที่แซ่-สีเปลี่ยนแปลงใหญ่ เปลี่ยนผ่านไปสู่แซ่แบบใหม่ แพร่หลายไปทั่วประเทศ เป็นต้นแบบของแซ่ปัจจุบัน ในยุคราชวงศ์ฮั่น สาเหตุสำคัญเกิดจากความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและชนชั้น ผู้คนมากขึ้น สังคมขยายตัว วัฒนธรรมประเพณีเปลี่ยนไป แซ่-สีก็เปลี่ยนไปด้วย
ลักษณะความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือแซ่แบบเก่าลดหดหาย สีกลายพันธุ์ไปเป็นแซ่แบบใหม่ แซ่เก่าที่ยังเหลือน้อยมากก็เปลี่ยนลักษณะไปเป็นแซ่แบบใหม่ด้วย จึงกล่าวได้แซ่-สีแบบเก่ารวมกันกลายเป็นแซ่แบบใหม่ ใช้เป็นทางการแพร่กระจายไปทั่วประเทศ
สำหรับ “ที่มาของแซ่” ที่ใช้กันมาตั้งแต่ราชวงศ์ฮั่นถึงปัจจุบัน มีที่มาจากสียุคราชวงศ์โจวแทบทั้งสิ้น มาจากแซ่โบราณน้อยมาก พอสรุปเป็นประเภทได้ดังนี้
1. มาจากชื่อแคว้นและชื่อราชวงศ์ ส่วนมากเป็นชื่อแคว้นยุคราชวงศ์โจว เช่น ทั้ง, ง้อ, เห่, ซาง, จิว, แต้, ฉั่ว, โค้ว, อึ๊ง, เอี้ย, เซียว, เอี้ย, เจ้า, ฮั้ง ฯลฯ
2. มาจากชื่อเมือง ชื่อเขตศักดินา เขตปกครอง (ส่วนมากเป็นชื่อเขตศักดินา/เขตปกครองของขุนนาง) เช่น แซ่คู (ภาษาจีนกลางว่า แซ่ชิว) มาจากชื่อเมืองอิ๋งชิว เมืองหลวงของแคว้นฉี ส่วนแซ่อื่นก็มี เบ๊, อั่ง, ลิ่ว,โจว, เล้า, ฮ้วม, โล้ว, เจี่ย ฯลฯ
3. มาจากชื่อตัว ชื่อรอง สมัญญาของบรรพบุรุษ แซ่ประเภทนี้มีมากกว่า 500 แซ่ เช่น แซ่บู๊-ของพระนางบูเช็กเทียน มาจากสมัญญานามของ บรรพบุรุษ “ซ่งบู๊ก๋ง” และแซ่อื่นๆ เช่น เตีย, ปึง, กอ, เล้ง, บุ๋น, มก, ฯลฯ
4. มาจากชื่อยศศักดิ์ หรือตำแหน่งของบรรพบุรุษ เช่น ยุคราชวงศ์โจวลูกกษัตริย์ถ้าไม่ใช่ชื่อแคว้นเป็นสีมีสิทธิ์ใช้คำว่า “ลูกเธอ-หวางจื่อ, หลานเธอ-หวางซุน” สีกลายเป็นแซ่เฮ้ง (แซ่หวาง ในภาษาจีนกลาง), สมุหกลาโหม แซ่ซีทู้, ศึกษาธิการ-ซีคง, โยธาธิการ-หลี ฯลฯ
5. มาจากถิ่นที่อยู่ เช่น ก๊วย-นอกกำแพง, จุ้ย-น้ำ ชายน้ำ, ไซมึ้ง-ประตูตะวันตก, จูกัด- ของขงเบ้ง เดิมพวกนี้แซ่กัด เนื่องจากอพยพมาจากเมืองจู ผู้คนจึงเรียกว่าพวกจูกัด หมายถึงพวกแซ่กัด จาเมืองจู ในที่สุดก้กลายเป็นแซ่จูกัด
6. มาจากอาชีพ เช่น เท้า-ช่างปั้น, บู- หมอ, ผก-หมอดู
7. มาจากคำบอกลำดับ ที่นิยมนำมาเป็นแซ่ คือ คำบอกลำดับตามระบบกานจือ และบอกลำดับพี่น้อง กานจือ-คำบอกลำดับในการนับวันเดือนปี (ไทยเรียก “แม่มื้อ-ลูกมื้อ”) เช่น แซ่กะ, อี, เต็ง ส่วนคำบอกลำดับพี่น้อง เช่น คนโต-เม่ง เป็นแซ่เม่ง ของเม่งจื๊อ ปรัชญาเมธีของจีน
8. มาจากแซ่โบราณของจีน ส่วนมากจะมีอักษรหญิง (女) เช่น 姚-เอี้ยว, 姜-เกียง, 姬-กี ฯลฯ
จากที่มาของแซ่ข้างต้นนี้ ประมาณว่าทั่วประเทศจีนมีแซ่ต่างๆ อยู่ประมาณ 10,000 กว่าแซ่ เป็นแซ่ของชาวฮั่น 8,000 กว่าแซ่ แซ่ของชนชาติส่วนน้อย 2,000 กว่าแซ่ แซ่ส่วนมากมีพยางค์เดียว แซ่ 2 พยางค์มีไม่มาก แซ่เกิน 2 พยางค์ขึ้นไปมักเป็นแซ่ของชนชาติส่วนน้อยของจีน เช่น แซ่เย่เหอนาลา ของพระนางซูสีไทเฮา ซึ่งเป็นชาวแมนจู
ปกติคนจีนจะไม่เปลี่ยนแซ่ เว้นแต่มีความจำเป็น เช่น การถูกตามล่าจากศัตรู ก็ต้องเปลี่ยนแซ่อำพรางตัว, แซ่ที่ใช้อยู่พ้องเสียง หรือพ้องอักษรกับพระนามของฮ่องเต้ ฯลฯ
ปัจจุบันแซ่ 10 อันดับแรกที่มีคนมากที่สุด ได้แก่ 1. ลี้ 2. เฮ้ง 3. เตีย 4. เล้า 5.ตั้ง 6. เอี้ย 7. เตี๋ย 8. อึ๊ง 9. จิว 10. โง้ว ส่วนในเมืองไทย 10 แซ่ใหญ่ได้แก่ ตั้ง, ลิ้ม, หลี, อึ๊ง, โง้ว, โค้ว, เตีย, แต้, เล้า และเฮ้ง ตามลำดับ ซึ่งในช่วง 10 ปีมานี้ อาจมีสลับกันขึ้นลงบ้างในลำดับที่ใกล้ๆ กัน เช่น ลำดับที่ 1 เลื่อนลงเป็น 2 หรือ 3
แล้ว แซ่ ของจีน ต่างกับส่วน นามสกุล ของไทยอย่างไร
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มและตราเป็นพระราชบัญญัติเมื่อ พ.ศ. 2456 นั้น ทรงมีพระบรมราชาธิบายไว้ในปกิณกคดีเรื่อง “เปรียบเทียบนามสกุลกับ ชื่อแซ่” ว่าต่างกับแซ่ของจีน “แซ่ของจีนนั้นตรงกับ ‘แคลน’ ของพวกสก็อตคือเป็นคณะหรือพวก หรือจะเทียบทางวัดๆ ก็คล้ายกับสํานัก (เช่น ที่เราได้ยินเขากล่าวๆ กันอยู่บ่อยๆ ว่าคนนั้นเป็นสํานักวัดบวรนิเวศ.คนนี้เป็นสํานักวัดโสมนัสดังนี้เป็นตัวอย่าง)
ส่วนสกุลนั้น ตรงกับคําอังกฤษว่า ‘แฟมิลี่’ ข้อผิดกันอันสําคัญในระหว่างแซ่กับ สกุลนั้นก็คือ ผู้ร่วมแซ่ไม่ได้เป็นสายโลหิตกันก็ได้ แต่ส่วนผู้ร่วมสกุลนั้น ถ้าไม่ได้เป็นสายโลหิตต่อกันโดยแท้แล้วก็ร่วมสกุลกันไม่ได้ นอกจากที่จะรับเป็นบุตรบุญธรรมเป็นพิเศษเท่านั้น”
ทว่าในความเป็นจริง ขุนนางที่ไม่ถือยศศักดิ์บางตระกูลก็ย่อมให้พวกพ้องที่ไม่ใช่ญาติใช้นามสกุลร่วมด้วย ยิ่งในชาวบ้านทั่วไปคนในหมู่บ้านเดียวกันมักใช้นามสกุลเดียวกันตามผู้ใหญ่บ้าน นามสกุลไทยจึงมีลักษณะของ ‘แคลน’ เหมือนของจีนอยู่ไม่น้อย
อ่านเพิ่มเติม :
- แซ่-ระบบตระกูลแซ่ สิ่งที่ทำให้โลก มีแต่ “จีนโพ้นทะเล”
- แซ่ฉั่ว (ไช่) หนึ่งในตระกูลใหญ่และเก่าแก่ของจีน
- ตำนานแซ่คนจีน แนวเหยียนตี้-หวงตี้คือพี่น้องกัน แตกสาขาแล้วเป็นแซ่ของลิโป้-ทักษิณ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
ข้อมูลจาก :
ถาวร สิกขโกศล. ชื่อ แซ่ และระบบตระกูลแซ่, สำนักพิมพ์มติชน สิงหาคม 2559
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 พฤษภาคม 2563