ตำนานแซ่คนจีน แนวเหยียนตี้-หวงตี้คือพี่น้องกัน แตกสาขาแล้วเป็นแซ่ของลิโป้-ทักษิณ

ภาพประกอบเนื้อหา - นักท่องเที่ยว ที่กำแพงเมืองจีน

การบ่งชี้ตัวตนบุคคลในยุคปัจจุบันมีหลายเครื่องมือที่ทำได้ แต่สิ่งบ่งชี้แบบเก่าแก่อีกอย่างหนึ่งย่อมมี “ชื่อแซ่” หากเอ่ยถึงคำว่า “แซ่” แทบทุกคนคงนึกถึงระบบการนับแบบจีน

ในแง่หนึ่ง แซ่ เป็นเครื่องมือสำคัญไม่ใช่ในทางประชากรศาสตร์ หากแต่ยังมีนัยในทางวัฒนธรรมและการเมืองการปกครอง ถาวร สิกขโกศล นักเขียนผู้ศึกษาเรื่องจีนเขียนเรื่องนี้ไว้ในบทความ “แซ่ : จากวงศ์ตระกูลสู่ประเทศชาติ” แบ่งออกเป็นหลายตอน ในตอนที่ (3) เผยแพร่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมกราคม 2558 เนื้อหาปรากฏคำอธิบายในแง่ตำนานเชื่อมโยงแซ่ต่างๆ ในจีนว่า “เป็นลูกหลานเหยียน-หวง” และต่อยอดมาสู่แซ่ที่หลากหลาย รวมไปถึงแซ่ที่ลิโป้, ชวน หลีกภัย, ทักษิณ ชินวัตร, ตระกูลเจียรวนนท์ และบุคคลมีชื่อเสียงหลายคนใช้

เนื้อหาใจความส่วนหนึ่งมีดังนี้


 

…แซ่และระบบตระกูลแซ่เป็นเครื่องมือสำคัญประการหนึ่งในการรวมชนชาติจีน จากคนต่างแซ่ต่างพวกผสมกลมกลืนกันกลายเป็นคนจีน สร้างตำนานเชื่อมโยงแซ่ทั้งหลายว่าล้วนเป็น “ลูกหลานเหยียน-หวง (炎黄子孫 )” ทำให้เกิดความผูกพันกันว่าเป็น “เพื่อนร่วมชาติ ญาติร่วมบรรพชน” ทั้งยังได้สร้างระบบตระกูลแซ่ (宗族制度 ) ปกครองคนในวงศ์ตระกูล ประสานกับอำนาจรัฐ ซึ่งส่งผ่านมาทางตระกูลแซ่ เชื่อมร้อยคนจีนเข้าด้วยกัน และประสานสัมพันธ์กับอำนาจรัฐอย่างกลมกลืนมั่นคงตลอดมา

ความเชื่อพื้นฐานที่เคยฝังใจคนจีนตลอดมาคือ “แซ่เดียวกันเป็นญาติกัน ต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน” ถึงต่างแซ่ก็เป็น “ลูกหลานเหยียน-หวง” ด้วยกัน ความเชื่อนี้เป็นสำนึกพื้นฐานที่ทำให้คนจีนมีพลังสามัคคีกันสูงมาก จน ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเขียนไว้ว่า “รวมกันง่ายไม่ใช่แขก แตกกันง่ายไม่ใช่เจ๊ก”

แม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว แซ่ของจีนมีลักษณะเป็น Clan แซ่เดียวกัน มีคนต่างเชื้อสาย หลายพวกมารวมกัน ทั้งยังมีความแปรเปลี่ยนของแซ่อีกมากมาย แต่แซ่ก็ทำให้คนต่างเชื้อสายผูกพันเป็นพวกเดียวกัน กลายเป็นชนชาติที่มีพลังสามัคคีและความผูกพันต่อชาติของตนสูงยิ่ง

คนจีนเกิดจากการผสมผสานของคนหลายโคตรตระกูลหลายแซ่หลายเผ่าพัฒนาเป็นรัฐสหพันธ์เผ่า (Chiefdom) และรัฐอาณาจักร (Kingdom) ตามลำดับ ชนเผ่า (Tribe) ผสมกลมกลืนกลายเป็นชนชาติ (Nation) ในยุคชุนชิวคนจีนแคว้นต่างๆ แถบลุ่มแม่น้ำฮวงโห (黄河 ) เรียกตัวเองว่า “หัวเซี่ย (华夏 )” ผ่านการผสมกลมกลืนกับชนต่างเผ่ารายรอบอีกในยุคชุนชิว-จั้นกั๋วและราชวงศ์ฉินกลายเป็น “ชาวฮั่น (汉人 ) ในยุคราชวงศ์ฮั่น ถึงยุคราชวงศ์ถัง ชนต่างเผ่าทางภาคใต้ถูกกลืนกลายเป็นจีนที่พูดภาษาถิ่นต่างๆ เช่น จีนกวางตุ้ง แคะ (ฮักกา) ฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว ไหหลำ จีนพวกนี้จึงเรียกตัวเองว่า “ชาวถัง (唐人 )” ซึ่งเสียงจีนแต้จิ๋วพื้นบ้านว่า “ตึ้งนั้ง” อย่างที่คนไทยคุ้นเคย

กล่าวได้ว่าชนเผ่าต่างๆ รวมกันเป็นคนจีน มีชื่อเรียกร่วมกันเป็นทางการครั้งแรกว่า “หัวเซี่ย” ในยุคราชวงศ์โจว ชัดเจนในยุคชุนชิว

แซ่กับการรวมญาติชนชาติอื่น

ถึงปลายยุคจั้นกั๋วมีผู้เรียบเรียง “วงศาวลีกษัตริย์ (帝系 ) โบราณ” ขึ้น เอาประมุขยุคโบราณคนสำคัญทั้งหมดตั้งแต่หวงตี้เป็นต้นมากับบรรพชนของราชวงศ์เซี่ย ซาง โจว และแคว้นฉินกับแคว้นฉู่มาโยงรวมเป็นวงศ์เดียวกัน

เริ่มจากหวงตี้มีลูกหลานแตกสาขาไปเป็นประมุขยุคโบราณ คือ จวนซีว์ ตี้คู เหยาตี้ ซุ่นตี้ และต้นตระกูลของราชวงศ์เซี่ย ซาง โจว แคว้นฉินกับแคว้นฉู่สองมหาอำนาจในยุคนั้น แสดงถึงความนึกคิดยอมรับการรวมชนเผ่าต่างๆ ในอดีตว่าเป็นพวกเดียวกันภายใต้วัฒนธรรมหัวเซี่ย ปลูกฝังสำนึกร่วมเป็นชนชาติเดียวกันควรที่จะรวมกันเป็นเอกภาพ วรรณกรรมสำคัญยุคนี้อีกหลายเล่ม เช่น ต้าไต้หลี่จี้ (อธิบายจารีตฉบับต้าไต้) ก็เสนอความคิดนี้

ต่อมาในยุคราชวงศ์ฮั่น พงศาวดารฮั่นซูได้จัดสายวงศ์กษัตริย์โบราณสืบต่อถึงราชวงศ์ฮั่นเป็นระบบลงตัว คือ ไท่เหาฝูซี กงก้ง เหยียนตี้ หวงตี้ เส้าเหา จวนซีว์ ตี้คู ตี้จื๋อ เหยาตี้ ซุ่นตี้ ต้าอี่ว์ (ต้นราชวงศ์เซี่ย) ซางทาง (ต้นราชวงศ์ซาง) โจวเหวินหวาง โจวอู่หวาง (ต้นราชวงศ์โจว) ฉินป๋อ (ต้นตระกูลราชวงศ์ฉิน) และฮั่นเกาจู่ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเหยาตี้ บุรพกษัตริย์และราชวงศ์เหล่านี้มีความสัมพันธ์ทางเชื้อสายโยงเป็นเครือวงศ์เดียวกัน แต่เปลี่ยนสายสืบอำนาจเป็นราชวงศ์เซี่ย ซาง โจว ฉิน และฮั่นต่อกันมา

ความจริงประมุขในยุคตำนานปรัมปราข้างต้นมาจากหลายเผ่า เช่น ซุ่นตี้กับซางทางมีเชื้อสายเผ่าตงอี๋ทางชายทะเลตะวันออก ราชวงศ์ฉินมีเชื้อสายเผ่าซี่หรงทางตะวันตก แคว้นฉู่เป็นพวกเผ่าจิงหมานทางใต้ ซึ่งพวกราชวงศ์โจวเคยรังเกียจว่าเป็นอนารยชน แต่เมื่อชนเผ่าต่างๆ รวมกันเป็นเผ่าหัวเซี่ยซึ่งเริ่มมีเค้าตั้งแต่ราชวงศ์เซี่ย ชัดเจนในราชวงศ์โจว สมบูรณ์ในยุคชุนชิวและจั้นกั๋ว บุคคลในตำนานจากต่างพวกต่างเผ่าจึงถูกนำมาโยงรวมเป็นวงศ์เดียวกัน ล้วนเป็นลูกหลานหวงตี้ ส่วนเหยียนตี้เป็นอีกเผ่าหนึ่ง แต่ต่อมารบแพ้ถูกรวมกับเผ่าหวงตี้

ตำนานที่แต่งเติมในยุคหลังอย่างช้าไม่เกินต้นราชวงศ์ฮั่นจึงกล่าวว่าเหยียนตี้กับหวงตี้เป็นพี่น้องกัน เป็นบุตรของเส้าเตียน หัวหน้าชนเผ่ายุคโบราณ แต่ต่างมารดากันและคงเป็นหญิงคนละเผ่าจึงเกิดคนละที่กัน หวงตี้เกิดและปกครองชนเผ่าของตนอยู่ที่แม่น้ำจีจึงเป็นต้นแซ่จี เหยียนตี้อยู่ที่แม่น้ำเจียงจึงเป็นต้นแซ่เจียง ต่อมาลูกหลานสายหนึ่งแพร่กระจายไปเป็นชนเผ่าแถบลุ่มแม่น้ำแยงซี

แซ่จี แซ่เจียง และแซ่อื่นๆ ของประมุขยุคตำนานปรัมปราได้แตกสาขาไปเป็นสื้อต่างๆ แล้วกลายเป็นแซ่ใช้สืบต่อกันมาจนปัจจุบัน ดังตัวอย่าง

แซ่เจียง (เกียง) ของเหยียนตี้ แตกสาขาเป็นแซ่สี่ว์ (โค้ว) เกา (กอ) ไฉ (ช้า) ติง (เต็ง) เยว์ (งัก) หง (อั๊ง) ฉี (ชี้) หลี่ว์ (ลื่อ ลิ แซ่ของลิโป้ในเรื่องสามก๊กและแซ่ของ ชวน หลีกภัย) ชิว (คู แซ่ของ ทักษิณ ชินวัตร) เซี่ย (เจี่ย แซ่ของตระกูลเจียรวนนท์)

แซ่จี (กี) ของหวงตี้สายโฮ่วจี้ต้นตระกูลของราชวงศ์โจวแยกสาขาเป็นแซ่ต่างๆ มาก เช่น แซ่หวาง (เฮ้ง) ไช่ (ฉั่ว) อู๋ (โง้ว) โจว (จิว) เหมา (ม้อ แซ่ของเหมาเจ๋อตง) เจิ้ง (แต้ แซ่ของพระเจ้าตาก ตระกูลเตชะไพบูลย์ และ “เตชะ” ทั้งหลาย) กัว (ก๊วย) หาน (ฮั้ง, ฮั่น) ฟาง (ปึง) เสิ่น (ซิ่ม, ซิ้ม) จิ้น (จิ่ง) เจ้า (เตี๋ย)

จวนซีว์ ประมุขในยุคโบราณคนหนึ่ง ตามตำนานว่าเป็นหลานปู่ของหวงตี้ ใช้แซ่จีเหมือนกัน มีทายาทสืบสาขาไปเป็นแซ่ต่างๆ ไม่น้อย ที่สำคัญได้แก่ แซ่หมี่ (มี่) ของแคว้นฉู่ แยกเป็นแซ่ย่อยอีกหลายแซ่ เช่น แซ่อู่ (โง่ว แซ่ของตระกูลล่ำซำ) แซ่ชีว์ (คุก) แซ่เย่ (เอี๊ยม) ไป๋ (แป๊ะ) เปา (เปา) สายต่อไปคือแซ่จี่ (กี่) แยกสาขาเป็นแซ่กู้ (กู้) เลี่ยว (เหลี่ยว) ซู (โซว) และแซ่อื่นๆ อีก สายที่ 3 แซ่เฉา (เช้า, โจ) แยกสาขาเป็นแซ่จู (จู) เหยียน (ง้วน) ยังมีสายอื่นแซ่อื่นอีกที่เป็นเชื้อสายของจวนซีว์ เช่น แซ่เฉิง (เที้ย) เผิง (แพ)

เนื่องจากหวงตี้เป็นประมุขผู้ยิ่งใหญ่ในยุคตำนานจึงถูกเชื่อมโยงให้เป็นต้นวงศ์ของแซ่ใหญ่ในยุคโบราณอีก 3 แซ่ คือ แซ่ซื่อ (姒 ) ของกษัตริย์ราชวงศ์เซี่ย แซ่จือ (子) ของราชวงศ์ซาง และแซ่อิ๋ง (嬴 ) ของราชวงศ์ฉิน

แซ่ซื่อ (สือ) ของราชวงศ์เซี่ย แยกเป็นสื้อหรือแซ่ในยุคหลังอีกมาก เช่น แซ่เซี่ย (แห่) ถาน (ท้ำ) ซิน (ซิง) เซี่ยหัว (แฮหัว) โอวหยาง (อาวเอี๊ยง) ซือคง (ซีคง) โกวเจี้ยนประมุขแคว้นเย่ว์ในยุคชุนชิวก็โยงว่าตนสืบเชื้อสายมาจากต้าอี่ว์ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์เซี่ย ความจริงแล้วคนแคว้นนี้เป็นชนเผ่าเย่ว์บรรพชนดั้งเดิมของคนที่พูดภาษาไท-กะได เชื้อสายที่กลายเป็นจีนไปส่วนหนึ่งใช้แซ่เย่ว์ (อ๊วก) ตามชื่อแคว้นในอดีต

แซ่จื่อ (จื้อ) ของราชวงศ์ซาง แยกสาขาเป็นแซ่สำคัญในยุคหลังอีกมาก เช่น แซ่หลิน (ลิ้ม) ซาง (เซียง) ทาง (ทึง) เหมย (บ๊วย) และแซ่ซ่ง (ส่ง) ซึ่งภายหลังแยกเป็นแซ่ย่อยลงไปอีกนับสิบแซ่ที่สำคัญได้แก่ แซ่ข่ง (ขง) ของขงจื๊อ เซียว (แซ่ของ ส. ศิวรักษ์) อู่ (บู๊) หัว (ฮั้ว) มู่ (มก) เล่อ (ลัก) หนิว (งู้) ฯลฯ

เหยาตี้นั้น ตามวงศาวลีกษัตริย์ (帝系) โบราณ ว่าเป็นเชื้อสายหวงตี้สายตี้คู มีทายาทสืบไปเป็นแซ่ต่างๆ ที่สำคัญไม่น้อย เช่น แซ่หลิว (เล้า) ของราชวงศ์ฮั่น ตู้ (โต๋ว) ถัง (ทั้ง, ถัง) เถา (เท้า) ฯลฯ

ส่วนซุ่นตี้ก็ถูกโยงเข้ามาว่าเป็นอนุชนรุ่นที่ 8 ของหวงตี้ทางสายจวนซีว์ ซุ่นตี้ใช้แซ่เหยา ( เอี้ยว) ตามที่เกิด ลูกชายเกิดที่แม่น้ำกุย จึงใช้แซ่กุย ( กุ่ย) ซึ่งต่อมาแยกเป็นแซ่ย่อยอีกมาก เช่น แซ่โหว (โฮ้ว) หู (โอ๊ว) หราว (เยี้ยว) เฉิน (ตั้ง) ซึ่งต่อมาแยกเป็นแซ่ย่อยอีก 2 แซ่ คือ แซ่เถียน (ชั่น) กับแซ่หยวน (อ๊วง) แซ่เถียนยังแยกย่อยเป็นแซ่เชอ (เชีย) กับแซ่ลู่ (เล็ก)

แซ่ใหญ่ของจีนล้วนสืบเชื้อสายมาจากเครือวงศ์ของหวงตี้ หรือไม่ก็เหยียนตี้ แซ่หลี่ (หลี) หวง (อึ๊ง) มาจากแซ่อิ๋งของราชวงศ์ฉิน แซ่จาง (เตีย) สายหลัก ต้นวงศ์เป็นบุตรคนที่ 5 ของเส้าเหา แซ่หลิว (เล้า) มาจากเหยาตี้ แซ่ไช่ (ฉั่ว) และหวาง (เฮ้ง) สายหลักมาจากหวงตี้สายราชวงศ์โจว แซ่เฉิน (ตั้ง) มาจากซุ่นตี้ แซ่หลิน (ลิ้ม) และแซ่ข่ง (ขง) มาจากแซ่จื่อของราชวงศ์ซาง เหล่านี้เป็นต้น

การเกิดขึ้นของชนชาติจีนมีความสัมพันธ์กับแซ่และระบบตระกูลแซ่มาก คนโบราณอยู่รวมกันตามโคตรตระกูลแล้วรวมกันเป็นเผ่า สหพันธ์เผ่า ตามลำดับ จนกลายเป็นชนชาติที่มาจากหลายแซ่หลายกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ถูกเชื่อมร้อยด้วยตำนานของแซ่ ว่าล้วนสืบเชื้อสายมาจากหวงตี้และเหยียนตี้ซึ่งเป็นพี่น้องต่างมารดากัน ตั้งแต่ราชวงศ์ฮั่นเป็นต้นมาคนจีนทุกแซ่ทุกคนถือว่าตนเป็น “ลูกหลานเหยียน-หวง (炎黄子孫 )” เกิดความผูกพันเป็นพวกเดียวกันสูงมาก ยากที่จะแบ่งแยกได้ ดำเนินชีวิตตามวัฒนธรรมหัวเซี่ย มีความผูกพันกันสูงทั้งในฐานะเพื่อนร่วมชาติและญาติร่วมบรรพชน

ตั้งแต่นั้นมาวัฒนธรรมแซ่ก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือสำคัญบูรณาการชนต่างเผ่าต่างพวกให้กลายเป็นจีน

วิธีแรก คือ การยอมให้คนต่างเผ่าเข้ามาใช้แซ่ร่วมกับตน เมื่อจีนฮั่นขยายอำนาจไปยึดดินแดนและปกครองชนต่างเผ่า มักเปิดโอกาสให้ใช้แซ่ของคนจีนผู้ไปปกครอง ทำให้มีคนแซ่นั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

กรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เมื่อหลินลู่ (ลิ้มลก) ขุนนางราชวงศ์จิ้นไปปกครองเมืองฝูโจว มณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) ชนพื้นเมืองแถบนั้นยอมเข้ามาเป็นสมาชิกแซ่ลิ้มกันมาก และเมื่อเฉินเจิ้ง (ตั้งเจ่ง) กับเฉินหยวนกวง (ตั้งง่วนกวง) ยกทัพไปปราบชนเผ่าลาวและหลีในจางโจวและแต้จิ๋ว (เฉาโจว) คนแซ่ตั้งจากจงหยวนที่ไปกับกองทัพตั้งรกรากอยู่ในสองเมืองนี้มาก คนพื้นเมืองก็ยอมมาเข้าสังกัดเป็นสมาชิกแซ่ตั้ง จนแซ่ตั้งเป็นแซ่ใหญ่ที่สุดในสองเมืองนี้ มีมากที่สุดในมณฑลกวางตุ้ง แซ่ลิ้มมีมากที่สุดในมณฑลฮกเกี้ยนหรือฝูเจี้ยน สาเหตุสำคัญคือ ชนพื้นเมืองถูกทำให้กลายเป็นจีนด้วยการเข้ามาเป็นสมาชิกของสองแซ่นี้

วิธีที่ 2 คือ การเปลี่ยนแซ่จากแซ่ของคนต่างเผ่ามาเป็นแซ่ของจีน ส่วนมากจะเลือกแซ่ของจีนที่สำเนียงใกล้กับแซ่เดิมของตน กระบวนการนี้เกิดหลังจากชนเหล่านั้นรับอารยธรรมจีนไปมากแล้ว เกิดความนิยมจีน ต้องการเป็นคนจีนอย่างสมบูรณ์จึงทิ้งแซ่เดิมของตนมาใช้แซ่ของคนจีน การเปลี่ยนแซ่ลักษณะนี้เกิดมากในยุคราชวงศ์เหนือ-ใต้ (พ.ศ. 850-1132) ซึ่งอนารยชนทางเหนือเข้ามาผสมกลมกลืนกลายเป็นคนจีนมากที่สุดยุคหนึ่ง

การใช้แซ่อย่างคนจีนของชนต่างเผ่าจึงเป็นกระบวนการทำให้เป็นจีนที่สำคัญยิ่ง และเมื่อกลายเป็นจีนหรือเป็นคนจีนอยู่แล้ว วัฒนธรรมแซ่ตามระบบตระกูลแซ่เป็นเครื่องร้อยรัดคนเหล่านี้ให้คงความเป็นจีนไว้อย่างเหนียวแน่น สร้างความผูกพันกับวงศ์ตระกูลและประเทศชาติได้มั่นคงที่สุด…


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2564

หมายเหตุ: คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความเดิมในนิตยสารชื่อ “แซ่ : จากวงศ์ตระกูลสู่ประเทศชาติ (๓)” โดย ถาวร สิกขโกศล ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมกราคม 2558