ชาวจีนอพยพใหม่ เหมือน-แตกต่าง จากชาวจีนโพ้นทะเลอย่างไร?

ชุมชนคนจีนในจังหวัดอุทัยธานี ภาพจากนายสุรพล อัศววิรุฬหการ (สมุดภาพจังหวัดอุทัยธานี สนพ.ต้นฉบับ)

ชาวจีนอพยพมาประเทศไทย ตั้งแต่สมัยอยุธยา ซึ่งส่วนใหญ่อพยพมาจาก 3 มณฑลชายทะเล คือ กวางตุ้ง, ไหหลำ และฮกเกี้ยน ด้วยเหตุผลเรื่องภัยธรรมชาติ, ปัญหาการเมือง ฯลฯ แต่วันนี้ที่จีนเป็นหนึ่งในมหาอำนาจของโลก ชาวจีนก็ยัง “อพยพ” ออกนอกประเทศ แต่วันนี้กลับไม่เรียกว่า “ชาวจีนโพ้นทะเล” นักเดินทางจีนรุ่นใหม่เหล่านี้ แวดวงวิชาการเรียกพวกเขาว่า “ชาวจีนอพยพใหม่”  

ชาวจีนอพยพใหม่มาจากที่ไหน, ต่าง-เหมือนกับชาวจีนอพยพเก่า หรือชาวจีนโพ้นทะเลอย่างไร อาจารย์วรศักดิ์ มหัทธโนบล อธิบายเรื่องนี้ไว้ในบทความชื่อ “จากจีนโพ้นทะเลถึงชาวจีนอพยพใหม่” (หนังสือ “สังคมจีนในประเทศไทย: ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์” ฉบับปรับปรุงใหม่, สนพ.มติชน เมษายน พ.ศ. 2564) ซึ่งขอนำบางส่วนมาเสนอดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ)


 

สกินเนอร์จะรู้หรือไม่ ตราบจนวันที่เขาสิ้นลมในปี ค.ศ. 2008 (พ.ศ.2551) นั้น ได้มีชาวจีนกลุ่มใหม่เข้ามาพำนักในไทยอยู่ไม่น้อยแล้ว ชาวจีนเหล่านี้มีความแตกต่างไปจากชาวจีนโพ้นทะเลที่สกินเนอร์เคยรู้จัก ที่สำคัญ ชาวจีนกลุ่มใหม่เหล่านี้ไม่ได้อพยพเข้ามาเฉพาะในประเทศไทย หากยังอพยพไปทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่ในแอฟริกา อีกทั้งยังมิใช่ชาวจีนที่มีภูมิลำเนาอยู่ที่ 3 มณฑลหลัก [มณฑลกวางตุ้ง, ไหหลำ และฮกเกี้ยน] ดังกล่าวข้างต้น

หากแต่มาจากหลายมณฑลทั่วประเทศจีน จากเหตุนี้ การศึกษาเรื่องของชาวจีนเหล่านี้จึงเกิดขึ้นในหลายประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ในจีนแผ่นดินใหญ่ และทำให้เกิดคำเรียกขานชาวจีนกลุ่มใหม่นี้แตกต่างกันไปในแต่ละสำนัก แต่คำเรียกที่แตกต่างกันนี้กลับมีจุดร่วมอยู่ประการหนึ่งคือ การเรียกที่สื่อให้รู้ว่า ชาวจีนเหล่านี้ มิใช่ชาวจีนโพ้นทะเลที่เราหรือสกินเนอร์เคยรู้จัก และคำเรียกหนึ่งที่ใช้กันมากก็คือ คำว่า ชาวจีนอพยพใหม่ (ซินอี้หมิน)

ชาวจีนอพยพใหม่เริ่มอพยพมายังไทยและประเทศอื่นหลังจากจีนเปิดประเทศ ในปี ค.ศ. 1978 (พ.ศ. 2521) ได้ไม่นาน หลังจากนั้นก็อพยพออกมาไม่ขาดสาย แต่กระนั้น เราก็แบ่งการอพยพของชาวจีนเหล่านี้ได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ

กลุ่มแรก อพยพหลังจีนเปิดประเทศไม่นานไปจนสิ้นทศวรรษ 1980 กลุ่มนี้โดยมากจะมีฐานะยากจน เมื่ออพยพไปถึงประเทศหรือดินแดนใดแล้วมักมีอาชีพเป็นแรงงานเข้มข้น แต่ก็ทำให้เห็นถึงการเป็นแรงงานที่หนักเอาเบาสู้ไม่ต่างกับชาวจีนโพ้นทะเล

กลุ่มที่สอง อพยพออกจากจีนตลอดช่วงทศวรรษ 1990 ซึ่งขณะนั้นเศรษฐกิจจีนกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ชาวจีนกลุ่มนี้จึงมีทั้งที่มีฐานะดีและไม่ดี และมีทั้งที่เป็นแรงงานเข้มข้นและแรงงานทักษะ

กลุ่มที่สาม เป็นกลุ่มที่อพยพออกจากจีนนับตั้งแต่ทศวรรษ 2000 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยหลักหมายสำคัญของช่วงนี้จะอยู่ตรงการเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลกของจีนในปี ค.ศ. 2001 (พ.ศ. 2544) และชาวจีนที่อพยพเข้ามามักมีฐานะดี มีการศึกษาสูง และหากเป็นแรงงานก็เป็นแรงงานทักษะสูง ชาวจีนกลุ่มนี้เข้ามาเพื่อทำงานหรือลงทุนในกิจการขนาดเล็กหรือกลางเป็นส่วนใหญ่ เช่น พนักงานประจำบริษัทจีนในไทย เจ้าของร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม เจ้าของโรงแรมหรือที่พักขนาดเล็ก ผู้ประกอบการรายย่อย ครูหรืออาจารย์สอนภาษาจีนในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ตามลำดับ

ควรกล่าวด้วยว่า นับแต่ทศวรรษ 2000 ที่มีชาวจีนกลุ่มที่ 3 อพยพเข้ามานั้น ชาวจีนในกลุ่มที่ 1 และ 2 ยังคงมีเข้ามาเช่นกัน แต่ไม่มากเท่าช่วงแรก โดยที่เมื่อเข้ามาแล้วมักเป็นแรงงานให้กับชาวจีนในกลุ่มที่ 3 ที่ทำธุรกิจขนาดเล็กหรือกลาง หรือเป็นผู้ประกอบการรายย่อยธุรกิจเหล่านี้ บางทีก็มีแรงงานไทยทำอยู่ด้วย สุดแท้แต่ว่าจะเป็นธุรกิจประเภทใด หากเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับจีนโดยตรงก็จะมีแต่แรงงานจีนเท่านั้น เช่น ธุรกิจท่องเที่ยวที่รับแต่นักท่องเที่ยวจีน

แม้จะมาจากหลายมณฑลในประเทศจีน แต่ชาวจีนอพยพใหม่เหล่านี้กลับมิได้ใช้ภาษาถิ่นของตนเองในการสื่อสารดังชาวจีนโพ้นทะเล แต่ใช้ภาษาจีนกลางทั้งในระหว่างกันหรือใช้กับชาวไทยที่รู้ภาษาจีน ที่เป็นเช่นนี้เพราะนับแต่ปี ค.ศ. 1949 (พ.ศ.2492) เรื่อยมาก รัฐบาลมีมติให้ใช้ภาษาจีนกลางเป็นภาษาราชการ การศึกษาในจีนจึงใช้ภาษาจีนกลางในการเรียนการสอน

เหตุดังนั้น เมื่อชาวจีนเหล่านี้มาอยู่ในไทย ภาษาจีนกลางจึงเป็นสื่อหลักในการสื่อสารที่สำคัญนับแต่ทศวรรษ 1990 เรื่อยมาที่ไทยมิได้จำกัดการเรียนการสอนภาษาจีนเพียงแค่ ป. 4 อีกทั้งผู้ที่เรียนภาษาจีนก็ไม่ใช่ชาวไทยเชื้อสายจีนเพียงกลุ่มเดียวอีกต่อไปนั้น การใช้ภาษาจีนกลางในการสื่อสารจึงเป็นไปด้วยดีในการสื่อสารกับชาวไทยที่รู้ภาษาจีนดี

อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้ามาในไทยแล้ว ชาวจีนอพยพใหม่ใช้เวลาในการปรับตัวให้เข้ากับสังคมไทยไม่ต่างกับชาวจีนโพ้นทะเลในอดีต การเลือกไทยเป็นดินแดนปลายทางก็ดี หรือการปรับตัวก็ดี ชาวจีนได้ให้ข้อมูลว่า ไทยเป็นดินแดนที่อยู่ไม่ไกลจากจีนมากนัก สามารถใช้เวลาเดินทางโดยเครื่องบินเพียงไม่กี่ชั่วโมง นอกจากนี้ ไทยยังเป็นดินแดนที่ค่อนข้างเปิดกว้าง ค่าครองชีพก็ไม่สูง อีกทั้งผู้คนยังมีอัธยาศัยที่ดี มีช่องทางหรือโอกาสในการทำมาหากินสูง ฯลฯ ล้วนเป็นแรงจูงใจหลักที่ทำให้ชาวจีนเหล่านี้อพยพเข้ามายังไทย และทำให้ปรับตัวได้เร็วกว่าชาวจีนโพ้นทะเล

เหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้ปรับตัวได้เร็วเป็นเพราะเทคโนโลยีการสื่อสารที่ก้าวหน้าในปัจจุบัน อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงค่านิยมและความคิดความเชื่อของชาวจีนที่มีความทันสมัยมากขึ้น

แม้การประกอบอาชีพของชาวจีนอพยพใหม่โดยส่วนใหญ่จะเป็นไปด้วยดี แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาเสียทีเดียว ปัญหาซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดก็คือ การที่ผู้ลงทุนชาวจีนบางรายว่าจ้างให้ชาวไทยร่วมทุนแทนตนเพื่อเลี่ยงกฎหมายที่จำกัดการลงทุน ในกรณีนี้เกิดกับธุรกิจบางประเภทที่มีกฎหมายกำหนดให้ชาวต่างชาติลงทุนได้ไม่เกิน 49 เปอร์เซ็นต์ หรือการว่าจ้างชาวไทยให้ซื้อบ้านหรือที่ดินแทนตน เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายที่คล้ายกับกรณีแรก คือกฎหมายที่ห้ามชาวต่างชาติถือครองที่ดินหรือบ้าน

แม้จะเห็นได้ว่า การเป็นตัวแทน (nominee) โดยชาวไทยนี้จะไม่เกิดขึ้นหากชาวไทยไม่ร่วมมือด้วย หรือที่เรียกกันว่า “ตบมือข้างเดียวไม่ดัง” และเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายก็จริง แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มีความเสี่ยงปรากฏอยู่ด้วยเช่นกัน เพราะการเป็นตัวแทนหมายถึงการมีชื่อของชาวไทยเป็นเจ้าของธุรกิจ ที่ดิน หรือบ้านในทางนิตินัย

หากวันหนึ่งชาวจีนที่เป็นเจ้าของในทางพฤตินัยเกิดมีปัญหาหรือมีอันเป็นไปขึ้นมา ธุรกิจ ที่ดินหรือบ้านนั้นก็ย่อมเสี่ยงที่จะตกเป็นของชาวไทย อย่างไรก็ตาม การยกประเด็นความเสี่ยงนี้ขึ้นมามิใช่เพื่อปล่อยให้ปัญหานี้ดำรงอยู่ต่อไป หรือเสนอให้ชาวไทยที่เป็นตัวแทน “ยึด” สิ่งดังกล่าวมาเป็นของตน ในที่นี้ยังคงเห็นว่ารัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเข้ามาจัดการตามกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าชาวจีนอพยพใหม่เหล่านี้จะมีอาชีพการงานใดก็ตาม ชาวจีนเหล่านี้ก็มีสิ่งที่เหมือนและต่างไปจากชาวจีนโพ้นทะเลดำรงอยู่ สิ่งที่เหมือนคือ ความขยันขันแข็ง สิ่งที่ต่างคือ การที่มีความคิดความเชื่อที่ไม่ติดยึดกับหลักศาสนา กล่าวอีกอย่างคือ ไม่ใช่ศาสนิกชน การไม่ใช่ศาสนิกชนได้ทำให้ชาวจีนเหล่านี้มีวัฒนธรรมพันทาง คือมีวัฒนธรรมที่มิได้อิงกับลัทธิขงจื่อ ลัทธิเต๋า หรือศาสนาพุทธเป็นหลัก ดังชาวจีนโพ้นทะเลในอดีต

แต่ก็มิใช่วัฒนธรรมสากลหรือตะวันตกดังที่เรารู้จักกัน วัฒนธรรมพันทางนี้ได้เคยสะท้อนผ่านพฤติกรรมเชิงลบของนักท่องเที่ยวจีน จนเป็นเรื่องที่อื้อฉาวทั้งในไทยและทั่วโลก (ในชั้นหลังได้ลดน้อยลงไปมากแล้ว) ประเด็นในที่นี้ก็คือว่า ด้วยวัฒนธรรมพันทางนี้อาจไม่เป็นที่คุ้นเคยในหมู่ชาวไทย และอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในระหว่างที่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันขึ้นได้ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหวดำรงอยู่ และอาจเกิดปัญหาขึ้นได้หากเกิดความไม่เข้าใจกันขึ้นมา

พ้นไปจากปัญหาดังกล่าวแล้ว โดยภาพรวมชาวจีนอพยพใหม่ย่อมถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ไม่เพียงเกิดขึ้นในไทยเท่านั้น หากเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ในการอพยพของมนุษยชาติที่มีอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน และเกิดขึ้นกับแทบทุกชนชาติทุกภาษาของโลกใบนี้

แต่สิ่งที่งานศึกษาเรื่องจีนอพยพใหม่ของผู้เขียนไม่คาดคิดเลยแม้แต่น้อยก็คือ โรคระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ปลายปี ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2563) ไปทั่วโลกนั้น จะได้ทำลายปรากฏการณ์นี้แทบจะสิ้นเชิงโดยเฉพาะในไทย เพราะการระบาดของโรคนี้ได้ทำให้ชาวจีนเดินทางกลับไปยังประเทศของตนแทบจะหมดสิ้น ธุรกิจที่ลงทุนหรือการงานต่างๆ ที่บทความนี้ ได้กล่าวมาต่างล่มสลายในชั่วเวลาไม่กี่เดือนหลังโรคระบาด…การล่มสลายอันเนื่องมาจากโรคระบาดโควิด-19 รุนแรงถึงขั้นที่ชาวจีนต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า มองไม่เห็นอนาคตว่าจะกลับมาใช้ชีวิตในไทยได้อีกหรือไม่ อย่างไร

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 พฤษภาคม 2564