มอรันต์ บัณฑิตจากออกซฟอร์ด “ครูฝรั่ง” ของเจ้าฟ้าวชิรุณหิศ

รอเบิร์ต แอล. มอรันต์ (จากหนังสือ Two Views of Siam on the Eve of the Chakri Reformation)

มอรันต์ บัณฑิตจากออกซฟอร์ดกับงานด้านการศึกษาในสยาม เขาเป็นทั้ง“ครู”ของเจ้าฟ้าวชิรุณหิศ, ผู้ตรวจการโรงเรียนหลวง, ที่ปรึกษา ฯลฯ

การว่าจ้างครูฝรั่ง โดยเฉพาะชาวอังกฤษ เป็นธรรมเนียมที่เริ่มขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์นั้น การว่าจ้างครูฝรั่งก็ยังเป็นธรรมเนียมที่นิยมปฏิบัติกัน เพื่อปูพื้นภาษาอังกฤษให้เหล่าพระโอรสก่อนการเดินทางไปศึกษาต่อในต่างประเทศ

ความนิยมในการว่าจ้างครูฝรั่งไม่เพียงแต่จำกัดอยู่ภายในพระราชสำนักในประเทศเท่านั้น แต่ยังซึมแทรกไปถึงแวดวงราชนิกุลที่พำนักอยู่นอกประเทศด้วย ในปี พ.ศ. 2429/ค.ศ. 1886 หม่อมสุภาพ ซึ่งเป็นชายาของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์ ประกาศว่าจ้างครูฝรั่งให้เดินทางมายังประเทศสยามเพื่อเป็นครูของหม่อมเจ้าทั้งสามในพระองค์ท่าน

คำประกาศนั้นเรียกความสนใจจากรองครูใหญ่ประจำโรงเรียนเทมเปิล โกรฟ ที่เมืองอีสต์ชีน นาม รอเบิร์ต แอล. มอรันต์ นายมอรันต์เป็นบัณฑิตหนุ่มจากออกซฟอร์ด วัย 23 ปี ซึ่งเพิ่งอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับทวีปเอเชียจากหนังสือชื่อ The Light of Asia จบหมาดๆ และรู้สึกตื่นเต้นกับโอกาสที่จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับความเป็นเอเชียเพิ่มเติม เขาจึงเขียนจดหมายสมัครงานส่งไปยัง นายเฟรเดอริก ดับเบิลยู. เวอร์นีย์ ซึ่งเป็นเลขานุการของสถานทูตสยามในกรุงลอนดอน และเป็นหลานของนางพยาบาลชื่อ “ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล” ที่โลกรู้จักกันในสมญานามว่า “สุภาพสตรีแห่งดวงประทีป”

ภาพไปรษณียบัตรรูป “ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล”

นายมอรันต์เป็นหนึ่งในผู้สมัครจำนวน 6-7 คน เขาได้รับเชิญให้ไปพบและสัมภาษณ์กับทั้งนายเวอร์นีย์และฟลอเรนซ์ก่อนที่จะได้รับข้อเสนอสำหรับตำแหน่งดังกล่าว เธอฝากข้อคิดเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับหนุ่มน้อยมอรันต์ไปยังเพื่อนที่บอกข่าวแก่เขาว่า

 คุณมอรันต์เป็นคนฉลาดยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นในอังกฤษหรือสยาม เขาจะมีอนาคตสดใสตราบเท่าที่ไม่เคร่งเครียดกับการทำงานหนักจนเกินไป พร้อมกันนั้น นางยังเขียนบันทึกส่งให้เจ้าตัวด้วยว่า

ฉันอยากพบเธออีกครั้งเพื่อกล่าวคำร่ำลาบรรดาเสมียนและช่างไม้ที่ทำงานกับเธอจะคิดถึงเธอมากพอๆ กับเด็กนักเรียนของเธอ แต่เธอก็มีอาชีพที่รุ่งโรจน์รออยู่ข้างหน้า

นายมอรันต์ตกลงรับตำแหน่งครูพิเศษนี้ ซึ่งหมายความว่าเขาจะใช้เวลาในดินแดนไกลโพ้นถึง 3 ปี ด้วยเงินค่าจ้างปีละ 250 ปอนด์ ที่เขาเองพอใจยิ่งนัก ลูกศิษย์ของครูมอรันต์มอบปืนลูกโม่ให้เป็นของขวัญก่อนออกเดินทาง คงเพราะเห็นว่า สยามในยามนั้นเป็นดินแดนที่ต้องผจญภัย หรือไม่อีกทีก็มีอันตรายรายรอบ

การตัดสินใจของนายมอรันต์ในครั้งนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตอย่างไม่ต้องสงสัย

ก่อนหน้านี้เขาเป็นเพียงชายหนุ่มที่เติบโตขึ้นมาท่ามกลางความยากไร้ พ่อของนายมอรันต์เป็นช่างออกแบบเครื่องเรือนและผ้าไหม โชคร้ายนักที่พ่อมีอายุสั้น แม่จึงตกพุ่มหม้ายและต้องเลี้ยงดูลูกตามลำพัง นายมอรันต์ดิ้นรนหาทุนเรียนจนเข้าออกซฟอร์ดได้ แรกทีเดียวหนุ่มน้อยมอรันต์ต้องการเป็นนักสอนศาสนา แต่ 4 ปีที่ออกซฟอร์ดก็ทำให้เขาเปลี่ยนใจ ทั้งๆ ที่ผลการเรียนด้านศาสนศาสตร์ของเขาอยู่ในระดับเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ส่วนวิชาการแขนงอื่นนั้น ไม่โดดเด่น ที่น่ายกย่องอย่างหนึ่งคือนายมอรันต์สนใจไขว่คว้าหาความรู้และทักษะพิเศษติดตัว เช่น ดนตรี และหมัดมวย เป็นต้น

3 เดือนหลังจากที่เขาจากบ้านเกิดมา นายมอรันต์ได้รับจดหมายอีกฉบับหนึ่งจากฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ใจความส่วนหนึ่งมีดังนี้

ฉันหวังว่า เราคงไม่ต้องถือพิธีรีตองอะไรมากจนกระทั่งฉันบอกเธอไม่ได้ว่า ฉันสนใจในอาชีพการงานของเธอที่บางกอกมากเพียงใด ฉลาดเยี่ยงอสรพิษ แต่ไร้พิษสงดุจพิราบน้อย คือแบบอย่างที่พึงปฏิบัติในดินแดนตะวันออก

ประตูเมืองบางกอกเปิดต้อนรับอาคันตุกะต่างถิ่นนามรอเบิร์ต มอรันต์ ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2430/ค.ศ. 1887 ภาพชาวบางกอกยิ้มอวดฟันเปื้อนน้ำหมากเมื่อแลเห็นฝรั่งร่างสูง 6 ฟุต 4 นิ้วผู้นี้เดินไปตามถนน คงไม่ใช่จินตนาการที่เกินเลยความเป็นจริงไปมากนัก หลังจากที่มาถึงและก่อนได้ลงมือทำงานอย่างจริงจัง นายมอรันต์ ซึ่งขณะนั้นอายุยังไม่ถึง 24 ปี ได้รับเชิญให้เข้าร่วมในพระราชพิธีเฉลิมพระราชสมภพครบ 9 พรรษาของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ มกุฎราชกุมารพระองค์แรกของสยาม อันนับว่าเป็นประสบการณ์ที่เป็นมงคลอย่างยิ่งสำหรับการเปิดฉากชีวิตของเขาในประเทศนี้

นายมอรันต์ต้องปรับตัวอย่างหนักกับอาหารและโรคภัยไข้เจ็บของประเทศเขตร้อน เขามีอาการโลหิตเป็นพิษอย่างร้ายแรงอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อเริ่มงานแล้ว นายมอรันต์ก็ทำงานเต็มความสามารถ แถมยังใช้เวลาเรียนรู้ภาษาสยามจนสามารถพูดคุยได้คล่องปากภายในปีแรกที่ทำงาน ดูเหมือนภาษาสยามไม่ใช่อย่างเดียวที่นายมอรันต์สนใจเรียน หลักธรรมทางพุทธศาสนาก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เขาใช้เวลาเรียนรู้และปฏิบัติ เพื่อนคนหนึ่งของนายมอรันต์เล่าไว้ว่า

เมื่ออยู่ในสยาม นายมอรันต์ได้ค้นพบวิถีทางใหม่ที่ช่วยทำให้ใจและจิตวิญญาณสุขสงบ นั่นคือคำสอนของพุทธศาสนา มีหลายครั้งที่เขาไปนั่งสมาธิและสวดมนต์กับเพื่อนท่ามกลางหมู่ภิกษุสงฆ์ในวัดด้วย”

แม้นักเรียนของครูมอรันต์เป็นเด็กดี แต่งานสอนก็สร้างความหนักใจให้นายมอรันต์บ้างเหมือนกัน คงเป็นเพราะเขาไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการสอนเด็กนักเรียนต่างชาติในเขตร้อนมาก่อน เขาเขียนบ่นให้เพื่อนฟังว่า นักเรียนเรียนได้ช้ามาก ชวนให้ฉันโมโหจนอยากตะโกนก้องในความขี้เกียจ ความเฉื่อยชา ความไม่กระฉับกระเฉง และการขาดสมาธิอย่างที่สุดของพวกเขา แต่ความอดทนเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ฉันรู้สึกว่า หากครูควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ หรือแสดงท่าทีอื่นใดนอกไปจากความเยือกเย็นสุขุมเต็มที่ตลอดเวลา และพร้อมที่จะเล่นด้วยอย่างจริงจังเช่นกัน พวกเขาก็จะไม่ให้ความเคารพแม้แต่น้อย

ความขี้เกียจและความเฉื่อยชาเป็นคุณสมบัติที่ชาวต่างชาติหลายคนตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับชนชาวสยามส่วนใหญ่ไว้ ทั้งก่อนหน้าและภายหลังที่นายมอรันต์มาถึง จึงไม่ใช่ข้อสังเกตที่ฟังแล้วต้องแปลกใจ สมัยหนึ่งชาวจีนในประเทศไทยก็ไม่นิยมให้ลูกสาวแต่งงานกับชายไทยด้วยอคติเดียวกันนี้

ต่อมา กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์มีพระดำริที่จะส่งโอรสไปอังกฤษ โดยตั้งใจให้นายมอรันต์ติดตามไปด้วย เพื่อติวให้เข้าสอบ แต่ยังไม่ทันที่นายมอรันต์จะเขียนบอกญาติมิตรที่อังกฤษเกี่ยวกับโอกาสที่จะได้เดินทางกลับบ้าน พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณก็ได้ทรงติดต่อกับนายมอรันต์ เพื่อแจ้งให้ทราบว่าพระครูของเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ คือบาทหลวงเจ. วาสตี กรีน เป็นผู้ที่ขาดความสามารถ และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานตำแหน่งดังกล่าวให้นายมอรันต์แทน เพื่อเตรียมพระโอรสพระองค์นี้ให้พร้อมที่จะเสด็จไปศึกษาต่อในทวีปยุโรปในปี พ.ศ. 2441 /ค.ศ. 1898

โอกาสที่จะได้เป็นพระครูผู้ปลูกฝังแนวความคิดสมัยใหม่ให้แก่พระเจ้าแผ่นดินในอนาคตของสยาม ทำให้นายมอรันต์ต้องคิดหนัก ระหว่างรอการเสนอตำแหน่งให้อย่างเป็นทางการ นายมอรันต์ก็ขอปลีกตัวไปพักผ่อนที่เกาะสีชัง

นายมอรันต์เขียนจดหมายถึงสหายที่อังกฤษเมื่อกลับมาถึงบางกอกในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2431/ค.ศ. 1888 ส่วนหนึ่งของจดหมายมีความว่า มันแย่สำหรับฉันจริงๆ ที่จะเล่นในที่ทำงาน ฆ่าเวลาไปวันๆ งานของฉันไม่ต้องใช้สมองหรือความสามารถ เชื่อเถอะว่า ฉันจะกลายเป็นติ่งอวัยวะตามหลักวิวัฒนาการของดาร์วินอยู่แล้ว เล็กลีบลงเพราะไม่ได้ใช้งาน ฉันคิดว่า งานรับแขกที่บ้านยังจะเป็นคุณกับฉันมากกว่า และเป็นประโยชน์ต่อโลกพอๆ กันฉันอยากไปเบรูธ กับนายจริงๆ จะได้ฟังอุปรากรของแวกเนอร์ โดยเฉพาะเรื่อง Parsifal หรือ Lohengrin ฉันจะปลื้มยิ่งนัก ฉันคงได้แต่ฝันเอาจากที่นี่เท่านั้น คิดดูสิ ฉันแทบไม่ได้ยินโน้ตเพลงสักตัวมาตั้งปีครึ่งแล้ว

เวลาล่วงไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทวะวงษ์วโรประการ ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกรมท่า ก็ทรงเสนอตำแหน่ง “พระครู” ของเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศให้แก่นายมอรันต์ เขาเขียนจดหมายถึงสหายคนเดิมว่า

แต่พวกเขาขอให้ฉันเริ่มต้นสอนทันที และเลิกล้มความคิดอยากกลับบ้านลงเป็นเวลาอีกสองปี ฉันบอกนายได้เลยว่า เป็นเรื่องที่ตัดสินใจยากจริงๆ ตำแหน่งนี้มีท่าทีว่าจะสร้างประโยชน์ใหญ่หลวงนัก ถ้าปรับตัวให้เข้ากับมันได้ พวกเขาต้องการให้โอกาสฉันทำงานดีๆ แล้วก็ไม่มีที่ไหนในโลกที่ฉันจะได้รับเงิน 600 ปอนด์ต่อปี! บ้านที่ตกแต่งพร้อม!! และม้าอีก!! โดยทำงานแค่วันละสองชั่วโมง!!!

ฉันเรียกร้องอย่างหนักเรื่องกลับบ้าน เกือบกำหนดเป็นเงื่อนไขเลยทีเดียว พอฉันเห็นว่า ข้อเสนอนี้เป็นประเภทรับหรือไม่รับ ฉันก็คิดว่า คงเกือบเป็นการตัดสินใจที่ผิด ถ้าไม่ฉวยโอกาสนี้ไว้ แล้วฉันยังรู้มาอีกด้วยว่า เหตุที่ต้องเร่งรีบกันยกใหญ่ เพราะเป็นพระประสงค์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเองที่จะเริ่มศึกษา หาใช่ความต้องการของเสด็จอาไม่ ฉันก็เลยยอมตาม และได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระครู

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ก่อนพระราชพิธีโสกัณต์ (จากวารสาร St. Nicholas ปีที่ 20 ฉบับที่ 10 เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2436/ค.ศ. 1893)

นายมอรันต์เริ่มงานในตำแหน่งนี้อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2431/ค.ศ. 1888  โดยมีกำหนดเวลา 2 ปี ทว่าอาจต่ออายุได้ถ้าทั้งสองฝ่ายพึงพอใจ

ในขณะนั้นเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศมีพระชนมายุระหว่าง 10-11 พรรษา และมีโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงให้นายมอรันต์รับตำแหน่งนี้นานอย่างน้อย 5 ปี หากเป็นเช่นนั้น นายมอรันต์ก็จะเสร็จสิ้นภารกิจนี้เมื่ออายุ 30 ปี ซึ่งจะยากต่อการเริ่มต้นอาชีพการงานอื่นอีก ด้วยเหตุนี้ นายมอรันต์จึงตั้งใจที่จะอุทิศชีวิตให้กับการทำงานในแผ่นดินสยามอย่างเต็มที่

ต้นปีถัดไป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบรมราชินีนาถ รวมทั้งเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศตลอดจนพระโอรสองค์อื่นๆ เสด็จประพาสหัวเมืองเป็นเวลา 2 เดือน นายมอรันต์ได้รับเชิญด้วย เพื่อให้เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศได้ทรงสนิทสนมกับนายมอรันต์มากขึ้น ทั้งๆ ที่นายมอรันต์เองไม่อยากไป เขาให้เหตุผลกับเพื่อนทางจดหมายว่า

 มันหมายถึงความไม่สะดวกอย่างมหันต์ และการขาดอาหารยุโรปโดยสิ้นเชิง

ริ้วกระบวนเสด็จทางชลมารคเรียกความสนใจจากนายมอรันต์ได้ไม่น้อย เขาเล่าถึงกระบวนเรือที่มีขนาดและรูปร่างต่างๆ ประมาณ 600 ลำ ล่องแข่งกันในลำคลองที่กว้างเพียง 23 เมตร เท่านั้น ในระหว่างที่กระบวนเรือเดินทางนั้น นายมอรันต์จะเข้าเฝ้าถวายบทเรียนแก่เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศในเรือหลวงเกือบทุกวัน กล่าวได้ว่าน้อยคนนักที่ได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องราววงในของราชสำนักอย่างใกล้ชิดเช่นนี้ ในภายหลัง ความไว้วางใจที่นายมอรันต์ได้รับจะกลายเป็นหนามยอกอก (ที่กำลังกลัดหนอง) ของชาวสยามอย่างนึกไม่ถึง

เมื่อกลับมาถึงบางกอก นายมอรันต์ก็เริ่มงานของตน แต่ไม่ใช่วันละ 2 ชั่วโมงอย่างที่เขาเคยเล่าให้เพื่อนฟัง นอกจากหน้าที่พระครูซึ่งกินเวลาวันละหลายชั่วโมงแล้ว นายมอรันต์ยังทำหน้าที่ดูแลเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศในด้านอื่นๆ เกือบทุกย่างก้าว แม้กระทั่งการเป็น “ผู้คุ้มกัน” คราวหนึ่งเมื่อเขาตามเสด็จ และมีชายผู้หนึ่งเรียกพระองค์ด้วยวาจาหยาบคาย นายมอรันต์ก็อาศัยฝีมือมวยที่มีติดตัว จัดการชายผู้นั้นจนไปกองราบลงกับพื้น ไม่ทราบว่ารูปร่างที่ใหญ่โตกว่าเป็นข้อได้เปรียบอย่างหนึ่งหรือเปล่า

ในระหว่างที่รอบ้านพักตามสัญญาอยู่นั้น นายมอรันต์ต้องอาศัยอยู่ในเรือนแพไปพลางๆ สภาพบ้านที่ไม่ค่อยถูกสุขลักษณะและการห่างเหินจากการออกกำลังกายทำให้สุขภาพของเขาแย่ลง จนต้องหาโอกาสปลีกตัวเดินทางไปพักผ่อนที่ฮ่องกง จดหมายที่เขาเขียนถึงสหายคนสนิทขณะอยู่บนเรือเล่าว่า รายได้จากตำแหน่งงานของเขาไม่ได้มากอย่างที่คาดไว้แต่แรก เพราะมีรายจ่ายมากมาย รวมถึงความจำเป็นในการถวายของขวัญแด่พระเจ้าแผ่นดินและพระราชโอรสสำคัญอีก 3 พระองค์

เมื่อกลับจากพักผ่อนเที่ยวนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานม้าพม่าให้นายมอรันต์ยืมใช้ตัวหนึ่ง ดูเหมือนเพื่อให้นายมอรันต์ใช้ขี่ออกกำลังกาย

ความสามารถในการใช้ภาษาสยามของนายมอรันต์ทำให้เขาต้องรับผิดชอบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งอาจมีอำนาจที่เจ้าตัวเองไม่ทราบว่าจะใช้อย่างไรติดพ่วงมาด้วย เขาเล่าให้เพื่อนฟังในจดหมายตอนหนึ่งดังนี้

 “ฉันพบว่า ความรับผิดชอบในตำแหน่งของฉันมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และยากที่จะเข้าใจด้วยสายตาคนนอก มันยากนักที่จะรู้ว่า เมื่อไหร่จึงควรใช้อำนาจของตน และเมื่อไหร่จึงควรปล่อยให้สิ่งที่ต้องการความช่วยเหลือและปฏิรูปเล็ดลอดผ่านมือไปการเป็นคนมีอำนาจ ที่ผู้อื่นอยากสอพลอ แทนที่จะเป็นคนสอพลอ การเป็นผู้ที่สามารถกระทำดีและชั่ว แทนที่จะเป็นฝ่ายถูกกระทำ เป็นความรู้สึกใหม่

ยิ่งนานวันเข้า นายมอรันต์ก็มีบทบาทในการวางแผนการศึกษาของประเทศสยามมากขึ้น ขณะนั้น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพทรงเป็นอธิบดีกรมศึกษาธิการ ดูเหมือนนายมอรันต์จะทำงานเข้ากับพระองค์ได้ดี แม้ว่าหน้าที่หลักของนายมอรันต์คือการเป็นพระครูให้เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ แต่ไปๆ มาๆ เขาก็ต้องเป็นพระครูให้พระโอรสอีก 31 พระองค์ และพระธิดาอีก 45 พระองค์ ไปด้วยในตัว เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ยังทรงพระเยาว์อยู่ ก็ทรงเคยเป็นลูกศิษย์ของนายมอรันต์ด้วย

นายมอรันต์ และบรรดาลูกศิษย์ (จากหนังสือ Two Views of Siam on the Eve of the Chakri Reformation)

ตำแหน่งดังกล่าวทำให้เขามีความรับผิดชอบมากขึ้น และผลงานของเขาก็เป็นที่ชื่นชมของเจ้านายในราชสำนักมากขึ้นด้วยเช่นกัน รวมทั้งกรมหมื่นเทวะวงษ์วโรประการ และพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ นายมอรันต์กลายเป็นที่ปรึกษาในหลายๆ ด้านไปโดยปริยาย ไม่ใช่แค่เพียงการศึกษาอย่างเดียว แต่ในด้านอื่นๆ ด้วย จนเขาต้องถึงกับขอให้เพื่อนที่อังกฤษส่งหนังสือเกี่ยวกับการปกครอง เศรษฐกิจ รัฐธรรมนูญ และ ฯลฯ มาให้เพื่อเรียนรู้ไว้ใช้ในการให้คำปรึกษาแบบครอบจักรวาล แน่นอนว่า นายมอรันต์ย่อมรู้สึกว่าตัวเองมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ตรงนี้ทำให้นึกถึงแอนนา ลีโอโนเวนส์ ไม่น้อยเลยทีเดียว

ในระหว่างที่นายมอรันต์ถวายการดูแลเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศและพระอนุชาองค์น้อยๆ อีก 2 พระองค์นั้น เขาเรียกร้องให้มีการจัดห้องเรียนพิเศษพร้อมเฟอร์นิเจอร์ที่เหมาะสมในพระราชวังสำหรับลูกศิษย์ของตน และขอให้สร้างสระว่ายน้ำไว้ใกล้ๆ ด้วย นอกจากนี้ นายมอรันต์ยังอุทิศเวลาส่วนหนึ่งในการเขียนหนังสือคู่มือการเรียนเพื่อให้ศิษย์ของตนใช้ เขากล่าวถึงหนังสือชุดนี้ว่า

“สำหรับคนภายนอกแล้ว มันดูเหมือนหนังสือขนาดเล็กมาก ด้อยสาระ และไม่น่าสนใจ แต่ก็จัดทำยากพอสมควร ไม่เพียงแต่ต้องทำให้อยู่ในรูปและสำนวนของชาวสยามเท่านั้น แต่ต้องเขียนอย่างนึกถึงระดับสมองของเด็กชาวสยามเป็นประการแรกด้วย แต่ฉันไม่คิดว่า การใช้เวลามากมายเพื่อทำงานชิ้นนี้ เป็นการเสียแรงงานไปเปล่าๆ เพราะเป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่จะเริ่มต้นอะไรสักอย่าง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาที่ใหม่และยาก) ในทิศทางที่ถูกต้อง และยังพลอยช่วยพัฒนาความคิด รวมทั้งฝึกให้รู้จักคิดอย่างมีเหตุผลได้บ้างด้วย”

งานชิ้นนี้ได้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นหนังสือชุดที่เรียกว่า “บันไดให้เรียน” มีด้วยกันทั้งหมด 5 เล่ม และอาจถือได้ว่า เป็นรากฐานหนึ่งในระบบการศึกษาของสยาม

หนังสือ”บันไดให้เรียน” เล่ม 2 ที่แต่งโดย”มิศเตอ มอรันต์” (ซ้าย) พิมพ์ที่โรงพิมพ์หรือบ้านของหมอแมคฟาแลนด์ โปรดสังเกต คำบรรยายใต้ชื่อที่บอกว่า “เปนอาจาริย์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร” (ขวา)ภาพหน้าที่ 2 จากหนังสือ “บันไดให้เรียน” ซึ่งเป็นภาคภาษาอังกฤษ

ต้นปีถัดมา คือในปี พ.ศ. 2433/ค.ศ. 1890 บ้านของนายมอรันต์ที่ท่าพระก็สร้างเสร็จ เขาเห็นว่า บ้านของตนเป็นบ้านที่ดีที่สุดในบรรดาบ้านที่สร้างให้ข้าราชบริพาร จนเจ้านายบางพระองค์มีพระประสงค์ที่จะเป็นเจ้าของเสียเอง นายมอรันต์ได้รับอนุญาตให้ตกแต่งภายในโดยไม่จำกัดงบฯ แต่สิ่งที่เขาภูมิใจที่สุดคือ การที่เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศเสด็จฯ ไปเยือน เพราะปกติแล้ว พระองค์มิได้รับพระบรมราชานุญาตให้เสด็จฯ ไปที่ใดเลย ดูเหมือนนายมอรันต์ใช้บ้านหลังนี้เป็นที่พักอาศัยจวบจนกระทั่งถึงวาระที่เดินทางออกจากประเทศสยาม (ภายหลังเป็นอาคารหลังแรกของคณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร)

บ้านของนายมอรันต์กลายเป็นศูนย์กลางกิจกรรมต่างๆ มากมาย ทั้งนี้เพราะเขามีความชำนาญในภาษาสยามและความสนใจในปัญหาต่างๆ ของชาวสยาม ภายในห้องนั่งเล่นของบ้านหลังนั้น เขาจัดโต๊ะไว้ 5 ตัว สำหรับงานแต่ละประเภทคือ งานแปลภาษาสยาม งานในกรมศึกษาธิการ งานสอน งานโต้ตอบจดหมายของรัฐบาลสยาม และงานตอบจดหมายส่วนตัว ถึงจุดนี้ นายมอรันต์ไม่ใช่เป็นเพียงพระครูแต่อย่างเดียว เขาเป็นที่ปรึกษาในงานราชการด้วย นายมอรันต์ได้ถวายความช่วยเหลือกรมหมื่นดำรงราชานุภาพในการวางแผนระบบฝึกหัดครูและจัดตั้งโรงเรียนสำหรับพระเจ้าลูกเธอและพระเจ้าลูกยาเธอ

ปลายปีนั้น นายมอรันต์ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ตามเสด็จหัวเมืองพร้อมด้วยเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศอีกครั้ง แต่คราวนี้เขาปฏิเสธ เพราะต้องการใช้เวลาจัดทำหนังสือชุด “บันไดให้เรียน” ให้เสร็จเป็นชิ้นเป็นอัน เพื่อให้ครูชาวสยามใช้สอนในโรงเรียนประถมด้วย ทั้งที่เดิมทีหนังสือชุดนี้เป็นหนังสือที่ใช้สำหรับเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศเท่านั้น

ภารกิจมากมายของนายมอรันต์คงทำให้มีผู้หมั่นไส้ไม่ชอบหน้าเขาอยู่ไม่น้อย แม้ว่าไม่มีศัตรูที่แสดงตัวชัดเจนก็ตาม เขาเล่าให้เพื่อนฟังว่า

 ไม่นานมานี้ ฉันแอบได้ยินคนกล่าวหาว่า ฉันเป็นคนทะเยอทะยาน ฉันไม่เคยนึกมาก่อนแม้แต่นิดเดียว ฉันเพียงแต่สนใจที่จะทำทุกอย่างที่ตัวเองทำได้ รวมทั้งอยากลอง และปรับปรุงทุกเรื่องที่สามารถลงมือทำได้ เพียงเพราะฉันเกลียดที่จะเห็นเรื่องต่างๆ ไม่เข้ารูปเข้ารอย บางที อาจทำให้เกิดปัญหาโดยไม่ตั้งใจก็ได้ มนุษย์ตัวเล็กๆ ที่ไขว่คว้าหาอำนาจ กระนั้น ก็เป็นเรื่องโง่เขลา และฉันหวังว่าตัวเองไม่ได้ทำจนเกินไป

หลังจาก 1 เดือนผ่านไป เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศก็เสด็จฯ กลับในเดือนกันยายน พระองค์ทรงเปลี่ยนแปลงไปบ้าง คงเป็นเพราะการเติบโตทางความคิดและความรู้สึกตามวัยนั่นเอง แต่ก็ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับนายมอรันต์ไม่ราบรื่นนัก พระองค์ไม่เสด็จเข้าเรียนโดยไม่มีเหตุผลบ้าง หรือรับสั่งให้นายมอรันต์เข้าเฝ้าแล้วไม่เสด็จฯ ไปบ้าง

นายมอรันต์จึงเขียนจดหมายถึงกรมหมื่นเทวะวงษ์วโรประการ เพื่อกราบทูลว่า สัญญาว่าจ้างของตนจะครบกำหนดในวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2433/ค.ศ. 1890 และเขาต้องการเดินทางกลับยุโรป แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระอนุชาไม่ทรงเห็นด้วย และทรงขอให้นายมอรันต์อยู่ต่อ

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทวะวงษ์วโรประการ

ครั้งนี้นายมอรันต์ตั้งเงื่อนไขที่ค่อนข้างหนักแน่นว่าเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศต้องทรงอยู่ภายใต้การดูแลของตน ไม่ว่าในด้านกิริยามารยาทและความประพฤติ โดยต้องทรงปฏิบัติตามกฎที่นายมอรันต์วางไว้ กรมหมื่นเทวะวงษ์วโรประการและกรมหมื่นดำรงราชานุภาพทรงรับเงื่อนไขดังกล่าวแทนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ นายมอรันต์ยังได้รับตำแหน่ง ผู้ตรวจการโรงเรียนหลวง พร้อมทั้งเงินเดือนขึ้นอีกด้วย

เนื่องจากมีหมายกำหนดการว่า เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศจะทรงเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2434/ค.ศ. 1891 จึงมีการตกลงกันว่า ให้นายมอรันต์ใช้ช่วงเวลา 8 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2433/ค.ศ. 1890 ถึง เดือนกรกฎาคม ปีถัดไป เป็นช่วงทดลองงานตามสัญญาฉบับใหม่ ถ้าได้ผลดี นายมอรันต์ก็จะกลับมาถวายการสอนต่อไป แต่ถ้าไม่ได้ผลนายมอรันต์ก็จะกลับอังกฤษแบบไปแล้วไปลับ นอกจากนี้ นายมอรันต์ยังได้รับอนุญาตให้พักผ่อน 6 สัปดาห์ ก่อนหน้าช่วงลองงานอีกด้วย เขาใช้เวลาดังกล่าวในการเดินทางไปฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ และญี่ปุ่น

เมื่อเขากลับมาถึงบางกอกในเดือนมกราคม พ.ศ. 2434/ค.ศ. 1891 ก็เป็นช่วงที่ราชสำนักกำลังตระเตรียมพิธีโสกัณต์ ให้เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ซึ่งมีพระชนมายุครบ 13 พรรษา หลังจากงานพิธีเสร็จสิ้นลง นายมอรันต์ก็ได้ถวายการสอนในช่วงลองงานต่อไปจนถึงเดือนกรกฎาคม ปรากฏว่าผลงานของนายมอรันต์เป็นที่พอใจ จึงเป็นอันว่า เขาจะได้ถวายการสอนพระบรมโอรสาธิราชต่อไป รวมทั้งจัดระบบการศึกษาให้ประเทศด้วย

ในเดือนกรกฎาคมนี้เช่นกันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีรับสั่งให้กรมหมื่นดำรงราชานุภาพเสด็จไปยุโรป เพื่อมอบเครื่องบรรณาการแก่ผู้นำในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระเจ้าซาร์แห่งรัสเซีย รวมทั้งเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับระบบการศึกษาในประเทศตะวันตกด้วย นายมอรันต์ได้รับโอกาสติดตามไปด้วยในฐานะที่ปรึกษาฝ่ายการศึกษา หน้าที่อย่างหนึ่งของเขาคือการคัดสรรครู เพื่อมาบรรจุในโครงการโรงเรียน 3 แห่ง คือ โรงเรียนสำหรับพระเจ้าลูกยาเธอ (โรงเรียนราชกุมาร) โรงเรียนสำหรับพระเจ้าลูกเธอ และโรงเรียนฝึกหัดครู

การสรรหาครูจากอังกฤษนี้อาจเป็นผลจากเสียงเรียกร้องของนายมอรันต์ที่เห็นว่าสยามควรจ้างครูผู้จบปริญญาจากอังกฤษมาสอนในโรงเรียนแทนที่จะอาศัยแต่ความช่วยเหลือของมิชชันนารีชาวอเมริกัน นายมอรันต์เห็นว่าการใช้หมอสอนศาสนาเป็นครูนั้นไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง

นายมอรันต์มีความสุขกับภารกิจที่ได้รับมอบหมายนี้อย่างยิ่ง เพราะจะได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนสหายเก่า รวมทั้งบุคคลสำคัญบางคน เช่น เอดเวิร์ด เกรย์ และที่ขาดเสียไม่ได้คือฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ดูเหมือนเธอยังคงสนใจในการศึกษาของประเทศสยามเช่นเดิม เพราะเธออาสาที่จะเป็นผู้สัมภาษณ์ครูที่นายมอรันต์เลือกไว้ให้ด้วย

คณะเดินทางกลับถึงสยามในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2435/ค.ศ. 1892 โดยที่นายมอรันต์ตามกลับมาในภายหลังคือต้นเดือนพฤษภาคม

เมื่อนายมอรันต์เดินทางกลับบางกอกเพื่อพบกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอย่างยิ่งครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์สยาม ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่เขากลับมาถึง นั่นคือในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2435/ค.ศ. 1892 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงปฏิรูปการปกครองส่วนกลางจากระบบจตุสดมภ์ไปเป็นระบบกระทรวง โดยทรงประกาศจัดตั้งกระทรวงต่างๆ ขึ้น 12 กระทรวง (ต่อมายุบเหลือ 10) แม้ประวัติศาสตร์ไทยบันทึกว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ทำให้ระบบการปกครองของสยามเป็นระบบระเบียบมากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มีผลกระทบต่อชีวิตการทำงานของนายมอรันต์ด้วย เพราะกรมหมื่นดำรงราชานุภาพได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ส่วนตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงธรรมการ เป็นของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ หลังจากที่รับตำแหน่งแล้ว เจ้าพระยาภาสกรวงศ์เห็นว่าโรงเรียนของนายมอรันต์ดูดเงินงบประมาณของกระทรวงไปมาก จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กิจกรรมต่างๆ ของนายมอรันต์อยู่นอกการดูแลของกระทรวงธรรมการในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2435/ค.ศ. 1892

เมื่อพูดถึงเรื่องงบประมาณแล้ว ก็ขอแทรกข้อมูลเกี่ยวกับเงินเดือนของนายมอรันต์ไว้ด้วยเลย กรมหมื่นเทวะวงษ์วโรประการได้ทรงกล่าวไว้ในจดหมายที่มีถึงนายมอรันต์ว่า (คัดลอกโดยไม่เปลี่ยนตัวสะกด)

เมื่อท่านได้ออกมาจากเมืองอังกฤษนั้น ท่านรับสัญญามาเปนครูหม่อมเจ้าในกรมหมื่นนเรศร มีเงินปีๆ ละ 300 ปอนด์ ฤๅประมาณ 3000 บาท ครั้นเมื่อท่านได้รับตำแหน่งเปนพระครู ท่านก็ได้รับเงินปีกว่าสองเท่านี้เปนเงิน 6400 บาท กับทั้งได้เรือนอยู่ด้วย ตั้งแต่นั้นมาแล้วเงินปีของท่านก็ได้ขึ้นต่อๆ มาจาก 6400 บาทเปน 8000 บาท แลบัดนี้ท่านก็ได้อยู่เปนเงินถึง 9600 บาท นอกจากนี้ท่านก็ยังไม่ต้องเสียค่ากินค่าอยู่ในขณะเวลาที่ท่านมาอยู่ในที่ประทับสมเดจพระบรมโอรสาธิราชนั้นเปนอันแน่

โรงเรียนราชกุมารเปิดสอนในวันที่ 7 มกราคมของปีถัดมา นายมอรันต์ยังคงทำหน้าที่พระครูของเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศต่อไป ขณะนั้น พระองค์มีพระชนมายุ 14 พรรษา และทรงเริ่มให้ความสนพระทัยแก่เพศตรงข้ามแล้ว นายมอรันต์เองไม่เคยมีประสบการณ์ในการสอนเด็กอายุเท่านี้มาก่อน หนำซ้ำตัวเองยังได้รับการเลี้ยงดูเยี่ยงชาวอังกฤษในศตวรรษนั้นทุกกระเบียดนิ้ว จึงอดรู้สึกพรั่นพรึงไปกับอิทธิพลของบรรดานางในที่อยู่ในราชสำนักสยามไม่ได้

เขารู้สึกว่าต้องกวดขันและเคร่งครัดให้มากขึ้น มิฉะนั้น พระองค์จะทรงมีเสรีภาพมากเกินไป นอกจากนั้น เขายังต้องการปลูกฝังความคิดและประเพณีตามแบบอย่างชาวอังกฤษให้แก่มกุฎราชกุมารพระองค์นี้ด้วย นายมอรันต์กราบทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศทรงมีท่าทีแข็งกร้าวต่อผู้อื่น เกียจคร้าน และ “ไม่ยอมรับฟังความเห็นของผู้อื่น” พร้อมทั้งขอเป็นผู้ดูแลอย่างใกล้ชิดในทุกๆ ด้าน โดยอาสาที่จะย้ายไปพำนักในวังของเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ นายมอรันต์เห็นว่า หากเขาถวายการดูแลอย่างใกล้ชิดทุกย่างก้าว ก็จะสามารถ “สร้างพระนิสัย” เพื่อ “หล่อหลอมบุคลิกลักษณะของพระองค์ ดังที่ข้าพเจ้าได้เคยกระทำกับนักเรียนของข้าพเจ้ามาก่อนหน้านี้” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอนุญาตตามคำขอของนายมอรันต์

นายมอรันต์รู้สึกว่าตัวเองมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น ไปไหนมาไหนก็มีแต่คนกราบไหว้และเรียกว่า ครูใหญ่ ซึ่งคงมีความหมายครอบคลุมทั้งรูปร่างและตำแหน่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนายมอรันต์ได้มีโอกาสตามเสด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศไปในรถม้าแบบมีประทุนพับได้ ในช่วงนั้น นายมอรันต์ถวายการดูแลเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศอย่างใกล้ชิดแทบทุกลมหายใจพร้อมทั้งสั่งห้ามไม่ให้นางในเข้าเฝ้าจนเป็นที่เคืองใจของเจ้านายบางองค์ ไม่ใช่แต่เพียงชาวสยามเท่านั้นที่เกิดความรู้สึกเช่นนั้น ชาวต่างชาติบางคนเองยังถึงกับเรียกนายมอรันต์ว่า กษัตริย์ผู้ไร้มงกุฎแห่งสยาม

 


ข้อมูลจาก

วิลาส นิรันดร์สุขศิริ.“รอเบิร์ต แอล. มอรันต์  ครูฝรั่งที่ประวัติศาสตร์ไทยไม่อยากเอ่ยถึง (ตอน 1)”, ศิลปวัฒนธรรม มกราคม 2550


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 4 มกราคม พ.ศ.2562